Skip to main content
sharethis

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ เผยเตรียมเคลื่อนค่าแรงขั้นต่ำ 421 บาทต่อวัน ‘จิตรา’ ชี้ค่าจ้างที่เหมาะสมต้องดูแลคนในครอบครัว 3 คน ระบุสวัสดิการอื่นและสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานสำคัญ

จากรายงานราคาสินค้าขายปลีก (เฉลี่ยตามลักษณะจำเพาะ) ของ กรุงเทพมหานคร เดือน พ.ย.2557 ของกระทรวงพาณิชย์และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แสดงให้เห็นราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค ซึ่งขอยกตัวอย่างดังนี้ 

(ดูภาพขนาดใหญ่)

รายการ

ราคาต่อวัน

ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ข้าวมันไก่ (ธรรมดา) บรรจุกล่อง 1 กล่อง

33.25 บาท (x3 มื้อ = 99.75 บาท)

ส้มเขียวหวาน พันธุ์สวนทั่วไป ขนาดเล็ก(น้ำหนักผลละ 50 - 60 กรัม) 1 กก.

55.00 บาท

 

น้ำดื่มบริสุทธิ์ \ บรรจุขวดพลาสติกใส 600 ซีซี \ ตราคริสตั ขวดพลาสติกใส ขวดละ

6.33 บาท (x3 มื้อ = 18.99 บาท)

กล้วยบวดชี/ ใส่ถ้วย 1 ถ้วย

12.60 บาท

ค่าเดินทาง(รถเมล์)เฉลี่ย 8 บาท (ไป-กลับ)

16 บาท

ค่าที่พักราคาประหยัด 2,500 บาทต่อเดือน เฉลียวันละ

83.33 บาท

 

รวม 285.67 บาทต่อวัน

หมายเหตุ : ยังไม่รวมราคาเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เครื่องใช้สอยในครัวเรือน กิจกรรมนันทนาการ ค่าน้ำ-ไฟ ค่าแสวงหาความรู้ หนังสือ หนังสือพิมพ์ ค่าผ่อนชำระหนี้สินดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ

ที่มาข้อมูล : กระทรวงพาณิชย์, รายงานราคาสินค้าขายปลีก (เฉลี่ยตามลักษณะจำเพาะ) ของภาค กรุงเทพมหานคร ปี 2557 เดือน พ.ย. : องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)  

 

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ เผยเตรียมเคลื่อนค่าแรงขั้นต่ำ 421 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ตามกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง(กสรก.)ได้ประกาศเตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ(อ่านรายละเอียด) ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า เมื่อปี 2553 เคยมีผลการสำรวจดัชนีค่าครองชีพ ในปีนั้นถ้าจะให้ค่าจ้างเพียงพอตัวเลขค่าจ้างต้องเป็น 421 บาท ปัจจุบันแม้ว่าค่าจ้างเป็น 300 บาทจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี เพราะทุกยุคทุกสมัยไม่เคยควบคุมราคาสินค้า จะเห็นได้จาก คนงานต้องการเพิ่มรายได้ด้วยกานทำงานล่วงเวลา และงานเหมากันมากขึ้น  ยิ่งปัจจุบันแม้ว่าน้ำมันลดราคา แต่ไม่มีสินค่าอุปโภค บริโภคตัวใดปรับลด มีแต่เตรียมเพิ่มราคา หรือลดปริมาณลงหลังคาราแก๊ส และก๊าซปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้การปรับเงินเดือนข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นลูกจ้างที่มีฐานเงินเดือนสูงและมั่นคงมากกว่าลูกจ้างในภาคเอกชน จึงส่อให้เห็นว่าฝ่ายปกครองชุดนี้เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน แสดงถึงความไร้มาตราฐานในการปกครอง

สำหรับค่าแรงขั้นตำที่ควรจะเป็นนั้น ศรีไพร มองว่า ต้องเป็น 460 บาทต่อวัน ณ ปัจจุบัน แต่พวกเราเคลื่อนไหวไว้ที่ตัวเลข 421 บาทต่อวัน ไปแล้ว ก็คงยังยืนยันเคลื่อนไหว 421 บาทต่อวันต่อไป ส่วนตัวเลขอื่นก็จะเก้บไว้เป็นข้อมูล

แนวทางการเคลื่อนไหวรณรงค์เรียกร้องของกลุ่มกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ต่อประเด็นนี้ ศรีไพร เปิดเผยว่ากลุ่มมติเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าเราจะเคลื่อนไหวเรื่องค่าจ้างขึ้นต่ำ ครั้งแรกในวันที่ 18 ธ.ค.แต่ถูกสกัด แทรกแซงจากหน่วยงานรัฐและทหาร แต่หลังปีใหม่นี้จะมีการเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อโดยใช้เครื่องเสียงประชาสัมพันธ์ และแจกใบปลิวให้คนงานกลุ่มแรกที่นวนคร เข้าใจและสนับสนุนเรื่องการเคลื่อนไหวค่าจ้างขั้นต่ำและจัดสัมมนาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้าง และออกรณรงค์ต่อไป

‘จิตรา’ ชี้ค่าจ้างที่เหมาะสมต้องดูแลคนในครอบครัว 3 คน

จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันการปรับค่าจ้างของคนงานได้รับตามค่าจ้างขั้นตำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะทำงานมากี่ปี ไม่มีค่าฝีมือ ส่วนใหญ่ในโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ค่าจ่างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ซึ่งนายจ้างจ่ายเฉพาะวันทำงานเท่านั้นซึ่งการทำงานปกติเดือนละ 26 วันคนงานจะได้รับค่าจ้างทั้งหมด 7,800 บาทต่อเดือน ซึ่งถัวเฉลี่ยคนงานจะได้เงินวันละ 260 บาทเท่านั้น ในการครองชีพ หักค่าประกันสังคม 5% เป็นเงิน 390 บาท เหลือเงินสุทธิต่อเดือน 7,410 บาท

คนงานส่วนใหญ่เป็นคนย้ายถิ่นแล้วซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประจำเช่นค่าเช่าบ้าน ประมาณเดือนละ 2,000 บาท ค่าอาหารมื้อละ 40 บาท วันละ 120 เดือนละ 3600 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเห็นว่าเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเบื้องต้นของคนงานหนึ่งคนใช้เงิน 5,600 บาทที่เหลือ 1,810 บาทซึ่งมีทั้งค่าอื่นๆ อีกจิปาถะที่จำเป็นอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้พูดถึง เงินที่เหลือเท่านี้ทำให้ค่าจ้างวันละ 300 บาทไม่เพียงพอต่อการครองชีพสำหรับคนๆ เดียว ถ้ามีลูก มีพ่อมีแม่ ก็ยิ่งไม่สามารถดูแลได้เลย ต้องหารายได้พิเศษเพิ่มเช่นการทำโอที หรืออาชีพเสริม เงินออมในอนาคตไม่มี บางครอบครัวยังมีหนี้สินจากภาคเกษตรของพ่อแม่

สำหรับค่าแรงที่ควรจะเป็นนั้น จิตรา มองว่า ค่าแรงที่ควรจะเป็นคงหามูลค่าไม่ได้ แต่ค่าจ้างที่เหมาะสม ก็คือสามารถดูแลตัวเองและคนในครอบครัวได้อีก 2 คน เป็น 3 คน จึงเป็นค่าจ้างที่เหมาะสม ค่าเช่าบ้านที่เหมาะสมคือ 10% ของค่าจ้าง ต้องมีเงินเหลือออมประมาณ 20% ของรายได้ และต้องมีการช่วยเหลือเรื่องการเรียนฟรีที่แท้จริงสำหรับเด็ก ค่าจ่างต้องสามารถให้คนสามคนมีอาหารกินแบบมีคุณภาพและกินอิ่ม จึงจะเป็นค่าจ้างที่เหมาะสม การคำนวนค่าจ้างจึงต้องเอาค่าครองชีพและรายได้ที่จำเป็นมาเป็นตัวคำนวนร่วมด้วย

ระบุสวัสดิการอื่นและสิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานสำคัญ

นอกจากนี้ จิตรา ยังกล่าวถึงข้อเสนอเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานด้วยว่า ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อปรับค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน และตามอายุการทำงานไม่ใช่จ่ายค่าจ้างตามค่าจ่างขั้นต่ำ ให้สิทธิการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานเพื่อให้มีการเจรจาต่อรอง ค่าจ้างสวัสดิการ โบนัส ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างเต็มที่ รัฐบาลต้องจัดหาที่พักราคาถูกให้กับลูกจ้างย้ายถิ่น หรือสร้างบ้านเพื่อให้คนงานซื้อผ่อนได้

รวมถึง ต้องให้สิทธิในการเลือกตั้งในในเขตพื้นที่สถานประกอบการเพื่อเลือกตั้งตัวแทนในระดับทั้งถิ่นถึงระดับประเทศ เพื่อทำให้คนงานมีตัวแทนของพวกเขาเองในการบริหารประเทศ ต้องมีสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนหรือในโรงงานฟรี รัฐต้องจัดให้มีการเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี

“ความมั่นคงในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ กรณีเลิกจ้างบริษัทปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิต ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามอายุคนงานที่ทำให้เขาสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและให้จัดหางานใหม่ให้ในระหว่างรองานต้องจ่ายเงินช่วยเหลือระหว่างว่างงานที่คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจุบันประกันสังคมจ่ายให้ซึ่งถือว่าน้อยมาก” จิตรา เสนอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net