Skip to main content
sharethis

จากเหตุการณ์อื้อฉาวของตำรวจในสหรัฐฯ ที่ทำให้มีเกิดการประท้วงหลายแห่ง ดิอีโคโนมิสต์ได้วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ระบบตำรวจในสหรัฐฯ มีปัญหามากกว่าประเทศร่ำรวยอื่นๆ ส่วนหนึ่งมาจากการใช้อาวุธทำร้ายตำรวจโดยพลเรือนเอง ส่วนหนึ่งมาจากระบบตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่ดีพอ และอีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาตัวกฎหมาย


การประท้วงกรณีอิริค การ์เนอร์ ที่ซีแอตเทิล เมื่อ 6 ธ.ค.2557
ภาพโดย
scottlum  (Some rights reserved)
 

13 ธ.ค. 2557 นิตยสารดิอีโคโนมิสต์เผยแพร่บทความเกี่ยวกับปัญหาระบบตำรวจในสหรัฐฯ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์อื้อฉาวหลายครั้งเมื่อไม่นานมานี้ เช่นกรณีตำรวจยิงวัยรุ่นชาวผิวดำที่ไม่มีอาวุธชื่อไมเคิล บราวน์ จนเสียชีวิต กรณีจับกุมชายชื่ออิริค การ์เนอร์ ด้วยวิธีการล็อกคอจนขาดอากาศหายใจ จนทำให้เกิดการประท้วงทั่วสหรัฐฯ เมื่อไม่มีการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 2 คดี

ดิอีโคโนมิสต์ยังได้กล่าวถึงกรณีของจอห์น ครอว์ฟอร์ด ซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในห้างวอลมาร์ทในรัฐโอไฮโอ เมื่อครอวฟอร์ดเอาปืนอัดลมของเล่นออกมาจากชั้นเหมือนว่าต้องการจะซื้อ ในตอนนั้นเอาชี้ปลายปืนไปที่พื้นขณะที่กำลังโทรศัพท์พร้อมกับเดินดูของอื่นๆ ไปด้วย คนที่อยู่รอบตัวเขาไม่มีใครเห็นว่าเขาเป็นภัยคุกคามใดๆ เลย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้าไปในพื้นที่หลังจากได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินอ้างว่ามีชายผิวดำถือปืนขู่ผู้คน ตำรวจรุดเข้าไปและยิงใส่ครอวฟอร์ดผู้ที่ถือปืนของเล่น มีแม่ของเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์หัวใจวายเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตื่นตระหนกนี้ด้วย แต่ทว่าเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาคณะลูกขุนใหญ่ตัดสินใจไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ก่อเหตุยิงครอว์ฟอร์ด

ดิอีโคโนมิสต์ระบุว่าเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเช่นกรณีของครอว์ฟอร์ดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะกรณีที่ตำรวจยิงคนเสียชีวิตซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่ไม่ได้รับรายงาน

ไม่เพียงเรื่องความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ทางการเท่านั้น ในสหรัฐฯ ประชาชนยังได้ถกเถียงกันเรื่องเกี่ยวกับประเด็นสีผิวเนื่องจากเหยื่อทั้งหมดในกรณีอื้อฉาวเหล่านี้เป็นคนผิวดำและเจ้าหน้าที่ที่ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว ทำให้คนผิวดำชาวอเมริกันรู้สึกว่าพวกตนถูกกระทำ มีชาวอเมริกันผิวดำน้อยกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 37 มีความมั่นใจในระบบตำรวจในสหรัฐฯ ขณะที่คนผิวขาวมีความมั่นใจร้อยละ 59 ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการแบ่งแยกสีผิวยังคงฝังรากลึกอยู่ในสหรัฐฯ และยังไม่หมดไปง่ายๆ

แต่ดิอีโคโนมิสต์ก็ชวนมองว่ามีอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปคือกรณีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีที่มาซับซ้อน ในหลายกรณีชาวสหรัฐฯ ก็ไม่ทันนึกถึงว่าประเทศของพวกเขามีความรุนแรงจากผู้บังคับใช้กฎหมายมากกว่าประเทศร่ำรวยอื่นๆ ซึ่งควรจะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความปลอดภัยของทั้งคนผิวขาวและคนผิวดำ

ดิอีโคโนมิสต์ระบุว่าระบบบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ มีส่วนหนึ่งที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีเช่นเรื่องการใช้ข้อมูลเพื่อการบังคับคดีในแบบของรัฐนิวยอร์ก แต่ก็มีด้านแปลกๆ อยู่เช่นการมีประชากรอยู่ในคุกมากถึงร้อยละ 1 ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมดในสหรัฐฯ ซึ่งจัดว่ามากกว่าจำนวนนักโทษโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศร่ำรวย 5 เท่า คนผิวสีมีโอกาสถึง 1 ใน 3 ที่จะถูกสั่งจำคุก

สิ่งที่น่าจะเป็นข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่งคือการตัดสินโทษที่หนัก ชาวอเมริกันบางคนถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีการปล่อยตัวก่อนกำหนดด้วยเงื่อนไขหรือการทำทัณฑ์บน แม้ว่าจะไม่ใช่ความผิดที่ทำเป็นการใช้ความรุนแรงก็ตาม การตัดสินโทษเช่นนี้ไม่มีในประเทศร่ำรวยประเทศอื่น

ปัญหาอีกประการหนึ่งมาจากการที่ตำรวจสหรัฐฯ ถูกจูงใจด้วยความโลภ กฎหมายอนุญาตให้พวกเขายึดทรัพย์สินผู้ที่เพียงแค่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เน้นเรื่องการดูแลความเรียบร้อยโดยอาศัยความร่วมมือกับชุมชน แต่ตำรวจสหรัฐฯ บางส่วนถูกทำให้กลายเป็นหน่วยเสริมของทหารที่มีอาวุธอย่างเครื่องยิงระเบิดและรถหุ้มเกราะ เคยมีการประเมินว่าหน่วยปฏิบัติการพิเศษหรือหน่วยสวัท (SWAT) ซึ่งเป็นหน่วยที่ติดอาวุธหนักออกปฏิบัติการจู่โจมเพิ่มขึ้นจาก 3,000 ครั้งต่อปีในปี 2523 เป็น 50,000 ครั้งในปีนี้

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ ยังใช้ความรุนแรงมากผิดปกติ โดยในปีที่แล้วตำรวจสหรัฐฯ ยิงคนเสียชีวิตอย่างน้อย 458 คน เมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษและแคว้นเวลส์ที่ตำรวจไม่ใช้อาวุธปืนสังหารใครเลยในปีที่ผ่านมา

ดิอีโคโนมิสต์ตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุหนึ่งที่ตำรวจสหรัฐฯ ปฏิบัติการแบบ "ยิงเพื่อป้องกันตัว" เนื่องจากพลเรือนชาวอเมริกันจำนวนมากมีอาวุธปืน มีสถิติที่ตำรวจสหรัฐฯ เองถูกยิงโจมตีไม่น้อยเหมือนกัน โดยในปีนี้มีตำรวจสหรัฐฯ ถูกยิงเสียชีวิต 46 นาย ปีที่แล้วมีตำรวจสหรัฐฯ ถูกโจมตี 52,000 นาย และเรื่องการที่ตำรวจสหรัฐฯ มักจะยิงคนผิวดำไม่ใช่แค่เพราะอคติเพียงอย่างเดียว แต่เพราะคนผิวดำก็มีสถิติสังหารตำรวจในระดับหนึ่งเช่นกัน โดยมีอยู่ร้อยละ 42 ของอาชญากรที่ทราบเชื้อชาติทั้งหมด ขณะที่สถิติของชาวอเมริกันผิวดำที่ถูกตำรวจยิงอยู่ที่ร้อยละ 29

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเรื่องปืนในสหรัฐฯ อาจจะยังต้องใช้เวลา แต่ดิอีโคโนมิสต์ก็มีข้อเสนอที่จะทำให้ตำรวจสหรัฐฯ ใช้ความรุนแรงน้อยลง ข้อเสนอแรกคือเรื่องความโปร่งใสของการทำงานของตำรวจ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องรายงานสิ่งที่ทำต่อรัฐบาลกลางและควรมีการติดกล้องติดตามตัวตำรวจซึ่งจะคอยตรวจตราทั้งการกระทำของตำรวจเองและของอาชญากร ทำให้การสืบสวนง่ายขึ้น

ประการถัดมาที่ดิอีโคโนมิสต์นำเสนอคือกระบวนการตรวจสอบและรับผิดซึ่งควรจะทำให้ตำรวจแย่ๆ ถูกสั่งออกจากงานได้ง่ายขึ้น ดิอีโคโนมิสต์มองว่าคนในหน่วยงานตำรวจท้องถิ่นของสหรัฐฯ มีความสนิทสนมกันมากเกินไปทำให้มีการสั่งออกจากงานยาก และคณะลูกขุนใหญ่ของท้องถิ่นก็มักจะได้ฟังความข้างเดียวจากฝ่ายพนักงานอัยการเวลามีคดีเกี่ยวกับตำรวจ เพื่อเสริมการตรวจสอบจึงควรให้มีการรับฟังคำร้องโดยผู้ตัดสินที่เป็นอิสระและมาจากภายนอก

ประการที่สามในข้อเสนอของดิอีโคโนมิสต์คือการยกเลิกเสริมกำลังแบบทหารให้กับตำรวจ ตำรวจสหรัฐฯ มักจะมองว่าหน้าที่ของตนคือการ "ทำสงครามกับอาชญากร" ขณะที่คนในย่านคนจนมักจะมองว่าตำรวจเป็น "กองกำลังที่เข้ายึดครอง" ย่านของพวกตน ตำรวจควรมีการฝึกฝนมากขึ้นและใช้อาวุธน้อยลง โดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ควรยกเลิกการส่งอาวุธแบบทหารให้กับตำรวจตามท้องถิ่น


เรียบเรียงจาก

America’s police on trial, The Economist, 13-12-2014
http://www.economist.com/news/leaders/21636033-united-states-needs-overhaul-its-law-enforcement-system-americas-police-trial

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net