Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เราได้ยินแต่เสียงของเพื่อนบ้านประเทศท้ายน้ำเขื่อนดอนสะโฮงคือ ประเทศไทย กัมพูชาและเวียดนามที่ออกมาแสดงความวิตกกังวลถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อประเทศของตนหากมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง แต่เราแทบไม่เคยได้ยินเสียงของชาวบ้านลาว ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งเขื่อนดอนสะโฮงเลย     

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาวได้จัดเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อให้การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีองค์ประกอบครบถ้วน โดยมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 จัดที่เมืองปากเซและเมืองโขง แขวงจำปาสัก ในวันที่ 15 ตุลาคมและ 26 ตุลาคม พ.ศ.2549 ในเวทีครั้งนี้มีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น หัวหน้าห้องการประมง หัวหน้าห้องการป่าไม้ ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้าน เจ้าของธุรกิจเข้าร่วมประชุม ครั้งที่สองจัดที่บ้านหางสะดำ เมืองโขง แขวงจำปาสัก ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่จะก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงประมาณ 2 กิโลเมตร ในวันที่ 30 มกราคม 2550 โดยชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วม    

  

สิ่งที่ผู้เขียนสนใจคือ ชาวบ้านลาวคิดอย่างไรกับการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งจากผลการทำวิจัยต่อเนื่องในเมืองโขง แขวงจำปาสัก ระหว่างปี 255-2557 ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน ครู เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้แทนบริษัทเมกะเฟิร์ส คอเปอร์เรชั่น เบอร์ฮาด (Mega First Corporation Berhad) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซีย ผู้รับเหมาก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง สิ่งที่ผู้เขียนเรียนรู้คือ

1. ชาวบ้านลาวส่วนใหญ่ไม่สามารถบอกได้ว่าการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงนั้นจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขื่อนคืออะไร ที่ร้ายที่สุดคือจากการที่ผู้เขียนสัมภาษณ์ชาวบ้าน (ในปี พ.ศ. 2556) ในหมู่บ้านนากะสัง เมืองโขง แขวงจำปาสัก ที่ห่างจากจุดก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงประมาณ 10 กิโลเมตรนั้น ชาวบ้านบางคนไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง เนื่องจากชาวลาวส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อที่เป็นกลาง อีกทั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์ ของชาติลาวยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลลาว ยิ่งไปกว่านั้น ชาวบ้านแทบไม่เคยรับรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบของเขื่อนน้ำงึม เขื่อนน้ำเถินที่เคยเกิดขึ้นกับชาวบ้านมาก่อน  ขณะเดียวกันในประเทศลาวแทบไม่มีองค์กรอิสระ เอ็นจีโอท้องหรือนักวิชาการท้องถิ่นที่ทำงานด้านการเฝ้าระวังหรือวิพากษ์นโยบายของรัฐ ดังนั้นชาวบ้านลาวที่จำต้องรับแต่สื่อรัฐจึงขาดข้อมูลพอที่จะคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงได้

2. เมื่อผู้เขียนถามชาวบ้านว่า คิดอย่างไร อยากให้มีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้ว ชาวบ้านบอกว่าอยากให้มีการก่อสร้าง เพราะคนลาวจะได้มีไฟฟ้าใช้ทั่วถึง มีน้ำจากเขื่อนมาให้ทำนาได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ในเวทีประชาพิจารณ์ทั้ง 2 ครั้งนั้น เจ้าของโครงการให้ข้อมูลแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ชาวบ้านซึ่งไม่สามารถเข้าถึงและไม่เคยได้อ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงไม่รู้ข้อเท็จจริงถึงเป้าหมายในการสร้างเขื่อนนี้ ซึ่งแท้จริงนั้น เขื่อนดอนสะโฮงสร้างขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายไทยและเวียดนาม ซึ่งในแบบการก่อสร้างไม่ได้มีการขุดคลองชลประทานหรือกระจายกระแสไฟฟ้าสู่หมู่บ้านลาวแต่อย่างใด[i]

3. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของชาวลาวมีอยู่อย่างจำกัด ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ที่หมู่บ้านหางสะดำ ชาวบ้านเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในการประชุมว่ามีเจ้าหน้าที่มาอธิบายให้ฟังถึงข้อดีของเขื่อนดอนสะโฮง ชาวบ้านได้แต่รับฟัง ไม่มีใครซักถามหรือแสดงความคิดเห็น เมื่อเจ้าหน้าที่ถามว่าชาวบ้านเห็นด้วยไหมที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมวันนั้นยกมือเห็นดีด้วยทุกคน

ผู้เขียนจึงถามต่อไปว่า แล้วไม่กังวลหรือว่า หากมีการสร้างเขื่อนกั้นฮูสะโฮง (เส้นทางปลาอพยพซึ่งเป็นแหล่งทำการประมงที่สำคัญของชาวบ้าน) แล้วปลาจะหมดไป  ชาวบ้านตอบว่า ก็กลัวแต่ไม่รู้จะคัดค้านอย่างไรได้เพราะหากค้านไปอาจจะถูกจับไป “อบรม” (อุ้มหาย)

4. เป็นที่น่าสังเกตว่าเวทีประชาพิจารณ์ทั้งสองครั้ง ไม่มีสื่อมวลชน นักกิจกรรมทางสังคมหรือ นักวิชาการสายวิพากษ์เข้าร่วมเลย ไม่มีการเชิญชวนประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ไม่เปิดโอกาสให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อให้กลุ่มผลประโยชน์หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมเวที อีกทั้งไม่มีการเผยแพร่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ศึกษาล่วงหน้า มีเพียงเอกสารสรุปย่อโครงการซึ่งถึงแม้จะเป็นภาษาลาว แต่คนลาวในชนบทมีอัตรารู้หนังสือต่ำมาก และที่สำคัญ ข้อมูลส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างเขื่อนเท่านั้น

ดังนั้นเวทีประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นในประเทศลาวทั้ง 2 ครั้งนั้น ชาวลาวจึงเป็นเพียงไม้ประดับเพื่อให้ครบองค์ประกอบในการประทับตรายางให้กับกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่านั้น จึงเป็นการสมควรแล้วที่ภาคประชาสังคมไทยปฏิเสธเข้าร่วมเวทีให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือในการประทับกระบวนปรึกษาหารือล่วงหน้า จนกว่าคนไทยจะได้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนดอนสะโฮงที่เพียงพอ

 

 




[i] Mekong River Commission. 2008. Hydropower Database, Basin Development Plan (online). Available from: http://oldweb.dwr.go.th/content/files/001006/0010944_3.pdf(accessed 7.10.11).

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ศจี กองสุวรรณ เป็นนักพัฒนาเอกชนและนักวิจัย ศจีเริ่มศึกษาพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงระหว่างปี 2555-2557 เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทสาขา Iner-Asia NGO Studies ในหัวข้อ  “ธรรมาภิบาลเขื่อนดอนสะโฮง” (GOOD GOVERNANCE: A CASE STUDY OF DON SAHONG HYDROPOWER PROJECT, LAO PDR) หลังจากนั้นได้รับทุนจาก MPOWER ทำวิจัยหัวข้อ “ความรู้ท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรน้ำ กรณีศึกษาเมืองโขง แขวงจำปาสัก  (Use of Local Knowledge in Community Water Governance: a Case of Khong District, Champasak Province, Lao PDR) และมหาวิทยาลัยซังคงเซ ประเทศเกาหลีใต้ (Sungkonghoe University, Seoul, South Korea) ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมการศึกษาสถานภาพพันธ์ปลาในแม่น้ำโขง ในปี 2557 ศจีผ่านการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการโครงการวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขื่อนดอนสะโฮง จาก IUCN ซึ่งหลังจากดำเนินการขออนุญาตจากกระทรวงต่างประเทศลาวโดยใช้เวลาประมาณ 8 เดือนนั้น ศจีได้รับจดหมายจากกอง INGO กระทรวงต่างประเทศ สปป.ลาวว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการดังกล่าวเนื่องจากกระทรวงต่างประเทศลาวพิจารณาว่าโครงการนี้ “ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมลาว”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net