Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2558 ที่ศาลปกครองสูงสุด มีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกโดยตุลการผู้แถลงคดีจะทำการแถลงคดีที่ 2 นักศึกษายะลาอุทธรณ์กรณีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารว่าได้ทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานพวกเขาระหว่างถูกควบคุมตัว เหตุเกิดปี 2551 โดยทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 บุกเข้าบ้านพักและนำตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองและเพื่อนรวม 7 คนไปควบคุมตัวที่หน่วยทหาร มีการปิดตา ทำร้ายร่างกาย ใช้ของแข็งทุบตีผู้ฟ้องคดีและเพื่อนโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา และควบคุมตัวนานถึง 9 วันก่อนปล่อยตัว

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีในคดีดังกล่าวคือ นายอิสมาแอ เตะ , นายอามีซี มานาก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือ กองทัพบก , ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ กระทรวงกลาโหม ที่ผ่านมาศาลปกครองพิพากษาเมื่อ 22 พ.ย.54 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชำระค่าเสียหายในมูลละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงินจำนวน  255,00 บาท และที่ 2 จำนวน 250,000 บาท  ส่วนคำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อ่านรายละเอียดที่นี่)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ผู้ฟ้องคดีมาศาลทั้งสองคนพร้อมทนายความและผู้สนใจเข้าฟังคดี รวมแล้วราว 30 คน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีไม่มาฟังการพิจารณา สำหรับการแถลงคดีในวันนี้  ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล  ตุลาการผู้แถลงคดี ไม่ใช่องค์คณะตุลาการผู้พิจารณาคดี กระบวนการหลังจากนี้ตุลาการผู้พิจารณาคดีจะทำการนัดหมายวันฟังคำพิพากษาอีกครั้ง และคำพิพากษาอาจเหมือนหรือแตกต่างกับคำแถลงในวันนี้ก็ได้

ก่อนที่ตุลาการจะแถลงคดี ผู้ฟ้องคดีได้อ่านคำแถลงส่วนตนระบุว่า ขอแถลงให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาในประเด็นนี้เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ละเมิดเสียเอง และเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีส่วนช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ

จากนั้นตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านแถลงการณ์  รวม 3 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1. การควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากมีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน ประเด็นนี้ตุลาการ เห็นว่า การวินิฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีสิทธิ์ในการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่นั้น ตัดสินจากบุคคลใดมีเหตุอันต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความปลอดภัยของประชาชนและต่อประเทศเจ้าหน้าที่สามารถนำตัวมาเพื่อควบคุมตัวและสอบสวน ข้อเท็จจริงพบว่ามีผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 2 คนที่มีหมายจับแล้วพักอาศัยอยู่ในสถานที่นั้นจริง ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้สงสัยว่าผู้อื่นที่อาศัยร่วมอยู่ในบ้านหลังนั้นต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน ตาม พ.ร.บ กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 16 ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้ ดังนั้นในการตรวจค้นบ้านพักที่มีผู้ต้องสงสัยที่พักอยู่และการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่นั้นชอบธรรมแล้ว หากแต่ไม่รวมถึงการควบคุม/กักตัว เกินกว่ากฎอัยการศึกกำหนดไป 2 วัน รวมทั้งการสอบถามจนเกิดบาดแผลแก่ร่างกายผู้ฟ้องคดีที่ 1 ทำให้เจ้าหน้าที่หาได้รับการคุ้มครองจากมาตรา 16 ไม่ หากเจ้าหน้าที่มีกรณีสงสัยใหม่ก็หาได้เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวโดยขยายระยะเวลาไม่

ประเด็นที่ 2 ค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 32 ที่ผู้ฟ้องคดียังไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา ตุลาการวินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการซ้อมทรมานตามมาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ด้วย โดยตุลาการได้ยก พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ  มากำหนดเพดานการจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับค่าตอบแทนรายละ 45,400 บาท จากเดิมที่ศาลปกครองสงขลามีคำตัดสินให้ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจำนวนเงิน  255,000 บาท และ 250,000 บาทตามลำดับ

สำหรับรายละเอียดการจ่ายค่าตอบแทนประกอบด้วย ค่ารักษาพยาบาล รวมกับค่าฟื้นฟูร่างกายและจิตใจคนละ 30,000   บาท ค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 32  คนละ 15,000 บาท ค่าขัดประโยชน์ในการทำมาหาได้ 200 บาท/วัน เป็นเงินคนละ 400 บาท

ประเด็นที่ 3 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จัดการให้ชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีทั้งสองกลับคืนดีโดยจัดให้มีประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง หรือหนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องคดี ตุลาการแถลงให้พิพากษายืนตามศาลปกครองสงขลา โดยศาลปกครองสงขลาพิพากษาว่า เมื่อศาลได้วินิฉัยแล้วว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการตรวจค้นและควบคุมตัวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกรณีที่อาจกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองบ้าง แต่กรณีก็เป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้จะเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิบ้างแต่ไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นต้องกระทำและมีเหตุอันควรตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และการตรวจตราของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้น เจ้าหน้าที่ย่อมต้องตรวจตราด้วยความระมัดระวังและละเอียดถี่ถ้วนกับทุกคน หาใช่แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแต่อย่างใดไม่ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสองในกรณีนี้หามีน้ำหนักให้รับฟังขึ้นไม่

ภายหลังฟังคำแถลงของตุลาการ นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวว่า พอใจที่รัฐยอมรับว่าเป็นการทำละเมิดต่อเรา แต่ยังไม่พอใจเรื่องเงินชดเชย ขณะที่นายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องที่ 2 เห็นว่า การให้ชดเชยวันละ 200 นั้นน้อยเกินไป

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความผู้ฟ้องคดี ให้ความเห็นว่า โดยหลักการแล้วศาลสามารถใช้หลักกฎหมายเรื่องการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์มาวินิจฉัยคดีนี้ และใช้เป็นเกณฑ์กำหนดค่าเสียหายตามที่เห็นสมควรได้ การกำหนดค่าเสียหายโดยใช้กฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาฯ อาจทำให้ดุลพินิจของศาลถูกจำกัดลงและทำให้ศาลไม่สามารถกำหนดค่าเสียหายหรือการเยียวยาความเสียหายได้ตามความร้ายแรงแห่งการละเมิด    อย่างไรก็ตาม  แถลงการณ์ของตุลาการดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์นายอิสมาแอเพิ่มเติมกรณีลักษณะเดียวกันในพื้นที่ นายอิสมาแอ กล่าวว่า ผู้ถูกซ้อมทรมานมีจำนวนมากและไม่มีใครฟ้อง นี่เป็นกรณีแรกของจังหวัดยะลา เป็นกรณีแรกของสามจังหวัดภาคใต้ที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีมาจนถึงศาลปกครองสูงสุด

รูซามัน สาเมาะ ผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ตอบคำถามถึงความรุนแรงของการซ้อมทรมานที่คนในพื้นที่พบเจอว่า ผู้ที่ถูกซ้อมทรมานหนักที่สุดคือไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ ผู้เสียชีวิตก็มี บางคนเมื่อผ่านสภาวะนั้นมาแล้วก็จิตใจไม่ปกติ มีอาการหวาดระแวง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net