Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นคนจุดพลุว่า เศรษฐกิจประเทศไทยจะก้าวหน้าต่อไปต้องเน้นเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล แม้ไม่มีนิยามที่ชัดเจน แต่พอเข้าใจได้ว่าเป็นเศรษฐกิจที่การผลิต การซื้อ การขาย และการบริการ ต้องเชื่อมโยงกับการสื่อสารสมัยใหม่ที่ผ่านเว็บไซต์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง

คำถามคือ จะลงทุนส่งเสริมเพื่อใคร ชนกลุ่มใด ซึ่งความจริงแม้เศรษฐกิจธรรมดาโดยรวมก็ถูกตั้งคำถามนี้เช่นกัน

อย่างยุคที่เราเริ่มพัฒนาใหม่ๆมีคำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” คำถามนี้ไม่มีหรือไม่มีความสำคัญ เพราะทุกฝ่าย ทุกอาชีพ ขาดแคลนเหมือนกันหมด ทุกคนพอใจที่ได้ประโยชน์ ทรัพยากรที่จะนำมาใช้ก็มีเหลือเฟือ ไม่ต้องแย่งกัน แต่ปัจจุบันไม่ใช่ แม้ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ยังแย่งกัน เช่น เจ้าของเครือโรงแรมดุสิตธานีท้วงติงว่าค่าเช่าโรงแรมในไทยถูกเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ แต่ลืมไปว่าเพราะค่าที่พักถูกนี่เองที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีเงินเหลือมาซื้อสินค้าที่ระลึก จ่ายค่าอาหาร และค่าเข้าชมต่างๆ

เมื่อรัฐบาลประกาศจะส่งเสริมนาโนไฟแนนซ์คือ จะอนุญาตให้เอกชนตั้งบริษัทมาให้กู้กับชาวบ้านรายย่อย โดยไม่ให้ผู้ประกอบการรับเงินฝาก คือปล่อยกู้จากเงินของตนเอง ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นิติบุคคลที่จะขอใบอนุญาตต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท) เหตุผลหลักเพราะผู้กู้เสียดอกเบี้ยแพงเกินไป จากการศึกษาเสนอรัฐบาลระบุว่าสูงถึง 200-300% ทั้งยังมีการทวงหนี้ด้วยวิธีโหดร้ายอีกด้วย

การที่รัฐออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้กู้นั้นมีมา 30 กว่าปีก่อนเศรษฐกิจฟองสบู่แตก โดยบรรดาเศรษฐีได้จัดตั้งบริษัทจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์แล้วดำเนินธุรกิจรับฝากเงินและปล่อยกู้ บางรายเหมือนนกรู้ว่าต่อไปรัฐจะควบคุมก็ไปตั้งบริษัทไว้ก่อน ต่อมารัฐบาลก็กำหนดว่าธุรกิจนี้ต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องมีชื่อขึ้นต้นว่าบริษัทเงินทุน หรือบริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์

ผลก็คือ ใบอนุญาตมีราคาซื้อขายกันใบละหลายสิบล้านบาท จนเมื่อฟองสบู่แตกบริษัทเหล่านี้ถูกปิดไป ครั้งนี้รัฐบาลมีความเห็นว่าควรมีทุนเริ่มต้นอย่างต่ำ 50 ล้านบาท และจะให้นายทุนใหญ่ เช่น ซี.พี. และเซเว่นอีเลฟเว่น มาดำเนินการ ซึ่งกรณีนี้มีข้อคิด 2 ประการคือ

หนึ่ง ธุรกิจให้กู้นอกระบบด้วยเงินของผู้ให้กู้มีมานานแล้ว และมีการบริหารจัดการตามวิถีทางของพวกเขา หากสังเกตจะเห็นว่าประกาศที่ติดตามเสาไฟฟ้าหรือย่านชุมชนจะมีป้ายบริการเงินด่วนให้เห็นมานานร่วม 30 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีนามบัตรมาเสียบตามประตูบ้านหรืออาคารพาณิชย์ เขียนว่าอนุมัติง่าย 5,000-200,000 บาทบ้าง รับปรึกษาและบริการเงินทุนบ้าง ลักษณะนี้หมายความว่ามีผู้ประกอบการและลูกค้ามานานแล้ว

การแข่งขันระหว่างผู้ให้กู้ก็มีสูง ผู้กู้มีตั้งแต่ผู้หาเช้ากินค่ำจนคนชั้นกลาง ส่วนการเก็บเงินกู้มีทั้งผู้ให้กู้เดินเก็บเองและจ้างวินมอเตอร์ไซค์เก็บ ผู้ทำการศึกษาระบุว่า ดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 200-300% ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าห้ามเกิน 36%

ถ้ามองตามสภาพความเป็นจริง การปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์หากินได้สะดวกสบายกว่า เพราะคิดดอกเบี้ยเพียง 12% ต่อปี แต่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและเกินวงเงินไม่ได้ เวลาเก็บดอกเบี้ยและเงินต้นก็สะดวกสบายกว่ามาก ขณะที่การปล่อยเงินกู้นอกระบบไม่มีหลักประกันและต้องเก็บเงินรายวัน ดอกเบี้ย 36% จึงสู้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้

ดังนั้น ก่อนที่รัฐจะให้มหาเศรษฐีทำหรือกำหนดหลักเกณฑ์จึงควรพูดคุยกับผู้ประกอบการนอกระบบด้วย เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่ามีการแข่งขันของผู้ประกอบการนอกระบบ จะทำอย่างไรให้มาดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และรัฐบาลต้องคำนึงถึงผู้กู้ด้วย หากกู้เพราะติดหนี้พนันบอลก็ควรหามาตรการกวาดล้างแหล่งพนันจึงจะเหมาะสมกว่า

นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐคือ สถานธนานุบาลและสถานธนานุเคราะห์ที่ทำหน้าที่ปล่อยกู้รายย่อยแบบโรงรับจำนำอยู่แล้วควรมีส่วนเข้าไปร่วมด้วย ซึ่งก่อนยุคฟองสบู่แตกก็มีใบอนุญาตให้มีบริษัทเงินทุน เมื่อรัฐจะทำเองก็มีสิทธิล้มได้เช่นกัน

รัฐบาลที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอจัดทำเว็บไซต์ให้จองโรงแรม ซึ่งดูเหมือนว่ากลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่จะไม่เห็นด้วย และเรื่องก็เงียบหายไป กรณีนี้ถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งในอดีตและปัจจุบันเครือข่ายโรงแรมขนาดใหญ่ในต่างประเทศที่เข้ามาใช้บริการก็คิดค่าธรรมเนียมจากยอดรายได้การเข้าพัก ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน แต่ปัจจุบันโรงแรมของไทยมีความสามารถบริหารเอง และด้วยความก้าวหน้าด้านเว็บไซต์และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวก็นิยมจองผ่านเว็บไซต์มากขึ้น มีเว็บไซต์ให้บริการจองห้องพักเปิดบริการมากมาย ซึ่งทางโรงแรมหรือรีสอร์ตต้องเสียค่าธรรมเนียมในอัตรา 10-15% อย่างผู้ประกอบการโรงแรมที่เกาะสมุยเสียค่าธรรมเนียมเดือนละร่วม 200 ล้านบาท แม้โรงแรมทั่วไปก็มีการทำตลาดผ่านเว็บไซต์เองก็ตาม

เรื่องของธุรกิจเป็นธรรมดาที่จะมีความขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์ อย่างโรงแรมขนาดใหญ่ในประเทศไม่ค่อยชอบ เพราะเว็บไซต์เหล่านี้ช่วยทำการตลาดให้โรงแรมขนาดเล็กและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ แต่เว็บไซต์ที่ให้จองห้องพักโรงแรมระดับประเทศล้วนเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียม

ดังนั้น ถ้าภาครัฐจะส่งเสริมหรือจัดทำเว็บไซต์ขึ้นเองก็ต้องฟังเสียงโรงแรมขนาดเล็กและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ด้วย ไม่ใช่ฟังแต่โรงแรมขนาดใหญ่ ซึ่งในอนาคตก็ต้องมีเว็บไซต์จองตั๋วรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อประเทศต่างๆเช่นกัน

การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การสร้างรถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ และการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเว็บไซต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิตอลที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นรูปแบบการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

รัฐบาลจึงต้องวางแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ใช่มองแค่กลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้น อย่างการออกกฎหมายภาษีมรดกและภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่ต้องผลักดันให้ได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แล้วยังทำให้ทรัพย์สินและทรัพยากรของประเทศไม่ไปกองนิ่งอยู่เฉยๆ เหมือนน้ำที่ไร้ประโยชน์ก็จะกลายเป็นน้ำเน่าในที่สุดนั่นเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net