Special Report 10 ปีประชาไท: 10 ปีกับการซ้อมทรมาน 10 ปีของความยุติธรรมที่หายไป

เนื่องในโอกาสที่ประชาไท อายุครบ 10 ปีในปี 2557 ประชาไทย้อนดูประเด็นทางสังคม การเมือง และสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ว่ามีการพัฒนา คืบหน้า หรือถอยหลังอย่างไรบ้าง

สำหรับในตอนนี้ ทวีพร คุ้มเมธา ย้อนดู 10 ปีของการซ้อมทรมานในประเทศไทย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงที่สุดอย่างหนึ่ง

การซ้อมทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ถูกห้ามอย่างเข้มงวดในกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากการซ้อมทรมานเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรง และมีผลกระทบที่ทำให้สังคมโดยรวมตกอยู่ในความหวาดกลัว มันจึงเป็นหนึ่งในประเด็นแรกๆ ที่ถูกนำมาพิจารณาถึงในสหประชาชาติ  กฎหมายระหว่างประเทศก็ยังห้ามการซ้อมทรมานอย่างเด็ดขาด

ในขณะที่เสรีภาพในการแสดงออก ยังเป็นสิทธิที่มีการละเว้นได้ ในบางสถานการณ์ เช่น สภาวะสงคราม แต่กฎหมายระหว่างประเทศถือว่า ไม่มีภาวะพิเศษใดๆ สามารถมางดเว้น ให้เกิดการซ้อมทรมานได้

แม้ว่า การทรมานขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นการละเมิดสิทธิขั้นร้ายแรง แต่หลายประเทศก็ยังมีการซ้อมทรมาน ระหว่างการสอบสวนผู้ต้องหาอยู่ รวมถึงประเทศไทยด้วย

 

ภาพรวมของการซ้อมทรมานในประเทศไทยใน 10 ปีที่ผ่านมา

สำหรับในประเทศไทยนั้น การซ้อมทรมานเป็นเครื่องมือของหน่วยความมั่นคงไทยมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ในการปราบคอมมิวนิสต์ ว่ากันว่า เทคนิคการสอบสวนและการทรมานดังกล่าว เป็นสิ่งที่หน่วยความมั่นคงไทยเรียนรู้มาจากหน่วยงานด้านความมั่นคงจากสหรัฐอเมริกาที่มาฝึกสอนให้ตั้งแต่ช่วงสงครามเห็น กระนั้นเองหน่วยงานรัฐไทย ไม่เคยยอมรับว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น และมักจะปฏิเสธไม่รู้เห็นเสมอมา  

คลิกดูภาพใหญ่

จากรายงานเงา (รายงานคู่ขนานที่จัดทำโดยภาคประชาสังคม) ที่เสนอต่อประชาชาติ เรื่องการซ้อมทรมาน ซึ่งจัดทำข้อมูลและเรียบเรียงโดย หกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน นำโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิม พบว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับคำร้องว่ามีการซ้อมทรมานถึง 134 คำร้อง เกี่ยวกับการซ้อมทรมาน การปฏิบัติอย่างไร้มนุษยชนธรรม ต่อบุคคล 188 คน ตั้งแต่ปี 2550-2556 จากทั่วทั้งประเทศ โดย 93 คนนั้นมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ส่วนศูนย์ทนายความมุสลิม เคยได้รับคำร้องถึง 3,456 คำร้องที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง 393 กรณีนั้นเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน และ/หรือ การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างการถูกควบคุมตัว

วิธีการซ้อมทรมาน และการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยใช้ เช่น มัดมือด้วยเชือก บีบคอ กดหน้าจุ่มน้ำ ชกต่อย เตะ ต่อยท้อง ตบหน้า ทุบตีด้วยไม้กระบองที่หุ้มผ้า กระแทกหัวกับผนัง การช็อตด้วยไฟฟ้า ช็อตด้วยไฟฟ้าที่อวัยวะเพศ การใช้ถุงดำคุลมศีรษะเพื่อให้กลัว และขาดอากาศหายใจ ซึ่งบางวิธีก็จะทิ้งรอยบาดเจ็บที่ร่างกาย ในขณะที่บางอย่างก็ไม่ทิ้งรอยเลย เช่น ขังไว้ในห้องที่ไม่มีหน้าต่างและไม่รู้กลางวันกลางคืน ทิ้งให้อยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด หรือเย็นจัด และมืดจัดเป็นเวลานาน ยังมีการขู่ว่าจะฆ่า ขู่ว่าจะทำร้าย และ/หรือทำร้ายสมาชิกในครอบครัว และการบังคับให้ทานสารบางอย่างที่ทำให้หมดสติ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หรือการใช้ถุงดำคุลมหัว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้ “พัฒนา” วิธีและระบบในการซ้อมทรมานให้มีร่องรอยน้อยลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากที่เมื่อ 10 ปีก่อน การซ้อมจะเป็นการเตะต่อย จนมีรอยแผลที่เห็นได้ชัด การซ้อมเหล่านั้นก็มีน้อยลงในปัจจุบัน โดยอาจจะมีการซ้อมทรมานในลักษณะดังกล่าวมากในช่วงวันแรกๆ ของการคุมขัง วันต่อมาจึงใช้วิธีที่เห็นร่องรอยน้อยแทน

“ช่วงปี 47-51 คดีซ้อมทรมานส่วนใหญ่มีหลักฐานชัดเจน อย่างคดีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทำ ลูกความมีรอยช้ำ ฟันหัก ชัดเจน คดีที่ดิฉันทำในช่วงแรกๆ ก็ดิบเถื่อนมาก ซ้อมจนตายคาค่าย ใช้บุหรี่ ไฟแช็กจี้ คดีทรมานสมัยก่อนก็เห็นร่องรอยค่อนข้างชัด ศาลก็ออกคำสั่งง่ายกว่า แต่ปัจจุบันร่องรอยหายากขึ้น เพราะกลวิธีในการซ้อมทรมานเปลี่ยนไป เช่น ปิดตา ใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวไม่ให้มีอากาศหายใจ เอาไปฝังหลุม เอาปืนจ่อหัว ซึ่งมันเป็นภาวะทางใจ ไม่ทิ้งร่องรอย แต่ก็มีการชกต่อยอยู่ แต่ไม่สาหัส ซึ่งไม่กี่วันร่องรอยก็หายไปแล้ว” ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้มีประสบการณ์ในการว่าความคดีสามจังหวัดภาคใต้อย่างโชกโชน กล่าวกับประชาไท   

“อย่างในกรณีคนเสื้อแดงถูกซ้อม วันแรกๆ ก็จะถูกต่อยเลย พอเริ่มกลัวมาก ก็เอาถุงพลาสติกคลุมหัวให้หายใจไม่ออก ช่วงนี้รอยชกก็เริ่มหายไปแล้ว  ซึ่งพอโดนถุงคลุมหัว ให้พูดอะไรก็พูดหมด เพราะกลัวมาก บางคนมีถูกช็อตไฟฟ้าด้วย ช้อตผ่านน้ำด้วย จะได้ไม่ทิ้งร่องรอย บางคนถูกเอาไปฝังหลุม” ภาวิณีกล่าว  

สถิติชี้ให้เห็นว่า การซ้อมทรมานมักเกิดมาก เมื่อเป็นนโยบายของรัฐ ในการปราบปรามคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกมองว่า เป็นศัตรูของรัฐ เช่น ผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ ผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ต้องหาว่า อยู่ในขบวนการค้ายาเสพติด โดยเฉพาะที่เป็นชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดน

ชาวลาหู่ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอชายแดนในเชียงใหม่ และเชียงราย ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานกับการซ้อมทรมาน และการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ทุกวัน ซึ่งนี่เป็นผลจากนโยบาย “สงครามยาเสพติด” ในสมัยนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2546 นโยบายนี้ทำให้ชาวลาหู่ใช้ชีวิตในแผ่นดินไทยด้วยความหวาดกลัวนับแต่นั้นมา

ชาวลาหู่อาศัยอยู่ที่อำเภอ แม่สาย แม่อาย ฝาก ไชยปราการ จังหวัดเชียงราย และอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

“การจับ แล้วซ้อมทรมานชาวลาหู่ ต่อหน้าชาวลาหู่คนอื่นๆ เรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมของเจ้าหน้าที่” สีละ จะแฮ นายกสมาคมชาวลาหู่กล่าว

“สงครามยาเสพติด” ทำให้ชาวลาหู่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อสันนิษฐานบนพื้นฐานการเหมารวมและอคติของเจ้าหน้าที่รัฐว่า “ชาวเขา” เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่างๆ เช่น การลักลอบขนยาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า และบุกรุกที่ดิน  

ในช่วงนี้เอง เจ้าหน้าที่รัฐ โดยมากเป็นทหารและทหารพรานจับกุมคุมขังผู้คนตามอำเภอใจ โดยอ้างว่าผู้ถูกควบคุมตัวอาจเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด หรือมีสิ่งผิดกฎหมายในครอบครอง เมื่อถูกควบคุมตัวชาวบ้านจะถูกปิดตา ซ้อม และนำตัวไปยังค่ายทหาร ซึ่งจะถูกซ้อมซ้ำอีกและถูกเจ้าหน้าที่สอบสวน ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกขังในหลุมดินกว้างประมาณสองถึงสามเมตร ลึกสี่เมตร หลุมหนึ่งๆ มีผู้ถูกควบคุมตัวราว 10 คน แต่บางครั้งอาจมีจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวแออัดกันถึง 40 คนต่อหลุม

ผู้ถูกควบคุมตัวส่วนมากถูกขังต่อเนื่องเจ็ดวัน แล้วจึงถูกนำตัวไปซักถามและทรมาน เช่น ใช้ไฟฟ้าช็อต ผู้ถูกควบคุมตัวได้รับประทานอาหารวันละสองครั้ง ระยะเวลาควบคุมตัวโดยเฉลี่ยประมาณสองถึงสามเดือน แต่ก็มีบางคนถูกควบคุมตัวเพียง 45 วัน สีละกล่าว และว่า “สภาพในหลุมขังเลวร้ายมาก เราทั้งกิน นอน ขี้ เยี่ยว อยู่ในนั้น”

หลังสงครามกับยาเสพติดยุติลงเมื่อปลาย พ.ศ. 2546 การทรมาน วิสามัญฆาตกรรม และการบังคับให้สูญหายต่อชาวลาหู่ยังดำเนินอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐยังมาหน้าบ้านของชาวลาหู่ แล้วอ้างว่าจะมาค้นหาสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่มีหมายค้นจากศาล หรือแม้กระทั่งใช้หมายค้นปลอม เอาของมีค่าและยานพาหนะจากบ้านและกักตัวบุคคลโดยไม่ทราบสถานที่ในสถานกักกันที่ทางการ

สีละกล่าวว่า ชาวบ้านลาหู่บางคนถึงกับตัดสินใจหลบหนีไปอยู่ป่าหรือไปพม่า บางคนเข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธเพียงเพื่อหลบหนีความโหดร้ายจากน้ำมือรัฐไทย เขายังกล่าวอีกว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเคยต้องรับผิดจากการก่ออาชญากรรมต่อชาวลาหู่เลย

ส่วนในสามจังหวัดภาคใต้  พื้นที่เหล่านี้มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม ซึ่งไม่สันทัดภาษาไทย พวกเขาเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมาน และการบังคับสูญหายโดยรัฐ หลังจากนั้นรัฐไทยตอบโต้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้ด้วยการใช้นโยบายทางทหารเข้มข้น สืบเนื่่องจนถึงในรัฐบาลต่อๆ มาเพื่อแก้ปัญหา โดยการส่งกำลังทหารลงพื้นที่จำนวนมาก และการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และกฎอัยการศึก จากรายงานของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพเรื่องการบังคับให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย 2556  กล่าวว่า “มาตรการนี้ ผนวกกับการใช้ความรุนแรงและการคุกคามจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ทำให้พลเรือนตกอยู่ในความหวาดกลัว  พบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ การทรมาน วิสามัญฆาตกรรม  และการบังคับสูญหาย เป็นได้ทั่วไปในภาคใต้”

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม ซึ่งไม่สันทัดภาษาไทย พวกเขาเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมาน และการบังคับสูญหายโดยรัฐ 

อนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การซ้อมทรมานในภาคใต้นั้นทำเพื่อรีดข้อมูลกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าเป็นขบวนการก่อความไม่สงบ และรีดเพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่มีการ “ตั้งธง” ไว้ “ฝ่ายสืบสวนมักจะมีข้อมูลและสมมติฐานอยู่แล้วบางส่วน ก็รีดให้ตรงตามนั้น”

จากสองตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อยู่ใกล้ชายแดน เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาไทยไม่ถนัด อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนั้น การซ้อมทรมานได้ถูกนำมาใช้กับกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาติพันธุ์ ใช้ภาษาไทยได้อย่างถนัด และบางส่วนอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครนี่เอง

หลังการรัฐประหารพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ประชาไทพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้นำการซ้อมทรมานมาใช้กับผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง เป็นจำนวนกว่า 20 คน และมีผู้ที่ถูกปฏิบัติอย่างไรมนุษยธรรมอีกประมาณ 30 คนด้วยกัน ผู้ที่ถูกซ้อมทรมานอย่างรุนแรงส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงที่ถูกชื่อว่า เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธสงครามเพื่อก่อความรุนแรง ระหว่างการชุมนุมทางการเมืองทั้งของคนเสื้อแดง และกลุ่ม กปปส. ตังแต่ปี 2553 อย่างเช่นในกรณีของสี่ผู้ต้องหาคดีใช้อาวุธสงครามวันที่ 10 เมษายน ที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งผู้ต้องหาชายคนหนึ่งถูกซ้อมและถูกใช้ถุงคลุมศรีษะ ในขณะผู้ต้องหาชายอีกสามคนที่เหลือถูกข่มขู่ขณะถูกใช้ถุงคลุมศรีษะ และกรณีของนายชัชวาล ปราบบำรุง ผู้ต้องหายิงเอ็ม 79 ใกล้ที่ชุมนุม กปปส. จนทำให้มีผู้เสียชีวิต เขาบอกกับประชาไทว่า เขาถูกราดน้ำให้เปียก แล้วถูกไฟช็อตที่อวัยเพศ และทวารหนัก และเมื่อกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด ก็ถูกถุงคลุมศรีษะเพื่อให้หายใจไม่ออก นอกจากสองกรณีข้างต้น ก็ยังมีกรณีของ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ที่ถูกข่มขู่ว่าจะฆ่าให้ตาย ถูกปิดตา ถูกผลักให้ล้ม ถูกกระแทกด้วยกระบอกปืน ถูกคุมขังในห้องที่ไม่รู้กลางวันกลางคืน และไม่ให้รับประทานอาหารและน้ำ และกรณีกริชสุดา คุณะเสน นักเคลื่อนไหวเสื้อแดง ผู้ถูกกล่าวหาว่า รับเงินจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มาให้กลุ่มใช้อาวุธ ก็บอกว่า เธอถูกต่อย ถูกใช้ถุงดำคลุมศรีษะตลอดเวลา ประชาไทยังพบอีกว่า ผู้ต้องหาชายในดคี “ขอนแก่นโมเดล” ประมาณ 20 คน ยังถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมด้วยการถูกจับใส่กุญแจมือเป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 24 ชั่วโมง

รายงานข่าวไทยพีบีเอส ซึ่งรายงานเกี่ยวกับผู้ต้องหาชายชุดดำ อ้างว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวน

ลักษณะของนโยบายที่มักนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง อย่างการทรมาน วิสามัญฆาตกรรม และการบังคับสูญหายเป็นอย่างไร ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียมีคำตอบว่า ลักษณะของนโยบายที่มักนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงมักเกิดจากการสร้างพื้นที่สีเทาให้เจ้าหน้าที่

“ในกรณีสงครามยาเสพติด เพียงแค่นโยบายที่คลุมเครือก็พอแล้ว ที่จะเปิดช่องว่างให้เกิดพื้นที่สีเทาขนาดใหญ่หลากหลายรูปแบบให้เจ้าหน้าที่รัฐ  เจ้าหน้าที่ ที่รับคำสั่งให้  ‘จัดการปัญหายาเสพติด' แต่ทักษิณหรือผู้ใต้บังคับบัญชาใกล้ชิดไม่บอกว่า เจ้าหน้าที่ควรดำเนินการอย่างไร”  ซึ่งฮาร์เบอร์คอร์นชี้ว่า วิธีนี้กลายเป็นการส่งสัญญาณว่าเจ้าหน้าที่สามารถทำอะไรก็ได้ที่จำเป็นเพื่อจดการปัญหา รวมถึงการใช้การทรมานด้วย   

ฮาร์เบอร์คอร์นกล่าวว่า นโยบายกำหนดให้เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายในพื้นที่ใช้วิธีแบบ 'ตาต่อตา'  ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกจัดประเภทเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ เจ้าหน้าที่จึงสามารถใช้วิธีที่เด็ดขาด รุนแรง และไร้ความปรานีได้ นอกจากนั้น แต่ละจังหวัดยังต้องดำเนินการจับกุมและยึดยาเสพติดให้ได้ตามโควต้า หากตำรวจและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้ตามโควต้าจะถูกลงโทษ

ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า สาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยเลือกใช้วิธีการทรมานเพื่อรีดข้อมูล หรือให้ผู้ต้องรับสารภาพ เพราะการด่วนตัดสินไปแล้วว่า ผู้ถูกทรมานเหล่านั้นเป็นผู้กระทำผิด และการไม่เคารพในศักดิ์ในความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีโจมตีเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง ความแค้นในตัวเจ้าหน้าที่ ก็อาจเป็นส่วนเสริมให้เกิดการทรมานอีกด้วย    

อนุกูล กล่าวถึงสาเหตุของการซ้อมทรมานกับผู้ต้องหาก่อความไม่สงบในภาคใต้ว่า มาจากวิธีคิดของรัฐที่ไม่ยอมรับความแตกต่างทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวบ้านในพื้นที่ นำมาสู่ “การมองคนไม่เป็นคน” นอกจากนี้ยังมาจากสะสมความแค้นของเจ้าหน้าที่รัฐเอง “เจ้าหน้าที่เองก็ถูกกระทำ ถูกยิง ก็อยากได้คนร้ายมาเร็วๆ สงสัยใครก็เอาตัวมา เพื่อนถูกกระทำก็แค้น ก็สะท้อนออกมาในรูปของการทรมานเหยื่อ อันนี้ทราบมาจากการถามเหยื่อที่ถูกซ้อม สังเกตพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ระหว่างการคุมตัว”

ฮาเบอร์คอร์น กล่าวว่า การซ้อมทรมานเป็นส่วนหนึ่งของภาพกว้างของความรุนแรงของรัฐไทย ซึ่งมุ่งที่จะคุกคาม ข่มขวัญ บุคคล ที่ถูกมองว่า เป็นศัตรูของรัฐและสังคมโดยรวม เมื่อเกิดการข่มขวัญในลักษณะนี้ สังคมโดยรวมก็ถูกข่มขวัญเช่นกัน

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียยังกล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้การซ้อมทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในประเทศไทยยังมีอยู่เรื่อยๆ คือ ความไม่พอเพียงของกฎหมายภายในประเทศ และการขาดความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค ของเจ้าหน้าที่ในองค์กรรัฐ “ประชาชนธรรมดา ซึ่งถูกมองว่า เป็นศัตรูของรัฐในช่วงเวลาต่างๆ ของประวัติศาสตร์ เช่น “คอมมิวนิสต์” “อันธพาล” “ผู้ก่อการร้าย” “ผู้ค้ายา” และอื่นๆ พวกเขาถูกมองว่า ต่ำกว่ามนุษย์ และสามารถถูกซ้อมทรมานได้ และในบางกรณีก็ถูกบังคับสูญหาย หรือถูกฆ่านอกกฎหมายด้วย”

ฮาร์เบอร์คอร์นกล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีจังหวัดชายแดนใต้  พื้นที่สีเทาที่มาจากกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงที่บังคับใช้ในพื้นที่ ซึ่งจะกล่าวลงรายละเอียดต่อไป

นอกจากสาเหตุด้านการขาดความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชน ทนายภาวิณีชี้ว่า แรงกดดันจากผู้บังคับบัญชาที่ให้มีการสืบสวนหาตัวคนร้ายมาให้ได้ แต่พยานหลักฐานที่จะใช้มัดตัวคนร้ายนั้นไม่เพียงพอที่จะออกหมายจับ ก็เป็นอีกสาเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้การซ้อมทรมานเพื่อรีดคำรับสารภาพออกมาให้ได้ จึงไปขอออกหมายจับตามมา หรือกล่าวอีกอย่างว่า ตำรวจเชื่อว่า การซ้อมทรมานเป็นกระบวนการที่มี “ประสิทธิภาพ” อย่างหนึ่งในการปราบปรามผู้กระทำผิด  

“[อดีตตำรวจ] คนหนึ่งเคยกล่าวไว้ในงานเสวนางานหนึ่งว่า การซ้อมทรมานบางทีก็ต้องยอมรับว่า ต้องใช้บ้าง คือมันมีหลักสองอย่างคือ หนึ่ง การควบคุมปราบปรามอาชญากรรม สอง กระบวนการที่ถูกต้อง ถ้าให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ถูกต้องมาก ก็ควบคุมอาชญากรรมไม่ได้ เราเชื่อว่าลึกๆ แล้วในหน่วยงานพวกนี้ มีการสั่งมาว่า ต้องจัดการกับอาชญากรรมให้ได้เป็นหลัก พอมีกรณีซ้อมทรมานขึ้นมาก็เลยปฏิเสธ ลึกๆ แล้วหน่วยงานพวกนี้เชื่อว่า การทรมานมีประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้ แรงกดดันจากสังคมและผู้บังคับบัญชา ให้เร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ก็เป็นอีกแรงกดดันหนึ่งที่อาจนำไปสู่การซ้อมทรมานเพื่อปิดคดีให้ได้ โดยที่ไม่ได้สนใจว่า จะได้ลงโทษผู้กระทำผิดถูกคนหรือไม่ ขอให้ปิดคดีในชั้นตำรวจได้เป็นพอ

“จำเลยที่ถูกซ้อมแล้วถูกดำเนินคดี แล้วต่อมาศาลตัดสินว่าเขาไม่ผิด นั่นก็อาจผ่านไปหลายปีแล้ว ประมาณห้าปี กว่าจะมาฟ้องกลับอีกคดี ในคดีทรมาน ก็นานมาก คือ ตำรวจได้ “ผลงาน” จากการทำคดีไปแล้วซึ่งไม่เกี่ยวกับผลว่า ได้นำผู้กระทำความผิดมาลงโทษถูกตัวหรือไม่” ทนายภาวิณีกล่าว

สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่สถิติคดีความมั่นคง ซึ่งถูกรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ มกราคม 2547 ถึง มกราคม 2557 พบว่า มีคดีความมั่นคง 2,184 คดี ที่ผู้กระทำความผิดถูกระบุตัว มีแค่ 685 คดีที่ศาลมีคำพิพากษา และในนั้น มีแค่ 264 คดี (ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาในคดีทั้งหมด 444 คน) ที่ถูกตัดสินว่าผิด ส่วนอีก 421 คดี (มีผู้ถูกกล่าวหาในคดีทั้งหมด 1,030 คน) ยกฟ้องทั้งหมด พูดง่ายๆ คือ ประมาณ 70 เปอร์เซนต์ของคนที่ตำรวจจับและดำเนินคดี ศาลพบว่า พวกเขานั้นไม่ผิดจริง  

รายงานเงาตั้งข้อสังเกตว่า อัตรายกฟ้องคดีที่สูงนั้น เป็นเพราะหลักฐานส่วนใหญ่คือคำสารภาพที่ได้จากการซ้อมทรมาน เมื่อขึ้นศาล ศาลจึงไม่รับฟัง ในขณะที่หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถืออื่นๆ เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์นั่นมีน้อยมาก  

 

กฎหมาย พิเศษ กับการซ้อมทรมาน

การใช้กฎหมายความมั่นคงพิเศษต่างๆ เป็นศัตรูตัวฉกาจของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเลยก็ว่าได้ และการใช้กฎหมายพิเศษในประเทศไทยก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการซ้อมทรมานขึ้นแทบทุกวันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในสถานการณ์ปกตินั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสืบสวนคดีจนมีหลักฐานระดับหนึ่ง จึงไปขอออกหมายจับผู้ต้องหา แต่เมื่อเป็นสถานการณ์ภายใต้กฎหมายพิเศษ อย่างกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายศาลและควบคุมตัวได้นานถึงเจ็ดวันที่ใดก็ได้ นี่คือช่วงเวลาสำคัญ ที่มักนำไปสู่การละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะการซ้อมทรมานผู้ถูกคุมขัง

ขณะนี้ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประกาศใช้ทั้ง กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน โดยสามจังหวัดนั้นอยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 และเมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2549 ทั่วประเทศ แม้กฎอัยการศึกจะถูกยกเลิกในพื้นที่อื่นๆ แต่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไม่มีการยกเลิก สามจังหวัดจึงอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

สำหรับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้น แม้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องขอหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ต้องขอหมายจับตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ไม่ต้องการหลักฐานแน่นหนาเท่าประมวลกฎหมายอาญา และคุมขังผู้ต้องหาได้เจ็บวันในสถานที่ทางการที่เปิดเผย การจะคุมตัวต่อ จะต้องไปขอศาล ครั้งหนึ่งไม่เกิดเจ็ดวัน และคุมตัวต่อเนื่องได้สูงสุด 30 วัน อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องหามาแสดงต่อหน้าศาล

ในสามจังหวัดนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัย เจ้าหน้าที่มักจะจับกุมและคุมขังภายใต้อำนาจกฎอัยการศึก และจับกุมเป็นเวลาเจ็ดวันก่อน เมื่อครบเจ็ดวัน จึงทำการออกหมายจับตาม พ.รก.ฉุกเฉิน และควบคุมตัวอีกจนเต็มโควต้าอีก 30 วัน ต่อมาจึงไปขอหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญาตามกระบวนการปกติ

การซ้อมทรมาน มักเกิดขึ้นในช่วงวันแรกๆ ของการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก กว่าที่ผู้ต้องหาจะได้พบทนายอย่างเป็นทางการและพบญาติก็เมื่อครบกำหนดการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่จึงไปขอออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามลำดับ เมื่อนั้นที่ผู้ต้องหาจะได้พบทนาย และญาติ ก็สายไปเสียแล้วที่จะพบร่องรอยของการซ้อมทรมาน โดยเฉพาะเมื่อเป็นเทคนิคการทรมานแบบ “การทรมานสะอาด” (Clean torture) หรือการทรมานที่ทิ้งร่องรอยน้อยอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

“พัฒนาการ” ในการซ้อมทรมานดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความพยายามผลักดันโดยเครือข่ายทนายที่ทำงานในพื้นที่ ที่ให้ทนายและครอบครัวได้เข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังตั้งแต่วันแรกๆ ของการคุมขัง จากเดิมที่ไม่ให้เยี่ยมเด็ดขาด

รายงานเงารายงานว่า จาก 86 กรณีของการซ้อมทรมานที่ผู้จัดทำรายงานได้รวบรวมไว้ มีกว่า 58 รายที่ถูกซ้อมในวันที่ถูกจับกุม, 37 คนถูกซ้อมในช่วงสามวันแรก และ 19 คนถูกซ้อมในช่วงสัปดาห์แรกของการคุมขัง และอีก 8 คนถูกซ้อมหลังจากสัปดาห์แรกของการคุมขัง

ที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายที่พูดถึงการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ทำการซ้อมทรมานจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค และไม่เคยมีคดีใดประสบความสำเร็จในการนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำทรมานมาลงโทษได้เลย

แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะมีมาตรา 32 ที่ห้ามมิให้มีการซ้อมทรมาน หรือการกระทำที่ไร้มนุษยชน ทั้งผู้ที่ถูกกระทำจะต้องได้รับการเยียวยา แต่ไทยก็ไม่เคยมีพระราชบัญญัติ หรือการเขียนไว้ในกฎหมายใดๆ ที่ได้พูดถึงการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐจริงๆ รวมถึงไม่ได้พูดถึงการเยียวยาด้วย

มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย  การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้  . . . ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องเรียนต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้

กฎหมายที่ใกล้เคียงที่สุด ที่ทนายมักใช้อ้างต่อศาลเมื่อมีการซ้อมทรมาน คือ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ซึ่งว่าด้วย การคุมขังบุคคลโดยมิชอบ  

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90

           เมื่อมีการอ้างว่า บุคคลใด ต้องถูกคุมขัง ในคดีอาญา หรือ ในกรณีอื่นใด โดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ขอให้ปล่อย คือ

                       (1) ผู้ถูกคุมขังเอง

                       (2) พนักงานอัยการ

                       (3) พนักงานสอบสวน

                       (4) สามี ภริยา หรือ ญาติของผู้นั้น หรือ บุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์ ของผู้ถูกคุมขัง

เมื่อได้รับคำร้องดั่งนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียว โดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่า คำร้องนั้น มีมูล ศาลมีอำนาจสั่ง ผู้คุมขัง ให้นำตัว ผู้ถูกคุมขัง มาศาลโดยพลัน และถ้า แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่า การคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัว ผู้ถูกคุมขังไปทันที

แต่จากรายงานเงา รายงานว่า ทั้งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือ ศูนย์ทนายมุสลิม ไม่เคยรับรู้ว่า มีการจ่ายค่าชดเชยเกิดขึ้น ส่วนทนายภาวิณีและทนายอนุกูลก็กล่าวตรงกันว่า ไม่เคยรับรู้ว่ามีคดีใดที่มีการดำเนินคดีกับผู้กรทำทรมานจนถึงที่สุด ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายละระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้

เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะ กลไก/วิธีการที่องค์กรสิทธิไทย ใช้เมื่อได้รับการร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมาน ศูนย์ทนายความมุสลิม จะร้องต่อศาล ให้มีการไต่สวนตาม ประมลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ว่าด้วย การคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

แต่การอ้างมาตรา 90 ก็ไม่สามารถทำให้มีการไต่สวนถึงข้อกล่าวหาการซ้อมทรมานได้ เพราะเมื่อจะมีการไต่สวน เจ้าหน้าที่ก็มักจะปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทันที เมื่อมีการปล่อยตัว ศาลก็จะไม่ไต่สวนสวนต่อ เพราะถือว่า ผู้ถูกคุมขังถูกปล่อยตัวแล้ว

ซึ่งก็ไม่สามารถนำไปสู่การสอบสวนโทษผู้กระทำทรมานได้เช่นกัน เพราะเมื่อมีการร้องไปยังศาล ศาลก็จะสั่งไต่สวน เมื่อมีการสั่งไต่สวน เจ้าหน้าที่ก็จะทำการปล่อยผู้ถูกคุมขังทันที เมื่อปล่อยแล้วศาลก็จะยกเลิกการไต่สวน เพราะถือว่า การควบคุมตัวโดยมิชอบนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

“เมื่อก่อน พอเราเจอกรณีซ้อมทรมาน ก็จะร้องเรียนไปที่ กสม. แล้วก็ไปร้องต่อศาล ให้ปล่อยตัว เพราะควบคุมตัวโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 พอศาลรับ แล้วพอศาลจะไต่สวน เหยื่อก็มักถูกปล่อยตัวทันที  ก่อนการไต่สวนจะเริ่มขึ้น พอปล่อยตัว ศาลก็จะเลิกไต่สวน ถือว่า คุณเรียกร้องให้ปล่อยตัว เขาก็ถูกปล่อยมาแล้ว” ทนายอนุกูลกล่าว

ตั้งแต่การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่สามจังหวัด ตั้งแต่ 20 ก.ค. 2548 มีการออกหมายจับภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปถึง 5,283 หมาย และมีผู้ต้องหา 4,080 คน ที่ถูกจับตามหมายจับนี้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคคดีอาญา ให้ข้อยกเว้นการใช้หลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ เช่น ได้มาจากการซ้อมทรมาน เมื่อผลประโยชน์ของหลักฐานนั้นจะมีน้ำหนักและความสำคัญมากกว่าการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น ซึ่งขัดกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี มาตรา 15 ที่ห้ามมิให้ใช้หลักฐานที่ได้จากการทรมานมาใช้ในการพิจารณาคดีเด็ดขาด

 

ทำไมจึงมีการทรมานอยู่อย่างต่อเนื่อง

ผู้เชี่ยวชาญต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดถูกลงโทษเพราะกระทำทรมานในทางอาญา ในทางตรงกันข้าม การทรมานอาจนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งเสียด้วยซ้ำ และผู้ที่กล้าพูดความจริงว่าถูกทรมาน ก็อาจถูกลงโทษหรือดำเนินคดี

 

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

ทนายภาวิณีกล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อเกิดการทรมาน จนได้รับคำสารภาพ เจ้าหน้าที่จะนำคำสารภาพนั้นไปขยายผล จับกุมคนอื่นๆ เหยื่อบางส่วนถูกกันเป็นพยาน โดยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อของการซ้อมทรมานถูกดำเนินคดีในคดีความมั่นคง เมื่อขึ้นศาล หากพวกเขาให้การว่า รับสารภาพเพราะถูกซ้อมทรมาน ศาลก็มักจะยกฟ้อง และบอกว่า ให้ไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ในข้อหาซ้อมทรมาน ในอีกคดีหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยมีการฟ้องเกิดขึ้น เพราะเหยื่อมักจะรู้สึกกลัวมาก และรู้สึกว่า แค่ได้มีอิสรภาพอีกครั้งก็ดีมากแล้ว ในอีกกรณีหนึ่งคือ ทนายเองเห็นว่า ไม่เห็นลู่ทางที่จะชนะคดีการซ้อมทรมานได้เลย เพราะร่องรอยการถูกซ้อมหายไปหมดแล้ว ขณะถูกซ้อมก็ถูกปิดหน้าปิดตา จึงไม่รู้ว่าผู้กระทำคือใคร ทั้งร่องรอยทางจิตใจก็ไม่สามารถวัดได้

“เหยื่อส่วนใหญ่ ถ้ายังไม่โดนดำเนินคดี แล้วไปแจ้งความว่าถูกซ้อม ก็จะถูกแกล้ง ถูกดำเนินคดีทันที ส่วนเหยื่อที่ถูกดำเนินดคี พอชนะคดีก็ไม่ค่อยแจ้งควม เพราะรู้สึกว่า ได้ปล่อยตัวมาก็บุญแล้ว พอถูกปล่อยตัวมา ก็มักจะถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่อีก เขาก็อยู่ในความกลัว ทั้งการถูกจับไปก็เป็นตราบาปทางสังคมอีกด้วย เพราะชาวบ้านด้วยกันก็ไม่ค่อยอยากจะสุงสิง เพราะกลัวจะถูกสงสัยไปด้วย เป็นบรรยากาศแห่งความกลัว”

ภาวิณีเสริมด้วยว่า ปกติแล้ว หากมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ผู้ถูกกระทำต้องเริ่มด้วยการไปแจ้งความ ตำรวจก็จะส่งผู้แจ้งความนั้นไปให้แพทย์ตรวจหาร่องรอยของการทำร้ายร่างกาย แล้วแพทย์จึงส่งความเห็นให้ตำรวจ แต่เมื่อเป็นคดีทรมาน นอกเหนือจากที่การกระทำทรมานในปัจจุบันทิ้งร่อยรอยน้อยและร่องรอยหายไปเพราะระยะเวลาของการคุมขังที่ยาวนาน เมื่อไปแจ้งความก็อาจโดนกลั่นแกล้ง ซ้ำเติม แต่ถ้าอยู่ดีๆ จะเดินไปให้แพทย์ตรวจเลย แพทย์ก็มักจะไม่รับตรวจ

ส่วนทนายอนุกูกลกล่าวว่า เหยื่อส่วนใหญ่ไม่กล้าไปแจ้งความว่าถูกซ้อมทรมาน และเมื่อบางคนไปแจ้งแล้วถูกคุกคาม บางคนถูกหลอกให้เซ็นชื่อยอมความ

“กลไกระบบยุติธรรมนั้นทำให้ยาก เพราะภาระการพิสูจน์การถูกซ้อมทรมานเป็นของคนถูกซ้อม ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มีกฎหมายดีๆ ที่ภาระพิสูจน์อยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้ซ้อม แต่ในไทย คนถูกซ้อมเป็นคนพิสูจน์” ภาวิณีกล่าว 

ขณะที่ฮาเบอร์คอร์นมองว่า สถานการณ์การซ้อมทรมานในประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้ว ยังแย่ลงอีกด้วย

“ไม่ดีขึ้นเลย ในขณะที่ไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น และยังมีสัญญาณที่บอกว่า สถานการณ์แย่ลงด้วยซ้ำ เพราะมีการร้องเรียนไปยัง กสม. และองค์กรต่างๆ มากขึ้น” ไทเรลกล่าว “มันมีกรณีที่ ผู้รอดชีวิตของการซ้อมทรมานถูกลงโทษเพราะการไปร้องเรียนการซ้อมทรมานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น กรณีของ ซูดีรือมัน มาเละ แต่กลับถูกดำเนินคดี นั่นหมายความว่า ไม่ใช่เพียงแค่เขาจะไม่ได้รับการเยียวยา แต่ยังถูกลงโทษเพราะการพูดความจริงเกี่ยวกับการถูกทรมานอีกด้วย”

ซูดีรือมันเป็นผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อปี 2547 เขาถูกซ้อมทรมานระหว่างคุมขัง ต่อมา เขาแจ้งความ และกล่าวหาตำรวจในข้อหาซ้อมทรมาน โดยความช่วยเหลือของทนายสมชาย นีละไพจิตร และการที่ทนายสมชายพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับซูดีรือมัน ก็ทำให้ทนายสมชายถูกบังคับสูญหาย โดยนายตำรวจห้านาย ซึ่งส่วนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ซ้อมทรมานซูดีรือมัน  นอกจากนี้ ซูดีรือมันยังถูกตัดสินลงโทษจำคุกสองปี ในข้อหาแจ้งความเท็จในปี 2554 อีกด้วย

ฮาเบอร์คอร์นให้เหตุลที่ทำไมการซ้อมทรมานยังคงมีอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะผู้กระทำยังคงลอยนวล เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและหรือทหารได้กระทำการซ้อมทรมาน และไม่ถูกตรวจสอบและลงโทษ เพราะว่าไม่มีโครงสร้างทางกฎหมายและการเมืองที่เอื้อ “พรรคพวกของพวกเขาก็เรียนรู้ว่า พวกเขาก็สามารถกระทำทรมานได้เช่นกัน การปล่อยให้คนผิดลอยนวลคือการสอนดีๆ นี่เอง”

 

กฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมาน

ประเทศไทยได้ลงนามและเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานฯ ของสหประชาชาติ มาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลทหาร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้ไทยมีภาระที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายของตนเองให้สอดคล้องกับอนุสัญญา

ตั้งแต่นั้นมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเริ่มแรกนั้น มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้มีเรื่องการซ้อมทรมานอยู่ด้วย แต่ร่างแก้ไขกฎหมายอาญาดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากผู้ที่ทำงานต่อต้านการทรมานว่า มีช่องโหว่จำนวนมาก เช่น ให้นิยามการซ้อมทรมานไว้แคบมาก รวมถึงจุดมุ่งหมายของการกระทำก็เขียนไว้อย่างแคบ  นิยามนั้นจำกัดอยู่แค่การทำร้ายร่างกาย ข่มขืน และล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งใน CAT บทที่หนึ่งนั้น ได้กำหนดว่า การซ้อมทรมาน ไม่ใช่แค่การกระทำที่ทำให้เดความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่รวมถึงจิตใจด้วย นอกจากนี้  

ปี 2010 ภาคประชาชนจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่า เรื่องซ้อมทรมานโดยเฉพาะ ที่ครอบคลุมความผิดแบบต่างๆ อย่างกว้างขวางขึ้น และรัดกุมขึ้น

ภาคประชาชนมองว่า ต้องมีกฎหมายแยกออกมาพิเศษ  แค่การแก้กฎหมายอาญา กับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นไม่พอ เพราะเมื่อไหร่ที่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น ถูกบังคับใช้ ก็จะมีการให้อำนาจพิเศษเพิ่มกับเจ้าหน้าที่ ที่ละเลยสิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญาได้   

จากการแก้ร่างกฎหมายว่าด้วยการซ้อมทรมานมาหลายสิบร่าง เป็นเวลากว่าเจ็ดปี เป็นไปได้ว่า เราอาจได้เห็นกฎหมายต่อต้านการทรมาน ในยุครัฐบาล คสช. ก็เป็นได้

ร่างกฎหมายโดยกรมคุ้มครองสิทธิล่าสุดมีชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย” เป็นร่างกฎหมายที่ได้รวบรวมสาระสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยการซ้อมทรมาน และการบังคับบุคคลสูญหาย หรือที่เรียกว่า “อุ้มหาย” เอาไว้ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทั้งสองประเภทไว้อย่างรัดกุม

โดยร่างนี้ได้นิยามการทรมานไว้ว่า “การกระทำที่ทำให้เกิดคามเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมาน อย่างร้ายแรงแก่ร่างกายและจิตใจต่อบุคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม เพื่อการลงโทษบุคคลนั้นสำหรับการกระทำซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อข่มขู่หรือขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือเพราะเหตุผลอื่นใด บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยการยุยง โดยความยินยอม หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือของบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยไม่รวมถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานที่เกิดจากหรือสืบเนื่องมาจากการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมาย”

จะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมายนี้ได้เขียนนิยามขอการทรมานให้ครอบคลุมถึงการทรมานทางจิตใจ

ร่างนี้ยังได้นิยาม “เจ้าหน้าที่รัฐ” ไว้อย่างครอบคลุมถึง “บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่าหนึ่ง” อีกด้วย

โครงสร้างของร่างกฎหมายนี้แบ่งเป็นสี่หมวดด้วยกัน คือ

  1. หมวดการปราบปราม ซึ่งมีความสำคัญที่สุด เป็นหมวดที่กำหนดโทษของผู้ที่เกี่ยวข้องในอาชญากรรมนี้ และเพื่อให้เกิดการเปิดเผยความจริง และขจัดอุปสรรคในการดำเนินคดีเก่าออกไป
  2. หมวดการป้องกัน หมวดนี้ได้ปิดช่องโหว่ต่างๆ ที่มักนำไปสู่การทรมานและบังคับสูญหาย โดยเมื่อมีการคุมขังบุคคลใดๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องทำอย่างเปิดเผยและโปร่งใส และตรวจสอบได้ และเพิ่มกลไกตรวจสอบและช่วยเหลือ ผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน
  3. หมวดคณะกรรมการ คือ กลุ่มบุคคลที่จะมามีอำนาจในการดูแลการสืบคดีการทรมานและสูญหาย และเสนอนโยบายด้านการเยียวยา ป้องกันและพื้นฟูเหยื่อจากอาชญากรรมทั้งสองประเภท
  4. หมวดการดำเนินคดี กับผู้กระทำผิด ได้บัญญัติกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยพยายามให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของผู้กระทำผิดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ในหมวดที่ 1 การปราบปรามนั้น มีการระวางโทษสำหรับการกระทำทรมานไว้ที่ จำคุกห้าปีถึง 20 ปี ถ้าเกิดการกระทำทรมานดังกล่าว ทำกับเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปี ถึง 13 ปี ส่วนถ้าการทรมานนั้นทำให้บาดเจ็บสาหัส จะต้องระวางโทษจำคุก 10 ปี ถึง 30 ปี แต่ถ้าถึงตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีการระวางโทษสำหรับผู้บังคับบัญชาที่รับรู้ว่ามีการซ้อมทรมาน แต่จงใจเพิกเฉย ไม่ห้ามปรามหรือป้องกัน จะต้องระวางโทษกึ่งหนึ่ง

มาตรานี้ยังได้บัญญัติไว้ว่า ไม่ว่าประเทศชาติจะอยู่ในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม หรืออะไรก็ตาม ไม่สามารถใช้มาเป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงในการซ้อมทรมานหรืออุ้มหายได้ นอกจากนี้ แม้เจ้าหน้าที่รัฐไทยจะเอาตัวบุคคลไปซ้อมทรมานนอกดินแดนไทย ก็ต้องได้รับโทษเช่นกัน

นอกจากนี้ มีการกำหนดเหตุบรรเทาโทษต่อผู้กระทำความผิดที่ช่วยให้สามารถค้นพบบุคคลสูญหายที่ยังไม่ตายอีกด้วย ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้เกิดการนำตัวเหยื่อกลับมา และให้ความจริงปรากฏ มากกว่าที่เหยื่อจะถูกฆ่าปิดปากไปเสียเลย

ในหมวดที่ 2 ได้ห้ามไม่ให้มีการคุมตัวในสถานที่ลับ สถานที่คุมตัวนั้นต้องเป็นสถานที่ทางการ ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการและสามารถตรวจสอบได้ มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ถูกคุมขังสามารถแจ้งสถานที่ สภาพคุมขัง กับญาติหรือทนายได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวจะต้องบันทึก ชื่อ นามสกุล รูปพรรณสัณฐาน วัน เวลา สถานที่ ของการคุมขัง คำสั่งที่ให้มีการจำกัดเสรีภาพ และเหตุแห่งการออกคำสั่งนั้น และวันเวลา สถานที่ที่มีการปล่อยตัว นอกจากนั้น ครอบครัวหรือญาติของผู้ถูกคุมตัวสามารถขอให้ศาลสั่งให้ยุติการทรมานได้ และศาลอาจสั่งให้มีการปล่อยตัว ให้ผู้เสียหายไปพบแพทย์ และออกมาตรการเยียวยาเบื้องต้น

นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้รัฐไทยผลักดันชาวต่างชาติออกนอกราชอาณาจักร หากเชื่อได้ว่า เมื่อเขาถูกผลักดันกลับประเทศแล้วจะถูกซ้อมทรมานหรือทำให้สูญหาย

หมวดที่ 3 กำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งมีทั้งหมด 17 คน โดยสองคนเป็นตัวแทนเหยื่อของการซ้อมทรมาน และเหยื่อของการบังคับสูญหาย สี่คนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ด้านแพทย์หนึ่งคน ด้านจิตวิทยาหนึ่งคน ที่เหลืออีกเก้าคนเป็นข้าราชการกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงต่างๆ    

คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดนโยบาย แผนงาน และมาตรการเพื่อป้องกันความผิดทั้งสองประเภท ดำเนินการสืบหาติดตาม ช่วยเหลือ เหยื่อ และมีอำนาจร้องขอให้ระงับการทรมานและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังโดยมิชอบ และกำหนดนโยบายเพื่อการฟื้นฟูและเยียวยาทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่ผู้เสียหาย ฯลฯ

ในหมวดที่ 4 การดำเนินคดี ได้กำหนดให้ผู้ใดก็ตามที่พบเห็นการกระทำความผิดมีหน้าที่ต้องแจ้ง และเจ้าหน้าที่รัฐที่รับการร้องเรียนนั้น ต้องส่งต่อให้กรรมการ ส่วนในการสอบสวนนั้น คณะกรรมการตามหมวดที่ 3 จะเป็นผู้มีอำนาจในการเลือกคณะสอบสวน “โดยคำนึงถึงหลักประสิทธิภาพและหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความขัดกันของตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา กับผู้เป็นพนักงานสอบสวน” และยังให้มีนักนิติวิทยาศาสตร์ หรือแพทย์ หรือจิตแพทย์เข้ารวมในการสืบสวนสอบสวนอีกด้วย

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ได้กำหนดให้ ศาลอาญา ที่กรุงเทพฯ เป็นเพียงศาลเดียวที่จะไต่สวนคดีซ้อมทรมานและอุ้มหาย

ประทับจิต นีละไพจิตร ในฐานะครอบครัวของผู้บังคับสูญหาย กล่าวว่า เธอค่อนข้างพอใจกับร่างกฎหมายนี้ และให้คะแนน 8.5 จาก 10 คะแนนเลยทีเดียว เธอยังมีข้อติต่อกฎหมายนี้ในส่วนที่เธอเห็นว่า ไม่ควรรวมการซ้อมทรมาน และอุ้มหายไว้ในร่างกฎหมายเดียวกัน เพราะอาชญากรรมทั้งสองอย่าง มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งยังมาจากอนุสัญญาของสหประชาชาติคนละฉบับกัน การอุ้มหาย ยังมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการซ้อมทรมานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ประทับจิตมองว่า ในที่สุดแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่ถึงฝัน เพราะคณะรัฐประหารก็อาจจะไม่ผ่านกฎหมายนี้ หรือถ้าผ่าน ก็คงมีการปรับแก้เยอะจากฉบับนี้ที่เธอให้คะแนนไว้  8.5 คะแนน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท