รายงานเสวนา ‘สิทธิมนุษยชนในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน’

วงเสวนาห้องเรียนสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน เห็นพ้องรัฐควรจำกัดสิทธิของประชาชนให้น้อยที่สุด และเห็นว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยที่ตกต่ำหลังลงรัฐประหาร นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชน มหิดล ชี้ว่ากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองยังมีช่องโหว่การตีความนิยามสถานการณ์ฉุกเฉิน เกรงรัฐนำไปใช้ในทางที่ไม่ชอบ ขณะที่ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ชี้ว่าหลังรัฐประหารสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยน่าเป็นห่วงหลายเรื่อง ด้านผู้อำนวยการคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลระบุ สถานการณ์ฉุกเฉินไม่ถือเป็นข้อยกเว้นให้รัฐไม่ปฏิบัติตามกติกากฎหมายระหว่างประเทศ ชี้ในรอบ 10 ปีของไทยไม่มีสถานการณ์ที่เป็นเหตุผลพอให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านทนายความจากศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนชี้ กฎหมายความมั่นคงของไทยไม่มีระบบตรวจสอบความชอบในการใช้ และตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผ่านมา  ชี้รัฐประหารรอบนี้ใช้กฎอัยการศึกอย่างกว้างขวาง น่าเป็นห่วงผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองและคดี 112

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา มีการจัดเสวนาห้องเรียนสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีผู้ร่วมอภิปรายจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ไมเคิล เฮย์ส จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล, ยู คาโนะซูเอะ ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ, แซม ซาริฟี ผู้อำนวยการคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล และภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มการเสวนามีเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่เดินทางมาพบและพูดคุยกับผู้จัดงาน และได้เข้าร่วมฟังการเสวนา ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าระหว่างการอภิปรายเจ้าหน้าที่ทหารได้บันทึกภาพผู้อภิปรายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเอาไว้ด้วย

สำหรับเนื้อหาการเสวนาสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสรุปมีดังนี้

ไมเคิล เฮย์ส จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล
เฮย์สกล่าวว่า ในมาตรา 4 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่นั้น มีปัญหาอย่างมากในการตีความ และอาจเปิดโอกาสให้รัฐนำไปใช้อ้างในทางที่ผิดๆ ได้

เนื่องจากมาตราดังกล่าวยอมให้รัฐจำกัดสิทธิของประชาชนและไม่ต้องปฏิบัติตาม ICCPR ในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน เฮย์สกล่าวว่า การยอมให้รัฐจำกัดสิทธิของประชาชนได้นั้นจะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติจริงๆ ซึ่งรวมถึงภัยธรรมชาติด้วย  แต่ข้อบัญญัติดังกล่าวยังมีความคลุมเครือ ไม่มีความชัดเจนว่าอะไรคือชาติ และอะไรคือภัยคุกคาม ซึ่งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ไม่เปิดโอกาสให้ยกเว้นสิทธิต่างๆ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม เช่น สิทธิที่อยู่ในจารีตประเพณี สิทธิที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน สิทธิในการเดินทาง ส่วนภัยคุกคามที่รัฐมองว่าอาจจะเกิดขึ้น เช่น โอกาสที่จะมีผู้ก่อการร้าย ไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามในความหมายนี้

เฮย์สกล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้นำของรัฐจะต้องแจ้งต่อสาธารณะและแจ้งต่อสหประชาชาติ รวมถึงอธิบายเหตุผลและต้องประกาศว่าจะมีการจำกัดสิทธิของประชาชนในเรื่องใดบ้าง และการจำกัดสิทธิจะต้องได้สัดส่วนกับสถานการณ์ ทั้งนี้รัฐไม่สามารถจำกัดสิทธิของประชาชนได้ตามอำเภอใจ

เฮย์สกล่าวในตอนท้ายว่า เริ่มมีการถกเถียงกันว่าควรสิทธิในเรื่องใดบ้างที่จะต้องไม่ถูกจำกัดไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม รวมถึงในสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย เช่น สิทธิในการศึกษา ข้อกังวลเกี่ยวกับมาตรา 4 ของ ICCPR คือ สิทธิที่ไม่สามารถให้มีการละเมิดได้ควรมีอะไรบ้าง เช่น สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน สิทธิในการจับกุมตัว ซึ่งในหลายประเทศมีกฎหมายห้ามไม่ให้มีการจับกุมโดยพลการ นอกจากนี้ สิทธิที่มักถูกจำกัดเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น สิทธิในในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการรวมตัว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการเดินทาง เฮย์สกล่าวว่าก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกละเมิดด้วยเช่นกัน

ยู คาโนะซูเอะ ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights - UNOHCHR)
ยู คาโนะซูเอะ กล่าวว่า หน้าที่ของ UNOHCHR คือการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคนในระดับโลก และมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย UNOHCHR มีทีมขนาดเล็กคอยติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิด โดยเริ่มตั้งแต่การชุมนุมของ กปปส.ซึ่งประกาศชัตดาวน์กรุงเทพฯ และเกี่ยวเนื่องจนไปถึงการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ผู้แทน UNOHCHR เล่าว่าหลังการรัฐประหาร 1 วัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน 5 ฉบับแสดงความห่วงใยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เป็นแถลงการณ์ที่แสดงความกังวลอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับการประกาศกฎอัยการศึกและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ผู้แทน UNOHCHR กล่าวว่าจากการสังเกตการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย มีข้อห่วงกังวลใน 5 ประเด็น คือ

1. การกักขังตามอำเภอใจ
ผู้แทน UNOHCHR กล่าวว่าจากการติดตามจำนวนผู้ถูกจับกุมจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน พบว่ามีผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวราว 600 คน และอีก 280 คนซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกควบคุมตัว โดยรวมแล้วเกือบ 1,000 คน สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ การที่ทหารไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัวและไม่อนุญาตให้ผู้ถูกควบคุมตัวติดต่อทนายความ แม้หลังการควบคุมตัวครบ 7 วันแล้วส่วนใหญ่จะถูกปล่อย แต่ก็มีบางรายที่ถูกกักขังไว้นานกว่านั้น

ผู้แทน UNOHCHR กล่าวว่า เคยมีการร้องขอข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่หลายครั้งเกี่ยวกับสถานที่ควบคุมและกำหนดเวลาปล่อยตัว และเข้าใจว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดได้รับข้อมูล แต่สิ่งที่อันตรายมากคือการไม่รู้ว่าผู้ที่ถูกเรียกถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหน และไม่ทราบว่ามีการปฏิบัติต่อคนเหล่านี้อย่างไร มีการทรมานหรือทำให้สูญหายหรือไม่ ขณะที่ในต่างจังหวัดไม่มีการประกาศเรียกรายงานตัวอย่างเป็นระบบ แต่ใช้วิธีให้ทหารโทรศัพท์เรียกไปพบเป็นการส่วนตัว แม้ว่าจะมีการหยุดออกคำสั่งเรียกรายงานตัวผ่านช่องทางสาธารณะแล้วในเดือนกรกฎาคม แต่การเรียกรายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการยังคงมีอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้ไม่สามารถทราบจำนวนที่แท้จริงของประชาชนที่ถูกทหารเรียกพบ

2. การปฏิบัติต่อผู้ต้องหาและการทรมาน
ผู้แทน UNOHCHR กล่าวว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ในวันที่ 5 สิงหาคมในกรณีของกริชสุดา คณะแสน ซึ่งถูกกักขังตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน-24 มิถุนายน เธอถูกคลุมศีรษะด้วยถุงพลาสติกจนหมดสติ  นอกจากกรณีของกริชสุดาแล้ว ยังมีข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคมในอีกหลายกรณี แต่เป็นเรื่องยากมากที่จะค้นหา เนื่องจากไม่มีภาพแสดงว่าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด

3. การใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือน
ผู้แทน UNOHCHR กล่าวว่า จากการติดตามจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร พบว่ามีพลเรือน 107 คนถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งตัวเลขนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากในเดือนสิงหาคมตัวเลขอยู่ที่ 69 คน จากการพบกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมในเดือนสิงหาคม ทำให้ได้ข้อมูลว่ามีการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหารกรุงเทพ 56 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก ซึ่งพอจะชี้ได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารโดยไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน

ผู้แทน UNOHCHR กล่าวว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศ การใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนจะถูกจำกัดและเป็นข้อยกเว้นที่เฉพาะมาก จากมุมมองของ UNOHCHR สถานการณ์ของประเทศไทยยังไม่อยู่ในระดับที่จะใช้ศาลทหารกับพลเรือน เพราะศาลพลเรือนยังทำหน้าที่ได้ปรกติก่อนการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม

ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับพลเรือน ประการแรก คือ การเข้าถึงการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมภายใต้ศาลทหาร เนื่องจากในภาวะปรกติศาลทหารจะมี 3 ชั้นคือ ศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารชั้นกลาง และศาลทหารสูงสุด แต่ภายใต้กฎอัยการศึกจะเหลือศาลเพียงชั้นเดียว ซึ่งภายหลังมีการยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว หากมีการยื่นอุทธรณ์ ก็จะกลับมาสู่คำถามว่าการพิจารณาคดีภายใต้กฎอัยการศึกนั้นมีความชอบธรรมหรือไม่

