สมชาย ปรีชาศิลปกุล: ทำ(นา)ทุกที่ ที่มีสัญญาณ(มือถือ)-ส่องเศรษฐกิจชนบทใหม่

8 ม.ค. 2558 - ในการสัมมนาหัวข้อ "ความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายและซับซ้อนของสังคมไทยจากวิธีคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์" จัดโดยสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ห้อง HB7801 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น

ช่วงหนึ่ง สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอหัวข้อ "ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในชนบท กรณีภาคเหนือตอนบน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิจัย "ความเปลี่ยนแปลง “ชนบท”ในสังคมไทย: บนความคลื่อนไหวสู่ประชาธิปไตย Changes in Thai “Rural” Society: Democracy on the move" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

คลิปการนำเสนอของสมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวข้อ "ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในชนบท กรณีภาคเหนือตอนบน"

000

สมชาย เริ่มต้นอภิปรายว่า แนวโน้มใหญ่ของการศึกษาชนบทไทย เดิมในทศวรรษที่ 2530 เป็นแนว "วัฒนธรรมชุมชน" แต่ไม่ได้หมายความไม่มี "Subaltern" อื่นๆ ตอนนั้นถ้าใครอ่านตำราที่ถูกผลิตเกี่ยวกับชนบทไทยในช่วงนั้น วัฒนธรรมชุมชน จะเป็นแนวคิดหลักสำหรับอธิบาย อย่างไรก็ตามในทศวรรษ 2550 ปรากฏการณ์คนเสื้อแดง ทำให้มีความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้คนกลับมาสนใจชนบทอีกครั้ง เริ่มแรกคิดว่าเป็นความพยายามทำความเข้าใจคนเสื้อแดง ว่าคนเสื้อแดงเป็นใคร มาด้วยเงื่อนไข ภูมิหลัง ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมอย่างไร จะเริ่มเห็นงานศึกษาของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อภิชาต สถิตนิรามัย

อีกแบบหนึ่ง นอกจากความพยายามที่จะศึกษาคนเสื้อแดง ก็เริ่มมีความสนใจศึกษากระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น "ที่นั่น" มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง นี่คือความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของการศึกษาชนบทไทยที่มองเห็น

สมชาย อภิปรายต่อว่า มีเรื่องเล่า 3 เรื่อง เรื่องแรก เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ขอให้คำว่า "ทำทุกที่ ที่มีสัญญาณ" เรื่องที่สอง เป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่น เรื่องที่สาม สองนคราในท้องถิ่น

"ทำทุกที่ ที่มีสัญญาณ" คือเรื่องอะไร ผมคิดว่าเวลาพูดเรื่องชนบทไทยว่ามีความเปลี่ยนแปลงก็คือ ไม่มีที่ไหนหยุดนิ่งแน่ๆ มันก็เปลี่ยนตลอด ที่นี้มีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เมื่อชาวบ้านเข้าไปสัมพันธ์ระบบตลาดและระบบทุนนิยมมากขึ้น สามารถสรุปได้ด้วยคำว่า "ทำทุกที่ ที่มีสัญญาณ" หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าแบบนี้

ในโครงการวิจัยที่ผมทำร่วมกับอาจารย์อรรถจักร์ มีเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งร่วมทำด้วยแล้วอาจารย์ท่านนี้เป็นชาวนาด้วยมีที่นาด้วยก อยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หมายถึง ประภาส ปิ่นตบแต่ง) "เราก็นั่งประชุมกันอยู่ เสียงโทรศัพท์แกดังขึ้นมา แล้วแกก็พูดว่า 'เออ ไถเลย 40 ไร่ ไถเลย ลงเลยๆ' 'พรุ่งนี้ เอารถเกี่ยวข้าวไปลงเลยนะ เกี่ยวเลยแถวนั้นแหละ คุยกับพ่อแล้ว' "

"ผมปิ๊งเลย นี่คือ "คนทำนาสมัยใหม่" ผมคุยกับเพื่อนอาจารย์คนนี้ เขาก็บอกมีอยู่บ้างประเภทกระแสเล็กกระแสน้อย "ฉันอยากจะเป็นชาวนา" แต่คนทำนาส่วนใหญ่ในเมืองไทยทำนาผ่านโทรศัพท์มือถือ "ทำทุกที่ ที่มีสัญญาณ" หรือ "ทำทุกทีที่มีคลื่น" คือทำนาได้ทุกที่ ขอให้มีคลื่นโทรศัพท์มือถือ คนที่รับโทรศัพท์ ตัดข้าวใช่ไหมครับ เอาทีมมาตัดข้าวดีดมาเลยครับ สมัยก่อนก็ต้องเอามื้อเอาวัน แก๊งค์ตัดข้าวดีดอยู่ไหน ตัดเลย"

"ระบบความสัมพันธ์ของคนทำนาด้วยกันเปลี่ยนแปลงไป หมายความว่าคนเข้าไปสัมพันธ์กับระบบตลาดมากขึ้น ตารางการใช้ชีวิตประจำวันของคนเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ระบบการผลิตแบบเดิมถูกเปลี่ยนและเปลี่ยนมานานแล้ว แต่คนในสังคมไทยยังมองวิถีการผลิตแบบเดิมๆ อย่างกรณีพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เขาอยู่ในสังคมที่มีความสัมพันธ์ระบบเงินตราเป็นหลัก มีเซเว่นตั้งอยู่ในพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่าเขาผลิตเพื่อระบบเงินสดสร้างเงินเพื่อใช้จ่าย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน และทำให้เราต้องตระหนักว่าคนที่ทำการเกษตรหรือคนที่อยู่ในภาคการผลิตเขาอยู่ในสังคมที่ไม่แตกต่างจากเรามากนัก"

สรุปรวมความเปลี่ยนแปลงหลักๆ ของระบบการเกษตรหรือการผลิตในสังคมไทยได้ คือคนคนที่รับโทรศัพท์ พอรับเสร็จ สมมติว่า ตัดข้าวใช่ไหมครับ มีข้าวดีดที่ขึ้นมาปะปนกับพันธุ์ข้าวปกติต้องตัดออกใช่ไหม โทรไป ทีมมาตัดข้าวดีดมาเลยครับ สมัยก่อนก็ต้องเอามื้อเอาวัน นี่ไม่เอามื้อเอาวันแล้ว โทร "แก๊งค์ตัดข้าวดีดอยู่ไหน ตัดเลย" "ฉับ ฉับ ฉับ"

"มีคนพยายามเรียกว่า ผู้จัดการนาบ้าง คือหมายความว่า บัดนี้ ชาวนา เปลี่ยนไปมากแล้ว การใช้โทรศัพท์มือถือ ทั้งหมดเปลี่ยนความสัมพันธ์แล้ว เอามื้อเอาวัน ลงแขก ไม่มีแล้ว"

"นี่คือสิ่งที่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลง ระบบการผลิตเปลี่ยน หมายความว่าคนเข้าไปสัมพันธ์กับระบบตลาดมากขึ้น เราเห็นการแตกตัวของกลุ่มคน ตารางการใช้ชีวิตประจำวันของคนเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่ได้เป็นเหมือนเดิม ชาวบ้านใช้เทคโนโลยีเยอะ อย่างเช่นที่อำเภอแม่แจ่ม ระบบการผลิตทางเกษตรใช้ระบบน้ำหยด คือเรากำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิต ซึ่งผมคิดว่าเปลี่ยนมานานแล้ว แต่คนในสังคมไทยยังมองวิถีการผลิตแบบเดิมๆ อย่างกรณีพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เวลาเราคิดถึงเกษตรกร เขาอยู่ในสังคมที่มีความสัมพันธ์ระบบเงินตราเป็นหลัก เช่น มีเซเว่นตั้งอยู่ในพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่าเขาผลิตเพื่อระบบเงินสดสร้างเงินเพื่อใช้จ่าย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน ความเปลี่ยนแปลงนี้ในแง่หนึ่งทำให้เราต้องตระหนักว่าคนที่ทำการเกษตรหรือคนที่อยู่ในภาคการผลิตเขาอยู่ในสังคมที่ไม่สู้จะต่างจากเรามากนัก เพียงแค่ไม่มีเซ็นทรัลไปเปิดที่แม่แจ่มเท่านั้น"

000

สมชาย อภิปรายต่อเรื่อง การเมืองท้องถิ่นและการก่อตัวของเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นในหมู่บ้าน "นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เราอาจต้องทำความเข้าใจมากขึ้น การกระจายอำนาจในทศวรรษ 2540 การมี อบต. หรือ เทศบาลตำบล ควบคู่ไปกับระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีตั้งแต่สมัยปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คนที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็คือคนในหมู่บ้านไปสัมพันธ์กับรัฐ และเป็นตัวแทนของรัฐไปสัมพันธ์กับผู้ใหญ่บ้าน"

"การสร้างสิ่งที่เรียกว่า องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่ามีความสำคัญ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เดิมเป็นสถาบันที่ไม่มีทรัพยากรที่จะใช้กับหมู่บ้าน เช่น ผู้ใหญ่บ้านอยากขุดคลอง ผู้ใหญ่บ้านต้องระดมมา เพราะไม่มีงบประมาณก้อนใหญ่มา ไม่มีทีมงาน แต่การมี อปท. มันเปลี่ยน เพราะมันทำให้เกิดสถาบันที่มีทรัพยากรและอำนาจเพิ่มขึ้นในท้องถิ่น สิ่งนี้สำคัญ เพราะบัดนี้ชาวบ้านกำลังมองเห็นสถาบันการเมืองที่ใกล้มือตัวเอง ต่อรองได้ และเรียกร้องได้ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่่ค่อยๆ เกิดขึ้น"

"ตอนแรกของ อบต. กำนัน ผู้ใหญบ้านยังมีที่นั่งในสภาท้องถิ่นโดยตำแหน่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด พอมีระบบเลือกตั้ง บัดนี้ชาวบ้านถูกดึงเข้ามาสู่กระบวนการ การสร้างสังคมการเมือง เข้ามาสัมพันธ์กับสถาบันการเมืองที่ใกล้มือตัวเอง ต่อรองได้"

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น จะมีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 80 ขึ้น อบต. เทศบาล ทั้งไกลเมือง ใกล้เมือง เทียบกับการเลือกตั้งระดับชาติอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 คำถามคือ เราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างไร เท่าที่คุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านรู้สึกว่าองค์กรนี้สำคัญ ต่อรองได้ง่าย ถ้าเลือกคนนี้ คนนี้เราก็ไปต่อรองต่อ แต่ ส.ส. ยังไกลมือ

"ความเปลี่ยนแปลงอันหนึ่งซึ่งเริ่มเปลี่ยนมาหลายปีแล้วก็คือ อปท. ช่วงแรกๆ จะตัดถนน ขุดคลอง แต่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยน เพราะถนนเริ่มเต็มพื้นที่ หลายที่เริ่มทำสวัสดิการพื้นฐาน เช่น กองทุนออมวันละบาท ชาวบ้านออกวันละ 1 บาท เทศบาลออกสมทบ 1 บาท หลายแห่งเริ่มหันมาถึงนโยบายสวัสดิการพื้นฐาน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่ใช่แค่ตัดถนน ขุดคลอง แต่มีนโยบายด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้นเยอะ บางพื้นที่ การเกษตรยังสำคัญอยู่ อปท. ก็จะทำโครงการประเภท "ธนาคารเมล็ดพันธุ์" ทั้งหมดเรียกว่า เป็นความต้องการพื้นฐานของชาวบ้าน นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่าง อปท. กับชาวบ้าน"

นอกจากนี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้ง มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า "เครือข่ายนักการเมืองหมู่บ้าน" เช่น ในเชียงใหม่มี "กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม" เป็นเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดที่มีเครือข่ายกว้างขวาง มีกลุ่มอื่นเช่น "แม่แจ่มคุณธรรม" "สันผีเสื้อคุณธรรม" ซึ่งขออธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งท้องถิ่น เดิม อบต. เลือกตั้งในระดับหมู่บ้าน เหมือนในชั้นเรียนเราเลือกตัวแทนของห้องแต่ละห้อง แต่พอมีการเลือกแบบเทศบาล 6 ห้อง แต่เวลาลงคะแนนนับทีเดียว เขตเดียว เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งระดับหมู่บ้าน แบบ อบต. เราเลือกคนที่กว้างขวางที่สุดในหมู่บ้าน แต่เวลาเลือกตั้งระดับเทศบาล ต้องเลือกคนที่กว้างขวางที่สุดระดับเทศบาลทั้ง 6 ห้อง

"หมายความว่า พื้นที่การเลือกตั้งมันขยายใหญ่ขึ้น บัดนี้ นักการเมืองในหมู่บ้าน ต้องขยายพื้นที่ตัวเองนอกพื้นที่หมู่บ้าน เขาต้องการทักษะ และทรัพยากร ในการเลือกตั้งที่ต่างไปจากเดิม ต้องการทักษะการพูด ต้องการทรัพยากรเช่น มีรถวิ่งหาเสียง มีเบอร์ ดังนี้เครือข่ายนี้จะเริ่มเห็นหลังจาก อบต. เปลี่ยนเป็นเทศบาลตำบล คือบัดนี้ สิ่งที่เราเห็นคือ การเปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบ อบต. เป็นเทศบาล มันเปิดโอกาสให้การเมืองระดับชาติ ลงมาจับมือกับนักการเมืองหมู่บ้าน นักการเมืองหมู่บ้านต้องการทักษะ ทรัพยากรที่มากขึ้น ในขณะที่นักการเมืองระดับชาติ การขยายฐานเข้ามาในท้องถิ่นก็ช่วยสร้างประโยชน์กับนักการเมือง เครือข่ายแบบนี้จึงเกิดขึ้น"

ข้อสังเกตของสมชาย อีกประการหนึ่งคือ ในท้องถิ่นภาคเหนือ ไม่มีเครือข่ายนักการเมืองหมู่บ้านที่มีแนวโน้มจะไปสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายนักการเมืองอีกซีกได้ มีแต่สัมพันธ์กับเครือข่ายนักการเมืองพรรคเพื่อนไทย เท่าที่เห็นในตอนนี้ อีก 5-6 ปีข้างหน้า ก็คงยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ

000

นอกจากนี้ สมชายเล่าถึง ปัญหา "สองนคราในท้องถิ่น" ที่ในภาคเหนือกรณีของ จ.เชียงใหม่ มีปรากฏการณ์ของหมู่บ้านจัดสรร เกิดขึ้นกลางหมู่บ้านดั้งเดิม โดยหมู่บ้านดั้งเดิมล้อมรอบหมู่บ้านจัดสรรที่มีลูกบ้านและหลังคาเรือนน้อยกว่า ซึ่งหมู่บ้าน 2 แบบนี้ มีโครงสร้างประชากร ทั้งฐานะ อาชีพ การศึกษาที่ต่างกัน

"นี่เป็นปัญหาน่ากระอักกระอ่วนใจ โดยวิธีคิด คนในหมู่บ้านจัดสรรเข้าไม่ถึง อปท. หมู่บ้านที่ได้ไปคุยด้วย มีหมู่บ้านเดิม 7 แห่ง อีก 2 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านจัดสรร มีผู้ออกเสียงไม่กี่ร้อยคน นักการเมืองระดับหมู่บ้านคิดว่าไม่ต้องหาเสียงด้วยเลย อาศัยฐานเสียงจากหมู่บ้านดั้งเดิม กลายเป็น "ชนบทล้อมเมือง"

"นักการเมืองระดับหมู่บ้านไม่สนใจหมู่บ้านจัดสรร คนอยู่หมู่บ้านจัดสรรไม่รู้สึกว่าจะต้องพึ่งนโยบายท้องถิ่น อย่างเช่น นโยบายออมวันละบาท และมี อปท. มาสมทบอีกวันละบาทนั้น ชาวบ้านในหมู่บ้านชอบมาก แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านจัดสรรไม่สนใจ เกิดสภาวะ "หันหน้ากันคนละทาง สร้างดาวกันคนละดวง" นี่คือภาพสะท้อนของประเทศไทยด้วยหรือไม่ คล้ายๆ คนกรุงเทพฯ ที่เวลาลงคะแนน ลงคะแนนอย่างไรในระดับชาติฝ่ายเสื้อแดงก็ได้เสียงมากกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในหมู่บ้านไม่มีทหารอยู่เลยยึดอำนาจไม่ได้"

"สภาวะที่เกิดขึ้นคือ 'หันหน้ากันคนละทาง สร้างดาวกันคนละดวง' ในแง่นี้ไม่เฉพาะคนในหมู่บ้านจัดสรร คนที่เคยอยู่กับระบบเดิม เช่น ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งที่เคยอยู่ระบบกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่อยู่จนอายุ 60 เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีวาระ 4 ปีนั้น ก็บอกว่า 'ระบบเลือกตั้งทำให้หมู่บ้านแตกแยก ควรจะเลือกครั้งเดียวตลอดจนเกษียณ จึงจะดีกว่า เพราะนานๆ ทะเลาะกันดี' " ในที่นี้จึงเกิด "สองนคราในท้องถิ่น" คือนี่คือภาพที่จะเกิดขยายตัวขึ้น กว้างมากขึ้น และจะเกิดสภาวะเช่นนี้ต่อไปอีก

สมชายสรุปว่า "ชนบทใหม่คือ มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก้าวสู่ระบบตลาดมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัด และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของผู้คนกว้างขวาง มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง ได้จัดลำดับความสัมพันธ์พลเมืองตามกฎหมาย แทรกเข้าไปในระบบเครือข่ายดั้งเดิม คือหมายความว่า ระบบการเมืองแบบเดิม อาจจะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นหัวหาด แต่ตอนนี้เริ่มถูกสิ่งที่เรียกว่า ระบบแบบใหม่แทรกเข้าไป"

"สิ่งที่ผมพูดมานั้นเป็นเพียงการสรุป ซึ่งต้องการ การทำงานอีกมากเพื่อทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ มันเป็นความเปลี่ยนแปลงด้าน "โลกทัศน์-ชีวทัศน์" อาจารย์อรรถจักร์ (สัตยานุรักษ์) ใช้คำว่ามีความเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรียกว่า "Structure of feeling" คือเวลาพูดถึง แล้วไปแปลว่า "ความรู้สึก" ทำให้คนคิดไปว่าเป็นเรื่อง "รัก โลภ โกรธ หลง" ซึ่งจริงๆ อาจารย์อรรถจักร์ก็เคยบอกว่าความหมายไม่ใช่แบบนั้น ผมเลยใช้คำว่า "โลกทัศน์-ชีวทัศน์" เป็นคำโบราณของพวกฝ่ายซ้าย โลกทัศน์คือเรามองออกไปภายนอกแล้วเราอธิบายว่าอย่างไร ชีวทัศน์คือเรามองตัวเราเองแล้วเราอธิบายว่าอย่างไร"

"ผมคิดว่ามุมมองทั้งต่อชีวิตและโลกภายนอกมันเปลี่ยนแปลง แต่หมายความว่ามันเปลี่ยนหมดหรือเปล่าก็ไม่หมด มันซ้อนทับกันอยู่"

"ปิดท้ายด้วยเรื่องเล่า ผมไปคุยกับนายกเทศมนตรีเทศบาลแห่งหนึ่ง แต่เดิมเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ในยุคบ้านป่าเมืองเถื่อน ผมถามเขา ทำไมจึงมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เขาบอก "ผู้ใหญ่คนเดิมถูกยิง" แล้วพอถูกยิง ก็ไม่มีใครกล้าเป็น หมายความว่า ในตอนนั้นระบบยังกึ่งๆ บ้านป่าเมืองเถื่อน เขาก็เข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมา 2-3 ปี ขยับมาเป็นกำนันจนได้แหนบทองคำ ต่อมาระบบการปกครองเปลี่ยนเป็นมี อบต. คนนี้คือคนที่่กระโดดจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน เขารู้ว่าสถาบันการเมืองใหม่จะเป็นสถาบันการเมืองที่จะมีความหมาย จึงกระโดดมาเล่นการเมืองท้องถิ่น พอลงมาเล่นการเมืองท้องถิ่นก็สามารถอยู่มาได้ระยะยาว

เขาเคยทำนา ตอนนี้ไม่ได้ทำนาแล้วให้ลูกให้หลานทำ และตอนนี้เขามีโครงการในท้องถิ่นคือ "ชาวนาน้อย" เขาเล่าว่าเป็นเพราะ "เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักการทำนาแล้ว พ่อก็เลยไปคุยกับโรงเรียนเทศบาลทั้ง 4 โรงเรียน จับเด็กๆ มาทำนา พ่อไปสอนเลยทำนาเป็นอย่างไร ไปเดินลุยให้เห็นเลย" จากนั้นเราถามว่ายังทำนาอยู่ไหม นายกเทศมนตรีรายนี้ตอบว่าไม่ทำแล้วทำแต่เกี่ยวข้าว

จากนั้นเลยถามว่า "เกี่ยวเองหรือใช้รถไถ" นายกเทศมนตรีตอบว่า "เฮอะ ใครจะเกี่ยวด้วยมือตัวเอง เขาก็ใช้รถไถกันทั้งนั้นแหละ คือแกไม่ได้รับจ้างไถรับจ้างเกี่ยวแค่ในชุมชนเท่านั้น แต่รับจ้างเกี่ยว รับจ้างไถไปถึงเชียงราย" หมายความว่าอย่างไร ในขณะที่นายกเทศมนตรีทำโครงการ "ชาวนาน้อย"

คือถ้าเราเข้าไปในหมู่บ้าน เราจะพบว่าในแง่หนึ่งคนยังรู้สึก มีมุมมอง หรือมีโลกทัศน์ที่ไม่ได้สัมพันธ์กับตลาดมาก แต่อีกด้านหนึ่งก็สัมพันธ์กับตลาดมาก จนเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ ที่ผมไม่รู้ว่าจะเรียกว่า "ชนบทใหม่" ได้หรือไม่ คือมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ที่ไปซ้อนทับกันอยู่จนทำให้เกิดระบบแบบนี้ขึ้น ซึ่งผมคิดว่าน่าจะสนุกมาก โดยเฉพาะถ้าไปฟังเรื่องราวต่างๆ จากชาวบ้าน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท