iLaw ตอน2: คดีหมิ่นเจ้า เดินหน้าหนึ่งก้าว ก่อนถอยหลังสามก้าว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ช่วงต้นปี 2557 สถานการณ์คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ผ่อนคลายความตึงเครียดลงบ้าง เพราะคำพิพากษาของศาลหลายฉบับในช่วงต้นปีเป็นคุณกับจำเลย คำนึงถึงสิทธิของจำเลยและสังคมมากกว่าการมุ่งลงโทษให้หนัก โดยเฉพาะคดีที่จำเลยมีปัญหาด้านสุขภาพ

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จำนวนคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่เกี่ยวจข้องกับการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 21 คดี บางคนถูก คสช.ประกาศเรียกคนมารายงานตัวแล้วตั้งข้อหาภายหลัง เกิดปรากฏการณ์ใหม่เมื่อคสช.ออกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีของพลเรือน ศาลทหารสั่งพิจารณาคดีโดยลับและมีคำพิพากษากำหนดโทษอย่างรุนแรง ก่อนสิ้นปีมีนักโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 24 คน และยังมีการนำข้อหานี้มาใช้จับกุมดำเนินคดีกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบันฯ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์อีกจำนวนมาก

 

บรรยากาศผ่อนคลายลงในช่วงต้นปี เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาตามบรรทัดฐานที่ดี

17 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลฎีกาพิพากษา คดีบัณฑิตแสดงความคิดเห็นที่งานสัมมนาของ กกต. เมื่อปี 2546 ยืนตามศาลชั้นต้น จำคุกบัณฑิตรวม 4 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี เพราะจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภทและอายุมาก ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในเดือนมีนาคม 2549 แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาในเดือนธันวาคม 2550 ให้จำคุกบัณฑิต 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ

26 มีนาคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดีสุรภักดิ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กที่โพสต์เนื้อหาเข้าข่ายการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ยืนตามศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยทำความผิด

17 เมษายน 2557 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง คนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้าม โดยให้เหตุผลว่า แม้จำเลยจะขายหนังสือที่เนื้อหามีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่เมื่อโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า จำเลยทราบเนื้อหาของหนังสือ จึงไม่เพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำความผิด

8 พฤษภาคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุกเอกชัย จากการขายแผ่นซีดีสารคดีของสำนักข่าว เอบีซี และเอกสารของวิกิลีกส์ เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษให้เหลือ 3 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์

21 พฤษภาคม 2557 หนึ่งวันก่อนการรัฐประหาร ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา คดีฐิตินันท์ ที่ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่พระบรมฉายาลักษณ์ โดยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่จำเลยรับสารภาพให้ลดโทษเหลือ 1 ปี เนื่องจากจำเลยไม่เคยทำผิดมาก่อนและอาการป่วยทางจิตก็มีผลต่อการกระทำความผิด จึงให้รอการลงโทษจำเลยไว้ 3 ปี

จะเห็นได้ว่า นอกจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของเอกชัยแล้ว คำพิพากษาอีก 4 ฉบับที่เหลือ ล้วนช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของการบังคับใช้กฎหมายลง ผู้ที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด แต่มีปัญหาสุขภาพหรือทำความผิดเพราะเงื่อนไขด้านสุขภาพ ก็ให้รอการลงโทษไว้ เพื่อให้จำเลยได้รักษาตัว ไม่สั่งจำคุกในทันที

หลายคดีศาลแสดงให้เห็นว่าได้ยึดหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” เมื่อโจทก์พิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยไม่ได้ ศาลก็ยกฟ้อง

นอกจากนี้เนื้อหาของคำพิพากษาคดีสุรภักดิ์และฐิตินันท์ ศาลไม่เพียงแต่วินิจฉัยในเนื้อหาคดีเท่านั้น หากแต่ยังวินิจฉัยไปถึงบริบททางสังคมการเมืองด้วย คดีของฐิตินันท์ ศาลชี้ว่าการรอการลงโทษจำเลยไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อตัวจำเลยเท่านั้น หากแต่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมด้วย ขณะที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของสุรภักดิ์ ศาลวินิจฉัยไว้ด้วยว่า การลงโทษจำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวโดยขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจนอาจสร้างความแตกแยกในสังคม

เป็นไปได้ว่าศาลเล็งเห็นว่า คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เป็นคดีสาธารณะ คำพิพากษาย่อมมีผลกระทบต่อบรรยากาศทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ียงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องปรับตัว กระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลและปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 น่าจะมีผลต่อแนวทางในการเขียนคำพิพากษาในช่วงต้นปี 2557 ก่อนการรัฐประหารอยู่บ้าง

การเพิ่มจำนวนของคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังการรัฐประหาร

ภารกิจที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 1 ระบุว่า “จะปกป้องเทิดทูนดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์”

หลังการรัฐประหาร พบว่ามีการเร่งรัดจับกุมและดำเนินคดี ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จนปริมาณคดีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

22 พฤษภาคม 2557 อัยการยื่นฟ้อง “ธงชัย” ชายชาวจังหวัดเชียงใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โยนธงสัญลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวลงไปในแม่น้ำระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2553 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ “ธงชัย”เข้ามอบตัวในเดือนธันวาคม 2553 และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน ขณะนี้คดีของ “ธงชัย” ถูกจำหน่ายไว้ชั่วคราวเนื่องจากจำเลยกำลังรักษาอาการป่วย ไม่สามารถต่อสู้คดีได้

23 พฤษภาคม 2557 อภิชาติ ถูกควบคุมตัวจากการร่วมชุมนุมคัดค้านการรัฐประหาร ระหว่างถูกควบคุมตัวมีการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือและแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก อภิชาติถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวน 25 วัน ก่อนที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ

25 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง และคดีฝ่าฝืนประกาศและคำสั่งของ คสช. รวมทั้งคดีตามมาตรา 112 ด้วย เท่ากับว่าพลเรือนที่ทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะต้องขึ้นศาลทหาร และในช่วงเวลาที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก กระบวนการของศาลทหารไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา คำพิพากษาที่ออกมาจะถึงที่สุดในทันที  

ในวันเดียวกัน มีการจับกุม "สมศักดิ์ ภักดีเดช" บรรณาธิการเว็บไซต์ Thai E News ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการเผยแพร่บทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ในเว็บไซต์เมื่อปี 2554 เบื้องต้น "สมศักดิ์" ถูกฝากขังที่ศาลอาญาก่อนถูกย้ายไปฝากขังและดำเนินคดีในศาลทหาร วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ศาลนัดสอบคำให้การ "สมศักดิ์" รับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาให้จำคุก 9 ปี ลดเหลือ 4 ปี 6 เดือน

2 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ยุทธศักดิ์ คนขับแท็กซี่ที่ถูกผู้โดยสารบันทึกเสียงการสนทนาแล้วนำมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ยุทธศักดิ์ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ยุทธศักดิ์ถูกพาไปศาลโดยไม่มีทนายความ เขารับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี แต่ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน

18 มิถุนายน 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม อัครเดช นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ที่ถูกประชาชนคนหนึ่งกล่าวโทษว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บนเฟซบุ๊กตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ศาลพิพากษาจำคุกอัครเดช 5 ปี แต่ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน เพราะจำเลยรับสารภาพ คดีศาลอาญาจัดให้มีนัดสมานฉันท์ เพื่อให้โจทก์และจำเลยหาข้อตกลงร่วมกันแทนการดำเนินคดี ในนัดดังกล่าว ศาลเจรจาจนอัครเดชตัดสินใจรับสารภาพ

1 กรกฎาคม 2557 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ถูกนำตัวไปสถานีตำรวจภูธรเมืองร้อยเอ็ด เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามที่มีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 สมบัติได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณาคดี

2 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจร่วมกันจับกุมตัว “ธเนศ” ที่บ้านพักในจังหวัดเพชรบูรณ์ ธเนศถูกกล่าวหาว่าใช้อีเมลส่งลิงก์ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ไปให้บุคคลที่สามตั้งแต่ปี 2553 “ธเนศ” มีโรคประจำตัว และสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์วินิจฉัยว่า “ธเนศ” เป็นโรคจิตหวาดระแวง ระหว่างการพิจารณาศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

8 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม สมัคร หลังมีผู้พบเขากำลังทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งไว้ที่หน้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย สมัครถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดเชียงรายและถูกส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย คดีของสมัครเป็นคดีแรกที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดหลังการรัฐประหาร สมัครให้การรับสารภาพ โดยแถลงประกอบว่า ขณะทำความผิดไม่รู้ตัวเองเพราะมีอาการป่วยทางจิต โดยมีใบรับรองแพทย์ประกอบ ศาลนัดสืบพยานนัดแรกในวันที่ 11 มกราคม 2558

9 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารร่วมกันจับกุม ธานัท หรือ "ทอม ดันดี" ศิลปินและหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง ที่บ้านในจังหวัดเพชรบุรี การปราศรัยที่ธานัทถูกกล่าวโทษเกิดในปี 2556 แต่คลิปดังกล่าวมีผู้นำมาเผยแพร่ซ้ำในเดือนมิถุนายน 2557 คดีของธานัทจึงถูกส่งไปพิจารณาที่ศาลทหาร ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี

14 - 15 สิงหาคม 2557 มีการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับละครเวทีเรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ซึ่งมีเนื้อเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 2 คน ได้แก่ ปติวัฒน์ และ ภรณ์ทิพย์ ตามลำดับ ก่อนหน้านี้ในปี 2556 มีกลุ่มคนนัดกันนำแผ่นบันทึกภาพและเสียงละครเวทีดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจพร้อมกัน 13 แห่ง แต่ยังไม่มีการจับกุมตัวหรือดำเนินคดีใดๆ จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร ทั้งสองคนตัดสินใจรับสารภาพในชั้นศาล

15 ตุลาคม 2557 โอภาส ถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างซีคอนสแควร์จับตัวและส่งต่อให้ทหาร เขาถูกกล่าวหาว่าใช้ปากกาเขียนข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บนผนังห้องน้ำของห้างดังกล่าว ศาลทหารไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน โอภาสมีโรคประจำตัวคือโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมและโรคความดันโลหิตสูง

13 พฤศจิกายน 2557 ช่วงเช้ามืด ตำรวจและทหารบุกไปจับ “กวี” ที่บ้านพักในจังหวัดสุรินทร์ โดยตั้งข้อหาว่าเป็นเจ้าของบัญชียูทูปชื่อ “เมืองปรางค์” และ “หนูแมว” ซึ่งอัพโหลดคลิปวีดีโอและคลิปเสียงเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ไว้จำนวนมาก เขาถูกฝากขังต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 โดยไม่ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์  

15 พฤศจิกายน 2557 พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปราม ว่ามีการโพสต์ภาพและข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ บนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ “จารุวรรณ” วันรุ่งขึ้น จารุวรรณ สาวโรงงานจากจังหวัดราชบุรีประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อชี้แจงว่าเฟซบุ๊กตนถูกคนอื่นลักลอบใช้ เจ้าหน้าที่ตำรวจรับตัวเธอจากบ้านมาสอบสวนก่อนแจ้งข้อกล่าวหาและฝากขังต่อศาลทหาร ในกรณีเดียวกันนี้ยังมีการจับกุม อานนท์ แฟนหนุ่มของจารุวรรณและ ชาติชาย เพื่อนของอานนท์ ที่จารุวรรณสงสัยว่าเป็นคนลักลอบเข้าถึงเฟซบุ๊กของเธอด้วย ทั้งสามถูกฝากขังโดยไม่ได้ขอปล่อยตัวชั่วคราวเพราะไม่มีหลักทรัพย์

26 พฤศจิกายน 2557 บัณฑิต อานียา ซึ่งเคยเป็นจำเลยที่ศาลฎีกาเพิ่งยกฟ้องเมื่อต้นปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะกำลังแสดงความคิดเห็นที่งานเสวนาเรื่องการปฏิรูปที่จัดโดยพรรคนวัตกรรม บัณฑิตถูกส่งตัวไปฝากขังต่อที่ศาลทหารในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 400,000 บาท ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ

11 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุม ปิยะ ใกล้บ้านพักของเขา ข้อกล่าวหาคือ มีเฟซบุ๊กชื่อ “นายพงศธร บันทอน” ที่ใช้รูปของปิยะเป็นรูปประจำตัว โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวและมีข้อความหมิ่นประมาท ปิยะรับว่าภาพเป็นภาพของตนแต่ตนไม่ใช่เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ขณะนี้ปิยะถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ 

18 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุม “ศิระ” ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ค “ใหญ่ แดงเดือด” โพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังถูกสอบสวนในค่ายทหาร 6 วัน วันที่ 23 ธันวาคม 2557 เขาถูกตั้งข้อหาและฝากขังต่อศาลทหาร โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

กว่า 6 เดือนหลังการรัฐประหาร มีบุคคลถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างน้อย 19 คน หลายคดีเป็นคดีที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นมานานแล้ว คดีที่เหตุเกิดหลังการรัฐประหารมีเพียง 5 คดี บรรยากาศทางการเมืองจากการเข้ายึดอำนาจของ คสช. จึงอาจส่งผลต่อการเร่งรัดติดตามคดีให้รวดเร็วขึ้นได้

การดำเนินคดี 112 กับบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวและถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

หลังการรัฐประหาร คสช. ออกคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายตัวโดยให้เหตุผลว่า "เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ" อย่างน้อย 666 คน ผู้ถูกเรียกเข้ารายงานตัวส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหรือแกนนำกลุ่มการเมือง แต่ก็มีการเรียกบุคคลซึ่งชื่อไม่เป็นที่รู้จักอีกเป็นจำนวนมาก

24 พฤษภาคม 2557 จ่าประสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้ารายงานตัวหลังมีชื่อในคำสั่งเรียกบุคคลคนรายงานตัวต่อ คสช. ฉบับที่ 5/2557 จ่าประสิทธิ์ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกในค่ายทหารก่อนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่ สน.โชคชัย ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญามีคำพิพากษาวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ให้ลงโทษจำคุกจ่าประสิทธิ์เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน เพราะจำเลยให้การรับสารภาพ แต่ไม่ให้รอการลงโทษเพราะจำเลยเคยทำความผิดในลักษณะเดียวกันมาแล้วแต่กลับทำความผิดที่ร้ายแรงขึ้นไปอีก

1 มิถุนายน 2557 คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว 28 คน ซึ่งมีชื่อของ เฉลียว สิรภพ คฑาวุธ และ “จักราวุธ” รวมอยู่ด้วย เฉลียว คฑาวุธ และ “จักราวุธ” เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง ส่วนสิรภพไม่เข้ารายงานตัวและถูกจับกุมในภายหลัง ทั้งสี่คนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

เฉลียวถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดัดแปลงและอัพโหลดคลิปเสียงที่เนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ลงในเว็บไซต์ 4Share.com เขาถูกฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว วันที่ 29 สิงหาคม 2557 ศาลนัดสอบคำให้การ เฉลียวรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 3 ปี แต่ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน และให้รอการลงโทษไว้ ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์

คฑาวุธถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดรายการวิทยุที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เขาถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 แต่ต่อมาในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 เขาถูกย้ายไปฝากขังกับศาลทหาร เนื่องจากคลิปเสียงตามฟ้องยังเข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ต จึงตีความว่าเป็นความผิดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร 18 พฤศจิกายน 2557 คฑาวุธให้การรับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาจำคุก 10 ปี แต่ลดโทษเหลือ 5 ปี  

“จักราวุธ” เข้ารายงานตัวในวันที่ 13 มิถุนายน 2557 และถูกควบคุมตัวเรื่อยมา เขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ลงบนเฟซบุ๊กรวม 9 ข้อความ ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัวครั้งหนึ่งในปี 2555 แต่ยังไม่มีการยื่นฟ้องจนกระทั่งหลังการรัฐประหาร 31 กรกฎาคม 2557 ศาลพิพากษาจำคุก 27 ปี 36 เดือน แต่ลดเหลือ 13 ปี 24 เดือน เพราะรับสารภาพ มีรายงานด้วยว่าเขาเคยเข้ารักษาอาการทางจิตมาก่อน

สิรภพ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 สิรภพถูกกล่าวหาว่าใช่นามแฝง “รุ่ง ศิลา” โพสต์บทความและกลอนหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้มาร้องทุกข์ไว้แล้วก่อนหน้านี้ เบื้องต้นสิรภพถูกฝากขังที่ศาลอาญาแต่ต่อมาถูกย้ายมาที่ศาลทหารด้วยเหตุผลว่าโพสต์ดังกล่าวยังเข้าถึงได้ คดีของสิรภพเป็นคดีเดียวหลังการรัฐประหารที่จำเลยให้การปฏิเสธ และศาลทหารสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ

เห็นได้ว่า คสช. ให้ความสำคัญกับการติดตามตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถึงขนาดใช้อำนาจประกาศเรียกและอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลา 7 วัน โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา เพื่อสอบสวนดำเนินคดีเอง โดยมีผู้ที่ถูกประกาศเรียกตัวมาสอบสวนและดำเนินคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 5 คน

ขณะที่มีบุคคลอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ทำให้เกิดความกังวลว่า หากบุคคลเหล่านั้นเข้ารายงานตัวหรือถูกจับกุมได้ภายหลัง จำนวนคดีความฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่านี้

โดยสรุปแล้ว คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการรัฐประหาร ทั้งการรื้อฟื้นเร่งรัดคดีที่การกระทำเกิดขึ้นนานแล้ว การจับกุมผู้ต้องหารายใหม่ๆ และการที่ คสช. ประกาศเรียกบุคคลต้องสงสัยมาดำเนินคดี นับเฉพาะคดีที่จำเลยใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่นับการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อหาผลประโยชน์ ในเดือนพฤษภาคมก่อนการรัฐประหารมีนักโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์อยู่ในเรือนจำ เท่าที่ทราบ 5 คน และค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 24 คน ในช่วงปลายปี

 

126Lese Majeste Prisoners Statistic

 

ความเคลื่อนไหวคดีมาตรา 112 อื่นๆ ที่ดำเนินคดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร

10 กรกฎาคม 2557 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีของ อัศวิน ว่าจำเลยกระทำการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วยการแอบอ้างสถาบันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากยกฟ้องเป็นลงโทษจำคุก 5 ปี อัศวินได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ระหว่างสู้คดีในชั้นฎีกา

19 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นเวลา 10 ปี ฐานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร วอยซ์ออฟทักษิณ 2 เล่ม ซึ่งเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 2 ชิ้น ที่วางจำหน่ายในปี 2553 คดีนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 กันยายน อันเป็นวันครบรอบ 8 ปี ของการรัฐประหาร 19  กันยายน 2549 โดบไม่แจ้งให้จำเลย ทนายความ หรือญาติ ทราบวันนัดล่วงหน้าด้วย

28 พฤศจิกายน 2557 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดีของ ยุทธภูมิ หรือคดีพี่ฟ้องน้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในเดือนกันยายน 2556 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยเนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุให้สงสัยตามสมควร จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ปรากฎการณ์และความท้าทายใหม่ๆ ของการต่อสู้คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ในปี 2557

พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร

โดยปกติ ศาลทหารจะมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาที่จำเลยเป็นทหารประจำการเท่านั้น ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่จำเลยเป็นพลเรือน อย่างไรก็ตาม คสช. ก็ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนที่ตกเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง รวมทั้งคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

หากตีความโดยเคร่งครัด คดีที่จะอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 จะต้องเป็นคดีที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นหลังประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้เท่านั้น แต่มีอย่างน้อย 4 คดี ที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นก่อนการออกประกาศฉบับที่ 37 แต่จำเลยกลับถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ได้แก่คดีของธานัท, คฑาวุธ, สิรภพ และ "สมศักดิ์"

คดีทั้ง 4 เหมือนกันตรงที่เป็นการกระทำบนโลกออนไลน์ ศาลทหารตีความว่า เมื่อเนื้อหาที่เป็นเหตุแห่งคดียังสามารถเข้าถึงได้อยู่ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ต้องถือว่าการกระทำความผิดยังคงเกิดขึ้นอยู่หลังประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาของตน

การพิจารณาคดีเป็นการลับ

ก่อนการรัฐประหารการสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับถือเป็นข้อยกเว้น ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 2553 - 2557 ศาลพลเรือนพิจารณาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ อย่างน้อย 41 คดี มีการสั่งให้พิจารณาโดยลับ 4 คดี อีก 37 คดีพิจารณาโดยเปิดเผย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยทุกคน ที่จะมีผู้สังเกตการณ์ภายนอกเข้าร่วมฟัง เพื่อช่วยรับประกันความโปร่งใสและความถูกต้องของกระบวนการพิจารณา

หลังการรัฐประหาร คดีของคฑาวุธ "สมศักดิ์ ภักดีเดช" สิรภพ ซึ่งพิจารณาที่ศาลทหารกรุงเทพ ถูกศาลสั่งให้พิจารณาเป็นการลับตลอดคดีทั้งสามคดี และคดีของ “ธเนศ” ที่พิจารณาที่ศาลอาญา ก็ถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ มีความเป็นไปได้มากว่า คดีอื่นๆ ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาอาจถูกสั่งพิจารณาลับเช่นกัน

ลำพังการกำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารก็เป็นสิ่งที่สังคมกังขาอยู่แล้ว การขึ้นศาลภายใต้สถานการณ์พิเศษที่จำเลยไม่สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกายิ่งเพิ่มความน่ากังวล การพิจารณาโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้สังเกตการณ์จากภายนอก จึงเปรียบเสมือนไพ่ใบสุดท้ายที่พอจะสร้างความอุ่นใจให้กับจำเลยได้บ้างว่าการพิจารณาคดีน่าจะดำเนินไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม การสั่งพิจารณาเป็นการลับตลอดทั้งกระบวนจึงเป็นการทำลายเกราะป้องกันชั้นสุดท้ายของจำเลย  

การไม่อนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารในสำนวนของศาล

เพื่อให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเข้าถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยปกติ ทนายความสามารถขอสำเนาเอกสารต่างๆ จากศาลได้ ทั้งคำฟ้อง บันทึกคำเบิกความพยาน รายงานกระบวนพิจารณา รวมทั้งคำพิพากษา

ในคดีของคฑาวุธ และสิรภพ ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยทำสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของวันนัดสอบคำให้การที่ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยตลอด เนื่องจากได้อ่านให้ฟังแล้ว ทั้งที่รายงานกระบวนพิจารณาในวันนั้น มีเพียงแต่คำสั่งศาลให้พิจารณาคดีเป็นการลับ คำแถลงขอเลื่อนการให้การของจำเลย และวันนัดใหม่เท่านั้น ไม่มีข้อความใดๆ ที่อ่อนไหวต่อความมั่นคง

ศาลทหารเพิ่มโทษเป็นเท่าตัว

อัตราโทษของคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ คือ 3 ถึง 15 ปีต่อความผิดหนึ่งกรรม ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2553 - 2557 ศาลพลเรือนพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างน้อย 31 คดี เป็นการกำหนดโทษจำคุกกรรมละ 2 ปี 2 คดี, กรรมละ 3 ปี 7 คดี, กรรมละ 4 ปี 2 คดี, กรรมละ 5 ปี 17 คดี และกรรมละ 6 ปี 3 คดี โดยเฉลี่ยศาลพลเรือนกำหนดบทลงโทษจำเลยกรรมละ 4.4 ปี

คำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ของศาลทหารที่ออกมาแล้ว 2 ฉบับ ในคดีของคฑาวุธ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 10 ปี ในความผิด 1 กรรม ก่อนลดโทษเหลือ 5 ปี เพราะจำเลยรับสารภาพ ขณะที่คดีของ "สมศักดิ์" ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 9 ปี ในความผิด 1 กรรม ก่อนลดโทษเหลือ 4 ปี 6 เดือน โดยเฉลี่ยศาลทหารกำหนดบทลงโทษจำเลยกรรมละ 9.5 ปี

นัดสมานฉันท์ วิธีทางแพ่งในคดีอาญา?

ในคดีของอัครเดช ศาลอาญาจัดให้มีนัดสมานฉันท์ขึ้น ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่สร้างขึ้นมาสำหรับคดีแพ่งเพื่อให้จำเลยและโจทก์มาประนีประนอมกันหรือทำข้อตกลงร่วมกัน แทนการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและบังคับคดี

คดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดินอย่างคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เป็นคดีที่ยอมความหรือทำข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ และไม่มีโจทก์ในคดีที่มีอำนาจในการเจรจาประนีประนอมกับจำเลย เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยให้การปฏิเสธในตอนแรก แต่กลับมารับสารภาพระหว่างกระบวนการนี้ จึงน่าสงสัยว่า ศาลในคดีนี้อาศัยกระบวนการนัดสมานฉันท์ทำตัวเป็นโจทก์มาเจรจากับจำเลยเสียเอง

การรุกล้ำความเป็นส่วนตัวและการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว

หลังการรัฐประหารเกิดปรากฎการณ์ใหม่คือ การที่เจ้าหน้าที่ยึดอุปกรณ์เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกจับกุมหรือถูกเรียกรายงานตัว เช่น โทรศัพท์มือถือ ไปตรวจสอบและนำผลการตรวจสอบมาดำเนินคดี ดังเช่น กรณีของอภิชาติที่ถูกจับกุมจากการชุมนุม แต่ต่อมาถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพราะเจ้าหน้าที่ไปตรวจโทรศัพท์ของเขา

การยึดโทรศัพท์และการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเช่นนี้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกครั้งที่มีการจับกุมบุคคลในคดีการเมือง สร้างบรรยากาศความกลัวขึ้นในพื้นที่การสื่อสารส่วนตัวของประชาชน และมีความกังวลว่า จำนวนคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อาจพุ่งสูงขึ้นไปอีก   

การใช้มาตรา 112 กับขบวนการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ส่วนตัว

ก่อนหน้าปี 2557 มีกรณีศึกษาการดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ส่วนตัว 2 คดี คือ คดีของประจวบ และอัศวิน หลังการรัฐประหารในปี 2557 มีข่าวใหญ่โตคือการจับกุมและดำเนินคดีกับบุคคลอย่างน้อย 16 คน และมีบุคคลที่ถูกออกหมายจับแต่ยังไม่มีรายงานการจับกุมอีกอย่างน้อย 3 คน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ที่นำโดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

นอกจากนี้ยังมีรายงานการจับกุมดำเนินคดีบุคคลอีกอย่างน้อย 4 คน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 จากข้อกล่าวหาเรื่องการแอบอ้างด้วย [ดูรายงานการดำเนินคดีฐานแอบอ้าง ด้วยมาตรา112 และการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่น่ากังวล คลิก]

บทสรุปส่งท้ายปี 2557 แนวโน้มมีความท้าทายใหม่ๆ อีกในปี 2558

ช่วงต้นปี ดูเหมือนว่าบรรยากาศของเสรีภาพในการแสดงออกกับข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ กำลังจะเดินไปในทิศทางผ่อนคลายลง มีคำพิพากษาที่คำนึงถึงประโยชน์ของจำเลยและสังคมโดยรวม แต่หลังการรัฐประหาร สถานการณ์กลับพลิกมาเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ตึงเครียดที่สุดในประวัติศาสตร์ของการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

นอกจากจำนวนคดีที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีการนำพลเรือนมาขึ้นศาลทหาร และใช้แนวปฏิบัติที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิจำเลยหลายประการ เช่น การสั่งพิจารณาลับ หรือการลงโทษจำเลยหนักกว่าศาลพลเรือนถึงสองเท่าตัว สถานการณ์ที่เหมือนกำลังจะก้าวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ช่วงต้นปี จึงกลายเป็นถอยหลังกลับไป 3 ก้าว และดูเหมือนว่าสถานการณ์จะยังทวีความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ

สิ้นปี 2557 นักโทษในเรือนจำตามมาตรา 112 เพิ่มเป็น 24 คน สูงที่สุดในรอบหลายปี เทียบกับจำนวนสูงสุดหลังการสลายการชุมนุมในปี 2553 คือ 13 คน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2558 ศาลมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ประกันตัวจำเลยคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างต่อเนื่อง จำเลยมีแนวโน้มเลือกที่จะรับสารภาพเพราะไม่เชื่อว่าจะสามารถต่อสู้คดีในบรรยากาศการเมืองแบบเผด็จการทหารได้ การกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดขยายเข้าไปในพื้นที่ใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ความหวาดกลัวแผ่ขยายออกไป สร้างบรรยากาศให้เสรีภาพในการแสดงออกต้องเงียบงันไปทั่วประเทศ

ในปี 2558 มีแนวโน้มว่าจะเป็นปีที่กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จะถูกนำมาใช้ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการเมือง และจำเลยในคดีนี้อาจต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการพิจารณาคดีที่มีความท้าทายใหม่ๆ อย่างที่เราเองก็ไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้เช่นกัน

 

ดูสรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ

สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง 

สรุปสถานการณ์ปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท