Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ยกย่องคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่าเป็นเชอร์ชิล ผมไม่ทราบว่าท่านรู้จักเชอร์ชิลแค่ไหน ท่านอาจไม่รู้จักมากไปกว่าผู้นำที่พาอังกฤษไปสู่ชัยชนะ ในยามที่อังกฤษอยู่ในฐานะที่แทบจะอับจนที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือท่านรู้จักเชอร์ชิลดีเสียจนเมื่อยกย่องคุณอภิสิทธิ์ ท่านซ่อมยิ้มไว้ในปากก็ได้

แทบจะหาอะไรที่เป็นอภิสิทธิ์มาเทียบว่าเหมือนเชอร์ชิลไม่ได้เลย เชอร์ชิลเป็นนักการเมืองที่เล่นการเมืองในพรรคไม่เป็นเลย จึงต้องย้ายพรรค และความสามารถทางการเมืองของเชอร์ชิลมาปรากฏก็ต่อเมื่อเขาเป็นหัวหน้าของรัฐบาลแห่งชาติในระหว่างสงคราม คือรัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองทุกพรรค ในทางตรงกันข้าม คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเล่นการเมืองพรรคได้เก่ง จากสมาชิกคนหนึ่ง ภายในระยะเวลาเพียงสิบปีกว่า ก็ไต่เต้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี หัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์รู้ว่าจะสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์กับใครและกลุ่มไหนในพรรค ควรดื้อกับใครและหงอกับใคร แม้มีปากคมกริบอย่างเดียวกับที่เชอร์ชิลมี แต่คุณอภิสิทธิ์รู้ว่าจะใช้วาทะของตนเชือดใคร และไม่เชือดใคร ในขณะที่เชอร์ชิลปล่อยวาทะอันคมกริบออกมาอย่างแทบไม่เลือกหน้า

ในยามวิกฤตของชาติ เชอร์ชิลใช้วาทศิลป์ของตนเพื่อปลุกคนอังกฤษที่กำลังจะสิ้นหวังในสงคราม ให้กอดคอกันอดทนฟันฝ่าความยากลำบากนานัปการ จนนำไปสู่ชัยชนะ แต่ในยามวิกฤต คุณอภิสิทธิ์ใช้วาทศิลป์ของตนสร้างความรังเกียจเดียดฉันท์ระหว่างคนในชาติ แบ่งแยกคนที่แตกแยกกันอยู่แล้วให้จงเกลียดจงชังกันมากขึ้น จนในที่สุดก็นำไปสู่การใช้กำลังเข้าล้อมปราบสังหารโหดกลางเมือง ซึ่งไม่นำชัยชนะให้แก่ฝ่ายใดเลย นอกจากความพ่ายแพ้ย่อยยับแก่ประเทศไทย

ทั้งคู่เป็นนักแสดง แต่เชอร์ชิลคือนักแสดงที่เชี่ยวชาญเป็นเลิศ และเหมือนนักแสดงระดับนี้ทั่วไป คือตัวละครสวมทับตัวตนจริงไปจนสิ้นเชิง ในขณะที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนักแสดงหัดใหม่ แม้ทำได้ตามบททุกประการ แต่ตัวตนจริงกลับสวมทับตัวละครไปจนสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่คุณอภิสิทธิ์และเชอร์ชิลเหมือนกัน นั่นคือทั้งคุณอภิสิทธิ์และเชอร์ชิลต่างเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงที่สังคมไทยและสังคมอังกฤษกำลังเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ทั้งคุณอภิสิทธิ์และเชอร์ชิลต่างรับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นอยู่ข้างหน้าเหมือนกัน ทำให้ทั้งคุณอภิสิทธิ์และเชอร์ชิลถูกมวลชนชาวไทยและอังกฤษปฏิเสธในการเลือกตั้งทั้งคู่ ความต่างอยู่ที่ว่าเชอร์ชิลยอมรับการปฏิเสธของประชาชนอย่างเงียบสงบ ต่อสู้ทางการเมืองในระบอบรัฐสภาต่อไป จนได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ยอมรับการปฏิเสธของผู้เลือกตั้ง หันไปสนับสนุนการเมืองนอกระบอบรัฐสภา ทั้งการป่วนสภาและการร่วมกับม็อบกลางถนน จนในที่สุดระบอบรัฐสภาก็ถูกโค่นล้มลงด้วยการรัฐประหาร และเป็นไปได้อย่างมากว่า คุณอภิสิทธิ์คงไม่มีวันกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกเลย แม้คณะรัฐประหารอาจมีเป้าหมายทางการเมืองเดียวกับคุณอภิสิทธิ์ คือหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยให้ได้เหมือนกันก็ตาม

ถ้าพลเอกเปรมก็รู้ถึงความเหมือนข้อนี้ ท่านคงยกย่องคุณอภิสิทธิ์ด้วยรอยยิ้มที่ซ่อนไว้ตามไรฟัน

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เมื่อสงครามในยุโรปสิ้นสุดลง อังกฤษได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่าพรรคแรงงานชนะพรรคอนุรักษ์นิยมของเชอร์ชิลอย่างท่วมท้น นำความประหลาดใจแก่คนทั่วโลก แม้แต่สหภาพแรงงานและตัวแอตลีซึ่งจะเป็นนายกฯ คนต่อมาก็ตะลึงงันไปกับการตัดสินใจของคนอังกฤษไปด้วย ในเมืองไทย มักอธิบายชัยชนะของแอตลีเหนือเชอร์ชิลครั้งนี้ว่า เป็นเพราะคนอังกฤษเบื่อหน่ายกับสภาวะบีบคั้น (ไม่เฉพาะแต่เศรษฐกิจ แต่รวมถึงการเมืองและสังคมด้วย) ของสงคราม จึงไม่เลือกเชอร์ชิลกลับมาอีก

แต่ตรงกันข้าม เชอร์ชิลหาเสียงว่า เมื่อสิ้นสงครามแล้ว ก็ถึงเวลาจะกลับมาชื่นชมเสรีภาพตามแบบอังกฤษกันต่อไป และสังคมนิยมของพรรคแรงงานคือการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะทำลายเสรีภาพท่ามกลางแสงแดดอันอบอุ่นของอังกฤษไปอย่างแน่นอน แอตลีต่างหากที่บอกคนอังกฤษว่า เราชนะสงครามมาได้ก็เพราะทุกคนยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นเพื่อทำให้อังกฤษมีความเป็นธรรมและกระจายความผาสุกแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม เหตุใดเราจึงต้องหันไปยึดถือผลประโยชน์ส่วนตนของนายทุนกันต่อไปเล่า

ใช่แล้ว คนอังกฤษพร้อมจะทนแรงบีบคั้นทางการเมืองและสังคมต่อไป เพื่อเอาชนะสงครามครั้งใหม่อันไม่ใช่สงครามกับอริราชศัตรู แต่เป็นสงครามที่จะสร้างความเป็นธรรมแก่คนส่วนใหญ่ “เสรีภาพ”แบบอังกฤษไม่มีความหมาย หากจำกัดไว้เฉพาะคนชั้นสูงจำนวนน้อยเท่านั้น ในระหว่างสงครามแฮโรลด์ ลาสกี นักวิชาการสายมาร์กซิสต์ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน กล่าวปาฐกถาว่า คนเพียง 1% ในอังกฤษครอบครองทรัพย์สินไว้ถึง 50% และมีนายทหารในกองทัพเพียง 1% เท่านั้นที่มาจากชนชั้นแรงงาน (เท่ากับว่ากองทัพอังกฤษที่รบกับเยอรมันอยู่นั้น คือกองทัพศักดินาที่เกณฑ์ไพร่ไปรบต่างแดนเท่านั้น)

การต่อสู้ของชนชั้นล่าง เพื่อได้รับสิทธิเสมอภาคเท่ากับชนชั้นสูงและกระฎุมพี ดำเนินสืบเนื่องมาเกือบศตวรรษแล้ว กล่าวคือหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่นาน ประสบชัยชนะในหลายด้านโดยเฉพาะด้านการเมือง แต่ก็ชะงักงันไม่ก้าวต่อไป ไม่อาจทะลายกำแพงขวางกั้นทางสังคมและฐานะทางเศรษฐกิจ ที่จะเข้าถึงบริการทางการศึกษา, การรักษาพยาบาล, ความก้าวหน้าในอาชีพการงานอย่างที่กระฎุมพีสามารถทำได้ ฯลฯ ความรู้สึกขัดเคืองต่อความเหลื่อมล้ำเช่นนี้ เชอร์ชิลไม่รู้สึก แต่คนชั้นล่างรู้สึกอย่างแหลมคมมากขึ้น

เพราะในระหว่างสงคราม อังกฤษลงทุนด้านการศึกษาของทหารอย่างมาก มีวารสาร, การอบรม, หรือแม้แต่การเสวนา, ฉายภาพยนตร์, ฯลฯ ให้แก่ทหารได้ชมและร่วมอย่างกว้างขวาง ด้วยฐานความรู้ที่แน่นขึ้นเช่นนี้ สิ่งที่ฝ่ายสังคมนิยมพยายามนำเสนอมานานจึงเป็นที่เข้าใจมากขึ้น ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งในอังกฤษ มีนักข่าวที่ไปอยู่ร่วมกับกองทหารอังกฤษในยุโรปบางแห่ง รายงานว่า ความนิยมต่อพรรคการเมืองเกือบจะแบ่งกันเด็ดขาดระหว่างชนชั้น กล่าวคือพลทหารเกือบทั้งหมดเลือกพรรคแรงงาน และนายทหารเกือบทั้งหมดเลือกพรรคอนุรักษ์นิยม

อันที่จริงไม่เฉพาะแต่อังกฤษเท่านั้นที่กระแสสังคมนิยมเฟื่องฟูขึ้นเมื่อสิ้นสงคราม อาจกล่าวได้ว่ากระจายทั่วไปในยุโรปตะวันตกและกลางเลยทีเดียว ยิ่งกว่านั้นกลุ่มใต้ดินต่อต้านนาซีระหว่างสงคราม ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ พวกนี้กลายเป็นวีรบุรุษและมีอิทธิพลทางการเมืองมาก แม้แต่ผู้นำที่ไม่ชอบสังคมนิยม (เช่นเดอโกลล์) ก็ต้องโอนอ่อนผ่อนตามบางนโยบาย

หลังสงครามซึ่งนำความพินาศย่อยยับอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนแก่ยุโรป ใครๆ ต่างคิดถึง”โลกใหม่” โลกที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูสังคมเก่ากลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นโลกแห่งความใฝ่ฝันของมนุษย์มาเนิ่นนาน นั่นคือโลกที่ความไพบูลย์ทางวัตถุได้รับการแบ่งปันแก่ทุกคน โลกที่ทุกคนเข้าถึงเวลาว่างได้เหมือนๆ กัน โลกที่มนุษย์ไม่มีฐานะสูงต่ำเพียงเพราะถูกแบ่งหน้าที่ไว้ต่างๆ กันเพื่อประโยชน์โดยรวมของทุกคน

ในระยะแรกเมื่อสิ้นสงคราม รัฐบาลในดินแดนแถบนี้ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือเฉพาะกิจ ล้วนเอนเอียงไปทางสังคมนิยมทั้งสิ้น โดยเฉพาะในยุโรปกลาง ก่อนที่สตาลินจะเชิญไปปรับทัศนคติที่มอสโคว์แล้วหายสาบสูญไป แม้กระนั้นนโยบายสังคมนิยมที่พยายามสร้างทรัพยากรสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน ก็กลายเป็นนโยบายของทุกรัฐบาลในยุโรปตะวันตกสืบมาอีกนาน แม้ว่าในการเลือกตั้งพรรคสายกลาง (เช่นคริสเตียนเดโมแครต) หรือพรรคฝ่ายขวาอาจชนะการเลือกตั้ง นโยบายสังคมนิยมก็ยังอยู่และอาจเฟื่องฟูมากขึ้นด้วยซ้ำ (ไม่ต่างจากนโยบายจำนำข้าว, กองทุนหมู่บ้าน, โอท็อป, และ 30 บาทรักษาทุกโรค ในเมืองไทย) เช่นวินสตัน เชอร์ชิลซึ่งกลับมาเป็นนายกฯ ใหม่อีกครั้ง ใช้งบสร้างบ้านเอื้ออาทรมากกว่าแอตลีด้วยซ้ำ

อังกฤษ(และอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันตก)สามารถเปลี่ยนผ่านมาสู่สังคมที่เป็นธรรมมากขึ้นได้ โดยไม่ต้องหันไปสมาทานลัทธิคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำอย่างเผด็จการของสตาลิน, โดยไม่ต้องจับอาวุธขึ้นมาประหัตประหารกัน และโดยไม่ต้องยุติประชาธิปไตยเพื่อเปิดโอกาสให้กองทัพใช้ปฏิรูปเป็นข้ออ้าง ในทุกวันนี้ แม้แทบไม่มีรัฐบาลสังคมนิยมเหลืออยู่ในยุโรปตะวันตกอีกแล้ว แต่เกือบทุกประเทศได้เปลี่ยนผ่านมาสู่สังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น หากเปรียบกับสภาพเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็แทบจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือไปเลย

เช่นเดียวกับยุโรปเมื่อก่อนสงคราม ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศไทยเข้ามายืนในจุดที่ต้องมีการเปลี่ยนผ่านทางสังคมครั้งใหญ่ การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้อาจไม่แรงเท่ากับอังกฤษและยุโรปหลังสงคราม แต่อย่างไรก็ต้องกระทบถึงอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูงและกระฎุมพีระดับกลางไปถึงสูงอย่างปฏิเสธไม่ได้ จึงทำให้คนกลุ่มนี้ไม่พอใจและอยากหยุดพัฒนาการทางสังคมและการเมืองของไทยไว้ที่เดิม นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่ความชั่วร้ายพิเศษของชนชั้นสูงและกระฎุมพีไทย เพราะชนชั้นสูงและกระฎุมพียุโรปก็ต้องการอย่างเดียวกัน

แต่ในยุโรปความพยายามนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้ ตราบเท่าที่พวกเขายังต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ (ด้วยเหตุใดก็ตามที) เพราะพวกเขาย่อมเป็นคนส่วนน้อยในทุกสังคม ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านจึงดำเนินไปอย่างราบรื่น... ราบรื่นพอที่หากไม่สิ้นคิด ชนชั้นสูงและกระฎุมพีก็ยังสามารถรักษาอภิสิทธิ์ไว้ได้ไม่น้อย ภายใต้ประชาธิปไตย
 

แต่ในเมืองไทย ชนชั้นสูงและกระฎุมพีผนึกอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไว้แน่นหนาเสียจน มวลชนระดับล่างแทบไม่มีอำนาจต่อรองเหลืออยู่เลย ตัวแทนทางการเมืองของพวกเขาคือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เลือกที่จะทิ้งระบอบรัฐสภามาก่อนรัฐประหารแล้ว (เมื่อดูบทบาทของพรรคปชป.ในสภาและท้องถนน) เพราะหากมีการเลือกตั้ง ก็ปฏิเสธการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยเข้าสู่ยุคใหม่ไม่ได้ (แต่ชนชั้นสูงและกระฎุมพีไทยไปไกลกว่านั้น คือต้องยุติประชาธิปไตยไว้โดยสิ้นเชิง จึงนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค.)

เชอร์ชิลและคุณอภิสิทธิ์เหมือนกันที่ ในทางการเมือง ต้องหยุดการเปลี่ยนผ่านของสังคมให้ได้ ทั้งคู่เป็นตัวแทนของพลังอนุรักษ์นิยมในระบอบรัฐสภา ซึ่งในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่พลังที่จะนำสังคมไปสู่การเปลี่ยนผ่านในการเลือกตั้ง (อย่างยับเยินทั้งคู่) แต่ทั้งสองคนเลือกเดินคนละทางหลังความปราชัยย่อยยับในการเลือกตั้ง เชอร์ชิลยังยึดมั่นในระบอบรัฐสภา และรอเวลาที่จะเอาชนะในการเลือกตั้งวันหน้า คุณอภิสิทธิ์ใช้ความสามารถของตนและพรรคพวก ช่วยกันบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของระบอบรัฐสภาลงเสีย

ในด้านส่วนตัว ใครเลือกอะไรและได้ผลได้หรือผลเสียอย่างไร เป็นเรื่องของเขา แต่สิ่งที่น่าวิตกแก่คนไทยทั่วไปที่รู้คิดก็คือ ยังเหลือโอกาสที่สังคมไทยจะสามารถเปลี่ยนผ่านโดยราบรื่นอย่างในอังกฤษหรือยุโรปอีกหรือไม่ เมื่อระบอบประชาธิปไตยถูกระงับไว้ ไม่เฉพาะแต่ชั่วคราวเท่านั้น แต่มีความพยายามจะระงับไว้ตลอดไปในการตระเตรียมระบอบเผด็จการซ่อนรูปในอนาคตด้วย

การเปลี่ยนผ่านทางสังคมไม่ว่าที่ไหนไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ สงครามล้างผลาญย่อยยับที่เกิดขึ้นคงมีส่วนอยู่บ้าง ในอันที่จะทำให้อังกฤษและยุโรปตะวันตกก้าวข้ามไปได้อย่างราบรื่นพอสมควร แต่ไทยไม่ต้องเผชิญสงครามล้างผลาญเช่นนั้น

เมื่อก่อนรัฐประหาร หลายคนแสดงความวิตกว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ผมเป็นคนหนึ่งที่แสดงความไม่เห็นด้วยตลอดมา แต่บัดนี้ ผมอาจเป็นคนเดียวที่กำลังวิตกว่า การเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยข้างหน้า อาจถึงต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเสียแล้ว.
 

000

หมายเหตุ: กอง บก. ขออภัยในความผิดพลาด กอง บก. ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า พล.อ.เปรม ได้เทียบ พล.อ.สุรยุทธิ์ กับวินสตัน เชอร์ชิล มิใช่เทียบกับอภิสิทธิ์ และได้ประสานท้วงติงกับผู้เขียนแล้ว และเห็นร่วมกันว่า ให้บันทึกหมายเหตุมาเพื่อประกอบในบทความนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net