ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ติดตั้งลิฟท์-สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ 23 สถานีบีทีเอส

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง สั่งให้ กทม.-บีทีเอส ติดตั้งลิฟท์และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการทั้ง 23 สถานี ดำเนินการภายใน 1 ปี ขณะที่ปัจจุบันมีลิฟต์แล้ว 5 สถานีได้แก่ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬาแห่งชาติ และอ่อนนุช โดยมีลิฟต์เพียงสถานีละ 1 ทางออก

22 ม.ค. 2558 - เมื่อวันที่ 21 ม.ค. กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้สนใจ เดินทางมาที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อฟังศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ กรณีคนพิการนำโดย สุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ฟ้อง กรุงเทพมหานคร และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีไม่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งศาลปกครองกลางได้เคยมีคำสั่ง "ยกฟ้อง" แล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 22 กันยายน 2552 ระบุว่า เนื่องจากกฏหมายไม่มีผลย้อนหลัง  เพราะมีการทำสัญญาการก่อสร้างรถไฟฟ้าในปี 2539 ก่อนที่จะมีกฏกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดว่าต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการและคนชรา ได้มีผลบังคับใช้ในปี 2542

โดยคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด องค์คณะประกอบด้วย สมชาย เอมโอช ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการเจ้าของสำนวน วิษณุ วรัญญู ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด วรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นายไชยเดช ตันติเวสส ตุลาการผู้แถลงคดี ได้กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง โดยสั่งให้ กรุงเทพมหานคร และรถไฟฟ้าบีทีเอส ดำเนินการติดตั้งลิฟต์ทั้ง 23 สถานี และจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ดังนี้

1. จัดทำลิฟท์ที่สถานีขนส่งทั้ง 23 สถานี โดยมีรายละเอียดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2539 ข้อ 6 และ ข้อ 7 วรรคสอง และระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 หมวด 1 อาคาร ข้อ 4 (6) (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ)

2. จัดทำอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกที่สถานีขนส่งทั้ง 23 สถานี ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ข้อ 5 และตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 หมวด 2 สถานที่ ข้อ 5 (3) (ก) (ข) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ)

3. จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้า คือ ให้จัดที่ว่างสำหรับเก้าอี้เข็นคนพิการให้มีความกว้างไม่น้อยกว่า 120 เซ็นติเมตร และให้มีราวจับสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 80 เซ็นติเมตร บริเวณทางขึ้นลง และติดสัญลักษณ์คนพิการไว้ทั้งในและนอกตัวรถคันที่จัดไว้สำหรับคนพิการ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 และตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 หมวด 3 ยานพาหนะ ข้อ 7 (ง) และ (จ)

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ยังให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษา กับให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสามในประเด็นที่สาม

นอกจากนี้ศาลปกครองสูงสุดยังระบุว่าแม้ทางเครือข่ายผู้พิการ จะไม่ได้ดำเนินการยื่นฟ้อง ภายในระยะเวลา 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากเป็นคดีที่มีผลต่อกลุ่มคนจำนวนมาก ตามมาตรา 52 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติศาลปกครองสูงสุด ศาลจึงรับไว้พิจารณา

อนึ่ง สำหรับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ดำเนินจัดสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการแล้ว ขณะนี้มีเพียง 5 สถานีจากทั้งหมด 23 สถานี ได้แก่ สยาม หมอชิต ช่องนนทรีย์ สนามกีฬาแห่งชาติ และอ่อนนุช โดยแต่ละสถานีมีลิฟต์เพียง 1 ตัว ขณะที่ทางออกของสถานีรถไฟฟ้า บางแห่งมีมากกว่า 4 จุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท