Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


พุทธศาสนาสอนให้มองถึงความจริงของชีวิต คือ มองชีวิตให้ตรงกับความเป็นจริง ไม่เบี่ยงเบน ไปจากความเป็นจริง หรือเรียกว่า มองให้เห็นทุกขสัจจะ เช่น มองว่าความเป็นไปของทุกชีวิตประกอบด้วย 4 กระบวนการ ประกอบด้วย การเกิด การแก่ การเจ็บและการตาย  หรือแม้แต่กฎไตรลักษณ์ ที่เป็นตัวชี้ถึงความเป็นจริงของทุกชีวิต ประกอบด้วย  อนิจจัง (ความไม่แน่นอน)  ทุกขัง (ความทุกข์) และอนัตตา (ความไร้ซึ่งตัวตนที่แท้จริง/ความว่างเปล่า)  ซึ่งการสอนให้มนุษย์มีมุมมองต่อชีวิตดังกล่าวส่วนหนึ่งทำให้พุทธศาสนาถูกมองว่า เป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ร้าย (pessimism) ไปก็มี ดังโชเปนฮาวเออร์ (Arthur Schopenhauer) มอง

หรือกระทั่งการมองว่า พุทธศาสนามุ่งแสวงหาสัจจะเพื่อตัวเองมากกว่าการแสวงหาสัจจะเพื่อสังคม คือ แม้เห็นว่าตนเองและสังคมจะมีลักษณะของทุกขสัจจะ แต่พุทธศาสนาได้เน้นการแสวงหาสัจจะเพื่อตนเองมากกว่าเพื่อสังคม ผู้ที่มองว่าพุทธศาสนาในลักษณะดังกล่าว ก็มีอย่างเช่น แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ริชาร์ด กอมบริช (Richard Gombrich) หรือแม้แต่ บาร์ดเวลล์ แอล. สมิธ (Bardwell L.Smith)

การที่หลักธรรมในพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์มองเห็นทุกขสัจจะ มีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้มนุษย์สำเหนียกถึงความเป็นจริงและอยู่กับความเป็นจริงได้อย่างไร้ความทุกข์หรือมีความทุกข์น้อยที่สุด เพราะเชื่อว่าการอยู่กับความจริงและเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก สามารถนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ซึ่งการมองเห็นความเป็นจริงและประพฤติตามความเป็นจริงโดยปราศจากการกลบเกลื่อนก็คือ การมองเห็นถึงทุกข์สัจจะของโลกว่าแท้จริงแล้วโลกนี้ไม่ได้เต็มไปด้วยความน่าภิรมย์แต่อย่างใด หากเต็มไปด้วยทุกข์นานัปการ ดังนั้น ในแง่ของพุทธศาสนา ไม่ว่าการคิดหรือการปฏิบัติกิจกรรมใดในชีวิตก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ  การยอมรับความจริงว่ามันเป็นของมันเช่นนั้นเอง ธรรมชาติของชีวิตและสรรพสิ่งเป็นเช่นนั้น ขณะเดียวกันพุทธศาสนาก็ไม่ได้สอนให้งอมืองอเท้ายอมรับความจริงตามธรรมชาติ คือ ทุกข์ โดยไม่พยายามแก้ไขปัญหาใดๆ เลย การรู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิตและโลกนำไปสู่การแก้ปัญหา และแก้อย่างถูกต้องตรงจุด ดังกระบวนการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่างเช่น อริยสัจ  4  เป็นต้น

ย้อนมาที่สถานการณ์ในปัจจุบัน ยุค “ดีครับนาย ใช่ครับท่าน” คึกคัก น้ำลายหกยกยอปอปั้นบุคคลที่ตนมีส่วนได้ผลประโยชน์ วาทกรรมด้านศีลธรรมเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่ดีแต่พูดเท่านั้นแต่ต้องพูดเรื่องดีอย่างเดียวอีกด้วย กลีบกุหลาบถูกโรยไว้บนกองขยะ คนที่ยอมตนให้คนวิจารณ์และเพ่งเล็งในเชิงลบด้วยการพูดถึง ทุกขสัจจะของสังคมไทยหาได้ยาก เมืองไทยเวลานี้จึงเต็มไปด้วยพื้นที่ของการสร้างสุขสัจจะ หรือการพยายามสร้างโลกในจินตนาการให้เต็มไปด้วยสุขสัจจะ

แม้แต่ในวงการพุทธศาสนาเอง ดังกรณีการไม่ยอมรับความจริงว่าวงการพุทธศาสนาเองก็มีปัญหา เช่น เรื่องการได้มาและการสั่งสมทรัพย์สินของพระสงฆ์ในขณะอยู่ในสมณรูปว่าควรมีที่มาและที่ไปอย่างไรเพื่อให้เข้ากับระบบของการดำเนินชีวิตของสังคมปัจจุบันที่เงินทองกลายเป็นปัจจัยสัมพันธ์กับพระสงฆ์อย่างมีนัยสำคัญเชื่อมโยงกับสถานภาพของพระสงฆ์เอง โดยทุกขสัจจะประเด็นนี้ อาจนำไปสู่การตรวจสอบทรัพย์สินของพระสงฆ์ทั้งหลาย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการถกเถียงในสังคมชาวพุทธที่เมืองไทย

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานและเครื่องชี้บางประการว่าสังคมไทยกำลังเดินหน้าไปสู่ความเป็น “สังคมสุขสัจจนิยม”  (คือ อยู่ตรงกันข้ามกับสังคมทุกขสัจจนิยม) ซึ่งสังคมในรูปแบบทุกขสัจจะนั้นสอดคล้องกับวิธีการและรูปแบบของพุทธศาสนา คือ การมองปัญหาของสังคมอย่างตรงกับความเป็นจริง เมื่อมองปัญหาของสังคมตรงกับความเป็นจริงแล้วก็ย่อมสามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้อย่างถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง  ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาศัยการคิด การพูด และการกระทำ ที่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่การกลบเกลื่อนความเป็นจริง ดังกรณีที่มาของอำนาจรัฐ รัฐต้องยินยอมให้ประชาชนสามารถคิด พูดและกระทำตรงกับความเป็นจริง คือ เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงออกให้เห็นซึ่งความเป็นทุกขสัจจะของชีวิตของพวกเขาเอง หากรัฐยินยอมหรือปล่อยให้ประชาชนแสดงออกในลักษณะที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็ย่อมประจักษ์ถึงความจริงว่าสังคมเป็นอย่างไร กำลังต้องการอะไร โดยถึงแม้ว่าความเป็นจริงที่ถูกแสดงออกมาไม่ตรงหรือขัดแย้งกับความประสงค์ของรัฐ  รัฐและผู้มีอำนาจควรยอมรับความหลากหลายของพลเมืองและสังคม

มีหลักฐานว่า สังคมไทยจึงกำลังกลายเป็นสังคมสุขสัจจะ ได้แก่ การมีวัฒนธรรมสังคมหรือวัฒนธรรมองค์กรเชิงการสรรเสริญเยินยอแต่เพียงอย่างเดียว ไม่พูดเรื่องทุกขสัจจะ พูดแต่เรื่องดีๆ สวยๆ งามๆ หมักดองปัญหาของประเทศ ของสังคมและขององค์กรเอาไว้ ดังกรณีการซักซ้อมและเตรียมการต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการที่มีการกระทำอย่างเป็นกระบวนการและกลายเป็นประเพณี ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับข้าราชการ เพราะระบบข้าราชการเป็นระบบใหญ่และมีสายการบังคับที่สามารถเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน ซึ่งนี่ก็คือตัวอย่างของสุขสัจจนิยมแบบไทยๆ หรืออาจเรียกได้ว่า ลัทธิสังคมสุขสัจจนิยม

  ในด้านการศึกษา ลัทธิสังคมสุขสัจจนิยมได้แพร่ระบาดเข้าไปในพื้นที่การศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่วิชาการ พื้นที่อื่นๆ ถูกลัทธิสังคมสุขสัจจนิยมรุกรานก็ยังไม่เท่าพื้นที่มหาวิทยาลัยที่ควรเป็นพื้นที่แห่งทุกขสัจจะ น่าเสียดายว่าเวลานี้พื้นที่มหาวิทยาลัยในเมืองไทยกำลังถูกลัทธิสุขสัจจนิยมครอบงำ อาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ได้แสดงออกว่าพวกเขาเป็นพวกสุขสัจจนิยมอย่างชัดเจน โดยนำตัวเองไปผูกโยงกับ บุคคล หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่เรียกชื่อกันว่า “องค์กรอิสระ” เป็นเหตุให้การแสดงออกทางหน้าที่การงาน อย่างเช่นงานวิชาการไม่สะท้อนทุกขสัจจะของสังคม มีแต่การนำเสนองานในแง่สุขสัจจะที่ไม่สะท้อนความจริง  การยินยอมให้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาอย่างตรงไปตรงมา การยินยอมให้ทั้งอาจารย์และนิสิตนักศึกษาแสดงออกทางความคิด  อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ริบรวบอำนาจไว้แต่เพียงเฉพาะตนหรือคณะของตนต่างหาก จึงเป็นการสะท้อนทุกขสัจจะขององค์กรมหาวิทยาลัยและของประเทศ เป็นเหตุให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรได้รับการแก้ไขอย่างอย่างตรงจุด ถูกต้องและลุล่วงไปได้ ทั้งยังเป็นการลดความกดดันอีกทางหนึ่ง

การปิดพื้นที่ที่สามารถแสดงทุกขสัจจะมากที่สุดอย่างพื้นที่มหาวิทยาลัยซึ่งที่เป็นพื้นที่วิชาการ จึงกลับทำให้ลัทธิสุขสัจจนิยมในเมืองไทยเติบโตเบ่งบานเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยอิทธิพลของการสื่อสารสมัยใหม่ ทุกขสัจจนิยม ส่วนหนึ่งได้ไปปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดความหลากหลายคละเคล้ากันไประหว่างกลุ่มทุกขสัจจนิยมกับกลุ่มสุขสัจจนิยม แต่แม้บนความหลากหลายของการสื่อสารสมัยใหม่ กลุ่มคนสุขสัจจนิยมก็ไม่ได้สนใจธรรมชาติหรือข้อเท็จจริงของสังคมอยู่ดีนั่นเอง คือ ไม่ยอมรับความแตกต่างทางความคิด มีการใช้วาทกรรมอย่างสับสน เช่น นำวาทกรรมสามัคคีมาใช้กับความคิด คือ ต้องคิดไปในทำนองเดียวกัน ทั้งๆ ที่รูปแบบการอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตย เป็นตัวสะท้อนถึงทุกขสัจจะได้ดีที่สุด เพราะเป็นรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมสะท้อนความจริงและชะตากรรมที่พวกเขาประสบในชีวิตออกมา และความจริงดังกล่าวก็คือ ทุกขสัจจะนั่นเอง 

การให้สิทธิในการพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคมและนโยบายรัฐ แทนการกล่าวแบบกำปั้นทุบดินว่าอนุญาตให้คิดได้แต่ห้ามพูดหรือหากต้องการพูดก็ให้พูดเฉพาะแต่เรื่องสุขสัจจะเท่านั้น (ด้วยเหตุผลที่ว่าสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มีความรื่นรมย์มากพออยู่แล้ว ดังนั้น หากไม่จำเป็นก็อย่าไปพูดความเป็นจริงที่เป็นความทุกข์ของคนในสังคม โดยเฉพาะความขัดแย้งบาดหมางต่างๆ พูดแต่เรื่องดีๆ เรื่องของความสุข) จึงเป็นการช่วยให้มองเห็นทุกขสัจจะอย่างหนึ่ง ขณะที่การพูดเรื่องทุกขสัจจะของประชาชนในบางเรื่องก็เป็นการระบายความทุกข์ที่เกิดจากความอึดอัดจากความคับข้องใจในเรื่องต่างๆ เช่น การเมือง ความยุติธรรม เศรษฐกิจปากท้อง เท่านั้นเอง

นอกเหนือไปจากการไม่กล้าแสดงออกซึ่งทุกขสัจจะของสังคมของนักวิชาการและผู้มีความรู้ แต่สงวนท่าที ปราชญ์และนักวิชาการฝ่ายศาสนาบางคนของไทยถึงกับกล่าวว่า พุทธศาสนาสอนให้มองเฉพาะตนเอง ไม่ให้มองคนอื่นหรือสังคม ซึ่งว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องผิด แต่พวกเขาอาจหลงลืมเหตุผลธรรมดาๆ อย่างหนึ่งไปก็คือ คนต้องอยู่ในสังคม ทั้งพุทธศาสนาก็ไม่ได้สอนให้ทุกคนต้องออกไปปลีกวิเวกอยู่ป่าหรือเก็บตัวอยู่คนเดียว หากสอนให้มองสังคมที่เต็มไปด้วยทุกขสัจจะและมนุษย์ประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันควบคู่กันไปด้วย ตรงข้ามกับความจริงแห่งสุขหรือสุขสัจจะที่เกิดจากการโฆษณาชวนเชื่อ หรือไม่ก็เกิดจากการมองสังคมโดยอาศัยตนเองเป็นฐานที่ตั้งดุจศูนย์กลางของจักรวาลที่เป็นลักษณะเดียวกันกับลัทธิชาตินิยม ลัทธิเผด็จการนิยมและลัทธิศูนย์กลางนิยม (ที่ยืนอยู่ฟากตรงกันข้ามกับแนวทางการกระจายอำนาจ)

การพยายามทำทุกขสัจจะให้เป็นสุขสัจจะของพวกลัทธิสุขสัจจนิยมจึงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการสร้างมายาภาพให้เกิดขึ้นในสังคม แต่เมื่อมายาภาพไม่ใช่ของจริงก็ย่อมไม่สามารถตั้งอยู่ได้ ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องล้มครืนหรืออันตรธานไป.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net