Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ 4 ตอน ชุด “อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง กับ 5 บทบาทหลักเพื่อสันติภาพปาตานี” จะพาทุกท่านไปสำรวจชีวิตของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ผู้ล่วงลับ กับบทบาทอันหลากหลายที่เชื่อมผู้คนตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงการผลักดันข้อเสนอในเชิงนโยบาย ไล่เรียงบทบาทที่สะสมมาตั้งแต่ 30 ปีก่อน ในตอนที่ 1 เริ่มจากงานพัฒนาชุมชนเพื่อให้ยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ไปสู่การพิทักษ์ปกป้องฐานทรัพยากรในพื้นที่และการดำเนินโครงการต่างๆ

 

วันนี้ชื่อของ“อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง” ก็ยังถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย แม้เขาได้จากไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้ามาแล้วหลายเดือน สิ่งที่เขาทำและพูดยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน เขาเป็นคนทุ่มเททำงาน แม้กระทั่งในวินาทีสุดท้ายของชีวิตในโลกนี้ เขาก็ยังคงอยู่ระหว่างเดินทางในภารกิจสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีที่ประเทศสวีเดนเป็นความพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยืดเยื้อยาวนานในพื้นที่

เขาเสียชีวิตวันที่ 20 กันยายน 2557 ในวัย 64 ปี แต่กว่าที่ร่างของเขาจะกลับมาฝังที่บ้านปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี ก็ล่วงเลยไปเป็นสัปดาห์ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือของผู้คนจำนวนมากอย่างชนิดที่ไม่น่าเป็นไปได้

อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง หรือที่บางคนเรียกขานว่า “แบมะ” หรือ “อาเยาะห์มะ” ด้วยความเคารพนับถือคนส่วนใหญ่รู้จักเขาในฐานะนักวิชาการอิสระด้านสันติวิธี เนื่องจากเคยมีบทบาทโดดเด่นในความพยายามคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ เขาเริ่มเป็นที่รู้จักจากสังคมไทยเมื่อครั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ซึ่งเริ่มทำงานในปี 2548

5 บทบาทเพื่อสันติภาพ

แต่ใช่ว่าความพยายามสร้างสันติภาพของเขาจะเพิ่งมีขึ้นไม่นาน อัฮหมัดสมบูรณ์ใช้เวลาในการทำงานกว่าสามสิบปี ทั้งที่อยู่ในสถานะข้าราชการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และในฐานะนักกิจกรรมคนสำคัญในเครือข่ายภาคประชาสังคมทำงานเพื่อผู้คนในชายแดนใต้ หรือ “ปาตานี” แห่งนี้ในแทบทุกระดับ  เพราะหากจะประมวลให้เห็นจริงๆ แล้ว จะพบว่าเขามีคุณูปการ 5 บทบาทสำคัญ

ทั้ง 5 บทบาทสำคัญๆดังกล่าว ได้แก่ 1) การทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชนเพื่อพิทักษ์ปกป้องทรัพยากร 2) งานด้านการศึกษาประวัติศาสตร์และฟื้นฟูอัตลักษณ์มลายู 3) งานด้านการสื่อสารสาธารณะ 4) การสร้างคน และ 5) การแสวงหาโอกาสในพูดคุยเพื่อสันติภาพ นอกจากจะทำงานอย่างต่อเนื่องจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว ที่สำคัญแต่ละบทบาทของเขา ยังสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์มาจวบจนปัจจุบันอีกด้วย

งานทั้ง5 ด้าน เป็นพื้นฐานสำหรับการทำงานสร้างสันติภาพที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับรากหญ้า ซึ่งปลุกให้ผู้คนในชุมชนตระหนักรู้ถึงสิทธิและความรับผิดชอบของตนเอง ตลอดจนกระตุ้นความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองมี รวมไปถึงพิทักษ์ปกป้องหวงแหนสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ทำงานสานเครือข่ายทั้งในภาควิชาการ ภาคเครือข่ายกิจกรรม ทั้งในแวดวงของสังคมมุสลิม และการทำงานร่วมกับผู้คนที่ต่างความเชื่อและศรัทธา อัฮหมัดสมบูรณ์ยังเป็นคนเดินต่อสายการพูดคุยเพื่อทำให้การหาทางออกทางการเมืองระหว่างคู่ขัดแย้งมีความเป็นไปไดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

กล่าวได้ว่าสิ่งที่อัฮหมัดสมบูรณ์ทำนั้น เป็นงานสร้างสันติภาพตั้งแต่ระดับฐานรากไปจนถึงเครือข่ายประชาสังคม ที่เชื่อมต่อกับงานในระดับนโยบายไปพร้อมๆ กัน สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีแรงสะสมทำงานอย่างต่อเนื่องและสร้างความร่วมมือผ่านเครือข่ายการทำงานอย่างคงเส้นคงวามาตลอดระยะเวลาหลายปี

นอกจากนี้ เขาไม่ละทิ้งภารกิจในการเขียนงาน เขายังคงเป็นนักเขียนที่มีผลงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านหนังสือพิมพ์ และบทความทั่วไป ตลอดจนยังคงเขียนงานวิจัย ที่บางครั้งเป็นรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรประชาสังคมในพื้นที่ กระทั่งบางชิ้นได้กลายเป็นคู่มือให้กับคนทำงานต่อไปอีกด้วย

สหกรณ์อิสลามกับการยืนด้วยลำแข้งของชุมชน

บทบาทด้านงานชุมชนของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ที่เด่นชัดขึ้น เริ่มจากการทำงานที่สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ ราวปี 2530 แต่ระหว่างนั้นก็มีโครงการอื่นๆที่เขาทำไปด้วย ที่เด่นๆ เช่น โครงการพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ หรือ Wetland International ราวปี 2540 ครอบคลุมพื้นที่ทำงานทั่วภาคใต้ และเริ่มมีคนเข้ามาร่วมงานกับเขามากขึ้น

บทบาทแรกๆ ในด้านการพัฒนาชุมชนคือการเผยแพร่แนวคิดการจัดการการเงินแบบอิสลามในยังชุมชนต่างๆ โดยสนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ใช้วิธีการจัดการแบบอิสลาม ผ่านการจัดอบรมครู นักเรียน กลุ่มสตรีจนทำให้หลายแห่งสามารถตั้งสหกรณ์ขึ้นมาและดำเนินการมาจนปัจจุบัน


ดอรอแม หะยีสา


รอซีดะห์ ปูซู


นาวาวี บัวหลวง

นายดอรอแม หะยีหะสา รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานีระบุว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เป็นผู้สนับสนุนด้านวิชาการที่สำคัญในการก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานี จนสามารถดำเนินการมาได้จนปัจจุบัน

นางรอซีดะห์ ปูซู ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดปัตตานี และประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพซึ่งเคยร่วมงานกับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ที่สำนักส่งเสริมฯช่วงปี 2537 เล่าว่า ช่วงนั้นอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ทำงานหลายอย่างแล้ว โดยลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ หลายครั้งทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อชักชวนกลุ่มผู้หญิงจัดตั้งสหกรณ์ชุมชนและตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อหารายได้เสริม

“อาเยาะห์จริงจังกับงานทุกเรื่อง อาเยาะห์พยายามสอนให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง” นายนาวาวี บัวหลวง ลูกชายคนโตของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์พูดถึงอาเยาะห์ (พ่อ) ในฐานะที่เคยลงพื้นที่ด้วยกันอยู่บ่อยครั้ง

จากจุดนี้เองที่ทำให้อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ได้ขยายบทบาทตัวเองไปทำเรื่องอื่นๆ ตามมา จนกระทั่งกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เขาสามารถแสดงบทบาทด้านการสร้างสันติภาพในฐานะนักวิชาการสันติวิธี

ลงพื้นที่พัฒนาชุมชน

พื้นที่แรกๆ ที่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ลงไปทำงานมีหลายแห่งเช่น ที่บ้านกะดุนง ต.เกะรอ อ.รามัน จ.ยะลา และพื้นที่ ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

การลงพื้นที่ดังกล่าวทำให้อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ทราบปัญหาความเดือดร้อนอื่นๆ ของชาวบ้านไปด้วย เช่น ที่บ้านกะดุนง ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายบุรี ส่วนในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทราบถึงความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์ เป็นต้น

อัฮหมัดสมบูรณ์ได้นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเหล่านั้นออกมาสื่อสารกับภายนอก จนทำให้องค์กรต่างๆ จากภายนอกเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านตามมามากขึ้น

ด้วยเหตุนี้งานพัฒนาชุมชนหลายแห่งจึงต้องทำไปพร้อมๆกับงานอื่นด้วยโดยเฉพาะงานด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้ เช่น  ประโยชน์และโทษของการสร้างเขื่อน หรือการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้นหรือเรื่องอื่นๆตามปัญหาที่ชาวบ้านประสบ

ทรัพยากรลุ่มน้ำสายบุรี

หลังจากการลงพื้นที่บ้านกะดุนงของอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ และการนำเรื่องต่างๆออกมาสื่อสาร โดยเฉพาะความหวาดกลัวต่อผลกระทบจากการสร้าง “เขื่อนสายบุรี” ของชาวบ้าน ทำให้มีนักวิชาการและองค์กรต่างๆ เข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่มากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คืออาจารย์นุกูล รัตนดากุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานีซึ่งยังคงร่วมทำงานด้วยกันกับอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ในเวลาต่อมาอีกหลายปี


นุกูล รัตนดากุล

ในตอนนั้น การเคลื่อนไหวต่อต้านเขื่อนสายบุรีได้ก็ขยายวงกว้างมากขึ้น กระทั่งราวปี 2535 - 2540 กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกับสมัชชาคนจนรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ จนรัฐบาลต้องชะลอและยกเลิกโครงการไปเมื่อปี 2540 แม้ภายหลังกรมชลประทานพยายามที่จะรื้อฟื้นโครงการอยู่ตลอด แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆอย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังปี 2547 ที่เกิดเหตุไม่สงบขึ้น แกนนำคัดค้านเขื่อนสายบุรีหลายคนถูกยิงเสียชีวิต ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา แกนนำบางส่วนไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหวอีก

เชื่อมคนรอบอ่าวปัตตานี

ราวปี 2534 ชุมชนรอบอ่าวปัตตานีได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรงจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงชายฝั่ง ซึ่งเป็นผลจากการทำประมงแบบทำลายล้างของเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ใช้อวนลากอวนรุนเข้ามาทำประมงในเขตห้ามระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง

ความเสื่อมโทรมดังกล่าวส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเรืออวนลากอวนรุน ถึงขั้นมีการใช้ปืนยิงและมีการใช้ความรุนแรง แม้เจ้าหน้าที่ได้จับกุมเรือที่ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายได้หลายครั้ง แต่ปัญหาก็ไม่ลดลง เพราะพวกเขาได้รับการประกันตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ด้วยเหตุนี้ ทำให้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านรวมตัวจัดตั้งสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีขึ้นมาโดยความช่วยเหลือจากองค์กรภายนอก ต่อมาปลายปี 2535 ชุมชนบ้านดาโต๊ะได้ตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา ชื่อ “กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์อ่าวปัตตานี” มี 12 ชุมชนเป็นสมาชิก มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานีในปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดปัญหาความไม่สงบแล้ว


ลม้าย มานะการ

ในช่วงที่ปัญหาความเสื่อมโทรมของอ่าวปัตตานีรุนแรงมากๆช่วงนั้นอาจารย์นุกูล รัตนดากูล จาก ม.อ.ปัตตานี ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำวิจัยเรื่องนกในอ่าวปัตตานีด้วย เสมือนต้องการยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานี จนทำให้นกอพยพเข้ามาหากินในอ่าวปัตตานีจำนวนมากซึ่งจำเป็นที่จะต้องปกป้องอ่าวจากการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง

ทีมวิจัยของอาจารย์นุกูล มีนางสาวลม้าย มานะการ เป็นทีมงานคนหนึ่งด้วย

การพบกันระหว่างอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์กับอาจารย์นุกูลครั้งนี้เป็นเติมเต็มการทำงานชุมชนได้อย่างลงตัวอย่างมากดังที่อาจารย์นุกูลบอกไว้ว่า ตนเองมีความรู้เรื่องทรัพยากร แต่ไม่เก่งเรื่องการประสานงานกับชาวบ้าน แต่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์รู้จักพื้นที่ดีและเข้ากับชาวบ้านได้ มีวาทศิลป์ในการคุยกับชาวบ้าน

“ผมจึงทำหน้าที่ให้ความรู้ ส่วนอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ก็เป็นตัวเชื่อมประสานกับชาวบ้าน” จากนั้นทั้งสองคนก็ได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้งในหลายพื้นที่

ชุมชนสะบ้าย้อยกับเหมืองถ่านหิน

การเข้าไปส่งเสริมการตั้งสหกรณ์ที่บ้านควนหรัน ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทำให้อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์รับทราบว่า การไฟฟ้าผ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องการย้ายหมู่บ้านถึง6 หมู่บ้านใน ต.ทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย ออกไป เพื่อหลีกทางให้กับการขุดถ่านหินลิกไนต์มาผลิตไฟฟ้า

ในจำนวน 6 หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านมุสลิมถึง5 หมู่บ้าน ซึ่งประเด็นที่ชาวบ้านนำมาเป็นเหตุผลในการต่อต้านโครงการ นอกจากต้องย้ายบ้านเรือน ต้องสูญเสียที่ทำกินแล้ว ยังต้องย้ายมัสยิดและกูโบร์(สุสาน) ออกไปด้วย ซึ่งในช่วงนั้นมีปัญหาการกระทบกระทั่งกันแล้วระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่สำรวจของ กฟผ.

