Skip to main content
sharethis

หารือภาคเอกชนเกาหลีใต้ 'พล.อ.ประยุทธ์' ชวนลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ จัดการขยะ - เอกชนเกาหลีสนใจลงทุนขนส่งระบบราง แปรรูปมะม่วงเพราะรสชาติดี ส่วนการจัดการน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ บอก 'เค วอเตอร์' รอรัฐบาลปรับแผนงาน ปรับเสร็จแล้วจะแจ้งให้ทราบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หารือภาคเอกชนเกาหลีใต้ ระหว่างร่วมประชุม ASEAN-ROK CEO Summit ที่นครปูซาน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2557 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมพิธีเปิดการประชุม ASEAN-ROK CEO Sumit ที่ BEXCO ที่นครปูซาน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.(ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

11 ธ.ค. 2557 - เวลา 07.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ ในการประชุม ASEAN-ROK CEO Sumit ได้พบหารือกับภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ ระหว่างรับประทานอาหารเช้า (Working Breakfast) ที่โรงแรมล็อตเต เมืองปูซาน

ในเว็บไซต์รัฐบาลไทย ระบุว่า ผู้เข้าร่วมจากภาคธุรกิจเกาหลี ได้แก่ ผู้แทนองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศเกาหลีใต้ (Korean Trade and Investment Promotion Agency: KOTRA) บริษัท K-water บริษัท Lotte Hotel & Resort ซึ่งดำเนินกิจการโรงแรม รีสอร์ทและร้านค้าปลอดภาษีชั้นนำ บริษัท Hana Tour Service ซึ่งเป็นบริษัททัวร์อันดับ 1 ของเกาหลี บริษัท LG Electronics บริษัท KORAIL ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการด้านคมนาคมและระบบรถไฟ บริษัท Samsung บริษัท Hyundai Motor และบริษัท POSCO ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่อันดับ 3 ของโลก  เป็นต้น

สำหรับการหารือ ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อธิบายถึงสถานการณ์การเมืองไทย เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ประเทศไทยว่ามีความสงบและมีความมั่นคง โดยขณะนี้ ต้องการเวลาเพื่อพัฒนาไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะยังใช้โอกาสไม่เต็มศักยภาพ และย้ำว่า ไทยยังมีพื้นที่และโอกาสให้เกาหลีใต้ลงทุนได้อีกมาก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อุตสาหกรรมเกาหลีมีความโดดเด่น โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษและพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยเองเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญในอาเซียน และมีศักยภาพที่จะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ให้แก่เกาหลีได้ เพราะไทยมีความพร้อมทั้งแง่ปัจจัยพื้นฐาน ตลาดและความนิยมเกาหลี อีกทั้ง รัฐบาลส่งเสริมให้ภาคเอกชนต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยให้ความสำคัญ เช่น การบริหารจัดการขยะ พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีดาวเทียม

นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะข้าว ยางพารา มันสัมปะหลัง ซึ่งเกาหลีมีศักยภาพด้านเทคโนโลยี ช่วยพัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและขยายโอกาสด้านการตลาดให้แก่ไทยได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ภาคธุรกิจเกาหลีช่วยผลักดันการเปิดตลาดเพิ่มเติมให้แก่สินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะเนื้อไก่ ผลไม้ ข้าว ยางพารา ซึ่งได้มีนักเกาหลีสนใจที่จะแปรรูปผลไม้ โดยเฉพาะมะม่วงไทย เพราะมีรสชาติดี

นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำว่า ภาคเอกชนเกาหลีสามารถใช้บริการสำนักงานส่งเสริมการลงทุนทีกรุงโซลได้ และไทยจะตั้งทีมงานเพื่อสนับสนุนนักลงทุนเกาหลีเป็นการเฉพาะอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน นายกรัฐมนตรีอยากให้เกาหลีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ชายแดน รวมถึงโครงการทวาย ซึ่งการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการส่งเสริมพิเศษ และสามารถเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศพื้นบ้านได้  โดยระยะแรกจะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง ใน 18 จังหวัด เชื่อมโยงกับเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย โดยสามารถจ้างแรงงานท้องถิ่นและใช้วัตถุดิบในพื้นที่ได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับบทบาทเกาหลีในภูมิภาคนี้  โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้เกาหลีส่งคณะผู้แทนภาคธุรกิจเยือนไทย เพื่อพบปะหารือเบื้องลึกกับฝ่ายไทยและดูสถานการณ์จริงในประเทศ

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไทยมีแผนที่จะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านคมนาคมอย่างครอบคลุม ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ และทราบว่าเกาหลีสนใจในโครงการพัฒนาระบบรางของไทย ซึ่งไทยมีแผนหลักใน 3 รูปแบบ คือ 1. สร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟเดิม 2. สร้างรถไฟเส้นทางขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งมีความเร็วปานกลาง 160 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง และ 3.สร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นแผนระยะต่อไป ทั้งนี้ ไทยเคยลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระบบราง จึงจะใช้กลไกนี้หารือกันต่อไป

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ ไทยทราบดีว่า บริษัท K-water มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำ อย่างไรก็ดี รัฐบาลกำลังทบทวนและปรับแผนงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการศึกษาดังกล่าวใกล้จะเสร็จแล้วและเมื่อมีความชัดเจนจะแจ้งให้ฝ่ายเกาหลีทราบ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของภาคเอกชนเกาหลี อาทิ นายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจว่ายังไม่มีการปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และรัฐบาลจะไม่ดำเนินการใดๆที่จะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของต่างชาติ แต่จะอำนวยความสะดวกและปรับสิทธิประโยชน์ของ BOI ให้เหมาะสมและมีความจูงใจ และจะมีการพิจารณาผ่อนปรนให้มัคคุเทศก์ชาวเกาหลีทำงานในไทยได้ชั่วคราว เป็นต้น ซึ่งภายหลังการหารือกับนายกรัฐมนตรี ภาคเอกชนเกาหลีมีความมั่นใจต่อการลงทุนในไทยและได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ภาคธุรกิจเกาหลีในประเทศไทย ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาและแรงงานไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสบการณ์และขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี ของบุคลากร เช่น ทุนการศึกษาด้านอาชีวะศึกษา การฝึกงานในโรงงานต่างๆ เพื่อยกระดับความสามารถของแรงงานขึ้นสู่ระดับหัวหน้างานต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีย้ำ การทำงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างโปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น และพร้อมจะดำเนินการหากมีการเรียกร้องผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย

 

หารือประธานาธิบดี ปัก กึนเฮ หวังขยายมูลค่าการค้า-การลงทุน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เข้าเยี่ยมคารวะและหารือ ปัก กึน เฮ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

ในเวลา 14.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ ปัก กึน เฮ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีด้วย เพื่อขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและผลักดันให้มีการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น

ตามรายงานในเว็บไซต์รัฐบาลไทย หลังเสร็จสิ้นการหารือ ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวต้อนรับและยินดีที่ไทยและเกาหลีเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดกันมายาวนาน และยังคงระลึกถึงเมื่อครั้งที่ไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีและขอขอบคุณทหารไทยที่ได้ร่วมรบอย่างกล้าหาญ โดยกองทัพเกาหลี ยังจำชื่อหน่วยทหารไทยที่มาร่วมรบในครั้งนี้ได้ คือ “พยัคฆ์น้อย” ที่มาร่วมรบในสงครามเกาหลีในสมัยนั้นอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ไทยอยากใช้โอกาสนี้ สร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกว่าเดิมและจะสนับสนุนกลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว อาทิ คณะกรรมาธิการร่วม มาเร่งขับเคลื่อนความสัมพันธ์  สำหรับสถานการณ์ของไทยในขณะนี้ มีความสงบ เรียบร้อยและมีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังวางพื้นฐานประเทศอย่างยั่งยืนสู่อนาคต

ด้านการค้าการลงทุน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในวันนี้ ได้พบปะกับเอกชนเกาหลีรายใหญ่ ได้รับฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ และเชิญชวนให้มาร่วมลงทุนในไทย โดยเฉพาะขณะนี้ ไทยส่งเสริมการลงทุนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ ไทยบวกหนึ่ง และรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงกติกาการลงทุน เพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ หากการลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของประเทศ ซึ่งในโอกาสนี้ประธานาธิบดี ปัก กึน เฮ ได้แสดงความขอบคุณที่ไทยให้ความสนใจนักลงทุนเกาหลี และเชิญชวนให้เกาหลีมาร่วมลงทุนในโครงการต่างๆ ซึ่งเกาหลีมีความสนใจเข้าร่วมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางและประสงค์ที่จะเสนอโครงการให้ฝ่ายไทยพิจารณา

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำ ฝ่ายเกาหลีทราบว่ากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเกาหลีได้ขอให้ไทยพิจารณาภาคเอกชนเกาหลีเข้าไปมีส่วนเสนอการลงทุนในโครงการดังกล่าวด้วย

ด้านความร่วมมือด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายชื่นชมเรื่องการฝึกร่วมผสม Cobra Gold และยินดีที่กลาโหมของทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม MOU ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเมื่อปี 2555 ด้วย

ในโอกาสนี้ ไทยขอให้เกาหลีช่วยดูแลสินค้าไทยที่ติดอุปสรรคเข้าตลาดเกาหลี โดยเฉพาะการส่งเสริมการนำเข้าผลไม้ไทย ซึ่งปัจจุบันสามารถนำเข้าได้เพียง 7 ชนิด ในขณะที่เกาหลีสามารถส่งผลไม้มายังไทยได้ 20 ชนิด นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานเกาหลีเร่งรัดยกเลิกการห้ามนำเข้าเนื้อไก่สดแช่แข็งจากไทย เนื่องจากไทยปลอดโรคไข้หวัดนกมา 5 ปี แล้ว โดยที่หลายประเทศที่มีมาตรฐานสุขอนามัยสูง ได้ยกเลิกมาตรห้ามดังกล่าวแล้ว  ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีได้รับที่จะไปพิจารณาในเรื่องดังกล่าวต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net