มหาวิทยาลัยและระบบสิ่งศักดิ์สิทธิ์อุปถัมภ์ (Holy University)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปี 2557 ถือเป็นพิธีอันน่าภาคภูมิใจพิธีหนึ่งชองชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร ถึงแม้ว่าประเด็นสำคัญของพิธีจะอยู่ที่พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรก็ตาม แต่ภายนอกห้องพระราชทานปริญญาบัตรกลับมีกิจกรรมหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็น “พิธีกรรม” อย่างหนึ่งซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ “พิธีกรรมถวายบังคมลาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่กระทำโดยบัณฑิตใหม่ ประเด็นสำคัญของพิธีกรรมนี้ก็คือบัณฑิตใหม่ถวายบังคมลาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องจากในช่วงการเรียนชั้นปีที่ 1 บัณฑิตทุกคนได้ประกอบพิธี “ถวายตัวเป็นลูกพระนเรศ” เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงต้องประกอบพิธีถวายบังคมลาสมเด็จพระนเรศวรฯ

อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมทั้งสองขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการถวายตัวหรือการถวายบังคมลาได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “นิสิต” ซึ่งเป็นมนุษย์และ “สมเด็จพระนเรศวรฯ” ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถาบัน ถ้าหาเราลองสำรวจความสัมพันธ์ชุดนี้อย่างถี่ถ้วนก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ใน “ระบบอุปถัมภ์”

ความหมายของคำว่าระบบอุปถัมภ์ที่เข้าใจกันโดยทั่วไปมักจะหมายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ตัวอย่างที่คนไทยคุ้นเคยกันมากที่สุดตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่าง “ไพร่” และ “มูลนาย” เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ไพร่ทุกคนต้องสังกัด “นาย” โดยไพร่จะต้องทำงานให้กับนายหรืออาจจะเสียทรัพย์สินอื่นๆเป็นการทดแทน และนายก็จะตอบแทนด้วยการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของไพร่

อย่างไรก็ตาม ระบบอุปถัมภ์มิได้จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติอีกด้วย ในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน รูปแบบคำสอนของศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกในช่วงยุคกลาง (Middle Age) ซึ่งเน้นย้ำถึงความอ่อนแอของมนุษย์ มนุษย์จึงต้องใช้ชีวิตโดยอิงอยู่กับสิ่งที่เหนือกว่ามนุษย์ เช่น พระผู้เป็นเจ้า พระเยซู พระแม่มารี ฯลฯ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อยู่ในสถานะที่สามารถช่วยคุ้มครองหรือให้ความช่วยเหลือมนุษย์ได้ ในขณะที่มนุษย์ต้องถวายสิ่งของและคำสรรเสริญเพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง[1]

จากรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เหนือธรรมชาติมีฐานะเป็น “ผู้อุปถัมภ์” (patron) ในขณะที่มนุษย์มีฐานะเป็น “ผู้รับอุปถัมภ์” (client) ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวดูเหมือนจะสอดประสานกันอย่างลงตัวกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้

หลังจากมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-3534) มีการตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ หลายแห่ง “มหาวิทยาลัยนเรศวร” ก็เป็นส่วนหนึ่งตามแผนดังกล่าว การที่มหาวิทยาลัยนเรศวรตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เอื้อต่อการสร้างอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ การใช้พระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาตั้งชื่อมหาวิทยาลัย และไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆก็ต้องยกพระนามแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเป็นที่กราบไหว้บูชา

ด้วยสภาพการณ์ดังกล่าวสมเด็จพระนเรศวรจึงอยู่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือกว่ามนุษย์พระองค์กลายเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่แก่นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรไปโดยที่พระองค์เองก็อาจจะยังไม่ทรงทราบเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากฐานะผู้อุปถัมภ์ของสมเด็จพระนเรศวรถูกนิสิตรวมไปถึงบุคคลากรของมหาวิทยาลัยตอกย้ำผ่านพิธีกรรมและวาทกรรมต่างๆอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย

อาจกล่าวได้ว่านิสิตทุกคนถูกตอกย้ำผ่านพิธีกรรมและวาทกรรมมากมายนับตั้งแต่ก้าวแรกที่นิสิตก้าวเข้ามาสู่มหาวิทยาลัยนเรศวร ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมถวายตัวเป็นลูกสมเด็จพระนเรศของนิสิตชั้นปีที่ 1 การถวายบังคมลาของบัณฑิตใหม่ หรือกิจกรรมร้องเพลงมหาวิทยาลัย หรือ Power cheer ซึ่งตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์และพลังอำนาจของสมเด็จพระนเรศวรอย่างต่อเนื่อง โดยสังเกตได้จากกิจกรรมในช่วง 4 ปีหลังมานี้ ได้แก่

            - ปี 2554 งาน Spirit Cheer ซึ่งมีการแสดงการจัดกระบวนทัพ 10 ทัพของสมเด็จพระนเรศวร เข้าทำการรบกับกองทัพพม่า โดยที่ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเป็นฝ่ายชนะ

            - ปี 2555 งาน Power Cheer ซึ่งมีการแสดงพิธีกรรมการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวร

            - ปี 2556 งาน Power Cheer เป็นการแสดงเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ สนามกีฬากลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร

            - ปี 2557 งาน Power Cheer  ซึ่งมีชื่อว่า The Great King หรือ “กษัตรามหาราช” มีการแสดงฉากสมเด็จพระนเรศวรทรงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง โดยสมเด็จพระนเรศวรเป็นฝายชนะ

วาทกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของการ “ผลิตซ้ำ” ซึ่งช่วยตอกย้ำฐานะผู้อุปถัมภ์ของสมเด็จพระนเรศวร โดยจะเห็นได้ว่ามีการยกสถานะสมเด็จพระนเรศวรให้มีสถานะเป็นเหมือน “พ่อ” ในขณะที่นิสิตทุกคนรวมไปถึงบุคลากรต่างๆในมหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นเหมือน “ลูก” วาทกรรมพ่อลูกในลักษณะนี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำฐานะผู้อุปถัมภ์ของสมเด็จพระนเรศวร เพราะความสัมพันธ์ตามหลักของครอบครัวทั่วไปนั้น พ่อคือผู้อุปถัมภ์ลูก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่จะเกิดวาทกรรมเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรที่ประกอบด้วยคำว่า พ่อ – ลูก ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ตัวอย่างเช่น “ลูกนเรศ” , “ลูกองค์ดำ” , “องค์พ่อนเรศวร” , “พ่อองค์ดำ” แม้กระทั่งคำเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมเชียร์ของมหาวิทยาลัยก็ยังปรากฏวาทกรรมพ่อลูกให้เห็นอยู่ร่ำไป เช่น  "...มาร่วมเป็น 1 ในทหารของสมเด็จพระนเรศวร เพื่อศักดิ์ศรีของเราลูกนเรศ... " วาทกรรมในลักษณะนี้จึงเป็นการตอกย้ำฐานะผู้อุปถัมภ์ของสมเด็จพระนเรศวรในอารมณ์/ความรู้สึกของนิสิตทุกคน

นอกจากนี้พลังอำนาจในฐานะผู้อุปถัมภ์ของสมเด็จพระนเรศวรยังถูกแบ่งสรรและถ่ายโอนมายัง      ”เครื่องหมาย” หรือ “สัญลักษณ์” ต่างๆภายในมหาวิทยาลัยจนกลายเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ตัวอย่างเช่น

สัญลักษณ์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ คือ “สุวรรณภิงคาร” ซึ่งเป็นภาชนะใส่น้ำที่สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้หลั่งน้ำประกาศตัดไมตรีต่อกรุงหงสาวดี

สัญลักษณ์ประจำคณะสังคมศาสตร์ คือ “พระมาลาเบี่ยง” ซึ่งเป็นพระมาลาที่สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้เมื่อครั้งทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี

การตอกย้ำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในลักษณะนี้ จึงมิใช่เรื่องแปลกถ้าในปัจจุบันเราจะเห็นนิสิตจำนวนมากมายนำสิ่งของต่างๆไปถวายที่พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรโดยไม่ได้เคารพสักการะสมเด็จพระนเรศวรด้วยใจจริง หากแต่เพียงเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนกับการได้รับอุปถัมภ์จากพระองค์ท่านในด้านต่างๆเป็นการตอบแทน เช่น การเรียน ความรัก หน้าที่การงาน เพื่อนฝูง ปัญหาส่วนตัว เป็นต้น

ดังนั้น นิสิตรวมไปถึงบุคลากรทุกคนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ควรจะตระหนักได้แล้วว่าการเคารพบูชาสมเด็จพระนเรศวรสมควรกระทำโดยปราศจากระบบอุปถัมภ์ นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าใจอีกว่าเรื่องราวต่างๆที่เรารับรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านนั้นล้วนถูกแต่งเติมผ่านกาลเวลามาถึง 400 ปี ซึ่งยากที่จะสรุปได้ว่าเรื่องใดเป็นประวัติศาสตร์ (History) และเรื่องใดเป็นตำนาน (Myth) เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะรักและเคารพพระองค์ท่านอย่างมีสติ การนำพระองค์ท่านมาอยู่ในระบบอุปถัมภ์ท่ามกลางผู้รับอุปถัมภ์นับพันนับหมื่น พระองค์ท่านจะทรงยินดีหรือไม่ และถึงเวลาหรือยังที่เราจะเคารพพระองค์ท่านด้วยใจจริงโดยที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนจากพระองค์

แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่ากระบวนการตอกย้ำซ้ำๆเหล่านี้ได้รับความเห็นชอบจากผู้หลักผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์มิได้สลายหายไปจากสังคมไทย หากแต่ยังอิงแอบและแฝงตัวอยู่ในภาคส่วนต่างๆของประเทศ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยซึ่งบ่มเพาะระบบอุปถัมภ์มิใช่แต่เพียงแค่รูปแบบการอุปถัมภ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังก้าวไปสู่การอุปถัมภ์ระหว่างสิ่งเหนือธรรมชาติกับมนุษย์อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่ถือเป็นเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ในการแสวงหาความรู้และภูมิปัญญา

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอยกข้อความตอนหนึ่งของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่อยู่ในบทความเรื่อง “รับน้อง ต้นตอแห่งปูมอำนาจ” ไว้ว่า “...ที่มหาวิทยาลัยไม่กระดิกทำอะไรตลอดมานั้น ก็เพราะลึกลงไปจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้คือวัฒนธรรมของอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั่นเอง ก็ถูกแล้วไม่ใช่หรือที่น้องใหม่ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นชนชั้นนำของสังคม จะต้องเรียนรู้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวัฒนธรรมนี้...”[2]    ผู้เขียนมีความเห็นว่าข้อความดังกล่าวน่าจะสะท้อนให้เห็นว่าระบบอุปถัมภ์ก็ไม่ต่างอะไรกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เป็น “วัฒนธรรม” ของอาจารย์ตลอดจนผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั่นเอง

 

 

[1]เจเรมี เคมพ์ , “ตัวแบบความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์ในการศึกษาสังคมไทย” ใน ระบบอุปถัมภ์

[2] นิธิ เอียวศรีวงศ์  “รับน้อง : ต้นตอแห่งปูมอำนาจ” จาก http://www.newmana.com/phpbb/viewtopic.php?f=1&t

=5993&p=84096 (เข้าถึงเมื่อ 2 ตุลาคม 2557).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท