เสวนา10 ปีสื่อทางเลือก ทบทวนและท้าทาย (2) ประชาชนทำสื่อ

22 ม.ค.2558  ประชาไทจัดงาน 10 ปี ‘สื่อทางเลือก’ ทบทวนและท้าทาย ที่โรงแรม โรงแรมเอทัส ลุมพินี โดยแบ่งหัวข้อการพูดคุยเป็นประเด็นสื่อเยาวชน, สื่อทางเลือก, ประชาชนทำสื่อ และผู้สนับสนุนคนทำสื่อ งานนี้จัดโดยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (Foundation for Community Educational Media: FCEM) โครงการศูนย์การเรียนรู้สื่อ (Media Learning Center: MLC) และเว็บไซต์ประชาไท ได้รับความสนใจจากเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อ ภาคประชาสังคม เยาวชน ราว 70 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อขอเข้าฟังการเสวนาด้วย

ในส่วนของเวทีเสวนา ‘ประชาชนทำสื่อ: มุมมองท้าทาย เพื่ออนาคต’ มีวิทยากรประกอบด้วย จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) (ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไท), สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส (อดีตบก.เว็บไซต์ประชาไท), วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ,  สุชัย เจริญมุขยนันท สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี, บุญจันทร์ จันหม้อ ประธานเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง และผู้ดำเนินรายการคือ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

สมเกียรติ จันทรสีมา : มุมสื่อหลักผู้สนับสนุนการทำสื่อของชาวบ้าน-เอ็นจีโอ

ย้อนไปปี 47 มีคำถามในหมู่ภาคประชาสังคมว่าถึงเวลาหรือยังที่ต้องลุกมาทำสื่อเอง ข้อสรุปตอนนั้นคือการสื่อสารเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำ เพราะมีสื่อมวลชนทำอยู่แล้ว และภาคประชาสังคมมีภาระงานอื่นๆ ที่สำคัญกว่า

“ตอนนั้นมองกันว่าเป็นภาระ ผ่านไปสิบปีมันพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ตอนนี้ไม่มีใครพูดแบบนั้นแล้ว”

ก่อนปี 51 ที่จะมีไทยพีบีเอสก็มีการพูดถึงเรื่องนักข่าวพลเมืองแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่มากกว่าช่องทางคือ สิทธิการสื่อสารซึ่งเป็นสิทธิของทุกคน เมื่อผนวกกับการเปิดพื้นที่ในยุคปัจจุบันที่กว้างขึ้นมากแต่ไม่มีเนื้อหาไปออกทำให้การทำสื่อเฟื่องฟูขึ้นมากแม้แต่กลุ่มคนชายขอบของสังคม เพราะเป็นการสร้างตัวตนของพวกเขาด้วย

ในปีกของสื่อมวลชนเองก็เห็นการเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้สื่อมวลชนก็ปรับตัวเยอะ ไม่มีใครคิดว่าข้อมูลในโลกออนไลน์ไม่น่าเชื่อถือ ใช้ไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเนื้อหาของภาคประชาชนจะถูกหยิบมาใช้ จึงยังต้องหาพื้นที่การสื่อสารของตัวเองอยู่ ยังต้องต่อสู้ทั้งในด้านการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอเพื่อให้สังคมเห็นการดำรงอยู่ของประเด็นปัญหา รวมถึงตัวตนของกลุ่มประชาสังคมต่างๆ

ช่วงที่ทำนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส มีการทำวิจัยในพื้นที่อีสาน กรณีชาวบ้านราษีไศลต่อสู้เรื่องเขื่อน ชาวบ้านทำสื่อชื่อ คนทาม มีคนทำสื่อราว 10 คน พวกเขาสามารถทำคลิปวิดีโอ ที่ได้ออกอากาศประมาณ 38 เรื่อง (คลิปละ 3 นาที) งานวิจัยพบว่า ชิ้นงานที่เขาทำนั้นนอกจากฉายให้ชาวบ้านในกลุ่มดูแล้วยังฉายให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ดูและมันทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจว่าทำไมชาวบ้านต้องต่อสู้ จากเดิมที่คิดว่ามาชุมนุมเพราะอยากได้เงิน ดังนั้น จะเห็นว่าการคิดหลายชั้นเพื่อพยายามสื่อสารกับสารธารณะนั้นสามารถเอื้อประโยชน์ต่อการอธิบายกับคู่ขัดแย้งหรือคนที่เกี่ยวข้องได้ด้วยเช่นกัน

