สนช.เห็นชอบส่งข้อเสนอ กมธ.16 คณะให้ กมธ.ยกร่าง รธน.

ที่ประชุม สนช.รับทราบความเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญ กมธ. 16 คณะ ส่งต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอเช่น ให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.มาจากการเลือกตั้งตรง เพิ่มกลไกตรวจสอบ ให้ประชาชนฟ้องศาลตรงคดีทุจริตในภาครัฐได้ คดีทุจริตไม่หมดอายุความ มีกลไกห้ามนักการเมืองที่เคยต้องคำพิพากษาหรือกระทำทุจริตเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 
12 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงบ่าย มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ได้รับทราบรายงานรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตาม 34 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญในราชอาาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2557 โดยเปิดโอกาส ให้กรรมาธิการทั้ง16 คณะรายงานกรอบร่าง รธน. คณะละ 5 นาที
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ความเห็นของ กมธ.สามัญ สนช. 16 คณะ และ กมธ.วิสามัญพิจารณาการศึกษาการผังเมืองและการใช้พื้นที่ 2.การเสนอความเห็นของสมาชิก สนช. และ 3.ข้อมูลความเห็นของ กมธ.สามัญ 16 คณะ และ กมธ.วิสามัญพิจารณาการศึกษาการผังเมืองและการใช้พื้นที่ และข้อเสนอแนะสมาชิก สนช.
 
มีความเห็นของ กมธ.ที่น่าสนใจ อาทิ กมธ.การเมือง ที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน เสนอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต้องรวมตัวตั้งคณะบุคคลแล้วทำบัญชีรายชื่อ จำนวนไม่เกิน 2 เท่าของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคณะบุคคลดังกล่าวจะสมัครในนามพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ กำหนดให้แต่ละคณะบุคคลมีหมายเลขเดียว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้หมายเลขเดียว และถ้าคณะใดได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 35 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ถือว่าได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศ หากไม่มีคณะใดได้ถึงร้อยละ 35 ให้นำคณะที่ได้คะแนนลำดับสูงสุดและรองลงมาให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง คณะใดได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง และให้จัดตั้ง ครม.หรือปรับ ครม.จากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดดำรงตำแหน่งได้วาระละ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน
 
ส่วนของระบบรัฐสภา เสนอให้มี 2 สภาคือสภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง กำหนดให้จำนวน ส.ส.เหมาะสมกับจำนวนประชากร ให้เลือกได้หมายเลขเดียว และให้มีผู้สมัครเลือกตั้ง สังกัดพรรคการเมืองและผู้สมัครอิสระ ส่วนวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่ง 6 ปีวาระเดียว มีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วย ประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และตัวแทนกลุ่มอาชีพ สำหรับข้อเสนอด้านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เห็นว่ายังจำเป็นต้องมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และต้องเพิ่มจาก 5 คน เป็น 7-9 คน อย่างไรก็ตาม วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เวลา 9 ปี นานเกินไป อาจทำให้เกิดความเฉื่อยชา
 
ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐและสามารถฟ้องร้องคดีทุจริตของภาครัฐได้ทั้งต่อศาลและ ป.ป.ช.ในฐานะผู้เสียหายโดยตรง มีกลไกควบคุมไม่ให้นักการเมืองที่เคยต้องคำพิพากษา หรือมีการกระทำทุจริตเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด และต้องมีกลไกเอาผิดอย่างต่อเนื่อง เช่น ไม่มีการกำหนดอายุความคดีทุจริตหรือสร้างความเสียหายให้แก่รัฐ หรือกำหนดอายุความสูงสุดเท่าที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้
 
ขณะที่ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธาน กมธ.การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ เสนอเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาควรมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แบ่งตาม 5 กลุ่มวิชาชีพ คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ และภาคอื่น ๆ โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เพื่อคานอำนานและป้องกันเผด็จการสภาผู้แทนราษฎร ส่วนอำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง (ให้ใบเหลือง หรือ ใบแดง) ควรเป็นอำนาจศาลยุติธรรม ทั้งนี้ เสนอให้โอนภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญไปสังกัดเป็นแผนกหนึ่งของศาลยุติธรรม
 
สำหรับการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจากคราวละ 9 ปี ควรเหลือเพียงวาระละ 4 ปี เพื่อให้ทำหน้าที่บริสุทธิ์ ยุติธรรมไม่ยาวนานจนสร้างเครือข่ายและอิทธิพลที่จะกระทบต่อหน้าที่
 
ในส่วนของ กมธ.พลังงาน พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธาน กมธ.พลังงาน เสนอว่า รัฐบาลควรออกมาตรการป้องกันการผูกขาดในธุรกิจพลังงาน สร้างการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของนักธุรกิจในประเทศ เพื่อแข่งขันกับนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างด้านพลังงานทั้งระบบให้เป็นไปตามกลไกตลาด ลดการแทรกแซง หรืออุดหนุนโดยรัฐบาล
 
ด้าน พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง ประธานคณะกรรมาธิการสื่อสารมวลชน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ เสนอให้ กสทช. อยู่ใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.องค์กรเฉพาะ แต่ไม่ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนี้ ให้สื่อกำกับดูแลเนื้อหาข่าวสารให้สมดุล ระหว่างสิทธิเสรีภาพสื่อและผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติมากกว่านี้ นอกจากนี้ ควรตั้งองค์กรวิชาชีพควบคุมจริยธรรมสื่อสารมวลชน แต่ไม่ให้เป็นการข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ และควรส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ เพื่อลดความขัดแย้งของคนในชาติ
 
จากนั้น ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เห็นสมควรให้จัดส่งรายงานไปให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 160 คะแนน งดออกเสียง 2 เสียง
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังตั้งคณะกรรมาธิการสามัญจำนวน 17 คน เพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ และให้ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม กำหนดระยะเวลา 40 วัน ส่วนระเบียบวาระที่เหลือ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต ร่าง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย และร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน เลื่อนไปประชุมในสัปดาห์หน้า
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท