Skip to main content
sharethis

สัมมนาไทย-พม่าศึกษาที่ ม.นเรศวร 'สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์' จับเทรนด์การลงทุน พบทุนไทย-ญี่ปุ่นขยายไปเพื่อนบ้านมากขึ้นโดยใช้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยง เผยกลยุทธ์ญี่ปุ่น “Thailand-Plus-One” เน้นลงทุนในไทยแทนจีน และย้ายฐานการผลิตที่เน้นใช้แรงงานไปชาติเพื่อนบ้าน ชี้หากระเบียงเศรษฐกิจสมบูรณ์ จะเกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตอีก ธุรกิจไทยต้องปรับตัวสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งคิดโจทย์ออกแบบสินค้าและยี่ห้อเอง แล้วใช้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นฐานผลิตสินค้า

000

18 ธ.ค. 2557 - ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม ที่อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลกนั้น ในการสัมมนาวันที่ 18 ธันวาคม ช่วงเช้ามีการอภิปรายหัวข้อ "ASEAN East-West, North-South Economics Corridors ไฮเวย์จากมะละแหม่ง ผ่านพิษณุโลก ถึงดานัง ทางรถไฟความเร็วสูง จากคุณหมิง ผ่านเวียงจันทน์/กทม. ถึงสิงคโปร์"

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ 

โดยสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หนึ่งในผู้อภิปราย ได้กล่าาวถึงความสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจและความสำคัญที่มีต่อประเทศไทย โดยเริ่มต้นกล่าวว่า “ขอเรียบเรียงชื่อหัวข้อใหม่เป็น "ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้-ออก-ตก นัยยะต่อประเทศไทย" โดยจะเริ่มนำเสนอเรื่องระเบียงเศรษฐกิจ ที่เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมจุดสองสามจุดที่เราให้ความสนใจ

ระเบียงเศรษฐกิจทำไมจึงสำคัญ ขอย้อนมาอธิบายคำว่า "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ซึ่งพูดกันไปพูดกันมาเยอะ แต่จริงๆ แล้วประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่มีอะไรในกอไผ่ ปี 2015 ไม่ว่าจะเป็น 1 มกราคม หรือ 31 ธันวาคม จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่โต ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "รู้เท่าทัน AEC" แต่ดูเหมือนคนยังเข้าใจผิด

"ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นจากการที่ผู้นำรัฐไปตกลงกันนั้น ไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไรมากมายที่จะพลิกฟ้า พลิกแผ่นดินเปลี่ยนประเทศไทย แต่สิ่งหนึ่งที่จะเปลี่ยนประเทศไทย คือการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นโดยสภาพ โดยภาคปฏิบัติ ไม่ใช่โดยการตกลงของรัฐ ภาคปฏิบัตินั้นสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ การมีระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมต่อเพื่อนบ้าน เช่น ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ตะวันตก-ตะวันออก และระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมทวายออกไปทางไทยไปกัมพูชาและเวียดนาม"

จ.พิษณุโลกถือเป็นจุดสำคัญ ที่เป็นจุดผ่านของระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ระเบียงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นยังไม่ใช่ระเบียงเศรษฐกิจที่สมบูรณ์ เช่น ควรจะมีทางรถไฟที่เชื่อมต่อภูมิภาค GMS มากกว่าที่เป็นอยู่ ถนนที่ควรจะสร้างแต่ยังสร้างไม่เสร็จ ถ้าท่านเดินทางไปกับคณะของอาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) ออกจากเมืองเมียวดี จะมีถนนที่ใช้ได้เฉพาะวันคู่ หรือวันคี่ ซึ่งท่านต้องไปให้ถูกวัน

ระเบียงเศรษฐกิจทำไมจึงสำคัญ ขออธิบายจากมุมทางเศรษฐกิจว่า ประเทศไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2551 - 2555 เรามี GDP เติบโตเฉลี่ย 3.5% แต่ในจังหวัดที่ผ่านระเบียงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก มีการเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศ คืออยู่ที่ 3.8% ขณะที่ตัวระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ยังโต 2.8% เพราะโดยสภาพยังไม่ได้เชื่อมโยงไปประเทศต่างๆ อย่างสมบูรณ์ เช่น ด้านที่ต้องต่อไปทวายยังไม่เกิดขึ้น

นอกจากนี้จังหวัดแถบชายแดนจะได้อานิสงส์เยอะ โหนดใหญ่เชื่อมต่อด้วยถนนสายใหญ่ แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจก็จะเยอะ รูปธรรมตัวหนึ่งคือการเติบโตของการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดน การค้าชายแดนคือการส่งสินค้าไปขายในประเทศที่ติดกับเรา การค้าผ่านแดนคือเราผ่านประเทศที่พรมแดนติดกับเราแล้วทะลุไปอีกประเทศหนึ่ง เช่น เราจะส่งสินค้าไปสิงคโปร์ ผ่านทางมาเลเซีย

ในปี พ.ศ. 2553 - 2556 มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเติบโตเร็วกว่าการค้าโดยรวม การค้าโดยรวมของไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โตประมาณ 6% แต่การค้าที่ด่านจะสูง เช่น ต้าลี่ ที่ติดกับลาว การเติบโตอยู่ที่ 60% ต่อปี อรัญประเทศโต 24% ซีกแม่สอดโต 22% นี่คือการเติบโตของการค้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ถ้าแนวระเบียงเศรษฐกิจสมบูรณ์การค้าจะเพิ่มขึ้น การค้าเพิ่มขึ้น การลงทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ท่านจะเห็นการตั้งคลังสินค้า ตั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่างๆ เป็นสาเหตุที่อธิบายได้ว่า ทำไมที่ดินของจังหวัดในแถบระเบียงเศรษฐกิจราคาจึงสูงขึ้นมากกว่าจังหวัดนอกระเบียงเศรษฐกิจ

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลเยอะกับประเทศไทยคือ ประเทศไทยถูก Position (จัดวางตำแหน่ง) โดยต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นคือให้เป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยเฉพาะเจาะจงคือศูนย์กลาง GMS ญี่ปุ่นมียุทธศาสตร์การลงทุนที่เรียกว่า Thailand-Plus-One แต่ไหนแต่ไรท่านอาจจะได้ยินยุทธศาสตร์การลงทุนของญี่ปุ่นที่เรียกว่า China-Plus-One คือต้องลงทุนในจีน 1 แห่ง และเพื่อกระจายความเสี่ยง ต้องลงทุนในอาเซียน 1 แห่ง แต่เดิมประเทศไทยคือตัวใหญ่หนึ่งใน China-Plus-One

ตอนนี้ญี่ปุ่นลงทุนในจีนน้อยลง ด้วยเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยเหตุผลเรื่องค่าแรงของจีนที่สูงขึ้น ญี่ปุ่นจึงมียุทธศาสตร์ใหม่คือ Thailand-Plus-One คือลงทุนในประเทศไทยเป็นฐาน และชาติในภูมิภาคนี้ประกอบ โดยที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ที่ญี่ปุ่นไปลงทุน ไม่ใช่ส่วนที่มาเสริม หรือลงทุนทดแทนประเทศไทย แต่เป็นการลงทุนที่เสริมกัน ยกตัวอย่างเช่น ในพรมแดนที่ติดกัน ที่สะหวันนะเขต ประเทศลาว (ตรงข้าม จ.มุกดาหาร) จะมีบริษัทนิคอน ทำกล้องถ่ายรูป ทำเลนส์อยู่ที่ฝั่งสะหวันนะเขต โตโยต้าโบะโชะคุ ไปทำเบาะรถยนต์ อาซาฮีก็ไปลงทุน

ที่กัมพูชามีปรากฏการณ์คล้ายๆ กัน โรงงานมินิแบ (Minibea) ที่ทำตลับลูกปืน และชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ก็ไปลงทุนในกัมพูชา เด็นโช ยาซากิ ก็ไปลงทุนเป็นต้น

ข้อสังเกตคือ บริษัทญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นการลงทุนโดยผ่านประเทศไทย เช่น โตโยต้าประเทศไทยไปลงทุน ไม่ได้ลงทุนผ่านโตเกียว นี่คือ และกิจการที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้แรงงานเยอะ เช่น อุตสาหกรรมทำเบาะรถยนต์ ใช้แรงงานเยอะ อาจจะแพงเกินไปที่จะผลิตในไทย ก็ไปทำในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เวลาส่งออก จะใช้โครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่น ถนน เพื่อไปส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด คลองเตย แล้วแต่กรณี นี่คือยุทธศาสตร์ Thailand-Plus-One

ข้อสังเกตอันหนึ่งคือยุทธศาสตร์ Thailand-Plus-One เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เกิดขึ้นในจุดที่เราสนใจคือพม่า แต่ในอนาคตพม่าจะเป็นจิ๊กซอว์อีกอันหนึ่งของยุทธศาสตร์ Thailand-Plus-One ของญี่ปุ่น

กรณีของประเทศไทย ก็ดูเหมือนเกิดยุทธศาสตร์ใหม่แต่ยังไม่มีการประกาศออกมา แต่โดยสภาพได้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่บริษัทของไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีบริษัทใหญ่ๆ ที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ซีพี เอสซีจี บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทข้ามชาติของไทยที่ไปลงทุนใน GMS และอาเซียนมานาน แต่สิ่งที่เป็นระลอกสองที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือ มีบริษัทที่ย้านฐานออกไป บริษัทเหล่านี้ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และใช้แรงงานเยอะ เมื่อรัฐบาลไทยขึ้นค่าแรง บริษัทเหล่านี้พบว่ายากที่จะผลิตในประเทศไทย และคู่ค้าที่สั่งซื้อสินค้าของบริษัทพวกนี้ มีนโยบายให้บริษัทไทยที่รับจ้างผลิต ไปลงทุนต่างประเทศ ก็จะมีบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อัญมณี ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นในลาว มีบริษัทไฮ-เทค แอพพาเรล ไปตั้งโรงงานที่เวียงจัน สะหวันนะเขต ที่ศรีโสภณ ปอยเปต ก็มีอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไปลง บางกลุ่มไปเกาะกง พนมเปญ หรือไปถึงเวียดนามตอนใต้

จุดที่น่าสังเกตอีกประการคือ บริษัทไทยเพิ่งเข้าไปที่พม่า ค่อนข้างช้าอย่างที่ท่านทูตพูดไว้

เช่น บาซินี่ เอนเตอร์ไพรส์ ที่รับจ้างผลิตรองเท้า Hush Puppies บริษัทไทยพาฝันไปลงทุนในพม่า และมีอีกสองโรงงานไปลงทุนทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ภาพรวมบริษัทไทยยังไปลงทุนในพม่าค่อนข้างน้อย ที่ท่านรู้จักก็เป็นบริษัทใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพที่เพิ่งได้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร เอสซีจีไปเมาะละแหม่ง ยังมี ปตท. บางจาก ซีพี สหพัฒน์ ไปร่วมทุนกับบริษัทพม่าและผลิตพวกสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสิงห์ก็เข้าไปทำธุรกิจ และในเวลาเดียวกันมีกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ใช้แรงงานเข้มข้น เข้าไปลงทุนเป็นกลุ่มที่สองด้วย และก็น่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ถ้าเราจะเข้าใจความสัมพันธ์อันนี้ จะพิจารณาเฉพาะพม่าไม่ได้ ภาพรวมที่สำคัญก็คือกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม หรือ CLMV เป็นประเทศที่มีกำลังแรงงานมาก ค่าจ้างแรงงานต่ำ เช่น ประเทศไทย มีกำลังแรงงาน 40 ล้านคน แต่อัตราว่างงานของไทย ต่ำเหลือเกิน หาแรงงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นเป็นธรรมชาติที่เราต้องย้ายออกไป ถ้าไปกัมพูชา มีกำลังแรงงาน 8 ล้านคน ว่างงานประมาณ 1.5% เวียดนามมีกำลังแรงงาน 52 ล้านคน ว่างงานประมาณ 2% พม่ามีแรงงาน 31 ล้าน แรงงาน 4% อินโดนีเซียมีประชากรเยอะ ว่างงานเยอะ แต่บริษัทไทยยังค่อนข้างโลคัล โฟกัสอยู่ในประเทศไทย ก๊อกแรกจะขยายไป GMS ก่อน จะมีบริษัทใหญ่เท่านั้นจะไปอินโดนีเซีย และมาเลเซีย

เมื่อพิจารณาค่าแรงของประเทศในย่านนี้ ค่าจ้างแรงงานในประเทศไทย อยู่ที่ 366 เหรียญสหรัฐต่อเดือน พม่ายังอยู่ที่ 71 เหรียญสหรัฐต่อเดือน นี่เป็นสถิติเมื่อ 2 ปีก่อน ปัจจุบันค่าจ้างแรงงานในประเทศแถวนี้ก็ขึ้นหมด แต่ยังถูกกว่าประเทศไทย 3-4 เท่า นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้มีการย้ายฐานการผลิต

อีกสาเหตุหนึ่ง ผู้ประกอบการไทยไปประเทศเพื่อนบ้านแล้วต้นทุนต่ำลงโดยรวม เช่น หากท่านตัดเย็บชุดกีฬา ต้นที่กรุงเทพ 100 บาท ถ้าท่านไปดานัง จะมีต้นทุนเหลือ 94 บาท ถ้าไปปอยเปต หรือเวียงจัน จะเหลือ 83 บาท ถูกไป 15-16% ถ้าท่านไปพม่า ไปย่างกุ้งจะถูกกว่านั้น ถ้ารวมต้นทุนของการลดภาษีจากประเทศนำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ต้นทุนจะยิ่งลดลง เพราะถ้าผลิตในประเทศเพื่อนบ้านจะได้ GSP หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษี ถ้าเราส่งสินค้าจากประเทศไทยไปจะไม่ได้สิทธิพิเศษทางภาษี กรณีประเทศไทยส่งออกยุโรปจะถูกตัด GSP ปีหน้า ถ้าไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้านจะยังเสียภาษี 0% นี่เป็นสเน่ห์ดึงดูดอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้น สาเหตุการย้ายฐานการผลิตคือ ค่าจ้างแรงงานสูง แรงงานตึงตัว และได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่บริษัทบางกลุ่มไม่ได้เน้นเรื่องค่าจ้างแรงงานอย่างเดียว แต่เน้นทรัพยากร เน้นตลาด เช่น สหพัฒน์มุ่งไปที่ตลาด เอสซีจีอาจจะต้องการทั้งทรัพยากร วัตถุดิบ ทั้งตลาด ส่วน ปตท. คงต้องกรวัตถุดิบคือก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากดูเป็นกรณี เช่น เครื่องนุ่งหุ่ม ถ้าเราส่งเสื้อผ้าชุดกีฬาจากไทยไปสหรัฐอเมริกา จะเสียภาษี 10% ถ้าส่งออกจากลาว เวียดนาม ภาษี 0% กรณีพม่ายังไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ ในกรณียุโรป ถ้าส่งออกจากไทยจะเสียภาษี 8.5% ปีหน้าอัตรานี้จะขยับเป็น 10.8% คืออัตราปกติ แต่ถ้าเป็นลาว พม่า กัมพูชา จะเสียภาษีอัตรา 0% ส่วนกรณีญี่ปุ่น ส่งออกจากไทย เสียภาษี 0.3% เพราะไทยกับญี่ปุ่นทำข้อตกลงการค้าเสรี เป็นต้น

เมื่อพิจารณาการลงทุนในพม่า จะพบว่าพม่าเริ่มมีระบบเศรษฐกิจเปิดกว้างมากขึ้น เมื่อดูในรายละเอียดมีประชากรแรงงาน 31 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 4 ล้านคน ถ้ากระจายในจุดต่างๆ ในภาคย่างกุ้ง มีแรงงาน 10 ล้านคนค่าจ้างเฉลี่ย 150-160 บาทต่อวัน แต่ถ้าเป็นอีกเมืองที่กำลังมาแรง คือ ภาคพะโค หรือที่คนไทยรู้จักในนามหงสาวดี มีประชากร 6 ล้านคน ค่าจ้างเฉลี่ย 130 บาทต่อวัน ถนนที่ไปเป็นถนน 4 เล่น สามารถใช้ท่าเรือและสนามบินย่างกุ้งส่งออกได้

ผมเพิ่งไปดูนิคมอุตสาหกรรมที่พะโค จะเป็นบริษัทเกาหลี ส่วนญี่ปุ่นจะไปลงทุนที่เมืองติลละวาทางใต้ของย่างกุ้ง

อีกเมืองคือผาอัน ในรัฐกะเหรี่ยง เป็นเมืองน่าสนใจ ถ้าถนนเชื่อมผาอัน-เมียวดี ก่อสร้างเสร็จ จะเชื่อมต่อมาที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ไปออกทะเลทางแหลมฉบังได้ เป็นเส้นทางที่ในอนาคตไม่นานจะเกิดขึ้น

ส่วนเมืองเมียวดี เป็นจุดที่หาแรงงานยากแล้ว แรงงานที่มีอยู่ก็ย้ายมาไทย นโยบายที่รัฐบาลไทยจะไปตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แม่สอดก็ออกจะแปลก ไปแล้วคงไม่ได้แรงงาน เพราะแรงงานที่มาถึงแม่สอด จากเมียวดี จะลงไปที่อื่น ไปกรุงเทพฯ ไปภาคตะวันออก ขณะนี้แรงงานที่แม่สอดหาได้ยากแล้ว ผมคิดว่าไปตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจุดนั้นคงไม่มีประโยชน์ ถ้าจะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องไปตั้งในประเทศเพือนบ้าน แล้วเชื่อมโยงมาที่ไทย

ปัญหาสำคัญของการลงทุนในพม่า จุดใหญ่อยู่ในย่างกุ้ง โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม ผมไปมากี่ทีก็เจอไฟดับ เปิดโรงงานอยู่บางทีดับ 2-3 ชั่วโมง ยิ่งหน้าแล้ง ไม่มีน้ำปั่นไฟ ไฟจะดับบ่อยขึ้น อุตสาหกรรมต้องมีเครื่องปั่นไฟเอง ต้นทุนเหล่านี้จะสูงอยู่ ท่าเรือมีความพร้อมบ้าง แม้ไม่ใช่ท่าเรือน้ำลึก เป็นท่าเรือริมแม่น้ำ ค่าเช่าที่ดินเริ่มราคาสูงหา ที่ดินผืนใหญ่ทำอุตสาหกรรมไม่ได้แล้ว มีท่าอากาศยานก็จริงแต่เริ่มแออัด

เมืองผาอัน เป็นแหล่งโรงงานเครื่องนุ่งห่ม ที่ทุนพม่าเป็นเจ้าของ ถนนยังไม่พัฒนา ไม่มีท่าเรือใกล้ๆ ไปแล้วยังส่งออกยาก นิคมอุตสาหกรรมยังเล็กมาก

ส่วนพะโคหรือหงสาวดีค่าเช่าที่ดินยังถูก อยู่ประมาณ 4-6 เหรียญสหรัฐต่อตารางเมตร และกำลังจะสร้างสนามบินแห่งใหม่ ขณะที่เมียวดี มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ ราคาที่ดินไม่สูง

แถวๆ ย่างกุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ จะมีนิคมอุตสาหกรรม 3-4 แห่ง เช่น มังคละดง อยู่ใกล้สนามบิน แต่หาที่ดินไม่ได้แล้ว เหล่งทะยา มีแรงงานยาก แต่หาพื้นที่ไม่ได้ การจะไปตั้งโรงงานในพม่า เรื่องใหญ่ที่สุดคือหาที่ดินไม่ได้ และมีแต่ที่ดินแปลงเล็ก

ติละหว่า มีท่าเรือภายใน กำลังพัฒนาระบบไฟฟ้า ผมไปมารอบล่าสุด เขาว่าก่อสร้างตามกำหนดการยังไม่ช้าไป แต่ยังไม่ได้ถมที่ ผมก็ยังสงสัยว่าปีหน้าจะเปิดอย่างไร

พะโค หงสาวดี เป็นจุดที่จะขึ้นจริง มีที่ดินพอ ค่าเช่าที่ดินไม่สูง กำลังจะสร้างท่าอากาศยานใหม่ และยังพอมีศักยภาพ

ทวายเป็นจุดน่าสนใจ เป็นพื้นที่ทำอุตสาหกรรมหนัก แต่เป็นพื้นที่ภูเขา ทวายทำท่าจะฟุบไปหลังจากที่ญี่ปุ่นไม่สนใจไปทวาย แต่พอจีนจะทำรถไฟในประเทศไทย แนวคิดเรื่องทวายกำลังจะกลับมา เพราะญี่ปุ่นกลัวสูญเสียอิทธิพลในประเทศไทย

หากคิดทำธุรกิจในพม่า เช่น ขาดแคลนไฟฟ้า ถนนไม่ได้มาตรฐาน ที่ดินราคาสูงมาก มีการเก็งกำไรที่ดิน ที่ดินแปลงใหญ่หายาก มีแต่แปลงเล็ก ธนาคารยังมีปัญหาการโอนเงินไปต่างประเทศ แต่กำลังจะมีการแก้ไข กฎระเบียบไม่แน่นอน คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพม่ายังใช้ดุลยพินิจสูงในการตีความกฎหมาย แรงงานคุณภาพระดับวิศวกร ระดับช่างเทคนิคยังมีปัญหา แรงงานมีการประท้วงบ่อยด้วย

เทียบภาพรวมในกลุ่ม GMS พม่าและกัมพูชามีนโยบายส่งเสริมการลงทุน เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดกว่าลาวและเวียดนาม นโยบายส่งเสริมการลงทุนเรื่องอื่นๆ ไม่ต่างกัน

หากมีระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมต่อเพื่อนบ้าน มีการขนย้ายคน แรงงาน เชื่อมต่อโครงข่ายพลังงาน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อุตสาหกรรมการผลิตจะออกจากประเทศไทย ไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างภาพที่นำเสนอมา แล้วความเคลื่อนไหวนี้จะมีนัยยะต่อเศรษฐกิจไทย และโจทย์ที่ผู้จัดงานประชุมวิชาการจะนำไปพิจารณาต่อว่า ถ้าการผลิตของไทยส่วนหนึ่งย้ายไป นโยบายรัฐบาลไทยต้องสอดคล้องตาม และธุรกิจไทยต้องปรับตัวให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเยอะๆ จะอยู่ไม่ได้ ต้องย้ายไปต่างประเทศ ธุรกิจรับจ้างผลิตอย่างเดียว ก็ต้องสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตได้ดี บางส่วนต้องย้ายไปลงทุนเพื่อนบ้านแล้วเชื่อมโยงกับไทย ธุรกิจไทยจะไปสู่จุดที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ออกแบบสินค้าเองเรียกว่า ODM หรือมีแบรนด์สินค้าเองหรือ OBM แล้วการใช้ภูมิภาคนี้ GMS ตลอดจนอาเซียนเป็นฐานในการสร้างตราสินค้า จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจและเศรษฐกิจไทย

สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำคือ อำนวยความสะดวกการค้าชายแดน การค้าผ่านแดน ต้องสะดวกมากขึ้น โครงสร้างพื้นฐานต้องต่อเชื่อมกันได้จริงๆ วันสต็อบเซอร์วิสต้องเกิดจริงๆ

สุดท้ายกลับไปเรื่องที่ท่านทูตเปิดประเด็นไว้ ถ้าทำเศรษฐกิจด้านเดียวยังไม่พอ จะเดินหน้าไปไม่ได้ ความเข้าใจวัฒนธรรมสำคัญ เราต้องปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านอย่างเหมาะสม Mindset วิธีคิดต้องเปลี่ยน ถ้ายังยึดว่าเพื่อนบ้านเป็นศัตรู ไม่ว่าจะโดยจินตนาการหรืออะไรก็แล้วแต่ หรือมองว่าคนในประเทศเพื่อนบ้านไม่เท่าคนไทย จะมีปัญหายิ่ง นี่เป็นโจทย์ที่ภาครัฐและเอกชนต้องทำความเข้าใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net