ตั้งคำถามกับบทบาทสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

สองวันที่ผ่านมาผมรู้สึกจิตใจไม่ค่อยจะสู้ดีนักกับเหตุการณ์ที่เกิดกับกลุ่มนักข่าวและนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนศาสนาและการเมืองในปารีส เป็นความรู้สึกคล้าย ๆ กับตอนที่เกิดเหตุการณ์ 911 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2001 แต่ในช่วงเวลานั้นผมอาจจะยังเด็กไปหน่อย ความรู้สึกนั้นเลยไม่รุนแรงเท่ากับสองวันที่ผ่านมา

มันเป็นความรู้สึกของการถูกละเมิดสิทธิ์ขั้นรุนแรงและเป็นความรู้สึกที่เชื่อมโยงผ่านความเป็นมนุษย์โดยที่เราไม่รู้จักกัน เป็นความเชื่อมโยงผ่านคุณค่าขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ถูกสั่นสะเทือนจากการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ มีเพื่อนร่วมโลกมากมายที่รู้สึกเช่นเดียวกัน เสรีภาพของการแสดงออกเสรีภาพของสื่อเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่ควรมีใครมาพรากไปด้วยปลายกระบอกปืนเช่นนี้

แต่แน่นอนว่า ในหลายสังคมเช่น สังคมไทย ผมได้รับรู้ถึงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อบางสำนัก (เช่นทีมไทยบันเทิงของไทยพีบีเอสที่ผมจะพูดถึงในบทความนี้) ว่าเป็นสังคมที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากนัก ซึ่งเราอาจจะมองย้อนกลับไปที่ดูระบบการศึกษาที่ล้มเหลวของไทยที่ไม่ได้เน้นให้เราเป็นปัจเจกบุคคล ไม่มุ่งเน้นให้เรากล้าแสดงความคิดเห็น เป็นตัวของตัวเองและที่สำคัญ ไม่เห็นความสำคัญของเสรีภาพของผู้อื่นในสังคม

ความคิดเห็นของคนไทยหลาย ๆ คนต่อเรื่องนี้คือ “สมควรตายแล้วไม่ควรล้อเล่นกับศรัทธา” “เสรีภาพควรมีขอบเขต” “ปลาหมอตายเพราะปาก” เป็นต้น เสมือนกับว่าสิ่งที่เหล่านักข่าวและนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนศาสนาเหล่านั้นทำ เป็นความผิดมหันต์และต้องโทษประหารชีวิตอย่างไร้ความปราณี ซึ่งความคิดเห็นเหล่านี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลที่เกิดมาจากหลายปัจจัยแวดล้อมและเกิดจากระบบการศึกษาของไทยซึ่งไม่ได้สอนให้คนเป็นมนุษย์ได้ด้วยตนเอง แต่มักต้องพึ่งพิงอะไรบางอย่างที่อยู่เหนือเราไปและมักจะตกทอดมาจากสังคมของชนชั้นนำเช่น อำนาจบางประเภท พุทธศาสนาและระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น

แต่ในที่สุด ผมก็ได้อ่านความคิดเห็นของสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสที่โพสในเฟสบุ๊กเมื่อวาน โดยมีปกของนิตยสาร Charlie Hebdo พร้อมกับความเห็นของคนเขียนสกู๊ปว่า

“การโจมตีหนังสือพิมพ์แนวล้อเลียนของฝรั่งเศส นำไปสู่การเสียชีวิตของเหยื่อถึง 12 คน กระตุ้นให้ผู้คนออกมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการนำความเชื่อส่วนบุคคลอย่างสัญลักษณ์ทางศาสนามาเป็นประเด็นในการล้อเลียน”

ซึ่งความเห็นดังกล่าวค่อนข้างที่จะทำให้ผมโกรธมากทีเดียว เนื่องจากสิ่งที่บรรณาธิการข่าวไทยบันเทิงซึ่งควรต้องรับผิดชอบต่อการโพสข้อความของเฟสบุ๊กนี้ขาดความเข้าใจในบทบาทและสิทธิขั้นพื้นฐานในการตั้งคำถามที่สื่อมวลชนพึงมีและนี่ไม่ใช่สื่อมวลชนเอกชนทั่วไปแต่เป็นสื่อที่กินเงินภาษีประชาชนอย่างมหาศาล เป็นความหวังของประชาชนและภาคประชาสังคมที่จะให้สื่อมวลชนสำนักนี้ตั้งคำถามต่อสังคมและเป็น “watchdog” รวมไปถึงร่วมสนับสนุนการพัฒนาทางปัญญาของสังคมอีกด้วย

แต่บทบาทดังกล่าวของทีมงานจากไทยพีบีเอสล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและเป็นที่น่าอับอายต่อทีมงานบริหารองค์กรและเครือข่ายอย่างมาก พวกเขาขาดความเข้าใจว่า เสรีภาพสื่อและหลักการตามครรลองประชาธิปไตยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สื่อมวลชนพึงมี มิใช่สิ่งที่ต้องมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสมอย่างที่ไทยพีบีเอสเสนอ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือการเมืองซึ่งเปรียบเสมือนสถาบันแห่งอำนาจในสังคมนั้น ควรต้องได้รับการตั้งคำถามและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ และการตั้งคำถามของ Charlie Hebdo เป็นการตั้งคำถามผ่านการ์ตูนล้อเลียนที่เฉียบคมพร้อมไปด้วยอารมณ์ขัน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่สมควรที่จะต้องได้รับการพิพากษาจากกลุ่มหัวรุนแรงในรูปแบบนี้

ทั้งนี้ นาย Stéphane Charbonnier หรือ Charb ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหารของ Charlie Hebdo เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศส Le Monde ว่า เขาพร้อมยอมตายในขณะที่ยืนอยู่บนหลักการและเสรีภาพในการแสดงคิดเห็นดีกว่าที่จะยอมคุกเข่าจำนนต่อการคุกคามจากผู้ก่อการร้าย และแน่นอนว่า ถึงแม้ Charb จะยืนอยู่ได้อย่างทุลักทุเลมากในภาวะที่สังคมบีบบังคับด้านต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นการที่สำนักงานถูกระเบิด บริษัทต้องประสบกับภาวะทางการเงิน จนในที่สุดเขาและเพื่อนร่วมทีมต้องมาถูกสังหารโหด

หลายคนในสังคมไทยรวมทั้งไทยพีบีเอสเองอาจจะมองว่า การกระทำดังกล่าวโง่เขลาและไม่คุ้มค่า แต่เราอาจจะลืมไปว่าสิ่งที่สื่อฝรั่งเศสมีแต่ยังขาดอยู่มากในคนไทยและสื่อมวลชนไทย คือ สิ่งที่เรียกว่า กระดูกสันหลัง – เป็นความกล้าหาญที่จะยืนหยัดในหลักการและปกป้องหลักการของวิชาชีพด้วยหน้าที่อย่างสุดความสามารถพร้อมกับยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อหลักการเดียวกันเพื่อเพื่อนร่วมสังคม ถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของเขาก็ตาม

เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมเติบโตทางความคิดได้ ทำให้อำนาจถูกท้าทายและตรวจสอบได้ และเป็นการป้องกันการนำเอาสถาบันทางสังคมมาเป็นหน้ากากกำบังหรือเป็นข้ออ้างในการกระทำสิ่งต่างๆ โดยมิชอบโดยใช้ข้ออ้างของความศรัทธา ความเชื่อส่วนบุคคล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คนไทยมักชอบอ้างกัน

สิ่งที่ไทยพีบีเอสทำในกรณีนี้ จึงเป็นการตั้งคำถามกับเสรีภาพของมนุษย์แทนที่จะเป็นการตั้งคำถามต่ออำนาจที่คุกคามเสรีภาพดังกล่าว ซึ่งถือว่า เป็นเรื่องน่าละอาย ล้มเหลว และควรค่าแก่การพิจารณาตนเองเป็นอย่างสูง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท