Skip to main content
sharethis

หลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยบางส่วนเข้าไปจี้ถามประเด็นการให้สถานะผู้ลี้ภัย เอกภพ หรือ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘UNHCRThailand’ ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย  รวมทั้งประกาศตัดเงินบริจาค จะถึงขู่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ของ UNHCR ที่เข้ารับการขอบริจาค (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุดวันนี้ (13 ม.ค.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าวได้แล้ว

หลังจากมีข่าวการปิดตัวของเพจ UNHCRThailand เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘V For Thailand’ ได้โพสต์ประกาศความสำเร็จว่า “อย่าดูถูกคนไทย” พร้อมชักชวนผู้ใช้เฟซบุ๊ก กดดัน UNHCR ให้ออกไปจากผืนแผ่นดินไทย ด้วย

โดยก่อนหน้านั้นเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘V For Thailand’ ได้โพสต์เชิญชวนให้ ยกเลิกการบริจาคเงินเข้า UNHCR ด้วย พร้อมเผยแพร่ช่องทางการยุติการบริจาคดังกล่าวด้วย

จากการตรวจสอบยังพบเฟซบุ๊กแฟนเพจที่มีชื่อ ‘Unhcr Thailand’ มีผู้กดถูกใจประมาณ 200 กว่าบัญชี โดยไม่มีการโพสต์เนื้อหาอะไรในเพจ แต่พบผู้เข้าไปโพสต์ด่าทอองค์กร UNHCR ด้วย

สำหรับการดำเนินงานของ UNHCR ในประเทศไทย ในเว็บไซต์ ระบุถึง ข้อเท็จจริงเบื้องต้น ว่า รัฐบาลไทยได้เชิญยูเอ็นเอชซีอาร์เข้าร่วมดำเนินงานในประเทศในปี พ.ศ. 2518 เมื่อผู้ลี้ภัยจำนวนหลายแสนคนจากกัมพูชา ลาว และเวียดนามหลั่งไหลเข้ามายังประเทศไทย เหตุการณ์นั้นถูกเรียกกันว่า วิกฤติผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ผู้ลี้ภัยจำนวนมากกว่า 1,300,000 คนได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปี

ในวันนี้มีผู้ลี้ภัยที่ได้รับการลงทะเบียนแล้วราว 95,000 คนและผู้ขอลี้ภัยอีกราว 9,000 คนในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยจากพม่า ส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่ากะเหรี่ยงแดง พวกเขาพักอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวจำนวนเก้าแห่งในสี่จังหวัดชายแดนไทย-พม่า รัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการในค่ายทุกแห่ง โดยได้รับความช่วยเหลือเกือบทั้งหมดจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ในขณะที่ยูเอ็นเอชซีอาร์มุ่งเน้นในเรื่องการให้ความคุ้มครองและโครงการดำเนินงานที่ทำให้แน่ใจได้ว่าผู้ลี้ภัยมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและได้รับการรักษาความปลอดภัยพอสมควรภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net