ถามว่าแล้วจะไปต่ออย่างไร ขอแบ่งเป็น การสื่อสารของภาคประชาชนที่จะแทรกสื่อหลักเป็นระยะๆ, ระดับชุมชน พื้นที่ ต้องมีสื่อของตัวเอง ที่สำคัญคือการสร้างความร่วมมือ ภาคประชาสังคมนับรวมหอการค้าและส่วนอื่นๆ ด้วย องค์กรอื่นๆ, สื่อหลัก, สถาบันการศึกษา รวมถึง แหล่งทุน

จอน อึ๊งภากรณ์ : สร้างโครงสร้างสื่อทางเลือก ระดมความร่วมมือ

ในช่วงก่อตั้งเว็บประชาไทปี 2547 ความรู้สึกของผมคือ อินเตอร์เน็ตทำให้ภาคประชาสังคมมีสื่อของตัวเองได้ จากที่ไปประชุมที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้เจอคนที่ทำสื่อ มินดาเนา เป็นสื่อที่พยายามแก้ความเข้าใจผิดที่สังคมโลกมองมินดาเนาเป็นเกาะแห่งความขัดแย้งและการก่อการร้าย จึงคิดว่าเราก็ทำได้ในยุคสมัยใหม่ เป็นโอกาสที่ดีที่จะมีสื่อของภาคประชาสังคม เพราะที่ผ่านมาสื่อหลักไม่ค่อยสนใจข่าวคราวของชาวบ้าน

ปัญหาที่เกิดในปัจจุบันของสื่อของชุมชน  ชุมชนในที่นี้หมายถึงชุมชนทางภูมิศาสตร์ก็ได้ หรือชุมชนในแง่ ประเด็นปัญหา วัฒนธรรม ความสนใจหรือแนวคิดเดียวกันก็ได้ สิ่งที่ท้าทายในยุคปัจจุบันคือ ในเมื่อทุกคนสามารถมีสื่อได้ ใครที่จะผลิตถ้าขาดความชำนาญในการผลิต สื่อนั้นจะไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะไปถึง

“มันไม่ง่ายแค่เปิดเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊คแล้วเขียนลงไป ไม่มีหลักประกันใครจะอ่าน ดังนั้น จึงต้องมีทักษะหรือความเป็นมืออาชีพ แต่ก่อนอื่นคิดว่าสื่อชุมชนต้องเป็นประชาธิปไตย เป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน แต่สื่อชุมชนของเราหลายแห่งยังไม่เป็นประชาธิปไตยแบบนั้น”

นอกจากนี้สื่อของชุมชนควรระดมทุนได้เอง มีส่วนร่วมได้ในทุกส่วนทั้งภาคบริหารและปฏิบัติ การดำเนินการเพื่อชุมชนคือการดำเนินการต้องสอดคล้องต่อความต้องการของชุมชน ไม่เป็นพิษภัยต่อชุมชน และให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายในชุมชน และต้องมีจริยธรรมไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก จริยธรรมเป็นเรื่องไม่ง่าย จริยธรรมของสื่อชุมชนในอังกฤษที่เขายอมรับกันคือ ต้องเปิดโอกาสให้คนมีความเห็นต่างกันสามารถแสดงความเห็นได้ สังคมไทยขณะนี้เราชินกับสื่อโฆษณาชวนเชื่อมาก โดยลืมไปว่ามันไม่ยั่งยืน หากไม่มีหลักฐาน ข้อมูล เหตุผล และเปิดให้คนมาถกเถียง

สุดท้ายต้องผลักดันการแก้กฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำสื่อชุมชน ต้องแก้เรื่องกฎอัยการศึก ระบบเผด็จการ กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ และเราต้องมีหน่วยงานที่จะเสริมทักษะให้กับสื่อชุมชน

ทางออกที่ควรเป็นในระยะยาว ต้องสร้างโครงสร้าของสื่อชุมชนขึ้นมา ต้องหาทุน-หาความร่วมมือ ยกตัวอย่าง ที่ออสเตรเลีย มีสมาคมวิทยุชุมชนที่เข้มแข็ง มีคลื่นที่ออกทั่วประเทศโดยเอารายการแต่ละชุมชนมาแบ่งกันออกคนละช่วง หรือของอังกฤษ สมาคมสื่อชุมชนของอังกฤษก็มองหลายแพลตฟอร์ม ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เว็บไซต์ เขามีบริการสตรีม คิดค่าบริการผู้อ่านเดือนละ 1,000  เว็บไซต์เขาคล้ายบีบีซี ฟังวิทยุชุมชนที่ออกอากาศสดได้ทั่วประเทศ และมีรายการย้อนหลังให้ดาวน์โหลดด้วย

วิชาญ อุ่นอก : วิทยุชุมชนขาลง จะกอบกู้อย่างไร?

สหพันธ์วิทยุชุมชน เป็นการรวมกลุ่มของวิทยุชุมชน เกิดขึ้นในปี 2545 ที่ผ่านมามีคำถามเสมอว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ประชาชนต้องมาทำสื่อ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าจำเป็นมาก แต่ผ่านมา 10 ปี เราไปถึงเป้าหมายหรือเปล่า ทำไมยังคงเป็นสื่อทางเลือก คือ ไม่เลือกก็ได้ หากย้อนไปในอดีต หลังบรรยากาศเริ่มเปิดเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2540 คนก็ตั้งวิทยุชุมชนกันเต็มไปหมด รัฐ ทุนก็มาตั้งวิทยุชุมชน ทำให้สังคมมองในแง่ลบว่าวิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือทางการเมืองบ้าง หลอกลวงขายสินค้าผู้บริโภคบ้าง

วิทยุชุมชน 7,000-8,000 สถานีที่ขึ้นทะเบียนกับ กสทช. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ บริการสาธารณะ บริการธุรกิจ บริการชุมชน สองส่วนแรกนั้นมีอยู่ราว 3,000-4,000 สถานี ส่วนบริการชุมชนนั้นมีเพียง 100 กว่าสถานีและกำลังลดกำลังลงทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

กสทช.บางคนพยายามจะสนับสนุนให้วิทยุชุมชนกลับมามีบทบาทอีกครั้ง แต่คนในสังคมเองก็มีคำถามเพราะวิทยุชุมชนก็มีโฆษณา (บริการสาธารณะและบริการธุรกิจมีโฆษณาได้) จะเอาเงินรัฐไปสนับสนุนทำไม ทำให้ตอนนี้กลุ่มวิทยุชุมชนเพื่อบริการชุมชนจริงๆ ซึ่งมีจำนวนน้อยทำอะไรไม่ได้ หลายสถานีปิดไปแล้ว หลายสถานีที่ตั้งมาใหม่ก็ไม่สามารถสู้กับส่วนอื่นๆ ได้

บทสรุปของตัวเองที่ทำงานกับวิทยุชุมชนมา คือ การขาดทักษะ องค์ความรู้ ศิลปะในการนำเสนอ ทำออกมาจะออกมาเป็นลูกทุ่งๆ สื่ออื่นก็ไม่ยอมรับว่าเป็นสื่อประเภทหนึ่ง หรือไม่มีคนฟัง เมื่อไม่มีคนฟังการระดมทุนเพื่อมาพัฒนาต่อก็เป็นเรื่องยาก แถมถูกกำหนดอีกว่าห้ามโฆษณา จึงทำให้ระดมทุนมาพัฒนาสิ่งต่างๆ นั้นยาก สถานีวิทยุชุมชนจึงมีคนทำงานเพียง 1-2 คน

