Skip to main content
sharethis

ผอ.วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ม.นเรศวร เผยอันดับโลจิสติกส์ไทยไม่กระเตื้องมาหลายปี ขณะที่จีนปี 50 เคยมีอันดับใกล้ไทย ปัจจุบันจีนขยับไปอยู่ที่ 26 - ชี้ข้อได้เปรียบไทยมีชายแดนติดต่อหลายประเทศ ขณะที่ จ.พิษณุโลก มีโอกาสดันเป็นศูนย์ถ่ายสินค้าภาคเหนือตอนล่าง พร้อมแนะนักลงทุนไทยหากจะเข้าเพื่อนบ้านต้องศึกษาให้ดีว่าเข้าไปตำแหน่งใด

คลิปการอภิปรายของบุญทรัพย์ พานิชการ ผอ.วิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการสัมมนา ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ ม.นเรศวร

ลงทะเบียนเพื่อติดตามวิดีโอจากประชาไทที่

 

 

ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 "ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน" ซึ่งจัดเป็นวันแรกที่อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ในช่วงเช้าวันที่ 18 ธ.ค. มีการอภิปรายหัวข้อ "ASEAN East-West, North-South Economics Corridors ไฮเวย์จากมะละแหม่ง ผ่านพิษณุโลก ถึงดานัง ทางรถไฟความเร็วสูง จากคุณหมิง ผ่านเวียงจันทน์/กทม. ถึงสิงคโปร์"

บุญทรัพย์ พานิชการ ผู้อำนวยการวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ม.นเรศวร  หนึ่งในผู้อภิปรายกล่าวว่า ในการรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน แน่นอนมีความท้าทายที่จะรวมกัน แต่ละชาติมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิต ทั้ง 10 ประเทศแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง "ผมยังทึ่งว่าต้องถอดรองเท้าตั้งแต่ประตูโบสถ์ เท้าบวมตอนขึ้นพระธาตุอินแขวน ศาสนาต่าง ทุกอย่างต่างกัน ใครจะเชื่อบ้างว่า ไปพม่าตั้งแต่ครั้งแรก ยังไม่เจออินเทอร์เน็ต ทีวีเปิดมามีสีเขียวกับสีเหลือง คือมีทหารกับพระในทีวี เมื่อ 10 กว่าปีก่อน แต่วันนี้เดินทางไปอีกครั้งทุกโรงแรมมีฟรีอินเทอร์เน็ต"

ในปี 2555 อันดับโลจิสติกส์ของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 38 ของโลก ในปี 2550 ไทยอยู่อันดับ 31 ใกล้กับจีนที่อยู่อันดับ 30 แต่พอปี 2555 ไทยกลับไปอยู่อันดับที่ 38 ส่วนจีนขึ้นไปอยู่อันดับที่ 26 เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะจีนขนาด 1 มณฑลเท่ากับ 1 ประเทศไทย ทั้งจำนวนประชากร และพื้นที่

พอรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนจะเกิดอะไรขึ้น ในอาเซียนมีแค่สิงคโปร์และบรูไน ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเกิน 30,000 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือมีรายได้เดือนละ 1 แสนบาทโดยประมาณ ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีรองลงมาคือมาเลเซีย ขณะที่ประเทศอื่นยังไม่มีรายได้ขนาดนั้น

บุญทรัพย์กล่าวว่า เห็นด้วยกับที่สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ อภิปรายคือ หลัง 31 ธันวาคม 2558 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจก็คือ ในความร่วมมือย่อยในอาเซียนกลุ่มต่างๆ จะมีไทยจะเข้ามาเกี่ยวข้องหมด รวมทั้งกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region/GMS) แม้แต่ความร่วมมืออ่าวตังเกี๋ย ซึ่งไม่ได้มีที่ตั้งเกี่ยวข้องกับไทย

อีกประเทศที่มีความร่วมมือในภูมิภาคนี้คือจีน โดยบุญทรัพย์ เสนอว่า จีนไม่ได้มีระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้-ออก-ตก แค่คุนหมิง-กรุงเทพ เท่านั้น แต่ยังมีคุนหมิง-ไฮฟอง โดยเส้นทางคุณหมิง-ไฮฟอง มีระยะทางในจีน 417 กม. และ เวียดนาม 362 กม. เท่านั้น

สำหรับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จากดานังของเวียดนามไปยังมะละแหม่ง ซึ่งมีเส้นทางพาดผ่านไทย 807 กม. นั้น ความน่าสนใจอยู่ที่เส้นทาง 200 กม. ที่อยู่ในพม่า วันนี้ยังมีเส้นทางวันเวย์ "วันนี้ไปกลับไม่ได้ พรุ่งนี้กลับ ไปไม่ได้" มีระยะทางประมาณ 40 ไมล์ จากเมียวดีไป กอกะเรก คว่ามน่าสนใจอยู่ที่พม่ากำลังสร้างทางโดยการสนับสนุนงบประมาณจากไทย โดยระยะทางจะย่นลงมาเหลือ 28 ไมล์ และจะเปิดให้รถวิ่งสวนกัน ช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า อย่างไรก็ตาม คอขวดยังอยู่ที่สะพานข้ามแม่น้ำเมย ที่จำกัดน้ำหนักที่ 25 ตัน อีกเรื่องน่าสนใจคือ ประเทศไทย มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านเยอะที่สุดในกลุ่มประเทศ GMS

อีกเรื่องของจีน นายกรัฐมนตรีจีนพูดว่าจีนจะไม่เป็น World Factory แล้ว แต่จะเป็น World Market แบรนด์ของตัวเองยิ่งกว่าเป็นตลาดอีก นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเพราะเป็นการขยับของจีน โดยที่ธีมล่าสุดของงานกวางสีเอ็กซ์โป มีการประกาศให้กวางสี และหนานหนิง เป็นประตูของจีนไปสู่อาเซียน

ในช่วงท้าย บุญทรัพย์ กล่าวถึงข้อจำกัดของการบรรทุกสินค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น หากรถบรรทุกไทยจำกัดน้ำหนักที่ 25 ตัน เมื่อไปถึงพรมแดนของอีกประเทศที่จำกัดน้ำหนักที่ 21 ตัน อีก 4 ตันจะมีวิธีจัดการอย่างไรเมื่อถึงชายแดน ทั้งนี้บุญทรัพย์กล่าวว่าวิทยาลัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ม.นเรศวร ร่วมกับ ประทีป ตระกูลสา หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์พัฒนา จ.พิษณุโลก กำลังศึกษาที่จะทำให้พิษณุโลกเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่าย หรือ "Lower-North Logistic Center" โดยมีโอกาสพบกับ รมว.คมนาคม เพื่อนำเสนอแล้ว นอกจากนี้ จ.พิษณุโลก ยังใกล้ด่านภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเพิ่งเปิดเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้ และช่องทางด่านภูดู่ ยังสามารถส่งสินค้าไปหลวงพระบาง ประเทศลาวได้ด้วย

บุญทรัพย์ยังทิ้งท้ายด้วยว่า การที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปในกลุ่มประเทศ CLMV ต้องศึกษาว่าจะเข้าไปในตำแหน่งไหน Upstream (หาวัตถุดิบ/ทรัพยากร) Middle stream (ภาคการผลิต/การพัฒนา) หรือ Downstream (ค้าปลีก/ค้าส่ง/ผู้ให้บริการ) โดยจากข้อมูลที่ไปทำวิจัย ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ จะเข้าไปในฐานะ Middle steam นอกจากนี้ขอแนะนำว่าภาษาสำคัญที่สุด "English is a must" หลังจากนั้นภาษาจีนก็เป็นสิ่งน่าสนใจ นอกจากนี้คือทำทุกอย่างให้เป็นหลักสากล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net