ตำแหน่งแห่งที่ของชนบท กับตำแหน่งแห่งที่ของงานวิชาการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมได้ฟังและอ่านเอกสารการนำเสนอรายงานเบื้องต้นในหัวข้อ "ชนบท (เพิ่ง) เปลี่ยนไป?: ว่าด้วยปัญหา “ชนบทศึกษาไทย” หลังปี 2540” ของอาจารย์เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เมื่อไม่นานมานี้  [ดูลิ้งค์ซึ่งเผยแพร่โดย ประชาไท ประกอบ] และมีข้อคิดเห็นบางประการที่อยากจะร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อประโยชน์ในการขบคิดทางวิชาการต่อไป

ในงานดังกล่าวนั้นเก่งกิจได้เสนอประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น โดยเริ่มต้นที่คำถามซึ่งค่อนข้างใหญ่--แต่ดูเหมือนจะยังไม่มีข้อเสนอต่อคำถามดังกล่าวที่ชัดเจน--ว่า ในช่วงตั้งแต่หลายสิบปีที่ผ่านมานั้น นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาไทยได้ “ต่อสู้เพื่อที่จะรักษาชนบท ในฐานะที่เป็นพื้นที่ของการวิเคราะห์ หรือพื้นที่ของการศึกษา” อย่างไร ทั้งๆ ที่พื้นที่ชนบทนั้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา หรือกระทั่งว่านักวิชาการจำนวนหนึ่งกลับชี้ว่าชนบท “เพิ่ง” เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม เก่งกิจได้พิจารณาคำถามดังกล่าวผ่านทางการประมวลงานศึกษาชนบทที่ถูกผลิตโดยนักวิชาการไทย โดยเฉพาะจาก “สำนักเชียงใหม่” นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พร้อมกันนั้น เก่งกิจได้หยิบยกงานศึกษาในพื้นที่ชนบทไทยชิ้นสำคัญๆ ของนักวิชาการต่างประเทศที่มีแนวทางการศึกษาและข้อเสนอที่แตกต่างออกไปมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า “ชนบทที่เปลี่ยนไป” นั้นควรได้รับการเสนอออกมาในแง่มุมไหนอย่างไร และจบท้ายด้วยการเสนอแง่มุมบางประเด็นและวิจารณ์งานการศึกษา “เสื้อแดงคือใคร” ภายใต้โครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย เมื่อเร็วๆ นี้  ผมมีข้อแลกเปลี่ยนกับการนำเสนอของเก่งกิจ ดังนี้

 

ประเด็นที่หนึ่ง เก่งกิจเสนอว่า บริบทงานวิจัยชนบทไทยหลังปี 2540 ส่วนใหญ่นั้นเป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้นักวิชาการ “เริ่มตระหนัก” ถึงการขยายตัวของระบบทุนนิยม กอปรกับนโยบายประชานิยมของทักษิณในไม่กี่ปีต่อมาที่เข้าไปเปลี่ยนโฉมหน้าของความสัมพันธ์ต่างๆ ในสังคมชนบท ผมเองนั้นไม่เชื่อว่าทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการผลักดันนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณนั้นจะมีอิทธิพลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการตื่นตัว และการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ของนักวิชาการที่ทำการศึกษาในพื้นที่ชนบทมากนัก ไม่ว่าจะเป็นทั้งนักวิชาการไทยและนักวิชาการต่างประเทศก็ตาม หากเรากลับไปพิจารณางานในช่วงทศวรรษ 40 จะพบว่ามีงานจำนวนไม่มากนักที่จะยกประเด็นเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ เสรีนิยมใหม่ หรือผลกระทบจากนโยบายประชานิยมขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของการศึกษาทำความเข้าใจ งานของอานันท์ กาญจนพันธ์ุเอง ในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงให้ความสำคัญกับการศึกษาประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ พหุวัฒนธรรม สิทธิทรัพยากร การต่อสู้ของคนชายขอบ และโครงสร้างเศรษฐกิจกับความยากจนในชนบท นอกจากนี้ งานซึ่งเป็นหมุดหมายที่สำคัญอันหนึ่งของการศึกษาในพื้นที่ชนบทในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเห็นจะเป็นงานที่ว่าด้วยเรื่องไร่หมุนเวียนซึ่งเชื่อมโยงอย่างมีนัยยะสำคัญกับประเด็นของการรณรงค์ในเชิงนโยบายว่าด้วยกฎหมายป่าชุมชนในขณะนั้น ท่ามกลางงานหลายสิบชิ้นของอานันท์ มีเพียงงานเพียงหนึ่งหรือสองชิ้นเท่านั้นที่ให้คุณค่ากับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และไม่ต้องพูดถึงนโยบายประชานิยม ซึ่งไม่ได้รับความนิยมจากนักวิชาการอย่างอานันท์เลย[1]

อีกหนึ่งอิทธิผลทางความคิดใน “สำนักเชียงใหม่” นั้นคือ ยศ สันตสมบัติ ไม่ต่างจากอานันท์มากนักในแง่ของประเด็นการวิจัย ยศเองทุ่มเทความคิดและการวิจัยเพื่อศึกษานิเวศวิทยาชาติพันธุ์ ทรัพยากรชีวภาพ และสิทธิชุมชน หากแต่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสนทนากับอำนาจนำแบบหนึ่งในการจัดการทรัพยากร นั่นคือความรู้นิเวศแบบวิทยาศาสตร์ ที่มักมองไม่เห็นมิติทางวัฒนธรรมของความรู้และการจัดการทรัพยากร นอกจากนี้ งานการศึกษาของยศนั้นไปไกลและเร็วกว่าการเกิดขึ้นของวิกฤตเศรษฐกิจและการคืบคลานเข้ามาของเสรีนิยมใหม่หลังปี 40 เสียด้วยซ้ำ งานชิ้นหนึ่งของยศนั้นศึกษาการปรับตัวของชุมชนชาวนาไทยท่ามกลางการปิดล้อมของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม งานดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ไม่ใช่หลังวิกฤตอย่างที่เก่งกิจกล่าวอ้าง[2]

ผมขอยกตัวอย่างอีกเล็กน้อย โดยเฉพาะงานการศึกษาในอีสาน พื้นที่ชนบทที่ใหญ่ที่สุดของไทยหากแต่ถูกละเลยในการนำเสนอของเก่งกิจ ในช่วงหลังปี 40 นั้น งานการศึกษาชนบทโดยเฉพาะ “สำนักขอนแก่น” นั้น มณีมัย ทองอยู่ และบัวพันธ์ พรหมพักพิงให้ความสำคัญกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของทุนทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชนและภูมิภาค และทั้งที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และวิสาหกิจระดับชุมชน และการศึกษาทุนทางสังคมผ่านเครือข่ายแรงงาน ชาวนา กลุ่มเพศ และกลุ่มศาสนาในอีสาน[3] ที่อุบลราชธานี กนกวรรณ มะโนรมย์ นักสังคมวิทยาชนบท ก็ศึกษาผลกระทบความขัดแย้งในเรื่องการจัดการน้ำอันเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนในหลายๆ แห่งในอีสานใต้ตั้งแต่ปลาย 2530 และต่อมาในช่วงทศวรรษ 2540 ส่วนสมชัย ภัทรธนานันท์ แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในอีสานที่ไม่ได้แยกขาดเสียทีเดียวกับการเมืองในระบบรัฐสภา และคงไม่ต้องกล่าวถึงชุดงานการศึกษาของพัฒนา กิติอาษา และสุริยา สมุทคุปติ์อีกเป็นจำนวนมากที่มองการเคลื่อนไหวไหวของสังคมในชนบทในหลากหลายมิติ

แน่นอนว่าเราจะใช้นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาเหล่านี้เป็นตัวแทนของงานการศึกษาในพื้นที่ชนบทไทยไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่าสมมติฐานที่เก่งกิจเสนอนั้นไม่ตอบรับกับกระแสการศึกษาในชนบทไทยในขณะนั้นอย่างเห็นได้ชัด ผมคาดเดาว่าสมมติฐานในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ เสรีนิยมใหม่ และนโยบายประชานิยมนั้นอาจจะมีนัยยะต่อการศึกษาเรื่องแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาพื้นที่ชนบทของไทยนั้นอิทธิพลของบริบทดังกล่าวนั้นแทบไม่ปรากฏเป็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน แน่นอนว่า หากเราหันไปมองนักวิชาการต่างประเทศที่ศึกษาพื้นที่ชนบทของไทยในช่วงเวลานั้น การศึกษาของเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบริบทที่เก่งกิจเสนอ ในปี 2541 Katherine Bowie ยังคงสนใจเรื่องงานบุญในหมู่บ้าน ส่วน Charles Keyes ซึ่งศึกษาในหมู่บ้านชนบทอีสานมาตั้งแต่ปี 2505 ในช่วงทศวรรษ 2540 นั้น ก็ยังคงสนใจเรื่องพุทธศาสนาในพื้นที่ชนบทไม่เปลี่ยนแปลง

ในเวลาเดียวกันนั้น Andrew Walker ยังสนใจอยู่กับการค้าในพื้นที่ชายแดน และยังไม่เดินทางเข้าพื้นที่หมู่บ้านชนบทในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่มาของงานการศึกษา “ชาวนาการเมือง” ชิ้นล่าสุดของเขาแต่อย่างใด หนำซ้ำ แม้ว่าจะศึกษาในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอย่างชายแดนก็ตาม แต่ Walker กลับมองไม่เห็นผลกระทบในเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจหรือผลของนโยบายประชานิยมต่อพื้นที่ชายขอบดังกล่าว

ข้อเสนอในเรื่องบริบทของการเปลี่ยนผ่านแนวทางการศึกษาในพื้นที่ชนบทไทยว่าด้วยวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เสรีนิยมใหม่ และการเรืองอำนาจของทักษิณนั้นไม่ได้มีอิทธิพลอย่างที่เก่งกิจกล่าวอ้าง และนำพาให้บรรดานักวิชาการที่ศึกษาชนบทหันมาให้ความสำคัญกับชนบทไปในแนวทางเดียวกันแต่อย่างใด การศึกษาชนบทในช่วงหลังปี 40 ยังคงลักษณะของการศึกษาที่เน้นบริบทท้องถิ่น มีประเด็นหรือแง่มุมที่จำเพาะและหลากหลายตามความสนใจที่นักวิชาการเหล่านั้นได้บ่มเพาะต่อเนื่องมาก่อน 2540 นั่นเอง

 

ประเด็นที่สอง ต่อเนื่องจากประเด็นข้างต้นก็คือว่า เราจะมองว่านักวิชาการไทยที่ศึกษาพื้นที่ชนบทนั้นมีกรอบคิดในการทำความเข้าใจชนบทตั้งแต่ในช่วง 2540 เป็นต้นมาในลักษณะที่มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมชนบทเช่นนั้นหรือ? ผมคิดว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นไม่ให้ความยุติธรรมนักกับวาระทางการเมืองและสังคมที่นักวิชาการเหล่านั้นมุ่งนำเสนอต่อทั้งในวงการวิชาการและต่อสาธารณชนในช่วงเวลานั้นและในเวลาต่อมา

ในแง่วิชาการแล้ว วิวาทะสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาพื้นที่ชนบทไทยระหว่างนักวิชาการท้องถิ่นกับนักวิชาการต่างชาตินั้น เป็นผลมาจากการเสนอผลการศึกษาที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงในชนบทที่ไม่หยุดนิ่งแทบทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง ในช่วงปี 2544 วิวาทะต่อเนื่องคลาสสิคระหว่างปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ยศ สันตสมบัติ และ Andrew Walker ในเรื่อง ฉันทามติว่าด้วยกะเหรี่ยง (The Karen Consensus) นั้นชี้ให้เห็นถึงการเติบโต ต่อยอด และปฏิสัมพันธ์เชิงวิพากษ์ว่าด้วยการเมืองของชาติพันธุ์ วิถีการผลิต และอำนาจทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในการจัดการทรัพยากรในชนบทพื้นที่สูง[4] นอกจากนี้ แม้กระทั่งก่อน 2540 การศึกษาที่เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิชาการไทยและเทศ ในการมองสภาวะการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านในพื้นที่ชนบทและสร้างข้อถกเถียงสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐกับหมู่บ้าน การพัฒนา ทุนนิยม หรือแม้กระทั่งการตั้งคำถามว่าหมู่บ้านไทยคืออะไร และจะนิยามหมู่บ้านบนความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร[5] ก็ปรากฏและเป็นฐานสำคัญของการตั้งคำถามและการวางแนวทางถกเถียงในเวลาต่อมา การตัดตอนการศึกษาในพื้นที่ชนบทโดยเริ่มจาก 2540 นั้นอาจจะไม่ใช่จุดเริ่มต้นตัดตอนประวัติศาสตร์ของการศึกษาในชนบทพสมควร

กล่าวอีกอย่างก็คือว่า กรอบคิด แนวทางการศึกษา วิวาทะ ตลอดจนข้อเสนอจากงานการศึกษาของนักวิชาการต่างประเทศในพื้นที่ชนบทของไทยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวมันเองท่ามกลางสูญญากาศของความรู้ หากแต่เป็นผลมาจากการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ความรู้กับนักวิชาการไทยอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเชิงอัตลักษณ์ และการแสวงหาอำนาจในรูปแบบต่างๆ ของผู้คนในชนบทนั่นเอง

ในเชิงสาธารณะ งานวิจัยว่าด้วยป่าชุมชนที่นำโดยอานันท์ กาญจนพันธุ์นั้น สนทนาโดยตรงกับการเมืองแบบรัฐสภาในความพยายามที่จะผลักดันความรู้ทางมานุษยวิทยา การเมืองของชาวบ้าน และวาระทางวัฒนธรรมของคนในชนบทให้เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองที่เป็นทางการมากขึ้น หาใช่การต่อต้านรัฐแบบทื่อๆ แต่อย่างใด แม้กระทั่งการศึกษาการเมืองภาคประชาชนที่ออกมาเป็นระลอกใหญ่ตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมานั้นก็ไม่ใช่การเมืองของการต่อต้านรัฐอย่างไร้สติ และขาดความร่วมมือกับรัฐ หากแต่เป็นการต่อสู้ต่อรองและแสวงหาหนทางร่วมกับการเมืองที่เป็นทางการผ่านยุทธวิธีทั้งที่เป็นทางการและบนท้องถนน นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการเมืองในชีวิตประจำวันที่การศึกษางานบุญ ประเพณี พิธีกรรม บารมีอำนาจของผู้นำชุมชน ที่มีนัยยะของการแสดงให้เห็นว่านักวิชาการเหล่านี้ได้เล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอำนาจของคนในชนบทมาเป็นเวลายาวนานแล้ว และการเมืองในชนบทที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นการเมืองของการต่อต้านอำนาจรัฐหรือหน่วยอำนาจอื่นๆ เช่น ทุน ตลาด อย่างที่เก่งกิจเสนอ (ดู สมมติฐานข้อที่ 2 และ 3 ของเก่งกิจว่าด้วยสมมติฐานของงานการศึกษาชนบทไทย) แง่มุมของงานการศึกษาเหล่านี้พูดถึงเรื่องการจัดการกับทุน อำนาจ เครือข่ายจากภายนอก และเรื่องการสร้างยุทธวิธีในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตนและชุมชน ไม่เพียงเฉพาะในชาตินี้ หากแต่รวมไปถึงชาติหน้าอีกด้วย

การทำความเข้าใจว่าพื้นที่ในชนบทเปลี่ยนแปลงเรื่อยมานั้น ปรากฏให้เห็นในงานการศึกษาผ่านแง่มุมที่หลากหลายดังกล่าวที่ว่านี้ เพียงแต่ว่านักวิชาการเหล่านี้ ทั้งไทยและเทศ ไม่ได้พูดออกมาโต้งๆ ว่าชนบทกำลังเปลี่ยนไป หรือชนบทมันเปลี่ยนไปแล้วเท่านั้นเอง เหตุใดที่นักวิชาการเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องกล่าวเช่นนั้น? เป็นเพราะบริบทหรือตำแหน่งแห่งที่ของงานวิชาการในสังคมในช่วงนั้นต่างหากที่ไม่ได้เรียกร้องหรือมีความจำเป็นที่เราจะต้องป่าวประกาศเช่นนั้นแต่อย่างไร อย่างไรก็ตาม ในสภาวการณ์ทางการเมืองในช่วงที่หลายปีผ่านมานี้ การกล่าวเช่นนั้นก็อาจดูเหมือนว่าจะดึงความสนใจกลับสู้ชนบทได้ไม่น้อย ผมจะอภิปรายเรื่องนี้อีกครั้งต่อไปในช่วงท้าย

 

ประเด็นที่สาม ที่ผมอยากชวนสนทนาด้วยก็คือว่า การพูดถึงชนบทศึกษานั้นเป็นเรื่องค่อนข้างคลุมเครือ เก่งกิจกล่าวถึงงานจำนวนไม่น้อย เช่นงานกลุ่มงานการศึกษาชายแดน เช่นของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี กลุ่มงานการศึกษาการเมืองภาคประชาชน เช่นของประภาส ปิ่นตบแต่ง เป็นต้น งานเหล่านี้หรืองานอื่นๆ ที่ศึกษาการเมืองของการจัดการทรัพยากร รูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ ในหมู่บ้านนั้น เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นงาน “ชนบทศึกษา” เช่นนั้นหรือ? ผมอยากจะชวนให้พิจารณาว่า “ชนบทศึกษา” นั้นต่างจาก “การศึกษาในพื้นที่ชนบท” งานการศึกษาที่เรากล่าวถึงและเป็นงานส่วนใหญ่ที่นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาชนบทศึกษานั้นเป็นการศึกษา “ใน” พื้นที่ชนบท มากกว่าจะเรียกตัวมันเองว่าเป็น “ชนบทศึกษา” พูดเช่นนี้หมายความว่า งานจำนวนมากที่ศึกษาในพื้นที่ชนบทนั้นไม่ได้มุ่งอธิบายการเปลี่ยนแปลงชนบทอย่างเป็นระบบ แต่เป้าหมายของงานที่ว่าคือการศึกษาทำความเข้าใจประเด็นจำเพาะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ หรือกับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในชนบท วาระเป้าหมายของงานที่ว่านี้ก็แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงกับงานที่เป็นชนบทศึกษา ซึ่งต้องการฉายภาพสภาวะ การเปลี่ยนแปลง หรือแนวโน้มของสังคมชนบทในภาพกว้าง

การทำความเข้าใจเส้นแบ่งบางๆ นี้ ทำให้เราให้ความยุติธรรมกับข้อเสนอและเป้าหมายของงานและนักวิชาการเหล่านั้น และจะไม่ตีขลุมไปโดยง่ายว่างานเหล่านั้นไม่ได้สนใจว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระดับมหภาคของชนบท มองชนบทเป็นฐานของหน่วยวิเคราะห์ แยกขาดจากบริบทอื่นๆ (สมมติฐานข้อที่ 1 ของเก่งกิจ) หรือมองชนบทในฐานะที่นักวิชาการเหล่านั้นต้อง--ในภาษาของเก่งกิจ--“ต่อสู้เพื่อที่จะรักษาชนบท ในฐานะที่เป็นพื้นที่ของการวิเคราะห์ หรือพื้นที่ของการศึกษา” หัวใจของการศึกษา “ใน” พื้นที่ชนบทคือการทำความเข้าใจประเด็นหรือวาระทางสังคมการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบท จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องพิทักษ์ปกปักหน่วยการวิเคราะห์ดังกล่าวเอาไว้ และแม้ว่า “ความเป็นชนบท” มันจะสลายไปในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า แต่ประเด็นทางสังคมการเมืองในพื้นที่ดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่และเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของมัน ในทางกลับกัน นักวิชาการที่ทำงานอยู่แต่เพียงเรื่อง “ชนบทศึกษา” โดยไม่สนใจประเด็นแง่มุมปลีกย่อยที่เกิดขึ้น “ใน” ชนบทเท่านั้น ที่คงจะมีความจำเป็นอยู่บ้างที่จำต้องออกมาพิทักษ์พื้นที่ทางวิชาการผืนสุดท้ายที่เขามีอยู่ ซึ่งผมเองยังไม่เคยเห็นนักวิชาการเช่นที่ว่านี้เลย

 

ประเด็นที่สี่ ว่าด้วย ชนบทที่ “เพิ่ง” เปลี่ยนไป ผมไม่แน่ใจว่ามูลบทดังกล่าวนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เท่าที่ลองพลิกรายงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทย ที่เสนอโดย อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์นั้น ก็ไม่ได้เห็นข้อความที่มีลักษณะที่ชี้ชัดว่าชนบทของไทยนั้น “เพิ่ง” เปลี่ยนไปแต่อย่างใด หากจะสืบค้นการผลิตมูลบทดังกล่าวนอกรายงานวิชาการเห็นจะพบว่ามีงานสัมนาวิชาการเรื่อง "ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม" ซึ่งเป็นการเสนอรายงานชุดโครงการวิจัย ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 แต่กระนั้นประเทศไทยในชื่องานดังกล่าว ก็ไม่ใช่หมายเพียงแต่ชนบทแต่เพียงอย่างเดียว หากเราจะอนุมานเอาว่างานวิชาการดังกล่าวกอปรกับข้อเสนอที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องรายได้ ระดับความยากจน หรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่งานชิ้นนี้เสนอนั้นจะนำมาซึ่งข้อสรุปว่าชนบทที่ “เพิ่ง” เปลี่ยนไปนั้นก็ดูจะเป็นการตีความที่เกินความหมายไป

อย่างไรก็ดี หากเรามองข้ามเรื่องของคำที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ--หรือการเข้าใจผิด--ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไรในในเชิงวิชาการเท่าใดนัก แต่หันมาให้ความสำคัญกับสาระบางประการที่งานชิ้นนี้นำเสนอ จะพบว่า งานชิ้นดังกล่าวนั้นศึกษาทั้งในพื้นที่ชนบทและพื้นที่กึ่งชนบทในแต่ละภูมิภาคของไทย เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป้าหมายและโดยตัวมันเองแล้วจึงไม่ใช่งานที่ต้องการอ้างตนเองว่าเป็น “ชนบทศึกษา” แต่อย่างไร หากแต่มีวาระทางสังคมการเมืองชัดเจนว่าต้องการชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยก็ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นว่าเป็นอย่างไร ความตระหนักในเรื่องข้อจำกัดของการวิจัยและการใช้ตัวชี้วัด เช่น เส้นความยากจนนั้น ได้รับการเสริมเข้ากับการวิจัยเชิงคุณภาพอื่นๆ ที่ไม่ได้เพียงแต่พูดถึงการยกระดับของสภาวะทางเศรษฐิจในแง่ของความยากจนเชิงสัมบูรณ์เท่านั้น หากแต่มีมิติของการเปรียบเทียบเชิงสัมพัทธ์ในแง่ของการรับรู้ ทัศนคติ ความคาดหวัง ความเจ็บแค้น และความมุ่งมาดปรารถนาของคน “ใน” พื้นที่ชนบทด้วย เก่งกิจชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการที่งานชิ้นนี้ใช้เส้นความยากจนมาเป็นหนึ่งในมาตรวัดการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ หากแต่ต้องให้ความสำคัญกับวิธีการวิจัยอื่นๆ ที่ถูกนำมาผสมผสานเอาไว้ด้วยเช่นกัน

อีกประเด็นที่ต่อเนื่องกัน ข้อเสนอที่ผมเข้าใจจากงานทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทยชิ้นดังกล่าวนั้น ไม่ได้ตอกย้ำข้อเสนอที่เอนก เหล่าธรรมทัศน์เคยเสนอไว้ในสองนคราประชาธิปไตยอย่างที่เก่งกิจเสนอ ในงานชิ้นดังกล่าว--หรืออย่างน้อยในงานของผมเอง--ไม่ได้เริ่มต้นที่ภาคเกษตรกรรมอย่างที่เก่งกิจกล่าวอ้าง หากแต่ตระหนักดีว่าพื้นที่ในชนบทนั้นมีความหลากหลายของวิถีการผลิตและแหล่งที่มาของรายได้ ความตระหนักในเรื่องดังกล่าวที่ข้ามพ้นความเข้าใจเรื่องสังคมเกษตรกรรมในฐานะภาพตัวแทนของชนบทนี่เอง คือสาเหตุสำคัญที่ยิ่งทำให้ให้ต้องเข้าไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้นไปอีก การกลับไปพิจารณาพื้นที่ในชนบทในงานชิ้นดังกล่าวจึงไม่ใช่กลับไปเริ่มต้นที่สังคมเกษตรกรรม หากแต่ศึกษาพื้นที่ในชนบท เพราะตระหนักดีว่าสังคมชนบทนั้นก้าวพ้นความเป็นสังคมเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียวแล้วต่างหาก

นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังเสนออีกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมชนบท ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจนั้น (เอนกให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจชนบทเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย) ได้ก่อให้เกิดสภาวะความเสี่ยง ความผันผวน หรือปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองใหม่ๆ ซึ่ง “ผลักดัน” หรือจะเรียกว่า “บีบบังคับ” ก็ว่าได้ ให้คนชนบท “ต้อง” เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองที่เป็นทางการผ่านทางการเลือกตั้งมากขึ้น ข้อเสนอดังกล่าวนี้ขัดกับความเข้าใจที่เก่งกิจเสนอว่า ความพร้อมหรือการยกระดับทางเศรษฐกิจในชนบทนั้น “เอื้อ” ให้คนชนบทเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หรือก่อเกิดอุดมการณ์ทางการเมืองขึ้น สำหรับผมแล้ว การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ และการเมืองในชนบทก็เป็นการเมืองที่เน้นเป้าหมายในเชิงปฏิบัติมากกว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อตอบสนองเพียงอุดมการณ์แต่เพียงอย่างเดียว พูดง่ายๆ ก็คือว่า การเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชาติที่มากขึ้นนั้น เป็นเพราะสภาวการณ์รอบตัวที่เปลี่ยนแปลงในชนบทซึ่งบีบบังคับและสร้างความจำเป็นให้คนในชนบท หรือแม้กระทั่งคนอื่นๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ในชนบท (เช่น แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม) “ต้อง” เข้ามามีส่วนร่วม หาใช่ “เอื้อ” ให้เข้ามามีส่วนร่วมแต่อย่างใด

ข้อเสนอที่ว่านี้ และอีกหลายๆ ข้อเสนอในงานชิ้นดังกล่าว ตลอดจนงานการศึกษาเชิงมานุษยวิทยาในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเก่งกิจละเลยที่จะให้ความสำคัญ เช่น งานของอนุสรณ์ อุณโณ ที่ศึกษาพื้นที่ในภาคใต้ งานของผมและยุกติ มุกดาวิจิตรที่ศึกษาในพื้นที่ภาคอีสานนั้น ทั้งๆ ที่งานเหล่านี้ตอบโจทย์ที่ประจักษ์ ก้องกีรติเคยเสนอไว้เรื่องของการศึกษามานุษยวิทยาการเมืองโดยเฉพาะการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ที่เก่งกิจอ้างและเรียกร้อง แต่ที่น่าเสียดายที่สุด ก็คือว่า งานทั้งหมดทั้งมวลนี้ถูกละเลยด้วยมายาคติหรือมูลบทที่ค่อนข้างไร้สาระ ที่มองว่างานดังกล่าวนั้นเสนอว่า ชนบท “เพิ่ง” เปลี่ยนไปนั่นเอง

 

ประการที่ห้า สั้นๆ เป็นข้อสังเกตเพิ่มเติมนอกเหนือจากประเด็นหลักที่เก่งกิจเสนอ หากแต่มีการตั้งคำถามใหม่ๆ ต่อเนื่อง เช่นว่า “ชนบทนั้นมีจริงหรือเปล่า” หรือ “ชนบทนั้นมันเคยมีมาก่อนหรือไม่” ผมเองไม่มีสติปัญญาพอที่จะทำความเข้าใจว่าคำถามในลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างไร และนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องอะไรต่อได้บ้าง สำหรับผมเองแล้ว เราคงไม่ตั้งคำถามในลักษณะนี้ ที่ว่า สิ่งที่เรียกว่าแรงงานนั้นมันมีจริงหรือเปล่า หรือว่ามีใครบ้างทำงานโดยไม่ใช้แรงงาน ทุกคนก็ใช้แรงงานแต่ทำไมการศึกษาแรงงานจึงจำกัดหรือให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม มิต้องพูดถึงว่าการศึกษาเครื่องยนต์กลไกที่ออกแรงแทนมนุษย์นั้น ควรได้รับการศึกษาในฐานะแรงงานด้วยหรือไม่ ที่พูดเช่นนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ท่ามกลางสภาวะสังคมที่มีความซับซ้อนนี้ เราคงยังจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า working definition ในทางวิชาการเพื่อจะสามารถสร้างขอบเขตหมุดหมายของการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆ ได้ คำถามที่ว่าชนบทนั้นเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร หรือจะนิยามชนบทในรูปแบบใหม่ๆ อย่างไร น่าจะเป็นคำถามที่ดีกว่า ถึงแม้ว่าเราจะตระหนักดีว่า การที่จะตอบคำถามดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ยากเต็มที เพราะงานที่ทำได้ คือการศึกษา “ใน” ชนบท และชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่หรือประเด็นดังกล่าวเหล่านั้นเอง การเพียรทำงานในลักษณะดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแลกเปลี่ยนสนทนา วิพากษ์วิจารณ์ และต่อยอดความรู้ร่วมกับงาน “ใน” พื้นที่ชนบทอื่นๆ แม้ว่าเราจะไม่สามารถตอบคำถามว่าชนบทมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อย จิกซอว์ของความรู้ และการพิจารณาตำแหน่งแห่งที่ของความรู้เหล่านั้น บนบริบทของมันอย่างยุติธรรม จะทำให้เราได้ภาพที่กว้างและชัดเจนขึ้น ไม่มากก็น้อย



[1] ดู https://ganjanapan.wordpress.com/ผลงาน/  (ทั้งนี้เนื่องจากผู้เขียนทำวิจัยอยู่ในต่างประเทศ ไม่สามารถอ้างอิงงงานจากเอกสารจำนวนมากในประเทศไทยได้ หากแต่เข้าถึงได้จากเว็บไซต์เป็นหลักเท่านั้น จึงขออภัยในเรื่องของการอ้างอิงจากเว็บไซต์ซึ่งอาจจะไม่เป็นทางการมากนัก)

[5] Hirsch 1993. The Village in perspective : community and locality in rural Thailand

Chiang Mai, Thailand : Social Research Institute, Chiang Mai University.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท