Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ได้อ่านข้อเขียนเรื่อง “ไขข้อสงสัยเรื่องภิกษุณี” ของพระคุณเจ้าท่านหนึ่ง สาระสำคัญก็อย่างที่พูดกันมามาตลอดว่า คณะสงฆ์ไทยยึดถือ “พระธรรมวินัย” หรือถือตาม “พุทธานุญาต” เท่านั้นว่า การบวชภิกษุณีต้องบวชในสงฆ์ 2 ฝ่าย คือภิกษุณีสงฆ์และภิกษุสงฆ์ แต่ภิกษุณีไม่เคยมีในไทย เมื่อสืบสาวไปในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ก็พบว่า “ภิกษุณีเถรวาทขาดสาย” ไปนานแล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถบวชภิกษุณีขึ้นมาใหม่ได้ ท่านเขียนว่า

ความจริงมหาเถรสมาคมนั้น ท่านจะประกาศห้ามหรือไม่ประกาศห้ามก็มีค่าเท่ากัน  เพราะแม้ท่านจะบวชให้สตรีให้เป็นภิกษุณีเอง สตรีนั้นก็ไม่มีทางเป็นภิกษุณีได้เลย บวชให้ไปก็เสียเปล่าแถมต้องอาบัติอีก สตรีผู้เข้าบวชก็เท่ากับถูกหลอกให้เป็นภิกษุณีเท่านั้นเอง ไม่สามารถสำเร็จเป็นภิกษุณี เข้าลักษณะปาราชิกตั้งแต่เริ่มบวชหรือก่อนบวชแล้ว  มีสตรีบางท่านออกมาบอกว่าได้ศึกษามาดีแล้ว บวชได้แน่นอน แสดงความอ่อนด้อยปัญญาออกมาชัดๆ

ผมเดาว่า “สตรีบางท่าน” ที่พระคุณเจ้าเอ่ยถึง น่าจะหมายถึง “ธัมมนันทาภิกษุณี” (หากเดาผิดขออภัย)แต่ภิกษุณีท่านนี้ “แสดงความอ่อนด้อยปัญญาชัดๆ” หรือไม่นั้น ผมไม่สามารถตัดสินได้และโดย “พื้นฐานจริยธรรมขั้นต่ำสุด” ที่ฆราวาสอย่างผมพึงมี ผมควรเคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ไม่ควรพูดถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเช่นนั้น แต่เท่าที่ศึกษาเรื่องนี้ ผมพบว่าธัมมนันทาภิกษุณีได้ศึกษาเรื่องการบวชภิกษุณีอย่างละเอียดรอบคอบมากที่สุดท่านหนึ่งในสังคมไทย

ธัมมนันทาภิกษุณีได้ศึกษาเกี่ยวกับการบวชภิกษุณีทั้งจากพระไตรปิฏก เอกสารทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมสังเกตการณ์การจัดบวชภิกษุณีในระดับนานาชาติ และศึกษาขบวนการภิกษุณีในอาเซียนอย่างละเอียด เช่นในบทความชื่อ “ภิกษุณีสงฆ์ในอาเซียน” ที่เสนอในงานเสวนาวิขาการ “ไทย-พม่าศึกษาในกรอบประชาคมอาเซียน” ที่ ม.นเรศวรเมื่อ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ธัมมนันทาภิกษุณีได้เสนอผลการศึกษาค้นคว้าว่า ภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกาได้รับนิมนต์ไปเผยแผ่พุทธศาสนาในจีนและทำการบวชแก่สตรีชาวจีนที่วัดป่าใต้เมืองนานกิง พ.ศ.976 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.1560 กษัตริย์โจฬะที่นับถือศาสนาฮินดูจากอินเดียได้เข้ามารุกรานศรีลังกา ทำให้ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์หมดไปจากศรีลังกา ฝ่ายภิกษุสงฆ์ได้สืบสายบวชใหม่จากไทย แต่ “ภิกษุณีสงฆ์ในจีนไม่ได้ขาดสายไป”

ต่อมามีการฟื้นฟูภิกษุณีขึ้นมาใหม่ในศรีลังกา โดยทำการบวชจากภิกษุณีสงฆ์ในจีนนิกายธรรมคุปต์ แล้วกระทำพิธีบวชแบบเถรวาทจากคณะสงฆ์เถรวาทในศรีลังกาอีกที แน่นอนเถรวาทในศรีลังกาบางนิกายอาจไม่ยอมรับ แต่นิกายที่ยอมรับเขาก็ยึดถือประวัติศาสตร์การสืบสายภิกษุณีในจีนดังกล่าวแล้ว ข้อมูลนี้ตรงกับหนังสือ “ตอบ ดร.มาร์ติน พุทธวินัยถึงภิกษุณี” ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แม้พระพรหมคุณาภรณ์อาจเห็นต่างจากธัมมนันทาภิกษุณีในบางประเด็นก็ตาม

ฉะนั้น ประเด็นว่า “ภิกษุณีเถรวาท” ขาดสายไป อันนี้จริง แต่ภิกษุณีจีนนิกายธรรมคุปต์ที่บวชจากภิกษุณีเถรวาทไม่ได้ขาดสายไป การฟื้นฟูภิกษุณีเถรวาทขึ้นใหม่ในศรีลังกาจึงบวชจากภิกษุณีสงฆ์จีนดังกล่าว และถือวินัยภิกษุณี 311 ข้อแบบเถรวาท

ถามว่า การบวชจากภิกษุณีจีนนิกายธรรมคุปต์แล้วมาทำพิธีบวชในภิกษุสงฆ์นิกายเถรวาท ถือว่าสำเร็จเป็น “ภิกษุณี” ตามพุทธานุญาตหรือไม่ คำตอบก็คือหากถือตามพุทธานุญาต ถ้าพิธีกรรมกระทำไปตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในวินัยปิฎกก็ถือว่าสำเร็จเป็นภิกษุณี หากเถรวาทไทยจะไม่ยอมรับก็ไมใช่ประเด็นว่าภิกษุณีที่บวชมานั้นไม่ถือเป็น “ภิกษุณีตามพุทธานุญาต” แต่เป็นประเด็นเรื่อง “นิกาย”

แต่ประเด็นเรื่องนิกาย ไม่ใช่ประเด็นการตัดสิน “ความเป็น-ไม่เป็นภิกษุ-ภิกษุณี” กล่าวคือ นิกายต่างกันก็จะทำพิธีบวชต่างกันในบางเรื่อง เช่นพุทธศาสนาไทยมี “มหานิกาย” กับ “ธรรมยุต” โดยธรรมยุตนั้นถือ “ประเพณี” ว่า หากพระมหานิกายจะเปลี่ยนมาเป็นธรรมยุตต้อง “ทำพิธีบวชใหม่” แบบธรรมยุต ถามว่าพิธีบวชแบบมหานิกายไม่ทำให้สำเร็จเป็น “พระ” ตามพุทธานุญาตหรอกหรือ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่เป็น ดังนั้นการทำพิธีบวชต่างกันของนิกายต่างๆ และการทำพิธีบวช “ข้ามนิกาย” หรือเปลี่ยนนิกายก็กระทำกันในคณะสงฆ์ไทยอยู่แล้ว จึงไม่อาจนำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างปฏิเสธสถานะความเป็นภิกษุณีที่บวชจากศรีลังกาหรือที่อื่นๆ ในโลกได้ว่า “ไม่สำเร็จการบวช”

หากคณะสงฆ์ไทยจะไม่ยอมรับก็เป็นสิทธิ์ของคณะสงฆ์ไทย แต่โดยมารยาทแล้วคณะสงฆ์ไทยหรือพระภิกษุไทยไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินว่า ที่เขาบวชมาแล้วนั้นเกิดจากความไม่รู้พระธรรมวินัย หรือเกิดจาก “ความอ่อนด้อยปัญญา” หรือไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินว่าเขา “ไม่ใช่ภิกษุณีตามพุทธานุญาต” (ยกเว้นว่าผู้ตัดสินเช่นนั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง)

ที่พระคุณเจ้าเขียนว่า “สรุปว่าใครจะปฏิบัติธรรมก็ปฏิบัติไปเถอะ ไม่มีใครกีดกัน ทุกคนสามารถปฏิบัติธรรมได้ แต่อย่าไปบังคับขู่เข็ญคนอื่นเขา...มหาเถรสมาคมท่านปฏิบัติหน้าที่ของท่านถูกต้องแล้ว ส่วนว่าใครจะบูชาหลักสิทธิมนุษยชนหรือบูชารัฐธรรมนูญเป็นศาสดาก็เชิญตามอัธยาศัยเถิด”

คงไม่มีใครบังคับขู่เข็ญและไม่มีใครเขาจะถือหลักสิทธิมนุษยชนหรือรัฐธรรมนูญเป็นศาสดาหรอกครับ ที่เขาเรียกร้องให้คณะสงฆ์ไทยยอมรับการบวชภิกษุณี เพราะเขาต้องการ “พื้นที่วัฒนธรรมทางศาสนา” เท่าเทียมกับที่พระผู้ชายได้รับ เช่น การได้รับความเคารพนับถือจากสังคม การมีชีวิตอยู่ด้วยการบริจาคปัจจัย 4 จากประชาชน โอกาสการเรียนรู้และปฏิบัติธรรมใน “วิถีชีวิตแบบพระ” สถานะทางกฎหมายที่ได้สิทธิพิเศษเรื่องการรักษาพยาบาล การลดค่าโดยสาร ฯลฯ

พื้นที่วัฒนธรรมทางศาสนาดังกล่าว เป็นพื้นที่ซึ่งมีที่มาจากวัฒนธรรมศาสนาแบบอินเดีย และแพร่เข้ามาในเอเชีย ไม่ใช่พื้นที่ที่มหาเถรสมาคมจะผูกขาดได้ แม้แต่พุทธะเองก็ผูกขาดไม่ได้ เพราะการออกบวชของพุทธะก็คือการเข้าไปใช้พื้นที่วัฒนธรรมทางศาสนาซึ่งยอมรับดำรงชีพในฐานะ “ผู้รับทาน” ร่วมกับนักบวชหลากหลายศาสนาในชมพูทวีป การที่พระคุณเจ้าไปบอกว่า “ถึงคณะสงฆ์ไทยบวชให้ก็ไม่เป็นภิกษุณี” ถามว่ามีความชอบธรรมอะไรไปตัดสินแบบนั้นครับ ไม่ยอมรับก็ไม่ยอมรับ จะไปพูดให้ผู้ซึ่งบวชภิกษุณีมาแล้วหรือที่จะบวชในอนาคต “ไม่มีที่ยืน” ในพื้นที่วัฒนธรรมศาสนาในสังคมไทยไปทำไม

สุดท้ายพระคุณเจ้าสรุปว่า “ได้อ่านข้อความของนักวิชาการบางท่านเพ้อเจ้อรายมายไปว่า...งานบวชมีการถวายเงินแก่พระอุปัชฌาย์บ้าง ถามว่าพระพุทธเจ้าห้ามอย่างไร ให้ลองไปอ่านมาใหม่ ที่ว่ามานั้นแสดงให้เห็นว่าผู้วิพากษ์มีความรู้ยังไม่สามารถเทียบได้กับจบชั้นประถมต้นเลย  แต่กลับแสดงความรู้ชั้นอุดมศึกษา เป็นการอวดรู้มากเกินไป ตนเองเคยทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติกับพระศาสนาบ้าง ...และถ้าจะมีเจตนาดีช่วยกันแก้ปัญหาก็ต้องไปแก้กันที่จุดนั้น ไม่ใช่มาคิดล้มล้างองค์กรพระพุทธศาสนา”

ด้วยความรู้ที่ “ยังไม่สามารถเทียบได้กับจบชั้นประถมต้นเลย” ผมขอกราบเรียนถามพระคุณเจ้าว่า ถ้าพระคุณเจ้า (และมหาเถรสมาคม) ถือเกณฑ์ว่า “การบวชภิกษุณีต้องเป็นไปตามพุทธานุญาตเท่านั้น” แล้วมี “พุทธานุญาต” ไว้ในวินับปิฎกเล่มไหนครับว่า ในการประกอบพิธีอุปสมบทแก่กุลบุตรให้อุปัชฌาย์รับเงินจากการประกอบพิธีได้ มีพุทธานุญาตไว้ที่ไหนว่าให้พระมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้ หรือมีพุทธานุญาตไว้ที่ไหนว่าให้มีองค์กรสงฆ์คณะหนึ่งเรียกว่า “มหาเถรสมาคม” มีอำนาจออกมติ กฎระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่มีผลผูกพันให้พระสงฆ์เป็นแสนรูปต้องปฏิบัติตาม หากพระคุณเจ้าแย้งว่าถึงไม่มีพุทธานุญาตไว้ แต่ก็ไม่มีพุทธบัญญัติ “ห้าม” ไว้ ถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีพุทธบัญญัติห้ามบวชภิกษุณีข้ามนิกาย หรือพุทธบัญญัติระบุว่า การบวชภิกษุณีจากภิกษุณีสงฆ์นิกายอื่นแล้วมาบวชในคณะสงฆ์เถรวาทไทยจะไม่ “สำเร็จเป็นภิกษุณี” (ดังที่พระคุณเจ้าเขียนไว้)

ที่กราบเรียนถามเช่นนี้ เพราะต้องการ “ความชัดเจน” ในเมื่อคณะสงฆ์ไทยถือเคร่งครัดว่าการบวชภิกษุณีต้องทำตาม “พุทธานุญาต” เท่านั้น การปฏิบัติในเรื่องอื่นๆ ก็ต้องเป็น “มาตรฐานเดียวกัน” คือคณะสงฆ์ก็ต้องไม่ทำอะไรที่พุทธะไม่ได้มี “พุทธานุญาต” ไว้ให้ทำ แต่ถ้าอ้างว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป จำเป็นต้องตีความพระธรรมวินัยให้ยึดหยุ่นตามความเปลี่ยนแปลงของโลก(ซึ่งตรงนี้ผมยอมรับได้) แต่ “ความยืดหยุ่น” ทำนองนี้ทำไมจึงใช้กับกรณีบวชภิกษุณีไม่ได้ครับ

ส่วนที่พระคุณเจ้าถามว่า “เคยทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติกับพระศาสนาบ้าง” ผมคงไม่ตอบและผมไม่คิดจะตั้งคำถามทำนองนี้กับใครอย่างแน่นอน และที่ว่า “ไม่ใช่มาคิดล้มล้างองค์กรพระพุทธศาสนา” นั้น ขอเรียนว่าต่อให้ใครก็ตามเสนอว่า “ให้ยกเลิก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ยกเลิกมหาเถรสมาคม” ตราบใดที่เขาเสนอด้วยหลักการ เหตุผล และข้อเท็จจริงบางด้านต่อสาธารณะ โดยที่การยกเลิกหรือไม่นั้นเป็นการตัดสินใจของสาธารณะผ่านกระบวนการที่ชอบธรรมทางสังคม ย่อมไม่ถือว่าเขา “ล้มล้าง” หรอกครับ เพราะเขาบังคับใครให้ทำตามข้อเสนอไม่ได้ เขามีเสรีภาพในการเสนอเต็มที่ (แม้ไม่ใช่ชาวพุทธ หรือไม่นับถือศาสนาใดๆ ก็ตาม เพราะระบบสงฆ์ที่เป็นอยู่ผูกพันกับภาษีประชาชนซึ่ง “ทุกคน” ต้องจ่าย)

การ “ล้มล้าง” ใดๆ นั้น ย่อมหมายถึง “การกระทำโดยมิชอบ” เช่นใช้กำลังยึดอำนารัฐแล้วฉีก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ทิ้งหรือออกกฎหมายกเลิกมหาเถรสมาคม ซึ่งก็คงไม่มีใครทำแบบนั้น การที่คนอื่นๆ เขาใช้เสรีภาพตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอให้เปลี่ยนแปลงด้วยเจตนาจะให้คณะสงฆ์ปกครองกันตามพระธรรมวินัย ไม่เป็นเผด็จการ มีความเป็นประชาธิปไตยแบบสังฆะในสมัยพุทธกาล(ตามที่อ้างกัน)นั้น ย่อมไม่ใช่การล้มล้าง และพุทธะเองก็ไม่เคยมีกฎห้ามตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์แม้กระทั่งกับตัวท่านเอง

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net