Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

           

ผมเคยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์มานานพอสมควร แต่แปลกใจตัวเองที่เวลาคิดเรื่องปัญหาบ้านเมืองทีไร ก็มักจะมีวลีที่เป็นชื่อบทความเก่าเรื่องหนึ่งผุดขึ้นมาในห้วงคำนึงเสมอ  ได้แก่ “ หากจะฝันถึงวันพรุ่งนี้” ผมจึงกลับไปค้นหาบทความนี้เพื่อดูว่าในวันนั้นผมได้เขียนอะไรลงไป และพบว่าหลายเรื่องหลายประเด็นยังคงเป็นเรื่องที่คาราคาซังจนถึงวันนี้

ในวันนี้ “ หากจะฝันถึงวันพรุ่งนี้” คงยังจะเป็นวลีที่ให้เราตระหนักว่าเราต้องคิดต้องฝันต้องลงมือทำกันอีกมากมายหลายเรื่อง ผมเองได้หยุดเขียนบทความไปหลังจากเขียนเตือนคณะรัฐประหารว่าเวลาของพวกเขามีไม่มากนักหรอกหลังการยึดอำนาจหนึ่งคืน เหตุผลก็คือ “งอน” หนังสือพิมพ์ที่ไม่ยอมลงพิมพ์บทความนั้นให้ ประกอบกับตระหนักดีว่าหากอยากจะเขียนต่อไปให้ได้พิมพ์และไม่ถูกเรียกไป “ พูดคุย” ก็คงต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง จึงตัดสินใจหยุดเลยดีกว่า ( แม้กระนั้นก็ยังได้รับเกียรติจากนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดมาพูดคุยและโทรศัพท์ปรึกษาหารือเรื่องต่างๆสองสามครั้ง ) และที่สำคัญเมื่อเปิดเทอมมีงานสอนมากจนเกือบจะต้องเตรียมตัวสอนแบบวันต่อวัน ( เจ็ดวิชาในหนึ่งเทอม ) จึงได้พักยาว 

แต่ความรู้สึกที่อยากจะอธิบายความคิดเห็นของตนเองเพื่อแชร์กันในที่สาธารณะยังคงมีอยู่ จึงกลับไปหยิบบทความเก่ามาปัดฝุ่นใหม่ เพราะคิดว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันให้มากขึ้น  ความที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงเป็นความเก่าเป็นส่วนใหญ่ ( กันยายน 2553)

คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยวันนี้ กำลังต้องการการมองไปข้างหน้ามองหาสังคมในอนาคตที่ชัดเจนกว่าปัจจุบัน เพราะอยากจะข้ามพ้นความขัดแย้งเหลือง-แดง ที่คุกรุ่นตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ให้ได้

หากเราอยากจะมองหาภาพสังคมที่อยากจะให้เป็นในอนาคต ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาให้แจ่มชัดก่อน เพื่อที่จะมองได้ว่าจากฐานความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเรามีทางที่จะสร้างภาพอนาคตได้อย่างไร

ผู้เขียนขอทบทวนความเปลี่ยนแปลงหลายมิติในสังคมไทย เพื่อที่จะเป็นฐานในการคิดและมองหาทางออกให้แก่สังคมไทยในอนาคต แม้ว่าความที่จะเขียนต่อไปนี้จะเคยถูกเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ตลอดสี่ห้าปีที่ผ่านมา แต่ก็จะขอสรุปรวมไว้เพื่อง่ายต่อการมองภาพรวม

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดสถานการณ์เปลี่ยนผ่านของสังคมช่วงนี้ ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปรรูปรัฐ ความขัดแย้งของชนชั้นนำ ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์กับอำนาจวัฒนธรรมในสังคมไทย

ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้น การขยายตัวของการผลิตเกษตรเพื่อขายในช่วงสามสี่สิบปีที่ผ่านมา ได้ทำชาวนาเป็นหนี้เป็นสินมากมาย และจำเป็นต้องย้ายตนเองเข้าสู่การผลิตสมัยใหม่ นอกภาคการเกษตรมากขึ้น แต่ก็ยังใช้เงินที่ได้จากนอกภาคเกษตรกรรมนั้น ทำการผลิตในภาคเกษตรกรรมต่อไป คนจากชนบทจำนวนมากมายมหาศาล จึงดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจอยู่ที่การผลิตนอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งส่งผลให้ “สังคมชาวนา” ในความหมายเดิมไม่เหลืออยู่แล้ว

กลุ่มคนที่เข้ามาสู่การผลิตสมัยใหม่ไม่ได้ละเลยพื้นที่ชนบทไปเสียทีเดียว หากแต่เปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการที่สัมพันธ์อยู่กับพื้นที่เดิม เช่น เป็นผู้รับเหมารายย่อยก็ยังต้องใช้แรงงานของคนในพื้นที่ หรือค้าขายย่อยตามตลาดนัด (ที่ขยายตัวมากขึ้นมาก) ก็ยังต้องรักษาความสัมพันธ์เดิมกับเครือข่ายพ่อค้าย่อยในชุมชน แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่นี้ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงระนาบแบบวัฒนธรรมชุมชน หากแต่ปนไปด้วยความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์มากขึ้นด้วย  ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละทิ้งความสัมพันธ์เชิงอุปถัมม์  หากแต่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับระบบความสัมพันธ์ทางสังคมลักษณะใหม่ 

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตมาสู่ภาคการผลิตไม่เป็นทางการ ก็ได้ส่งผลต่อการดำรงชีวิตทางสังคมบริโภคไปด้วย ความแตกต่างระหว่าง "บ้าน-เมือง" นั้น ลดลงอย่างชัดเจน เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานในเมืองสลายเส้นแบ่งทางกายภาพของการผลิตเกษตรกับการผลิตสมัยใหม่ และได้บริโภคในสินค้าประเภทเดียวกันกับคนในเมือง

การขยายตัวของภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้ ได้ทำให้โอกาสการเลื่อนชนชั้น หรือ "ลืมตา-อ้าปาก" ของคนจนในชนบทเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ชีวิตของพวกเขาก็ประสบกับ "ความเสี่ยง" มากกว่าเดิมสมัยที่ยังอยู่ร่วมกันในชุมชน เพราะไม่ว่าเจ็บไข้ได้ป่วยก็พึ่งพิงเครือญาติในชุมชนได้น้อยลง

หน้าต่างของโอกาสที่เปิดขึ้นแต่ก็ได้สร้าง "ความเสี่ยง" ในชีวิตประจำวันให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนกลุ่มนี้ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จึงต้องยอมทนอยู่กับ "ความเสี่ยง" เพื่ออนาคตที่ดีกว่า กล่าวได้ว่าการตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ ก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นอย่างมากทีเดียว

สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ กลับถูกแก้ไขไปได้การเปลี่ยนแปรรูปแบบของรัฐ  

การเปลี่ยนแปรรูปรัฐ (Transformation of State) หน้าที่และบทบาทของรัฐโดยทั่วไป ได้แก่  บริการและควบคุม ในกรณีรัฐไทยที่ผ่านมานั้น หน้าที่และบทบาททางด้านการบริการนั้นมีไม่มากนัก จึงทำให้การดำรงชีวิตของพลเมืองพื้นฐานทั่วไปนั้น ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา หรือการรักษาพยาบาล ซึ่งก็ยิ่งทำให้กลุ่มคนที่อพยพเข้ามาทำงานภาคการผลิตไม่เป็นทางการตกอยู่ในวังวนของ "ความเสี่ยง" มากยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปรรูปรัฐเกิดขึ้นภายหลังจากที่ปัญญาชนฝ่ายซ้าย ที่เคยทำงานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เข้ามาร่วมผลักดันนโยบายของพรรคไทยรักไทย ผ่านอดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร ให้ขยายบทบาทและหน้าที่ของรัฐทางด้านการบริการ ปรากฏอย่างเด่นชัด ในกรณีการผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค การเปิดให้ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากรในโครงการกองทุนหมู่บ้าน หรือบางนโยบายที่เสนอถูกฝ่ายการเมืองบิดผัน เช่น นโยบายปลดหนี้เกษตรกรบิดมาเป็นพักชำระหนี้สามปี เป็นต้น

การเปลี่ยนแปรรูปรัฐได้ทำให้กลุ่มคนข้างต้นที่กำลังอยู่ในสภาวะอยู่ระหว่างเขาควาย โดยที่มีความหวังแต่ต้องเผชิญหน้ากับ "ความเสี่ยง" ในชีวิตประจำวันก็รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนกลุ่มนี้เข้าถึงทรัพยากรของรัฐได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

การเปลี่ยนแปรรูปรัฐได้ทำให้เกิด "การเมืองเรื่องความหวัง" ฝังอยู่ในสำนึกของคนกลุ่มใหม่ที่กล่าวไว้ข้างต้น และเมื่อเกิดการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และตามมาด้วยเหตุการณ์นองเลือด และการรัฐประหารอีกสองครั้งเมื่อ 19กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557  จึงทำให้คนกลุ่มนี้ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าค่ายไม่ออกต่อไป  เพราะดูเหมือนกับความหวังในการเลื่อนสถานะของพวกเขาทั้งหมดกำลังจะสูญสลายไป

ไม่ว่าเราจะฝันให้สังคมไทยเราเดินหน้าไปสู่สังคมในอุดมคติรูปลักษณะใดก็ตาม สิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องทำก่อน ก็คือ การทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินมาจนถึงวันนี้ หากเรามองความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ไม่ชัดเจน เราก็ไม่มีทางที่จะสร้างฝันของเราได้อย่างแน่นอน

ผมเคยพูดในการชุมนุมห้าหกวันหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า ความขัดแย้งของชนชั้นนำได้ลากให้สังคมไทยทั้งหมดก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง และได้เตือนผู้ฟังในวันนั้นไว้ว่าหากเราไม่คิดกันให้ดี เรา : ประชาชนพลเมืองก็จะตีกันเอง[2] และวันนั้นก็มาถึง

ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำมีสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรก ได้แก่ การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ที่ส่งผลทำลายฐานของทุนเก่า เพราะการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดโอกาสของความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ การล่มสลายในคราวนั้น ไม่ใช่ส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างที่เข้าใจกัน หากแต่การล่มสลายในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ เพราะเท่ากับเป็นการเปิดเสรี (Liberalization) ของระบบเศรษฐกิจด้วย  

กล่าวได้ว่า การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ได้ทำลายเครือข่ายของกลุ่มทุนเดิมที่ผูกขาดกันในไม่กี่ตระกูลลงไป ที่สำคัญ ได้ทำให้กลุ่มทุนการเงินเก่าต้องลดบทบาทตนเองอย่างฮวบฮาบ และทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มทุนการเงินใหม่ที่ไม่ใช่ธนาคารขึ้นมา (Non Bank sector) ซึ่งนอกจากประชาชนคนธรรมดาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มทุนการเงินใหม่ขึ้นมา ไม่น่าแปลกใจที่ บริษัทในเครือชินวัตรได้เปิดบริษัทเครดิตที่ไม่ใช่ธนาคารขึ้นมา (Capital OK) รวมทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็เปิดธนาคารขึ้นมาได้

นอกจากการเปิดเสรีทุนการเงินแล้ว การขยายปีกออกไปสู่ธุรกิจการบินก็เกิดขึ้น และที่สำคัญกลุ่มทุนใหม่ได้กำลังขยายเข้าไปสู่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นฐานหลักของกลุ่มทุนเก่า (สังเกตดูนะครับ ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 กลุ่มทุนเดิมพยายามรักษาอุตสาหกรรมปูนและที่เกี่ยวข้องไว้ มากกว่าที่จะทุ่มลงไปรักษาทุนธนาคารของตน)

วิกฤติทางเศรษฐกิจจึงเป็นเพียงวิกฤติของกลุ่มทุนเดิม แต่เป็นโอกาสของทุนใหม่และที่สำคัญ  การพังทะลายทางเศรษฐกิจใน ปี 2540 กลับกลายเป็นหน้าต่างโอกาสให้แก่ประชาชนคนธรรมดา ที่จะเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ง่ายขึ้น (ผมคิดว่าเราต้องให้ความหมายแก่วิกฤติทางเศรษฐกิจกันใหม่นะครับ เพื่อที่จะเข้าใจรอยต่อของยุคสมัยได้ดียิ่งขึ้น)

ความขัดแย้งของชนชั้นนำจึงเกิดขึ้นหลังปี พ.ศ. 2544 เมื่อพบว่าการขยายตัวของการเปิดเสรีทางด้านทุนได้ทำให้กลุ่มทุนเก่ามีส่วนแบ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจลดลง ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนใหม่ก็ไม่ได้หยุดการขยายตัวมิหนำซ้ำยังรุกเข้าไปกินพื้นที่เดิมของตนอีก ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนใหม่ก็กำลังสำราญเริงร่ากับโอกาสใหม่ที่เปิดกว้างอย่างไม่สนใจอะไรอีกต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจกับอำนาจทางวัฒนธรรมของสังคมไทย

ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์กับอำนาจวัฒนธรรมในสังคมไทยเป็นเรื่องที่กล่าวได้ว่าอยู่บนสุดของความขัดแย้ง หมายความว่า เป็นส่วนที่สะท้อนมาจากความขัดแย้งทั้งหลายบรรดามีพุ่งขึ้นมาจนกลายเป็นประเด็นยอดสุดของภูเขาความขัดแย้ง

ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการทำเทียมเจ้าและมีเป้าหมายอะไรที่ลึกซึ้งในเรื่องนี้ แต่ผมอยากจะให้ลองคิดให้ดีว่าที่เราเชื่อนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจความเชื่อของเรามากขึ้น

เราถูกทำให้เชื่อเรื่องนี้เพราะโครงสร้างทางอำนาจกำหนดให้เรายอมรับในความเหนือกว่าสูงส่งกว่าของอำนาจวัฒนธรรม แต่เราถูกทำให้สำนึกว่าจะต้องไม่มีอะไรมาทัดเทียมอำนาจวัฒนธรรมได้ อำนาจของอำนาจวัฒนธรรมนั้นไม่มีระบุ หรือกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์ใดๆ อำนาจวัฒนธรรมนั้นถูกฝังอยู่ในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสังคม ซึ่งจะต้องเป็นความรู้สึกร่วมกันของสังคมโดยรวมด้วย

อำนาจของอำนาจวัฒนธรรมขึ้นอยู่กับความรู้สึกร่วมของสังคม จึงทำให้คนในสังคมเองจะอ่อนไหวง่ายมากต่อความผันแปรของความรู้สึกร่วมของสังคม   ผมคิดว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ไม่ฉลาดพอที่จะรู้เท่าทันกับความอ่อนไหวนี้ จึงทำให้เกิดการจุดชนวนในเรื่องที่อ่อนไหวเช่นนี้ ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์กับอำนาจวัฒนธรรมในสังคมไทย จึงกลายเป็นประเด็นที่นำความขัดแย้งทั้งหมดขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ไม่มีทางที่ใครจะยอมใครง่ายๆ

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดสี่ประการนี้ มีผลก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ล่อแหลมมากขึ้น  ซึ่งยากมากที่เราจะเดินข้ามหรือเดินผ่านไปได้ง่ายๆ แต่คนย่อมไม่สิ้นหวัง คนย่อมไม่สูญสิ้นความฝัน เราจะต้องฝันถึงวันพรุ่งนี้ให้ได้ เราจะต้องร่วมกันสร้างภาพสังคมในอุดมคติให้ได้ เพื่อที่จะแสวงหาทางเดินไปสู่เป้าหมายของเรา อาจจะพลาด อาจจะผิด แต่ก็ยังดีกว่าจมปลักอยู่กับความขัดแย้งเช่นนี้

ความทั้งหมดข้างต้นเขียนขึ้นในปี 2553 หลังจากนั้นสถานการณ์ก็เลวร้ายลงไปอีก พิสูจน์ให้เห็นว่าสังคมยังคงจมปลักอยู่กับความขัดแย้ง มีทางไหน หรือไม่ ที่เราจะสร้างพื้นที่พูดคุยกันให้กว้างขวางมากขึ้น คณะรัฐประหารเองก็ควรจะต้องคิดให้เปิดพื้นที่การพูดคุยไม่อย่างนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นกลังจากนี้จะน่ากลัวเกินกว่าที่จะคาดคิด

หากบทความนี้ได้เผยแพร่ในช่วงปีใหม่นี้ ก็จะขอถือโอกาสขอพรให้แก่ท่านผู้อ่านและสังคมไทยโดยรวมว่า “ ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่  ขอสิ่งศักดิ์สิทธิทั่วสากลโลกดลบันดาลให้เราทั้งหมดมีพลังใจและพลังกายในการสร้างสังคมที่สงบ สันติ เสมอภาค ร่วมกัน ”
 




[1] บทความชื่อนี้เขียนเมื่อ 16 และ 23 กันยายน 2553 ในคอลัมน์ “ใต้กระแส” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net