กฟผ.ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2530 แต่ชาวบ้านเริ่มประท้วงคัดค้านตั้งแต่ปี 2536 ต่อเนื่องจนปัจจุบัน

ในช่วงแรกอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ต้องการลงพื้นที่เพื่อสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนแต่กลับถูกชาวบ้านมองว่าเป็นคนของ กฟผ. เนื่องจากช่วงนั้นมีปัญหาความหวาดระแวงมีสูงมาก แต่อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์กลับมองว่าไม่ว่าชาวบ้านจะเห็นด้วยหรือคัดค้านโครงการ ก็จำต้องมีข้อมูลก่อน ต้องรู้ถึงผลดีผลเสียของการทำเหมืองถ่านหินก่อน เขาจึงมุ่งเน้นการให้ความรู้เป็นหลัก


จิระพันธ์ เดมะ

ต่อมาในช่วงหลังปี 2547 ทางจังหวัดสงขลาได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาผลดีผลเสียของการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อยขึ้นมาโดยมีนายจิระพันธ์ เดมะ นักวิชาการจาก ม.อ.ปัตตานีเป็นหัวหน้าคณะ

คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำความเห็นและความต้องการของชาวบ้านมาให้รัฐ และนำความเห็นและความต้องการของรัฐไปให้ชาวบ้าน โดยอาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์กรรมการคนหนึ่งด้วย

คณะกรรมการชุดนี้ทำงานต่อเนื่องยาวนานหลายปี แต่สุดท้ายมีผลสรุปว่า ชาวบ้านเกือบ 100% ไม่เห็นด้วยอยู่ดี โดยหนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่ต่อต้านเหมืองถ่านหินคือ นายหามะ ดอเลาะ อดีตสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) สงขลา ซึ่งนายหามะถูกยิงเสียชีวิตในเดือนพฤษภาคม 2551 ท่ามกลางปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในพื้นที่

“บ่อเหม็น” ที่รูสะมิแล


จะเด็ด ศิริบุญหลง

ช่วงก่อนปี 2540 อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เข้าไปมีบทบาทแก้ไขความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านรูสะมิแลกับเทศบาลเมืองปัตตานีที่ต้องการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในชุมชนรูสะมิแล เนื่องจากชาวบ้านไม่ต้องการ

โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียแห่งนี้อยู่ไม่ไกลจาก ม.อ.ปัตตานีมากนัก โดยชาวบ้านเรียกว่า “บ่อเหม็น” ช่วงนั้นทางเทศบาลได้เริ่มก่อสร้างไปบ้างแล้ว ปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยอยู่

นายจะเด็ด ศิริบุญหลง พนักงานบริหารงานทั่วไป สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ตอนนั้น อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เสนอให้มีการทำประชาพิจารณ์ซึ่งชาวบ้านเห็นด้วย เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการต่อต้านโครงการได้ แต่สุดท้ายไม่ได้ทำและมีการยกเลิกโครงการไปในที่สุด

ชุมชนศรัทธา

บทบาทงานชุมชนในช่วงหลังๆ ที่น่าสนใจงานหนึ่งและเป็นงานในช่วงท้ายๆของชีวิตก็คือการเป็นผู้ประเมินโครงการเครือข่ายชุมชนศรัทธาหรือกำปงตักวา มีชื่อเต็มว่า โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนตามวิถีอัตลักษณ์ที่เป็นทุนเดิมของชุมชน

เป็นโครงการที่เน้นกระบวนการและการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ภายใต้โครงสร้างอำนาจของชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เริ่มตั้งแต่ปี 2551 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหมู่บ้านเป้าหมาย 120 หมู่บ้าน

อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์เริ่มประเมินชุมชนศรัทธาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว โดยการร่วมถอดบทเรียนชุมชนศรัทธา ซึ่งนายแวรอมลี แวบูละ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนศรัทธา เปิดเผยว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์ลงพื้นที่ 20 ชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลและประเมินผลด้วยตัวเอง

นายแวรอมลี บอกว่า อาจารย์อัฮหมัดสมบูรณ์คิดว่าหลักการของชุมชนศรัทธาเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้

“ก่อนเดินทางไปสวีเดน อาจารย์ยังกระซิบบอกผมเลยว่า แม้แต่ผู้เห็นต่างจากรัฐก็เห็นด้วยกับแนวทางของชุมชนศรัทธา และจะเอาเรื่องชุมชนศรัทธาไปคุยกับคนที่อยู่ในสวีเดนและในประเทศอื่นๆด้วย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net