Skip to main content
sharethis

11 ธ.ค. 2557 ในย่านดาวน์ทาวน์ของบรูคลิน นครนิวยอร์ก มีคนงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดราวหลายร้อยคนรวมถึงผู้สนับสนุนพวกเขารวมตัวกันประท้วงตั้งแต่รุ่งสางของวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการถือป้ายระบุถึงความไม่พอใจที่ค่าแรงต่ำเกินไป 

กลุ่มผู้ประท้วงเดินขบวนไปพร้อมกับวงดนตรีท้องถิ่นเพื่อไปประท้วงชูป้ายที่หน้าร้านเบอร์เกอร์คิงส์สาขาดาวน์ทาวน์บรูคลินเพื่อทำให้ลูกค้าของร้านในตอนเช้ารู้สึกแปลกใจ กลุ่มผู้ประท้วงยังได้แห่เข้าไปในร้านเบอร์เกอร์คิงส์จนทำให้ร้านต้องหยุดบริการชั่วคราวเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

ผู้ประท้วงยึดเบอร์เกอร์คิงส์ไว้เป็นเวทีปราศรัยแก่ผู้ชุมนุม โดยลอรี คัมโบ ส.ส. ของนิวยอร์กซิตี้ขึ้นกล่าวนำการประสานเสียงผู้ชุมนุมจากเฉลียงชั้น 2 ของร้านที่จัดเป็นเวทีชั่วคราวเพื่อเรียกร้องค่าแรง 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมงรวมถึงสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวนี้แพร่กระจายไปทั่ว 200 เมืองนับตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา

คัมโบกล่าวปราศรัยต่อผู้ชุมนุมว่าทั่วโลกกำลังจับตาดูพวกเขาอยู่และสิ่งที่พวกเขาทำจะเป็นจุดยืนในการเรียกร้องของตนทั่วโลก พวกเขาไม่เพียงต่อสู้เพื่อตัวเองแต่กำลังต่อสู้เพื่อคนรุ่นถัดไปด้วย 

คัมโบกล่าวอีกว่าพวกเขาไม่เพียงแค่รณรงค์ต่อสู้เพื่อพนักงานอาหารฟาสต์ฟู้ดเท่านั้นแต่ถือเป็นการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันด้านระบบยุติธรรมในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ถูกดำเนินคดีในคดีสังหารคนผิวดำไมเคิล บราวน์ และอิริค การ์เนอร์ ผู้ชุมนุมที่ส่วนมากอาศัยอยู่ในย่านที่มีการตรวจตราแบบเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติพากันยืนสงบเพื่อไว้อาลัยให้กับกรณีของไมเคิล บราวน์

นอกจากกลุ่มคนงานฟาสต์ฟู้ดแล้วการชุมนุมครั้งนี้ยังมีคนงานจากแหล่งอื่นเข้าร่วมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเช่น กลุ่มคนงานสนามบิน กลุ่มคนงานร้านสะดวกซื้อ และกลุ่มคนงานบริการสาธารณสุขที่บ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวางแนวร่วมในการช่วยกันเคลื่อนขบวนของกลุ่มแรงงานค่าแรงขั้นต่ำ โดยคลีโอ โปลันโค คนงานจากสนามบินนานาชาติจอห์น เอฟ เคนเนดี กล่าวว่ากลุ่มคนงานสนามบินและคนงานฟาสต์ฟู้ดต่างก็มีการต่อสู้เรียกร้องสิ่งเดียวกันคือมีค่าแรงที่เป็นธรรมและได้รับการเคารพสิทธิ โปลันโคเล่าอีกว่าพวกเขาถูกห้ามไม่ได้ติดสัญลักษณ์สหภาพแรงงานหรือพูดถึงสหภาพแรงงานในช่วงหยุดพักและหัวหน้างานจะตรวจตราเป็นพิเศษกับคนที่สนับสนุนสหภาพฯ ทำให้คนงานบางคนต้องออกจากงานด้วยสาเหตุนี้

ก่อนหน้านี้คนงานฟาสต์ฟู้ดก็เคยร่วมหยุดงานประท้วงกับกลุ่มคนงานสนามบินมาก่อน ซึ่งกลุ่มคนงานสนามบินส่วนมากเป็นผู้ใช้แรงงานทำความสะอาด ผู้ช่วยถือกระเป๋าและรถเข็น รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัย รู้สึกว่าพวกตนได้รับค่าจ้างต่ำและมีสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยทำให้พวกเขาหยุดงานประท้วง 2 ครั้งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา

วอลเบิร์ต ซานติเอโก พนักงานรักษาความปลอดภัยของสายการบินไพร์มไฟล์ท ที่ท่าอากาศยานลาการ์เดียกล่าวปราศรัยในการประท้วงในร้านเบอร์เกอร์คิงส์ว่าเขามีลูก 6 คนที่ต้องดูแล เขาต้องการต่อสู้เพื่อค่าแรง 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงและเพื่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ตัวซานติเอโกเองใช้เวลาพูดคุยเรื่องสหภาพฯ กับเพื่อนร่วมงานอยู่บ่อยๆ จากที่พ่อแม่ของเขาเองก็เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและการมีญาติพี่น้องอยู่ในสหภาพก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งในการเข้าร่วมสหภาพฯ เช่นกัน

ทางด้าน เจอโรม เมอร์เรย์ คนที่ทำงานเป็นพนักงานขายในร้านยาซีวีเอสมาเป็นเวลา 7 ปีแล้วกล่าวในการแถลงข่าวที่ศาลากลางเมืองว่าเขาได้รับค่าแรง 9 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงโดยมีตารางงานไม่แน่นอน เขาบอกอีกว่ากลุ่มพนักงานขายในร้านสะดวกซื้อกับกลุ่มพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดมีการต่อสู้เรียกร้องในเรื่องเดียวกันทำให้พวกเขาสนับสนุนการต่อสู้ของพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดด้วย

"พวกเราต้องทำให้การเรียกร้องของพวกเราเป็นที่รับรู้ ทำให้พวกบรรษัทต้องจ่ายให้พวกเราเพราะพวกเขาทำเงินได้และมีชีวิตที่ดี พวกเราไม่ควรต้องทนทุกข์ทรมานเลย ถ้าหากพวกเราต้องการการเปลี่ยนแปลง พวกเราควรจะร่วมมือกันและเปล่งเสียงเรียกร้องดังๆ นั่นคือสิ่งที่พวกเราทำกันในวันนี้" เมอร์เรย์กล่าว

นอกจากกลุ่มแรงงานแล้ว กลุ่มชุมชนด้านศาสนาและความเชื่อก็เข้าร่วมช่วยเหลือแรงงานในการเรียกร้องด้วย โดยเคอเซนา โดซิเออร์ ผู้จัดตั้งกลุ่มเอ็นวายยูไนเต็ดและกลุ่มชุมชนนิวยอร์กเพื่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นกลุ่มแนวชุมชนและแนวศาสนากล่าวว่ากลุ่มศาสนาและความเชื่อต้องเข้าร่วมการชุมนุมด้วยเพราะเป็นการประกาศความจริงเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยพลังของศรัทธา โดยโดซิเออร์เป็นคนประสานความร่วมมือผู้นำทางความเชื่อเข้ากับกลุ่มแรงงานเพื่อสร้างการแพร่กระจายข่าวสารเกี่ยวกับปฏิบัติการในหมู่ชุมชนศาสนาด้วย ทำให้กลุ่มศาสนาเข้าใจชีวิตของคนงานค่าแรงขั้นต่ำและมีการร่วมมือกันเรียกร้อง

เว็บไซต์ Waging Nonviolence ระบุอีกว่าการประท้วงหยุดงานกลายเป็นเครื่องมือรวมตัวกันของกลุ่มคนงานฟาสต์ฟู้ด มีคนงานจำนวนมากถูกข่มขู่และกลัวว่าจะสูญเสียรายได้เรื่องนี้เป็นอุปสรรคทำให้เกิดความยากลำบากในการรวมตัว แต่การปฏิบัติการร่วมกันจากหลายฝ่ายรวมถึงการทำข่าวทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติก็ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักมีการสนับสนุนจากประชาชนที่ผ่านไปมา ทั้งหมดนี้ทำให้คนงานจากที่อื่นๆ ได้รับแรงบันดาลใจในการเคลื่อนไหวจนทำให้มีการเคลื่อนไหวของคนงานฟาสต์ฟู้ดมากกว่า 200 เมืองในสหรัฐฯ แล้ว นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วโลก

กลุ่มบรรษัทมักจะอ้างว่าคนงานที่หยุดงานประท้วงเพราะได้รับเงินจ้างวานจากสหภาพแรงงาน ในขณะที่กลุ่มสหภาพเปิดเผยว่าเงินที่ให้กับแรงงานที่ประท้วงเป็นเงินค่าชดเชยค่าแรงในช่วงที่พวกเขาต้องหยุดงานเนื่องจากคนงานมีชีวิตที่ยากลำบากอยู่แล้ว

เมื่อไม่นานมานี้มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เบิร์กลีย์ ในรัฐอิลินอยส์ เปิดเผยผลการวิจัยว่ามีคนงานฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯราวร้อยละ 52 มีรายได้น้อยจนต้องพึ่งพาโครงการช่วยเหลือจากรัฐบาล กลางสหรัฐฯ เช่น โครงการอาหาร, บ้านพัก, การศึกษา, เสื้อผ้า และบริการสุขภาพ นอกจากนี้คนงานฟาสต์ฟู้ดราว 9 ใน 10 คนยังบอกอีกว่าพวกเขาเคยถูกนายจ้างโกงไม่จ่ายค่าแรงให้

ในสหรัฐฯ มีกลุ่มเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องสิทธิของคนงานฟาสต์ฟู้ดหลักๆ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือสหภาพแรงงานบริการนานาชาติ (SEIU) ซึ่งมีการเคลื่อนไหวระดับชาติ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ "ฟาสต์ฟู้ดฟอร์เวิร์ด" ซึ่งเป็นกลุ่มจัดตั้งในรัฐนิวยอร์ก

ประเด็นหนึ่งที่ Waging Nonviolence นำเสนอคือการตั้งคำถามว่ากระบวนการตัดสินใจในกลุ่มรณรงค์เคลื่อนไหวด้านแรงงานในสหรัฐฯ มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่จากการที่กลุ่มคนงานฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ เพิ่งจะมีการเคลื่อนไหวเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาโดยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการเคลื่อนไหวจัดตั้งมาก่อน โดยมีหลายคนกังขากับการเคลื่อนไหวจากกลุ่ม SEIU ซึ่งเน้นยอมรับ "ข้อตกลงแบบกลางๆ" และดูเหมือนจะพยายามเน้นสิทธิที่ลูกจ้างจะจัดตั้งสหภาพแรงงานของตัวเองได้แลกกับประเด็นค่าแรงและสภาพการทำงาน

ในขณะที่การจัดตั้งของกลุ่มคนงานฟาสต์ฟู้ดมีลักษณะการตัดสินใจร่วมกันอย่างเป็นอิสระมากกว่า มีการพูดคุยสื่อสารเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมกับกลุ่มคนงานที่ต้องการเข้าร่วมการเคลื่อนไหว กลุ่มคนงานยังได้ร่วมกันตั้งคณะกรรมการแรงงานแห่งชาติเพื่อเป็นผู้ตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์รวมถึงวางแผนปฏิบัติการ ทำให้การเคลื่อนไหวเติบโตขึ้นและมีคนงานตามเมืองต่างๆ อีกทั้งยังสามารถส่งสารไปถึงนายกเทศมนตรีนิวยอร์กซิตี้ บิลล์ เดอ บลาสิโอ ให้ช่วยส่งคำร้องต่อ ส.ส.รัฐนิวยอร์กให้มีมติยกเลิกกฎหมายที่อนุญาตให้เมืองต่างๆ เป็นผู้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำด้วยตนเอง

Waging Nonviolence ระบุว่าความสามารถในการกดดันกลุ่มบรรษัทให้ร่วมโต๊ะเจรจาและการให้นักการเมืองร่วมหารือกับบรรษัทในการกำหนดขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการคุ้มครองแรงงานจะถือเป็นความสำเร็จของการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับกฎหมายคุ้มครองสิทธิคนงานร้านค้า (Retail Workers Bill of Rights) ที่เพิ่งมีการผ่านร่างในซานฟรานซิสโกเมื่อไม่นานมานี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมกลุ่มสหภาพของแรงงานฟาสต์ฟู้ดอยู่ที่อำนาจในการแต่งตั้งหัวหน้างานร่วมในแต่ละสาขาอยู่ในกำมือของคณะกรรมการบอร์ดแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งมักมีการขัดขวางไม่ให้แรงงานเข้าร่วมสหภาพฯ 

ในกรณีความเห็นของคนทั่วไปเรื่องขึ้นค่าแรง Waging Nonviolence ระบุว่าชาวอเมริกันส่วนมากเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศสหรัฐฯ และมี 5 รัฐที่ยอมรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงที่มีการเลือกตั้งกลางเทอม โดยการเคลื่อนไหวของแรงงานในสหรัฐฯ จะสำเร็จได้ไม่เพียงแค่จากกลุ่มคนงานฟาสต์ฟู้ดอย่างเดียวเท่านั้นแต่รวมถึงกลุ่มผู้ทำงานได้ค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด

 

เรียบเรียงจาก

Low-wage worker coalition forms to challenge historic inequality, Waging Nonviolence, 09-12-2014
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net