ปัจจุบันถ้าสถานีไหนถูก คสช.ปิดจะขอเปิดใหม่นั้นยากมาก ต้องทำเอกสารปึกใหญ่มาก เสร็จแล้วต้องเดินไปให้ อบต.หรือเทศบาล ตอบรับว่าสถานีถูกหลักตามหลักวิศวกรรม จากนั้นต้องไปทำเอ็มโอยูกับทหารในพื้นที่ว่าต้องไม่ทำอะไรบ้าง แล้วจึงเดินมาที่ กสทช. เพื่อขอใบอนุญาตชั่วคราว  อายุ 1 ปี ขณะที่เรื่องกฏหมายสำคัญมาก กสทช.ก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในนานแค่ไหน ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ต้องแบ่งคลื่นให้ภาคประชาชน 20% ไม่แน่ใจว่าข้อกำหนดนี้จะยังอยู่หรือไม่

“ทหารเขาคงเห็นว่าในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมามันกำกับไม่ได้จริงๆ ช่วงหลังแม้รุนแรงไปบ้างแต่มันก็เป็นกระบอกเสียงของพื้นที่จริงๆ ไม่ว่าเหลืองหรือแดง ข้อมูลมันอาจเท็จบ้างจริงบ้างแต่มันก็ถึงชาวบ้านมาก สื่อหลักเองก็ต้องระวังเพราะมีคนตรวจสอบเขาเยอะแยะเลย”

ในอนาคตสื่อภาคประชาชน สื่อทางเลือกอาจต้องคิดมากขึ้นในเรื่องการกำกับดูแล ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในกลุ่มสื่อภาคประชาชน โดยให้ประชาชนกำกับดูแลกันเอง เพราะให้รัฐกำกับคงไม่เกิดความอิสระ นอกจากนี้ต้องมีการสนับสนุนงบประมาณด้วยแต่ยังต้องให้มีความเป็นอิสระ กองทุนที่มีอยู่และรัฐเอากลับคืนไปแล้วจะดึงกลับมาอย่างไรก็เป็นโจทย์ต้องคิด

บุญจันทร์ จันหม้อ ประธานเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

เราเป็นกลุ่มที่ใหม่มาก เริ่มต้นปี 57 โดยความร่วมมือของไทยพีบีเอส มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประชาธรรม สิ่งที่ลุกมาทำสื่อเองเพราะคนอื่นพูดก็ไม่ถูกใจ อยากจะอธิบายเรื่องของตัวเองเองให้สังคมได้เข้าใจชนเผ่าพื้นเมืองมากขึ้น เพื่อจะได้ปกป้องตัวเอง มีปากมีเสียงได้ด้วย มีหลายครั้งที่สื่อภายนอกบอกว่า พวกชาวเขาชาวดอยทำลายป่า ต้นเหตุปัญหาหมอกควัน พวกม้งค้ายา หลายครั้งรู้สึกไม่เป็นธรรม

อนาคตของเครือข่ายชนเผ่าฯ คือจะสร้างความเข้าใจและสัมพันธ์กับสื่อต่างๆ อยากทำความเข้าใจกับสื่อหลักว่าจะจูนกันอย่างไรระหว่างการใช้คำแรงเพื่อขายผู้อ่านกับความชอกช้ำของเรา และเราอาจจะทำคู่มือเพื่ออธิบายชนเผ่าต่างๆ เพื่อเวลาทำข่าวจะได้สบายใจทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้เรายังต้องการพัฒนาตัวเองโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี สิ่งที่เราเรียกร้องไม่ใช่ กสทช. เราเรียกร้อง กสช. และกทช. ทำไมทำมาก็เบี้ยวเรา จนตอนนี้วิทยุชุมชนก็กำลังจะเลือนหายอีกแล้ว อยากเรียกร้องไปยังอาจารย์สถาบันต่างๆ ที่ทำวิจัยช่วยกันผลักดันวิทยุชุมชนในตอนโน้น ถึงตอนนี้วิทยุชุมชนจะตายแล้ว อาจารย์ นักวิจัยต่างๆ จะเหลียวมองวิทยุชุมชนและทำให้หายใจฟื้นคืนมาอีกครั้งจะได้ไหม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท