#illridewithyou ต้านกระแสเกลียดชังชาวมุสลิมหลังเหตุจับตัวประกันในซิดนีย์

เกิดแฮชแท็ก #illridewithyou หลังจากที่ชาวมุสลิมในออสเตรเลียกังวลว่าจะถูกปลุกกระแสสร้างความเกลียดชังและหวาดกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ผลพวงจากกรณีผู้ก่อเหตุจับตัวประกันในคาเฟ่ที่ซิดนีย์อ้างว่าเป็นคนหัวรุนแรงทางศาสนา แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่าแฮชแท็กนี้เน้นย้ำความไม่เท่าเทียมกันของคนผิวขาวและคนชายขอบ

16 ธ.ค. 2557 จากเหตุการณ์ที่มีชายผู้หนึ่งอ้างตัวเองว่าเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามจับพนักงานและลูกค้าเป็นตัวประกันในร้านลินด์คาเฟ่ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทำให้ผู้คนบางส่วนเกรงว่าจะเกิดการเหมารวมผู้นับถือศาสนาอิสลามและการฉวยโอกาสของกลุ่มขวาจัด จึงมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งพยายามต้านทานกระแสความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลด้วยแฮชแท็ก #illridewithyou

หลังเหตุการณ์ที่ลินด์คาเฟมีตัวประกันเสียชีวิต 2 คน และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ก่อเหตุถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตในขณะที่มีการพยายามเข้าช่วยตัวประกัน ผู้ก่อเหตุมีชื่อว่า มาน ฮารอน โมนีส์ ซึ่งน่าจะเป็นผู้นับถืออิสลามนิกายซุนนีแบบสุดโต่งเมื่อดูจากเนื้อหาในโซเชียลมีเดียของเขา ทางด้านโทนี แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวว่าโมนีส์เป็นคนที่มีประวัติก่ออาชญากรรมรุนแรง เป็นคนหัวรุนแรงและมีจิตใจไม่ปกติ อย่างไรก็ตามชายผู้นี้ปฏิบัติการด้วยตนเองและไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่ม 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส'

เหตุการณ์นี้ยังทำให้ชาวมุสลิมในออสเตรเลียรู้สึกหวาดวิตกว่าพวกตนเองจะถูกเกลียดชังเพราะถูกมองอย่างเหมารวมกับผู้ก่อเหตุที่มีแนวคิดหัวรุนแรง ในช่วงที่กำลังมีรายงานข่าวการจับกุมตัวประกันแบบมีผู้หญิงที่สวมฮิญาบถูกถ่มน้ำลายใส่และมีกลุ่มขวาจัดเรียกร้องให้มีการชุมนุมต่อต้านตามมัสยิด ทำให้มีผู้คนจำนวนหนึ่งสร้างแฮชแท็ก #illridewithyou ที่แปลว่า "ฉันจะไปด้วยกันกับเธอ" เพื่อแสดงความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างและต่อต้านการเหยียดชาวมุสลิม ซึ่งประโยคดังกล่าวได้แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ชื่อ 'Rachael Jacobs'

ผู้ใช้ 'Rachael Jacobs' เล่าว่ามีผู้หญิงซึ่งคาดว่าเป็นชาวมุสลิมนั่งข้างๆ เขาในรถไฟค่อยๆ ถอดฮิญาบลงอย่างเงียบๆ จากนั้นเมื่ออยู่ที่สถานีรถไฟเขาวิ่งตามเธอไปแล้วพูดให้เธอสวมฮิญาบไว้แบบเดิมและเขาจะเดินไปด้วยกันกับเธอเองจากนั้นหญิงผู้นั้นก็เริ่มร้องไห้แล้วกอดเขาไว้ประมาณ 1 นาทีจากนั้นจึงเดินออกไปคนเดียว

จากเรื่องราวดังกล่าวนี้ทำให้มีชาวออสเตรเลียราวหลายหมื่นคนร่วมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวมุสลิมที่อยู่ร่วมประเทศด้วยแฮชแท็ก #illridewithyou ซึ่งมีคำอธิบายแฮชแท็กนี้ว่าเป็นการโต้ตอบการเหยียดเชื้อชาติศาสนาและความเกลียดชัง เนื่องจากหลังเกิดเหตุจับตัวประกันในคาเฟ่ลินด์ชาวออสเตรเลียบางคนที่ "ดูเหมือนชาวมุสลิม" หรือมีการแต่งกายบ่งบอกศาสนาไม่อยากใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะเพราะกลัวถูกเหมารวม จึงขอให้ผู้ที่ต้องการเดินทางด้วยบริการสาธารณะที่ต้องการเพื่อนร่วมเดินทางด้วยโพสต์แฮชแท็กดังกล่าว

แม้ว่าจะเป็นแนวคิดที่ดูดีแต่ #illridewithyou ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยคนบางส่วนว่าเป็นการเน้นย้ำอภิสิทธิ์ของประชากรที่เป็นผู้ชายผิวขาวในฐานะเป็นผู้ที่มีสิทธิ "ปกป้อง" ชนชายขอบในสังคม อีกทั้งยังไม่ได้ทำให้เกิดการหารือกันอย่างจริงจังในเรื่องความเป็นธรรมในสังคมสำหรับผู้ที่มีเชื้อชาติและศาสนาต่างกัน อย่างไรก็ตามมีผู้โต้แย้งคำวิจารณ์ว่าคนที่ริเริ่ม #illridewithyou เป็นคนแรกเป็นคนผิวสี และการรณรงค์นี้ก็อาจจะทำให้ประชาชนบางกลุ่มรู้สึกปลอดภัยขึ้น

เรียบเรียงจาก

With two hostages and gunman dead, grim investigation starts in Sydney, CNN, 16-12-2014
http://edition.cnn.com/2014/12/15/world/asia/australia-sydney-hostage-situation/

#illridewithyou is trending because some Australians refuse to blame Muslims for #sydneysiege, Globalpost, 15-12-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/asia-pacific/141215/illridewithyou-trending-because-some-australians-refuse-bl

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท