Skip to main content
sharethis

ผลการเลือกตั้งศรีลังกา "ไมตรีพละ ศิริเสนา" อดีต รมว.สาธารณสุข เอาชนะประธานาธิบดี 2 สมัย "มหินทรา ราชปักษา" ผู้พิชิตพยัคฆ์ทมิฬอีแลม โดยผลจากการไม่ยอมปรองดองกับชาวทมิฬ-ความขัดแย้งทางศาสนา-ภาวะรัฐบาลอำนาจนิยม นำมาสู่ความพ่ายแพ้ของราชปักษา ขณะที่นักวิเคราะห์ยังไม่มั่นใจเรื่องเสถียรภาพหลังการเลือกตั้ง

ประธานาธิบดี มหินทรา ราชปักษา (แถวหน้า คนกลาง) ในการประชุม World Economic Forum ที่จอร์แดน เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2552 ทั้งนี้ภายหลัง 3 วัน จากการเสียชีวิตของเวฬุพิลัย ประภาการัน ผู้นำกองทัพพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (LTTE) ล่าสุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเขาได้ยอมรับความพ่ายแพ้ให้กับ ไมตรีพละ ศิริเสนา คู่แข่งของเขา ซึ่งเคยรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลของเขา (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

ประธานาธิบดีศรีลังกา 2 สมัย มหินทรา ราชปักษา อายุ 69 ปี ซึ่งครองอำนาจในศรีลังกานับ 10 ปี ได้ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญในทศวรรษของประเทศศรีลังกาแห่งนี้ โดยการพ่ายแพ้ของเขาได้ยุติทศวรรษแห่งการปกครองซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเริ่มกลายเป็นรัฐบาลอำนาจนิยม เต็มไปด้วยการเล่นพรรคเล่นพวกและคอร์รัปชั่น

โดยผลการเลือกตั้งเมื่อคืนนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอาวุโสซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับประธานาธิบดีราชปักษากล่าวว่า "เราไม่มีข่าวดีอะไร มีแต่ข่าวร้าย" "ผมคิดว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงและนี่คือประชาธิปไตย"

ทั้งนี้ประธานาธิบดีคนใหม่คือ ไมตรีพละ ศิริเสนา อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขในรัฐบาลของประธานาธิบดีราชปักษา ซึ่งได้สร้างความประหลาดใจ ด้วยการลงแข่งขันกับผู้นำศรีลังกาเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน

โดย สำนักข่าวการ์เดี้ยนของอังกฤษ รายงานว่า ในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงสามารถได้ยินเสียงพลุเฉลิมฉลอง ภายหลังจากที่สำนักงานประธานาธิบดีเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีราชปักษาได้พบกับคู่แข่ง และยอมรับชัยชนะของผู้ท้าชิง ทั้งนี้ไม่มีสัญญาณของการประท้วงหรือการเคลื่อนกำลังของกองทัพ ตามที่มีผู้กังวลแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ศิริเสนาได้ประกาศลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีราชปักษาประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนด โดยศิริเสนา ซึ่งมีเชื้อสายสิงหลซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังไม่ได้รับการส่งสัญญาณมาจากกลุ่มฮาร์ดไลน์ของราชปักษา โดยเฉพาะในเรื่องที่เขาเสนอให้มีการปรองดองกับคนเชื้อสายทมิฬซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของศรีลังกา

ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้งของศรีลังการะบุว่า นับคะแนนได้แล้ว 3.26 ล้านคะแนน โดยศิริเสนาได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 51.3 ส่วนราชปักษาได้รับคะแนน 46.9 ขณะที่การนับคะแนนที่เหลืออีกราว 15 ล้านคะแนน จะเสร็จสิ้นภายในเวลาเที่ยงวันนี้

สำหรับการเลือกตั้งดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางความรุนแรงกว่า 400 ร้อยครั้ง ทั้งนี้ตามที่กลุ่มสังเกตการเลือกตั้งระบุ โดยมีข้อกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งและการข่มขู่ อย่างไรก็ตาม คาดมีการคาดหมายอย่างเลวร้ายที่สุดว่าจะมีการก่อกวนสถานที่เลือกตั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้น ขณะที่ผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก

ด้านผู้ประสานงานของประธานาธิบดี วิไชยะนันทะ เฮรัท กล่าวว่า ประธานาธิบดี ราชปักษา ได้พบกับ รานิล วิกรมเมสิงเห นักการเมืองอาวุโสที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ โดย ประธานาธิบดีราชปักษาได้ยอมรับความพ่ายแพ้ และขอร้องให้เขา "เป็นผู้จัดให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น"

คาดหมายกันว่า ศิริเสนา อายุ 63 ปี จะเข้าสาบานตนในวันศุกร์นี้ (9 ม.ค.)

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 ประธานาธิบดีราชปักษาชนะเลือกตั้งท่วมท้น โดยได้รับความนิยมอย่างมากหลังจากสามารถเอาชนะสงครามกลางเมืองเหนือกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม (LTTE) และยุติสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับ 26 ปี ทั้งนี้เขามุ่งหมายที่จะดำรงตำแหน่งให้ได้สมัยที่สาม ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ด้วยวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยการตัดสินใจจัดเลือกตั้งก่อนกำหนด สะท้อนให้เห็นถึงการเสื่อมความนิยมในตัวประธานาธิบดีราชปักษา มากกว่าที่จะเป็นการส่งสัญญาณว่าเขายังแข็งแกร่งอยู่ ทั้งนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโตในศรีลังกา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนยากจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท

ทั้งนี้การคอรัปชั่นและการเล่นพวกพ้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สมาชิกครอบครัวของเขามีตำแหน่งสูงในราชการ การยืนกรานปฏิเสธการปรองดองกับชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬ และการเพิ่มสูงขึ้นของความขัดแย้งทางศาสนา ทำให้คะแนนเสียงของราชปักษาลดลง

ทั้งนี้คะแนนเสียงจากพื้นที่ซึ่งชาวทมิฬเป็นฐานเสียง โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนเหนือซึ่งเคยเป็นพื้นที่เผชิญสงครามกลางเมือง และพื้นที่ฐานเสียงของชาวมุสลิมดูเหมือนจะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่ชัยชนะของศิริเสนา

โดยจากข้อมูลแห่งหนึ่งระบุว่า อดีตฐานที่มั่นเดิมของกองทัพพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ที่คิลินอชชี ศิริเสนาได้รับเสียงสนับสนุนถึง 3 ใน 4

อย่างไรก็ตาม ศิริเสนา จะเป็นต้องทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความแตกต่างกัน ทั้งพรรคการเมืองจากกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา กลุ่มมาร์กซิสต์ พรรคขวากลาง และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งหมดนี้มีโอกาสทำให้ประธานาธิบดีราชปักษาสามารถหวนกลับมามีอำนาจได้อีก

โดยยังคงมีความกลัวว่าจะเกิดความยุ่งยากขึ้นในศรีลังกา โดยไพเคียโสที สาวารณะมุตตู จากศูนย์นโยบายทางเลือกของศรีลังกา กล่าวก่อนการเลือกตั้งว่า "วัฒนธรมของพวกเรานั้น มักจะโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net