ทำไมคนไทยไม่อ่านหนังสือ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การที่คนไทยไม่นิยม/ไม่ชอบ/ไม่สนใจในการอ่านหนังสือ นับเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องช่วยกันอธิบายสาเหตุเพื่อจะสามารถแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ รอบด้าน และมีประสิทธิภาพ คำอธิบายหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คือ การที่ครอบครัวและโรงเรียนไม่สร้างนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ทำให้ “ไม่สามารถ” อ่านหนังสืออย่างรู้เรื่อง กล่าวคือไม่อาจเชื่อมต่อเรื่องราวที่อ่านกับเรื่องที่รับรู้มาก่อนอย่างมีความหมายได้ การอ่านจึงกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายและทำให้คนไทยไม่อ่านหนังสือไปในที่สุด(โปรดอ่าน นิธิ เอียวศรีวงศ์, “กรูคนไทยไม่เคยอ่านอะไรเกิน 4 บรรทัด”, มติชนรายวัน 29 ธันวาคม 2557 )

คำอธิบายข้างต้นมีส่วนจริงอยู่มาก แต่ก็ยังจำเป็นต้องหาทางอธิบายให้เข้าใจต่อไปด้วยว่า ทำไมครอบครัวและโรงเรียนไม่ปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน และทำไมเด็ก (และผู้ใหญ่) ไม่คิดจะทำให้ตัวเองเป็นคนที่รักการอ่าน ทั้งๆ ที่มีอะไรมากมายในโลกนี้ที่ครอบครัวและโรงเรียนไม่ได้ปลูกฝังหรืออาจถึงกับห้ามปรามเสียด้วยซ้ำ แต่เด็กและผู้ใหญ่ก็ยังรักที่จะทำอยู่เสมอ

เพื่อที่จะนำทางให้เราเข้าใจปัญหาการไม่อ่านหนังสือของคนไทยในแง่มุมอื่นๆ อาจจะต้องเริ่มต้นที่การตระหนักเสียก่อนว่า การที่คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่นิยม/ใส่ใจในการอ่านหนังสือนั้นย่อมไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หากแต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนทำให้มีคนประกาศความรู้สึกของความเป็น “ คนไทย” กับการไม่อ่านหนังสือได้อย่างมั่นอกมั่นใจขนาดนั้น (“กรูคนไทยไม่เคยอ่านอะไรเกิน 4 บรรทัด”!!)

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมใดๆ ไม่เคยละทิ้งรากฐานทางวัฒนธรรมเดิมจนหมดสิ้น หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงแบบ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” แต่จะมีความสืบเนื่องในความเปลี่ยนแปลงเสมอ (หากดูในระดับในโลกก็จะเห็นว่าไม่เคยทีความเปลี่ยนแปลงที่จะละทิ้งวัฒนธรรมเดิมได้ทั้งหมด  เช่น กรณีประเทศจีนหรือรัสเซีย) ทำนองเดียวกัน สังคมไทยก็ไม่เคยละทิ้งมรดกเก่าอย่างสิ้นเชิง

การศึกษาฉบับหนึ่งของอาจารย์ขัตติยา กรรณสูต  (พิมพ์เป็นเอกสารโรเนียวโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เมื่อนานมาแล้ว เคยสรุปไว้ทำนองว่าคนไทยนั้นมี “แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์” มากกว่า “แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์” (ผู้เขียนอ่านงานวิจัยเล่มที่พูดถึงนี้เมื่อสมัยเรียนปริญญาตรีปีหนึ่ง หากจำผิดพลาดก็ขออภัยอาจารย์ด้วยครับ) จากวันนั้นถึงวันนี้ หากเราสำรวจแรงจูงใจของผู้คนในสังคมไทยก็คงจะออกมาในรูปแบบเดิม ได้แก่ “แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์” มีสูงกว่า “แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์”

การที่คนไทยมีแรงจูงใจเช่นนี้ ก็มิได้เกิดขึ้นในสุญญากาศเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขแวดล้อมที่ทำให้เป็นเช่นนั้น

สังคมไทยประกอบด้วย “ภาคที่เป็นทางการ” และ “ภาคที่ไม่เป็นทางการ” ควบคู่กันอยู่ตลอดมา  ความสำเร็จในชีวิตของผู้คนไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาชีวิต ฯลฯ ล้วนแล้วแต่จะต้องพึ่งพิงสองส่วนนี้ควบคู่กันเสมอ หากพิจารณาความหมายของแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิบนฐานแคบๆ เช่นว่า การแสวงหาความรู้ให้เลิศเลอจะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ก็จะพบว่าในสังคมไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2510คนไม่ได้คิดเห็นแคบเช่นนั้น ความก้าวหน้าในชีวิตทุกๆ ด้านจะถูกกำหนดด้วยความสัมพันธ์ทางสังคมที่ “ไม่เป็นทางการ” (เช่น เส้นสาย/เครือข่าย อิทธิพล ระบบอุปถัมภ์) มากเสียกว่าความสัมฤทธิ์จากความเลอเลิศทางความรู้

บนฐานความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการที่เข้มข้นนี้ ทำให้การเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง การได้รับงานรับเหมาจากราชการ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมากกว่าความสำเร็จทางปัญญาของส่วนบุคคล ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่ราวๆ 15-20 ปีมาแล้วได้เกิดคำขวัญเชิงเสียดสีว่า “ค่าของคนอยู่ที่ว่าเป็นคนของใคร” แทนวลีเดิมที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ที่คนไทยเคยถูกสอนให้เชื่อมาก่อน (ซึ่งก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อจริงจัง)

“แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์” จึงแปรเข้ามาผนวกควบรวมกับ “แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์” จนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน  หากต้องการที่จะประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานหรือการทำมาหากินในเรื่องใดก็ตาม  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถักทอความสัมพันธ์ไว้ให้กว้างขวางและแน่นหนาที่สุด แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์จึงกลายเป็นแกนกลางหลักของการดำรงชีวิตอยู่ของผู้คนในสังคมไทย มีคำกล่าวที่ยืมจากภาษิตจีนมาแสดงให้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ว่า “นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อนขึ้นที่สูงไม่ได้ “

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมายิ่งทำให้พลังของแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์กลายเป็นหลักมากขึ้นในการดำรงชีวิตของผู้คน  เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคทางการไม่สามารถรองรับผู้คนที่อพยพมาจากภาคเกษตรกรรมได้ จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากได้เข้ามาสู่การทำงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ  อาทิเช่น หาบเร่แผงลอย แรงงานรับเหมาในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ฯลฯ  ผู้คนที่ทำงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการมีจำนวนมากกว่าร้อยละหกสิบของกำลังแรงงานทั้งประเทศ 

โอกาสธรรมดาๆ เช่น การได้งานทำเพิ่มขึ้น และ/หรือโอกาสที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างความก้าวหน้าของชีวิตผู้อยู่ในภาคการผลิตไม่เป็นทางการล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับวงขอบและความเข้มข้นของความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีมากกว่าความสำเร็จจากการแสวงหาความรู้ ผู้รับเหมาจำนวนไม่น้อยเรียนรู้การสร้างบ้าน/ตึกจากการพูดคุยมากกว่าจากการเรียนรู้อย่างเป็นทางการจากโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย มิพักต้องพูดถึงว่าความรู้ที่ต้องอ่านต้องเรียนในมหาวิทยาลัยซึ่งไม่สอดคล้องกับภาคการผลิตไม่เป็นทางการเลย

ดังนั้น  การอ่านหนังสือเพื่อสร้างปัญญาที่จะมองหาการเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ จึงห่างไกลไปจากความรู้สึกนึกคิดและความใฝ่ฝันของผู้คน ที่สามารถแสวงหาความสำเร็จในชีวิตบนความสัมพันธ์ทางสังคมมากกว่า

ความสนุก/ความสุขจากการอ่านหนังสือเป็นความสนุก/ความสุขบนฐานของการเสพ/คิด/จินตนาการส่วนตัว จึงไม่อาจจะเทียบได้กับความสนุกในการร่วมเสวนาในวงเหล้าตอนเย็นหลังเลิกงานหรืองานเลี้ยง “ ลูกพี่” ซึ่งนอกจากได้สนุกแล้วยังมีโอกาสได้งานเพิ่มหรือได้โอกาสในความก้าวหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น

ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มคนที่ทำงานในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการนะครับ  ในกลุ่มคนที่ทำงานในภาคการผลิตที่เป็นทางการก็เป็นเช่นเดียวกัน ข้าราชการในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็รู้ดีอยู่ว่าหน้าที่หลักของตนเองก็คือคอยรับนายที่สนามบินและก็พาไป “เอ็นเตอร์เทน“ แล้วรอส่งกลับขึ้นเครื่อง หากทำเช่นนี้ได้ดี ความก้าวหน้าก็จะมาถึงไวกว่าและแน่นอนกว่าการอ่านตำราวิชาการเพื่อทำหน้าที่ที่ควรจะทำให้ดีที่สุด

นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็นผู้ที่ใส่ใจในการอ่านมากที่สุดในสังคม  โดยเฉพาะลูกหลานชนชั้นกลางเก่าก็ซึมซับดีว่าหากตนเองจบออกไปแล้ว คนที่จะช่วยหางานก็เป็นพ่อแม่ญาติพี่น้องนั่นเอง ไม่ใช่เพราะความรู้ความสามารถส่วนตน ดังนั้น จึงเอาแค่จบก็พอ รวมถึงว่ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันก็ปล่อยเกรดกันมากขึ้นกว่าเดิม ( อาจารย์ฉลอง สุนทราวาณิชย์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ข้อสรุปเช่นนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง “ไร้สาระ”) ส่วนลูกหลานชนชั้นกลางใหม่ก็พบว่าการเติบโตของพ่อแม่ตนเองก็มาจากความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ใช่การอ่านหรือการหาความรู้อย่างจริงจัง  พวกเขาจึงไม่รู้สึกรู้สากับการอ่านหนังสือ

การที่ “ภาคไม่เป็นทางการ” ทั้งในในส่วนที่กำกับภาคที่เป็นทางการและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจภาคไม่เป็นทางการ จึงทำให้การอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มพูนความรู้เป็นเรื่องไร้ความหมายมากขึ้นๆ   เชื่อได้ว่าจำนวนบรรทัดที่อ่านจะลดลงไปเรื่อยๆ

สังคมไทยยังมีอนาคตอยู่ไหมครับ?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท