Skip to main content
sharethis

เผยร้านค้าออนไลน์ เจอลูกค้ามิจฉาชีพใช้วิธีตบตาว่าโอนเงินแล้ว ด้วยโปรแกรมแต่งภาพโฟโตชอปแก้ไขภาพสลิปโอนเงิน หรือส่ง SMS ปลอมแสร้งว่าธนาคารโอนเงินมาแล้ว ส่วนลูกค้าออนไลน์ เจอร้านค้าหลอกให้โอนเงิน แต่ไม่ส่งของ

ในยุคที่โซเชียลมีเดียได้รับความนิยม พ่อค้าแม่ค้าหลายคนมองเห็นโอกาสนี้เป็นช่องทางในการหารายได้ นั่นคือการเปิด “ร้านค้าออนไลน์” ในเฟซบุ๊ก ปัจจุบันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

แม้การเปิดร้านค้าออนไลน์จะมีความสะดวก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ติดต่อกันได้ง่าย ผู้ซื้อสามารถสั่งสินค้าได้ตลอดเวลา แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดจากการขายของออนไลน์คือ การโกงด้วยวิธีต่างๆ จากมิจฉาชีพที่มีวิธีการใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ โดยในเว็บไซต์พันทิพ มีผู้เสียหายจำนวนหนึ่งโพสกระทู้เพื่อเตือนภัยผู้ขายรายอื่นไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

โดยมีกรณีที่ ผู้เสียหายรายหนึ่งใช้ชื่อบัญชี "คุณแม่วัยกระเตาะ" โพสเล่าถึงเหตุการณ์ว่า มีลูกค้ารายหนึ่งสั่งซื้อสินค้ากับเธอ โดยตกลงซื้อขายกันเรียบร้อย รวมมูลค่า 600 บาท จากนั้นเวลา 21.00 น. ลูกค้าได้แจ้งการโอนเงินไปยังผู้เสียหาย โดยแนบสลิปการโอนเงินของธนาคารกรุงเทพ เมื่อผู้เสียหายทำการตรวจสอบก็ไม่พบยอดเงินโอนเข้าตามที่แจ้ง แต่ทางลูกค้านั้นยืนยันว่าโอนเงินเรียบร้อย

ตัวอย่างสลิปการโอนเงินปลอมจากผู้ใช้ชื่อบัญชี "คุณแม่วัยกระเตาะ"

ตัวอย่างสลิปการโอนเงินปลอมของเจ้าทุกข์รายอื่น

สิ่งที่ทำให้ผู้เสียหายนั้นไหวตัวทันก็คือ สลิปเงินที่ดูผิดสังเกตซึ่งถูกปลอมแปลงขึ้นมาโดยใช้โปรแกรมโฟโตชอป (Photoshop) ดัดแปลงแก้ไข ซึ่งดูสมจริงเป็นอย่างมาก มีเจ้าทุกข์รายอื่นแจ้งเพิ่มเติมเข้ามาว่าโดนมิจฉาชีพรายนี้หลอกในรูปแบบเดียวกันโดยใช้สลิปใบเดิม เพียงแค่เปลี่ยนยอดเงินโอน เวลาการโอน เลขบัญชีธนาคาร

ผู้เสียหายอีกรายหนึ่ง ใช้ชื่อบัญชีว่า "hussell_bank" ได้โพสกระทู้เตือนภัยกรณีสลิปโอนเงินปลอมในเว็บไซต์ dvdtook.com พร้อมทั้งบอกถึงจุดสังเกตที่ทำให้ทราบว่าสลิปใบนั้นผ่านการใช้โปรแกรมโฟโตชอป

ภาพจากเจ้าของกระทู้ ชื่อบัญชี "hussell_bank"

ผู้ใช้ชื่อบัญชี hussell_bank บอกถึงจุดพิรุธที่ตนสังเกตได้จากภาพว่า มีจุดสังเกตอยู่ 4 จุด คือ

1.จากภาพ ตรงมุมซ้ายมือ จะมีรอยเลอะหมึกตรงตำแหน่งใบแรกที่แจ้งมา
2.มุมขวามือของกระดาษจะแหว่งนิดหน่อยเหมือนกับใบแรก
3.รอยยับด้านล่างกระดาษทั้งแถบเหมือนกับใบแรก ทั้งตำแหน่งและรูปร่าง
4.ขอบจากใบที่ 2 หลงเหลือพื้นที่สีแดงที่มาจากการครอบตัดฉากหลังของภาพแรกออก แต่ยังมีร่องรอยหลงเหลืออยู่ แล้วนำมาเพิ่มขนาด

ผู้ใช้ชื่อบัญชี hussell_bank คาดว่ามีการใช้โปรแกรมตกแต่งภาพ ซ้อนภาพที่เป็นข้อมูลรายละเอียดการโอนเงิน (หมึกพิมพ์) ลงไปในฉากสลิปเปล่า ซึ่งมองแล้วค่อนข้างดูสมจริง

นายอนันต์ (สงวนนามสกุล) เล่าว่า เคยขายของผ่านเกมส์ออนไลน์มาก่อน และเกือบตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่เล่นเกมส์ออนไลน์ด้วยกัน ในตอนนั้นตนได้ตกลงการซื้อขายกับมิจฉาชีพเป็นเงินจำนวน 1000 บาท จากนั้นไม่นานมิจฉาชีพใช้กลโกงในรูปแบบการส่ง SMS การโอนเงินปลอม ตนรู้สึกว่า SMS มีพิรุธ สังเกตได้จาก SMS แจ้งเตือนที่ไม่ได้ส่งมาจากธนาคารโดยตรง แต่เป็นเบอร์ของมิจฉาชีพ ใช้วิธีการพิมพ์ข้อความลอกเลียน SMS ของธนาคารแล้วส่งมายังอนันต์ หากเป็นการโอนเงินจริง SMS ที่ได้รับต้องมาจากทางธนาคารเท่านั้น เมื่อทำการตรวจสอบกับธนาคารก็ไม่พบเงินเข้าบัญชีจริง โชคดีของตนที่ยังไม่ส่งของผ่านเกมส์ออนไลน์ไปยังมิจฉาชีพ

ตัวอย่าง SMS ปลอม

ตัวอย่าง SMS จริงจากธนาคาร

ในทางกลับกัน อีกด้านหนึ่งคือ "ผู้ซื้อ" ซึ่งได้รับผลกระทบจากร้านค้าออนไลน์อยู่จำนวนไม่น้อย จะพบได้ว่ามีผู้เสียหายเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ และมีการโพส แชร์ ผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อเตือนภัยแก่ผู้ที่คิดจะสั่งสินค้าออนไลน์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในคราบร้านค้าออนไลน์

นายชาตรี (สงวนนามสกุล) หนึ่งในผู้เสียหายจากการซื้อของออนไลน์เล่าว่า เขาซื้อสินค้าออนไลน์บ่อย โดยเฉพาะอุปกรณ์กีฬา เมื่อไม่นานมานี้ได้ติดต่อซื้อขายกับพ่อค้ารายหนึ่ง รวมเป็นเงินจำนวน 6,500 บาท หลังจากโอนเงินแล้ว พ่อค้าก็ตกลงว่าจะส่งของให้ ตนจึงขอเลขแทร็ค EMS ไว้ เพือตรวจสอบการขนส่งพัสดุ ทางพ่อค้าตอบกลับว่าขอเวลาสักหน่อย เพราะให้ลูกน้องเป็นคนออกไปส่งของ เวลาผ่านไปสักพักเขายังไม่ได้รับเลขแทร็คจากพ่อค้า เขาจึงโทรศัพท์หาพ่อค้าแต่ก็ไม่มีการรับสาย หลังจากนั้นพ่อค้าโทรศัพท์กลับมาแจ้งว่ารอลูกน้องอีกสักพักนะ จากนั้นเขาก็ไม่ได้รับการติดต่อจากพ่อค้าอีกเลย เขาพยายามโทรศัพท์ไปยังพ่อค้าแต่ก็ไม่รับสาย จึงได้แจ้งความกับตำรวจที่ สน.พญาไท ทางตำรวจได้รับเรื่องไว้ รอสอบปากคำเพิ่มเติมและเตรียมออกหมายจับพ่อค้ารายนี้

นายศุภชัย (สงวนนามสกุล) ผู้เสียหายจากการซื้อ-ขายออนไลน์อีกรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เคยซื้อของออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หนึ่ง โดยตั้งรับสินค้าที่ตนนั้นสนใจ จากนั้นมีพ่อค้ารายหนึ่งติดต่อมาหาตนทางอีเมล์เพื่อเสนอขายสินค้า เมื่อตกลงซื้อขายกันเสร็จตนจึงทำการโอนเงิน รวม 2,800 บาท วันต่อมาตนได้ค้นหาข้อมูล รูปสินค้าเล่นๆ ผ่านเว็บไซต์กูเกิล และได้เจอรูปสินค้าที่ตนสั่งซื้อซึ่งเป็นรูปเดียวกันกับที่พ่อค้าส่งมาให้ จึงนำอีเมล์พ่อค้ามาค้นชื่อ จึงทราบว่าพ่อค้ารายนี้เป็นมิจฉาชีพ หลอกขายสินค้ามาแล้วหลายราย เขาได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังพ่อค้าแต่ไม่ได้รับการตอบรับ จึงไปแจ้งความ ทางตำรวจบอกว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่ง เพราะมีการตกลงซื้อขายกันทั้งสองฝ่าย ถ้าอยากเอาผิดต้องขึ้นศาลถึงจะดำเนินคดีได้ และต้องใช้ทนายในการเดินเรื่อง เขาเห็นว่ามีความยุ่งยากเกินไปจึงไม่แจ้งความและถือว่าความผิดพลาดครั้งนี้เป็นบทเรียน

กลโกงต่างๆ ไม่ว่าจะทั้ง “ผู้ขาย” หรือ “ผู้ซื้อ” ยังมีอีกหลายรูปแบบโผล่มาเรื่อยๆ อาทิ หลอกให้ส่งของก่อนแล้วจึงจะโอนเงินภายหลัง หลอกว่าโอนเงินเกินตามที่ตกลงให้ช่วยโอนคืนภายหลัง หรือทำการโอนเงินให้เพื่อนแล้วส่ง SMS แจ้งการโอนไปผู้ขาย เบื้องต้นหากโดนมิจฉาชีพหลอกลวง ให้ทำการบันทึกหลักฐานสำคัญของมิจฉาชีพไว้ เช่น เลขบัญชีธนาคาร เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขพัสดุ ข้อมูลการคุยตกลงซื้อขาย จากนั้นนำหลักฐานไปแจ้งความที่สถานีตำรวจและลงบันทึกไว้เพื่อตามจับ

ดังนั้นผู้ที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์อยู่ประจำ ควรซื้อขายอย่างระมัดระวัง ตรวจสอบบัญชีการรับโอนกับธนาคารอย่างละเอียดก่อนส่งของ  เช็คประวัติผู้ซื้อ-ขาย  ข้อมูลส่วนตัวว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยไม่ตกหลุมพรางมิจฉาชีพแห่งโลกออนไลน์

 

หมายเหตุ : ผู้รายงาน เป็นนักศึกษาสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมฝึกงานกับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net