Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมส่งใบแจ้งข่าว ระบุ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 เวลา 10.15 น. ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก คดีหมายเลขดำที่ อ. 464 / 2555 ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ในคดีระหว่างนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี กับกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง ที่ 4 ตามลำดับ เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

คู่กรณีที่มาศาล ได้แก่ นายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี นายปรีดา นาคผิว และนายรัษฎา มนูรัษฎา ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ไม่มาศาล
   
บุคคลจากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้ารับฟังการพิจารณาคดี ได้แก่ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติและสถานทูตแคนนาดาเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี

ตุลาการศาลปกครองสูงสุด (องค์คณะที่ 5) ออกนั่งพิจารณาคดี โดยตุลาการเจ้าของสำนวนสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นของคดีให้คู่กรณีที่มาศาลฟัง แล้วรับฟังปากคำผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการทรมาน และรับฟังคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีฯ

ตุลาการผู้แถลงคดีเชื่อตามข้อเท็จจริงในสำนวนซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีการโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยเชื่อว่ามีการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีไปแถลงข่าวที่ปราศจากความจริง มีการทำร้ายร่างกายและจิตใจผู้ฟ้องคดีอย่างสาหัส ขณะอายุเพียง 18 ปี ซึ่งยังเป็นเยาวชน ทั้งยังนำตัวไปควบคุมรวมกันกับผู้ใหญ่ มีผลการตรวจร่างกายปรากฏเป็นหลักฐานตามใบรับรองแพทย์ทั้งแพทย์จากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และจากองค์กรระหว่างประเทศการฟื้นฟูผู้เสียหายจากการทรมาน (IRCT)

จึงเห็นสมควรให้ผู้ถูกฟ้องที่ 4 คือสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี ในความผิดต่อร่างกาย อนามัย จิตใจ และสิทธิเสรีภาพค่าสินไหมทดแทนค่าเสียหายอันทำให้เสียชื่อเสียงจากการนำตัวไปแถลงข่าว เป็น ค่าขาดประโยชน์ ทำมาหาได้ จากการรับจ้างกรีดยางและรับจ้างทั่วไป เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 233,036 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 202,640 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยแบ่งเป็นสองประเด็น สรุปได้ดังต่อไปนี้

1. ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ ควรชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ วินิจฉัยแล้ว

เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 (กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ได้บรรจุกำลังพลเข้าสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ซึ่งสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) และ กอ.รมน. จัดตั้งขึ้นในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการกระทำภายใต้สังกัด กอ.รมน. อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4

ดังนั้นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่เป็นความรับผิดของผู้ถูกฟ้องที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้อง ในความผิดต่อร่างกาย อนามัย จิตใจ และสิทธิเสรีภาพ

2. ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลว่าค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ฟ้องเรียกเป็นเงินสูงเกินไปหรือไม่

วินิจฉัยแล้วเห็นว่า จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ทั้งเป็นการไม่สมควรที่ควบคุมและกักขังผู้ฟ้องคดีซึ่งเยาวชนรวมกับบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งยังมีการนำตัวไปแถลงข่าวโดยปราศจากความผิด มีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ จึงเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนค่าเสียหายต่อร่างกายและอนามัย เป็นเงิน 100,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนค่าเสียหายอันทำให้เสียชื่อเสียงจากการนำตัวไปแถลงข่าว เป็นเงิน 100,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ ทำมาหาได้ จากการรับจ้างกรีดยางและรับจ้างทั่วไป เป็น เวลา 22 วัน วันละ 120 บาท เป็นเงิน 2,640 บาท

รวมเป็นเงิน 202,640 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 19 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี คิดเป็นเงินจำนวน 30,396 บาท รวมค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ฟ้องคดีที่ 4 ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินทั้งสิ้น 233,036 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 202,640 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดียื่นคำแถลงเป็นหนังสือ และนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี แถลงด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะฯ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ นำกำลังเข้าปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวจากบ้านพักอาศัยของตน ขณะที่ตน มารดา และน้องๆ นอนหลับพักผ่อนอยู่ นำตนไปรวมกับคนในครอบครัวอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ผู้นำศาสนาในชุมชน แล้วนำไปแถลงข่าว ที่สถานีตำรวจ จากนั้นนำไปคุมขังในรถยนต์บรรทุกผู้ต้องหาของหน่วยงานตำรวจซึ่งจอดอยู่ในค่ายทหารฐานปฏิบัติการทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ที่ตั้งอยู่ในวัดสวนธรรม ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตนถูกเจ้าหน้าที่ทหารทรมานทำร้ายร่างกายจริงด้วยการกระทำที่โหดร้าย ทารุณ ทั้งตบ ต่อย เตะ มัดขาทั้งสองข้างแขวนห้อยหัว ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง ใช้เข็มแทงบริเวณใต้ตา เล็บ อวัยวะเพศ สับพริกสดทาหน้าอก นำเบียร์มาสาดรดหน้าอกและใบหน้า ทำให้เกิดความบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ

และนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ได้ขอแถลงด้วยวาจาเพิ่มเติมต่อจากผู้ฟ้องด้วยในสองประเด็น คือ เหตุการณ์การทรมานเกิดขึ้นพร้อมกับนายยะผา กาเซ็ง ซึ่งเสียชีวิตภายหลังถูกทรมานแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการกระทำของเจ้าหน้าที่ อยากให้ศาลปกครองพิจารณาคดีนี้เป็นบรรทัดฐานเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้โปรดพิจารณาค่าเสียหายจากการถูกทำร้ายร่างกายและทรมานตามมาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน

องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดจะได้ประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป โดยศาลจะได้มีหมายแจ้งกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาคดีส่งทางไปรษณีย์ให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายทราบต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net