ข้อกังวลประการที่สอง ในเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะเข้าฟังการพิจารณาคดีแบบเปิดเผย มีข้อสังเกตว่าคดี 112 มักเพิ่มสูงขึ้นหลังการรัฐประหาร ในจำนวน 32 คดี มีอย่างน้อย 6 คดีซึ่งเกิดก่อนการรัฐประหาร แต่ถูกนำขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหารกรุงเทพ และมี 4 คดีถูกพิจารณาคดีแบบปิดลับ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คดี 112 จำนวน 70 คดี มี 3 คดีที่มีการพิจารณาแบบปิดลับ แต่ในกฎหมายระหว่างประเทศแม้ในสถานการณ์สงคราม สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมก็จะคงได้รับการรับรอง

4. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการรวมกลุ่ม
ผู้แทน UNOHCHR กล่าวว่า ประกาศของ คสช.ฉบับที่ 7 ห้ามประชาชนรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน เป็นสิทธิของประชาชนที่จะมีเสรีภาพในการรวมกลุ่ม แต่ขณะนี้ทำได้ไม่เกิน 5 คน

5. สิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับที่ดิน
ผู้แทน UNOHCHR กล่าวว่า มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจำนวนมากจากคำสั่ง คสช.ที่ 64, 66 และแผนแม่บทป่าไม้ ในอดีตเคยมีกระบวนการเจรจาต่อรองเพื่อแก้ปัญหา แต่หลังจากมีคำสั่ง คสช.การปราบปรามของรัฐกลับเพิ่มมากขึ้น บางชุมชนถูกไล่รื้อ แปลงเพาะปลูกถูกทำลาย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน นอกจากนี้ การจำกัดสิทธิโดยกฎอัยการศึก ทำให้ชาวบ้านและชุมชนหวาดกลัวที่จะรวมตัวกันเพื่อพูดคุยถึงปัญหาของตัวเอง

แซม ซาริฟี ผู้อำนวยการคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists - ICJ)
แซมกล่าวว่า กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ถือเป็นข้อยกเว้นให้รัฐไม่ต้องปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ-นิติธรรม หรือไม่ปฏิบัติตามกรอบกติกากฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศยอมให้รัฐใช้อำนาจพิเศษในช่วงที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ชั่วคราว จำกัด และได้สัดส่วนเพื่อรักษากฎหมายและความเป็นระเบียบของสังคมเอาไว้

แซมกล่าวว่า เกณฑ์ในการตัดสินใจว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ ต้องมีระดับความร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของชาติ และเป็นสถานการณ์ที่ใกล้จะเกิดขึ้น เป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงและมีความสำคัญมากต่อความเป็นอยู่ของประชากรที่อาศัยอยู่ในรัฐนั้น เป็นภัยต่อความเป็นอิสระทางการเมืองหรือเขตแดนของรัฐ เป็นสถานการณ์ที่มีการรุกรานหรือเกิดสงคราม แซมกล่าวว่า ในบางกรณีไม่อาจกล่าวได้ว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยยกตัวอย่าง ประเทศบรูไนมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1962 เป็นต้น แซมกล่าวว่าบางรัฐบาลได้ประโยชน์จากการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินไปในทางที่ผิด เพื่อที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามพันธะกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศ

แซมกล่าวถึงสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ของไทยว่า มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในปี 2005 ในช่วงที่ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้น แต่สุดท้ายสถานการณ์ก็ไม่ได้เพิ่มระดับความรุนแรงจนถึงขั้นที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามข้อกำหนดของ ICCPR เขากล่าวว่าประเทศไทยในช่วง 10 ปีมานี้ ไม่มีอะไรที่เป็นเหตุผลเพียงพอในระดับที่จะต้องมีการตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเลย

แซมกล่าวว่า รัฐสามารถจำกัดสิทธิบางอย่างของประชาชนได้ชั่วคราวในขณะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการรวมกลุ่ม แต่ต้องทำอย่างจำกัดและห้ามทำตามอำเภอใจ และในระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐห้ามละเมิดสิทธิในเรื่องการทรมาน การจับกุมตามอำเภอใจ การอุ้มหายหรือการทำให้สาบสูญ การกักขังโดยไม่แจ้งสถานที่ รวมถึงห้ามละเมิดเสรีภาพในเรื่องศาสนา สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิที่จะร้องเรียนและได้รับความเป็นธรรมจากศาลเมื่อถูกละเมิดในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

แซมกล่าวว่า รัฐมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุผลในการจำกัดสิทธิและต้องกำหนดเวลาของการจำกัดสิทธิชั่วคราว เท่าที่จำเป็น และได้สัดส่วนต่อสถานการณ์ โดยมีการละเมิดสิทธิให้น้อยที่สุด  ทั้งนี้รัฐต้องมีคำอธิบายด้วยว่า การจำกัดสิทธิต่างๆ ของประชาชนจะช่วยแก้ไขหรือคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างไร นอกจากนี้ การจำกัดสิทธิต้องกระทำโดยเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และต้องมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกจำกัดสิทธิด้วย

แซมกล่าวว่า หลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 57 พบว่ามีการละเมิดสิทธิในหลายเรื่อง และมีการจับกุมตัวและพิจารณาคดีที่ไม่เหมาะสม เขาเห็นว่าจะต้องมีการพิจารณาคดีที่เป็นอิสระและเป็นธรรม การกักขังใดๆ จะต้องเปิดเผย  ต้องไม่มีการกักขังแบบลับ ห้ามกักขังโดยไม่มีกำหนดเวลา และต้องเปิดเผยรายชื่อและจำนวนของผู้ที่ถูกจับกุม รวมถึงบอกสถานที่กักขังให้ประชาชนรับทราบด้วย

นอกจากนี้ ต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รัฐไม่สามารถใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อคุกคามสื่อมวลชน นักวิจัย นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม หรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงไม่สามารถจำกัดสิทธิการรวมตัวของแรงงานในการชุมนุมประท้วงอีกด้วย

แซมกล่าวว่า การใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีกับพลเรือนเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และในช่วง 2-3 เดือนมานี้ หน่วยงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้วิจารณ์ประเทศไทยมากขึ้นในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยเป็นตัวอย่างของสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค

ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ประเทศไทยมีการนิยามสถานการณ์การฉุกเฉินไว้หลากหลายความหมายและมีการใช้ในขอบเขตที่กว้างขวาง โดยมีข้อสังเกตต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของไทยที่ผ่านมาว่า มีความจำเป็นและมีเหตุเพียงพอหรือไม่เมื่อเทียบกับภัยคุกคามที่กำหนดใน ICCPR

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า กฎหมายความมั่นคงของไทยทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น ไม่มีกลไกตรวจสอบการประกาศใช้รวมถึงตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมาย โดยยกตัวอย่างกฎอัยการศึกที่มีอายุครบ 100 ปี ว่าสามารถใช้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล และเมื่อประกาศใช้แล้วไม่ต้องมีการตรวจสอบ เช่นเดียวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ไม่สามารถฟ้องร้องต่อศาลให้พิจารณาความชอบในการประกาศใช้  ในขณะที่ให้อำนาจอย่างมากแก่นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในการประกาศ และไม่มีกำหนดเวลาการส่งเรื่องเข้าสภาเพื่อพิจารณาเหตุผลและความชอบในการประกาศ รวมทั้งไม่มีกลไกตรวจสอบอื่นใดอีกด้วย

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงว่า  นำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม โดยยกตัวอย่างการใช้กฎหมายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า พบการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย พบการซ้อมทรมาน และการควบคุมตัวไม่ชอบหรือการควบคุมตัวตามอำเภอใจ รวมทั้งมีบุคคลถูกทำให้สูญหาย

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ภาคใต้เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีบุคคลต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิด ก็สามารถใช้กฎอัยการศึกในการจับกุมตัว และเมื่อจับกุมแล้วจะนำไปกักขังไว้ที่ไหนอย่างไรก็ได้ไม่เกิน 7 วัน หลังจากนั้นสามารถควบคุมตัวต่อได้ไม่เกิน 30 วัน ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องขออนุญาตจากศาลโดยไม่ต้องนำตัวผู้ถูกจับกุมไปที่ศาล เมื่อครบ 37 วันจึงนำตัวไปสถานีตำรวจและส่งตัวไปขอฝากขังที่ศาล โดยกรณีที่พบมากที่สุดคือ การควบคุมตัวไม่ชอบ ซึ่งส่งผลให้เกิดการซ้อมทรมาน และผลสืบเนื่องต่อมาคือการที่มีบุคคลสูญหาย เนื่องจากการจับกุมโดยไม่แจ้งต่อญาติหรือไม่มีผู้ใดรับทราบ ทำให้กรณีบุคคลสูญหายมีสูง

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังกล่าวด้วยว่า การใช้กฎหมายความมั่นคงที่ซ้ำซ้อนหลายฉบับ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยาวนานมากขึ้น โดยจาก 7 วันเป็น 30 วัน และ 37 วัน รวมทั้งยังมีการยกเว้นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมปรกติ เช่น การจับกุมโดยไม่แจ้งข้อหา การไม่ได้รับสิทธิในการติดต่อญาติหรือพบทนายความ และการไม่ได้รับสิทธิในการปฏิเสธคำให้การ

นอกจากนี้ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ยังพบว่ามีกรณีที่มีการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว มีการจับกุมโดยกลับไปใช้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก ซึ่งเป็นเลือกใช้กฎหมายตามความสะดวกของเจ้าหน้าที่ และพบว่ากฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นแหล่งกำเนิดของพยานหลักฐานที่จะนำไปใช้ในการดำเนินคดีในชั้นศาล นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่ามีการอายัดตัวซ้ำซาก โดยผู้ต้องหาจะถูกดำเนินคดีหลายคดี และเมื่อสิ้นสุดคดีหนึ่งมักถูกอายัดตัวและคุมขังต่อด้วยคดีอื่นๆ

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อไปว่า ภายหลัง คสช.ยึดอำนาจ มีการใช้กฎอัยการศึกอย่างกว้างขวางมาก นอกจากใช้กับผู้ที่มาชุมนุมแสดงสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช.แล้ว ยังมีการใช้กับกรณีอื่นๆ ด้วย เช่น การปราบปรามการบุกรุกป่า การปราบปรามยาเสพติดและบ่อนการพนัน และพบด้วยว่ามีการเพิ่มขึ้นของคดีอาญามาตรา 112 โดยทหารใช้กฎอัยการศึกในการจับกุมและนำตัวส่งตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การกินแซนด์วิช หรือการชูสามนิ้ว ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายหรือขัดต่อคำสั่ง คสช. แต่เป็นการแสดงออกโดยสันติปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว ส่วนการไม่อนุญาตให้จัดเสวนาต่างๆ ก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย แต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือ ซึ่งถ้าฝ่าฝืนก็จะถูกนำตัวไปสถานีตำรวจและการเสวนาก็จะยุติไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกลไกตรวจสอบที่เป็นอิสระที่ชี้ว่ารัฐสามารถใช้อำนาจได้แค่ไหนอย่างไร เพื่อไม่ให้ขอบเขตอำนาจกว้างขวางเกินไป

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีการเรียกคนไปรายงานตัวโดยไม่ประกาศผ่านทางโทรทัศน์ โดยอ้างกฎอัยการศึกและมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือที่เรียกว่า “เรียกเงียบ” ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก มีการกระทำในลักษณะที่เรียกตัวผู้ที่เคยถูกเรียกรายงานตัวแล้วไปทานข้าว ซึ่งผู้ที่ถูกเรียกมีความกังวลว่าหากไปพบกับทหารแล้วจะถูกปล่อยตัวกลับบ้านหรือไม่

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า กรณีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบบ่อย คือ 1) ผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.หรือการถูกเรียกรายงานตัวทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การถูกจับกุมเนื่องจากการแสดงเชิงสัญลักษณ์หรือโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก 2) คดีในข้อหา 112 ซึ่งแจ้งผ่านทหารหรือตำรวจและมีการจับกุมในทันที และ 3) คดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างการชุมนุมทางการเมืองของ กปปส.ซึ่งมีการติดตามจับกุมมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร โดยที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า มีการซ้อมทรมานผู้ที่ถูกจับกุมโดยกฎอัยการศึกภายในค่ายทหารมากกว่า 14 กรณี มีบางกรณีที่มีบาดแผลติดตัวอยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐาน และมีบางกรณีถูกควบคุมตัวเกินกว่า 7 วัน และเมื่อถูกแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ จะมีทหารมาประกันตัวและนำตัวไป

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า กรณีที่น่ากังวลคือ ผู้ถูกจับกุมในคดีเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งมีข้อมูลว่ามีการละเมิดสิทธิ เช่น มีการข่มขู่ มีการทรมานและทำร้ายร่างกาย นอกจากนั้น ผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 ก็น่ากังวลด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้ถูกจับกุมจะไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวเพื่อสู้คดี

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตในตอนท้ายว่า การนำตัวผู้ไม่ไปรายงานตัวตามประกาศ คสช. และผู้ต่อต้านการรัฐประหารขึ้นดำเนินคดีในศาลทหาร เป็นการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากคดีเหล่านี้เป็นทางการเมืองทั้งสิ้น และมีความชัดเจนว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะที่เปรียบเทียบกับกรณีคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้กลับไม่ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหาร ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อเสนอด้วยว่า ควรยกเลิกประกาศที่ให้ดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร และให้พลเรือนรับการพิจารณาคดีในศาลพลเรือน โดยมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท