Skip to main content
sharethis
เตือนลูกจ้างชุมนุมเรียก"โบนัส" อาจถูกเลิกจ้าง-ไม่ได้เงินชดเชย
 
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในช่วงปลายปี 2557 ว่าจากข้อมูลพบว่าหลายสถานประกอบการมีการจ่ายโบนัสลดลง โดยในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556-25 ธันวาคม 2557 นั้น พบสถานประกอบการมีสถานการณ์คือ 
 
1.มีข้อเรียกร้องในสถานประกอบการเกิดขึ้น 168 แห่ง มีลูกจ้างเกี่ยวข้อง 101,711 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจำนวน 66 แห่ง คือมีข้อเรียกร้องถึง 234 แห่ง 
 
2.มีข้อพิพาทแรงงานในสถานประกอบการจำนวน 50 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 32,660 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจำนวน 15 แห่ง ที่มีข้อพิพาท 65 แห่ง 
 
3.มีข้อขัดแย้ง 31 แห่ง มีลูกจ้างเกี่ยวข้อง 21,249 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 11 แห่ง ที่มีข้อขัดแย้ง 42 แห่ง 
 
4.มีการผละงาน 7 แห่ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 2,710 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจำนวน 4 แห่งที่มีการผละงานจำนวน 3 แห่ง ไม่มีการนัดหยุดงานและปิดงาน รวมแล้วมีการจดทะเบียนข้อตกลงและสิทธิประโยชน์ทั้งหมดจำนวน 161 ฉบับ รวมสิทธิประโยชน์จำนวนกว่า 8,655 ล้านบาท
 
นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาลูกจ้างส่วนมากจะใช้วิธีในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องเงินค่าตอบแทนพิเศษประจำปีหรือเงินโบนัส จากนายจ้าง ทำให้นายจ้างมองว่าลูกจ้างใช้กฎหมู่ ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ต้องคอยแนะนำลูกจ้างว่าอย่ารวมตัวชุมนุม เนื่องจากอาจทำให้นายจ้างเลิกจ้างได้ตามกฎหมายแรงงาน ฐานจงใจก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายจ้างและลูกจ้างจะไม่ได้รับเงินชดเชย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้พูดคุยกับนายจ้างขอให้เข้าใจลูกจ้าง โดยนายจ้างส่วนมากให้โอกาสลูกจ้าง แต่มีบางส่วนที่คาดโทษไว้ 
 
ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากนี้สถานการณ์น่าจะยุติเนื่องจากผ่านช่วงเวลาจ่ายโบนัสไปแล้ว แต่ทาง กสร.ก็ยังเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไปเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความน่าเป็นห่วง จนอาจนำมาสู่การปรับโครงสร้างการทำงานในหลายสถานประกอบการ
 
(มติชนออนไลน์, 1-1-2558) 
 
ไฟไหม้โรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมพ์ จ.พระนครศรีอยุธยา
 
เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ร.ต.ท.เชาวลิต ศรีทอง พงส.สภ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ภายในบริษัท ชินเอ พรีซิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 77 ม.4 ต.บ้านช้าง อ.อุทัย จึงรายงานผู้บังคับบัญชา พร้อมประสานรถดับเพลิงจากเทศบาลต่างๆ จำนวน 20 คันเข้าระงับเพลิง ก่อนติดตามพล.ต.ต.เสริมคิด สิทธิชัยกานต์ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา ไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ภายในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ โครงการ 2 ต้นเพลิงอยู่ภายในอาคารที่ 2 ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวที่ใช้ในการพ่นสี เจ้าหน้าที่ดับเพลิงต่างระดมฉีดน้ำสกัดเพลิงโดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที จึงควบคุมเพลิงไว้ได้ แต่ภายในตัวอาคารได้รับความเสียหายทั้งหมด เบื้องต้นประเมินมูลค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท
 
สำหรับโรงงานดังกล่าว เป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ต้นเพลิงเป็นส่วนของสายการผลิตที่นำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปล้างและชุบสีผ่านระบบสายพาน โดยระหว่างที่เกิดเหตุเป็นช่วงวันหยุดจึงมีเพียงผู้ควบคุมงานที่เข้ามาทำงานเท่านั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าสาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดลวงจร ส่วนสาเหตุที่แท้จริงจะต้องรอเจ้าหน้าที่วิทยาการเข้ามาตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง 
 
(ข่าวสดออนไลน์, 1-1-2558) 
 
บิ๊กเต่า ลั่นคืนเงิน 1,200 ล้านเข้ากองทุนฯเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ประกันตน
 
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้และคืนความสุขให้ประชาชนทั้งประเทศ กระทรวงแรงงานในฐานะที่ตนเข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีได้กว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ต้องไม่มีปัญหาคอรัปชั่น ต้องขจัดระบบเงินทอน คืนเงินเข้ากองทุนและคืนความสุขให้ผู้ประกันตนและนายจ้าง ที่ผ่านมามีกลุ่มมาเฟียและขบวนการหาผลประโยชน์แอบอ้างความเป็นตัวแทนของผู้ประกันตนและนายจ้าง แต่ยุคนี้ต้องไม่มีโดยเด็ดขาด ทุกคนต้องหันมาช่วยกันทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติและผลประโยชน์ของผู้ประกันตนและนายจ้าง
 
“ตอนนี้กระทรวงแรงงานมีเงินคืนกลับไปยังกองทุนประกันสังคมเพื่อคืนความสุขให้กับผู้ประกันตนจำนวนกว่า 1,200 ล้านบาท (หนึ่งพันสองร้อยล้านบาท) หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 20 ของงบที่จัดสรรไว้ทั้งหมดส่วนใหญ่หรือเกือบร้อยละ 80 ที่คืนเงินไปเป็นงบในหมวดรายจ่ายอื่นๆ ที่เมื่อไม่มีความชัดเจนที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนก็ต้องตัดออกเพราะยุคนี้ไม่มีคอรัปชั่น ไม่มีระบบเงินทอน เป็นของขวัญที่ผู้ประกันตนจับต้องได้และต้องยุบคณะอนุกรรมการที่เคยมีมามากกว่า 40 คณะให้เหลือเท่าที่จำเป็นแต่หันมาใช้กฎระเบียบแทนดุลพินิจของบอร์ดต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากการตัดสินใจของบอร์ด” รมว.แรงงานกล่าว
 
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า อะไรที่ผู้ประกันตนไม่เคยรู้ในอดีตต้องออกมาเปิดเผยให้รู้กันทั่วถึง ตามนโยบาย เปิดเผย ตรวจสอบได้ บริหารมืออาชีพ และพึงพอใจโดยต้องทำให้ผู้ประกันตนทั้งประเทศมีความเป็นเจ้าของกองทุนฯ และต้องมีวิธีการเลือกตั้งที่จะได้ตัวแทนผู้ประกันตนและตัวแทนนายจ้างอย่างแท้จริงครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ล่าสุดสำนักงานประกันสังคมได้ตัดงบดูงานต่างประเทศและงานสัมมนาต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออก นอกจากนี้การจัดสรรงบประมาณปีหน้าจะลดลงอีกกว่าร้อยละ 10 แต่เชื่อว่าหลังการศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนจะได้โมเดลที่มีประสิทธิภาพต่อการบริหารจัดการกองทุนให้มั่นคงและเป็นที่พึงพอใจของผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น
 
(กระทรวงแรงงาน, 5-1-2558)
 
จ่อชง ครม.ปรับเพิ่มเงินอุดหนุดรายหัวนักเรียน-เงินเดือนครูเอกชน
 
นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่โรงเรียนเอกชนประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่าที่ควร จนต้องทยอยปิดกิจการไปจำนวนมาก เนื่องจากภาครัฐไม่ให้ความช่วยเหลือนั้น เร็ว ๆ นี้ ศธ.จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ปรับเพดานเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน และเงินเดือนครู โดยใช้สูตรปรับตามขั้นบันได จากเดิมรัฐอุดหนุนอยู่ประมาณ 60% เป็น 70%, 80% จนถึง 100% ลำดับ แต่ต้องพูดคุยว่าเมื่อรัฐอุดหนุน 100% แล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนต่างที่โรงเรียนเอกชนเก็บจากนักเรียนจะต้องลดลงด้วยเช่นกัน
 
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ศธ.พยายามประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ ให้โรงเรียนเอกชนคล่องตัวมากขึ้น อาทิ การขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ครูสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีเสียงสะท้อนว่าหลักเกณฑ์ของคุรุสภาค่อนข้างยุ่งยาก รวมถึงการอบรมและการพัฒนาทางวิชาการที่โรงเรียนเอกชนอยากให้ ศธ.ดูแล เพราะตามนโยบายแล้วภาครัฐอยากให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 5-1-2558)
 
แนะถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมร้อง กสร.
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีแรงงานสูงอายุถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่า ปัจจุบันมีลูกจ้างทั้งที่ไม่สูงอายุและสูงอายุถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากนายจ้างให้สั่งให้หยุดงานเองแต่เมื่อลูกจ้างมาเรียกร้องเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายอ้างว่าลูกจ้างหยุดงานไปเองเพราะตามกฎหมายหากลูกจ้างหยุด 3 วันโดยไม่แจ้งเหตุผลต่อนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย ขณะเดียวกันลูกจ้างบางส่วนนายจ้างสั่งให้หยุดงานและแอบปิดกิจการไปเงียบๆ
 
ทั้งนี้ จึงขอให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแจ้งเรื่องร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดในพื้นที่หรือติดต่อสอบถามสายด่วน 1546 ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการฯในพื้นที่จะใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงระยะหนึ่ง หากตรวจสอบแล้วพบว่าแรงงานถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
 
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการฯจะนำเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างซึ่งปัจจุบันมีเงินกว่า 100 ล้านบาทมาจ่ายเงินชดเชยการถูกเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ส่วนเงินสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าโอทีจะจ่ายให้แก่แรงงานภายหลังเพราะต้องเสนอเรื่องมายัง กสร.เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน
 
(โลกวันนี้, 6-1-2558)
 
พนักงานบริษัทอลูมิเนียม ปราจีนบุรี ปักหลักประท้วงต่อวันที่ 2 ขณะตำรวจกว่า 10 คน ดูแลความสงบ
 
ที่หน้าบริษัท ยูไนเต็ดอลูมิเนียม อินดัสตรี้ จำกัด ริมถนนสายบ้านโคกขวาง-ระเบาะไผ่ ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เป็นษริษัทผลิตและจำหน่ายอลูมิเนียมทั้งในและต่างประเทศ พนักงานกว่า 500 คน ได้รวมตัวประท้วงเพื่อเรียกร้องกับทางบริษัทฯ โดยวันนี้เรียกร้องเป็นวันที่ 2 ข้อเรียกร้องประกอบด้วย ขอโบนัสเพิ่มจาก 1 เดือน เป็น 3 เดือน, ให้ฝ่ายบริหารคือผู้จัดการ-รองผู้จัดการลาออก ไม่เอาความผิดกับพนักงานที่ประท้วง และสวัสดิการอื่น ๆ อาทิ การขึ้นเงินเดือน เบื้องต้นนี้ทางฝ่ายบริหารฯ เสนอให้เงินโบนัส 1.5 เดือน และให้ยกเลิกการว่าจ้างงานแบบจ้างเหมา ซึ่งทางพนักงานยังไม่ยินยอม และปักหลักประท้วง ตั้งเต็นท์นอนประท้วงยาวต่อไป ทั้งนี้ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 10 คน ดูแลความสงบ อนึ่ง สำหรับ จ.ปราจีนบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรมรวมกว่า 1,000 แห่ง สถิติช่วงปลายปี 57 และล่าสุด ต้นปี 58 พบแรงงานประท้วงโบนัส-สวัสดิการแล้ว รวม 4 แห่ง
 
(ไอเอ็นเอ็น, 6-1-2558)
 
นายจ้างค้างหนี้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง 400 ล.บาท พบเป็นกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ผลิตรองเท้า
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กสร. ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือนายจ้างปิดกิจการแล้วไม่ได้รับเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยใช้เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจ่ายให้แรงงานไปก่อนแล้วติดตามทวงหนี้คืนจากนายจ้างภายหลัง ซึ่งขณะนี้กองทุนมีเงินเหลืออยู่กว่า 170 ล้านบาทและจะเสนอของบจากรัฐบาลในปีงบประมาณ 2559 อีกประมาณ 130 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดกรณีมีลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวนมาก รวมทั้งนำงบส่วนหนึ่งมาใช้ในการดำเนินการติดตามทวงหนี้จากนายจ้าง ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2557 มีนายจ้างค้างชำระหนี้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างประมาณ 864 ราย จำนวนลูกจ้างกว่า 59,000 คน เฉพาะในปี 2557 กองทุนได้ช่วยเหลือลูกจ้าง 2,996 คน เป็นเงิน 42 ล้านบาท โดยภาพรวมขณะนี้นายจ้างเป็นหนี้ค้างชำระเงินกองทุนประมาณ 400 ล้านบาท สถานประกอบการที่เป็นหนี้กองทุนส่วนใหญ่อยู่ในกิจการรับเหมาก่อสร้าง รักษาความปลอดภัย ผลิตชิ้นส่วนรองเท้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสถานประกอบการ ส่วนมากอยู่ในจังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และ ฉะเชิงเทรา 
       
นายวรานนท์ กล่าวอีก ได้กำชับให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศ เร่งติดตามนายจ้างให้ชำระหนี้กองทุนและประเมินผลการดำเนินงานทุก 6 เดือน ซึ่งขณะนี้มีนายจ้างชำระหนี้คืนแก่กองทุนแล้วกว่า 59 ล้านบาท ทั้งนี้ กสร. ได้วางแนวทางการติดตามชำระหนี้กองทุนด้วยการแบ่งสถานประกอบการทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. เป็นสถานประกอบการที่ยังดำเนินการกิจการอยู่ 2. เป็นสถานประกอบการที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ และ 3. ไม่ได้ดำเนินกิจการแล้วซึ่งบางราย เช่น กรณีนายจ้างเสียชีวิตก็จะให้เป็นหนี้สูญโดยเสนอไปยังกรมบัญชีกลางพิจารณา
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-1-2558)
 
เตรียมเปิด Smart job Center ศูนย์บริการจัดหางานแสนสะดวก
 
กระทรวงแรงงาน เตรียมเปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ในวันที่ 19 มกราคม 2558 ณ อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยในระยะแรกจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนเฉพาะชั้น 1 และทางกรมการจัดหางานและสำนักงานประกันสังคมยังได้จัด "พริตตี้มายด์" เพื่อคอยให้บริการตามจุดต่าง ๆ และจอทัชสกรีนอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งประชาชนสามารถรับบริการจากเจ้าหน้าที่และบริการตนเองได้
 
ภายในอาคารยังมีจุดบริการผู้พิการ การสัมภาษณ์งานผ่านสไกป์ และมีห้องสัมภาษณ์สด บริการถ่ายคลิปวิดีโอแนะนำตัวเองเพื่อให้นายจ้างพิจารณาบุคลิกภาพ มุมบริการค้นคว้าข้อมูลและแนะแนวด้านอาชีพ กิจกรรม Role Play อาชีพ เป็นต้น ส่วนระยะที่สองจะเปิดให้บริการในพื้นที่ชั้น 2 และชั้น 3 ของอาคาร เพื่อให้บริการจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานต่อไป
 
นอกจากนี้ ในวันเดียวกันยังมีพิธีเปิดงาน "กระทรวงแรงงานพบประชาชน มหกรรมสร้างอาชีพ นัดพบแรงงาน เพื่อความสุขของประชาชน" ณ บริเวณชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน มีกิจกรรมนัดพบแรงงานจากองค์กรชั้นนำ7 แห่ง อาทิ บริษัทในเครือซีพีออลล์, เซ็นทรัล รีเทล, ล็อกซเล่ย์, เอเชีย ซิเคียวริตี้ เมเนจเม้นท์ ,เดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป,ทีพีไอ คอนกรีต, เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป เป็นต้น รวมทั้งบริการจัดหางานสำหรับคนพิการ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ การคุ้มครองคนหางาน นิทรรศการและกิจกรรมส่งเสริมต่าง ๆ อีกมากมาย
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 7-1-2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net