มุสลิมจะอยู่ในข่าว ก็ต่อเมื่อพวกเขาอยู่หลังปืนเท่านั้น!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

อะห์เมด เมราบัต เป็นคนแรกจากผู้บริสุทธิ์ 12 คน ที่ถูกสังหารในเหตุการณ์โจมตีชาร์ลี เอบโด นิตยสารล้อเลียนของฝรั่งเศส ตำรวจมุสลิมชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตอยู่บนทางเท้าของเขต 11 ในปารีส วงเวียนที่สำนักงานใหญ่ของชาร์ลี เอบโด ตั้งอยู่

เมราบัตถูกยิงโดยหนึ่งในมือสังหาร ไม่กี่นาทีก่อนที่พวกเขาจะบุกเข้าไปในสำนักงานของชาร์ลี เอบโด และฆ่าบรรณาธิการใหญ่และนักเขียนการ์ตูนชื่อดังของนิตยสารดังกล่าว

การรายงานข่าวเกี่ยวกับ “เหตุกราดยิงในปารีส” มุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่สเตฟาน ชาร์บอนเนียร์, จอร์จ โวลินสกี้, ฌอง คาบู และเบอร์นาร์ด เวิร์ลแฮก บุคคลสำคัญและเจ้าความคิดผู้อยู่เบื้องหลังชาร์ลี เอบโด

เหยื่อคนแรก อะห์เมด เมราบัต ถูกลบออกไปจากพาดหัวข่าว ผลขยายทางการเมืองและการเป็นแบบอย่างที่มาพร้อมกับการสร้างจุดเด่นให้กับการตกเป็นเหยื่อของเมราบัตไม่อาจถูกเมินเฉยได้ ประการแรก มันจะทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนในเรื่องของการล้อเลียนมุสลิมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นคนนอก และเป็นพวกตกขอบ และประการที่สอง มันจะลบล้างการกล่าวหาชาวมุสลิมในฝรั่งเศสโดยการอุปถัมภ์ของรัฐว่าเป็นผู้กระทำผิดในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ แทนที่จะเป็นพลเมืองที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

มุสลิมและฝรั่งเศส

นอกเหนือจากโศกนาฏกรรมที่ชัดแจ้ง การสังหารที่ชาร์ลี เอบโดแสดงให้เห็นถึงแนวเส้นเดียวที่อัตลักษณ์ของมุสลิมอยู่ในประเด็น และควรค่าแก่การทำข่าวอย่างแท้จริง นั่นก็คือเมื่อพวกเขายืนอยู่ด้านหลังปืน ไม่ใช่ด้านหน้า ในเกือบทุกพื้นที่บนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถาปนิกของโรคเกลียดกลัวอิสลามสมัยใหม่

มุสลิมประกอบเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมากของประเทศฝรั่งเศส อิสลามเป็นศาสนาที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของชาติ และตัวเลขประชากรมุสลิมคิดเป็น 5-10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพลเมือง 66 ล้านคนของฝรั่งเศส

ขนาดของอิสลาม และจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มมากขึ้น ได้กระตุ้นให้เกิดนโยบายกฎหมายที่รุนแรงต่อมุสลิมในปัจจุบัน การห้ามใช้ผ้าคลุมศีรษะในปี 2004 ตามมาด้วยการทำให้นิกอบ หรือการคลุมหน้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี 2010 เป็นการประมวลแกนของแนวคิดแบบเกลียดกลัวอิสลาม กฎหมายฉบับนี้ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนคำประกาศของรัฐที่หนักแน่นและรุนแรงว่า อัตลักษณ์ของมุสลิมและฝรั่งเศสเป็นสิ่งที่ไม่ลงรอยกันและเข้ากันไม่ได้

รูปแบบการวางท่าทีแบบฝรั่งเศสเป็นการค้ำจุนทางโครงสร้างเพื่อการออกกฎหมายเชิงเกลียดกลัวอิสลามต่อไป แต่ร้ายกาจกว่า ด้วยการบดบังมันไว้ภายใต้ธงแห่งฆราวาสนิยมที่รัฐอุปถัมภ์

ข้อห้ามในการแสดงออกทางศาสนาส่งผลกระทบต่อชาวมุสลิมฝรั่งเศส นอกจากนั้น พวกเขายังเฉยเมยต่อการแสดงออกทางกายและทางคำพูดที่เป็นอัตลักษณ์ของมุสลิม เป้าหมายของรัฐในการบังคับให้พลเมืองมุสลิมของตนต้องอยู่แบบฆราวาสนิยมก็เพื่อต้องการยื่นคำขาดให้เลือกระหว่าง “อิสลามกับตะวันตก”, “แผ่นดินของมุสลิมหรือฝรั่งเศส”

ถึงแม้คำขาดนี้จะถูกส่งลงมาจากรัฐฯ แต่ชาวมุสลิมฝรั่งเศสส่วนใหญ่ยังคงปฏิบัติตามความศรัทธาของพวกเขาท่ามกลางความดื้อรั้น และในเวลาเดียวกันก็รับรองสัญชาติของพวกเขาว่าเป็นชาวฝรั่งเศส

การแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงจากภายในประเทศ และจากสังคมเมืองของฝรั่งเศส มองว่าผู้ก่อการร้ายสามคนนั้นเป็นตัวแทนของชาวฝรั่งเศสทั้งชายและหญิง 3-6 ล้านคน ของประเทศ การกล่าวหาชาวมุสลิมฝรั่งเศสทางอ้อมโดยนักการเมืองและสื่อจะส่งเสริมให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงต่อชาวมุสลิมและชุมชนมุสลิมในประเทศอย่างแน่นอน

ความเกลียดกลัวอิสลามของฝรั่งเศส

ถึงแม้จะไม่สามารถจินตนาการได้ก่อนวันพุธ ความเกลียดกลัวอิสลามของฝรั่งเศสก็เตรียมที่จะมีความรุนแรงและแข็งกร้าวมากขึ้นอยู่แล้ว การปะปนการกระทำของผู้ก่อการร้ายเข้ากับประชากรมุสลิมของฝรั่งเศส จากมุมมองของนักเผยแพร่ความเกลียดชัง ทำให้ฝ่ายหลังพลอยต้องรับผิดไปด้วย ความเกี่ยวข้องที่เชื่อมโยงผู้กระทำผิดสามคนเข้ากับศาสนาหนึ่งและพลเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องอีกหลายล้านคนนี้ จะเติมเชื้อไฟให้แก่ปฏิกิริยารุนแรงที่จะเกิดกับชาวมุสลิมในฝรั่งเศส และน่าจะทำให้มีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเพิ่มมากขึ้นด้วย

การให้ความสนใจกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายชาวมุสลิม แทนที่จะเป็นคนร้าย คงจะบรรเทาปฏิกิริยาดังกล่าวลงได้มาก นอกจากนั้น การมุ่งเน้นไปที่ความเป็นวีรบุรุษของเมราบัต แทนที่จะเป็นความชั่วร้ายของผู้ก่อการร้ายสามคนนั้น จะเป็นการยืนยันและสอดแทรกให้เห็นว่าชาวมุสลิมในฝรั่งเศสเป็นพลเมืองของทุกวัน คือพลเมืองที่มีงานทำ มีครอบครัว และแสดงความหมายของอิสลามที่ประณามความรุนแรง และตรงกันข้ามกับภาพล้อเลียนที่มุ่งร้ายต่อศาสนาที่รัฐสร้างขึ้น

อะห์เมด เมราบัต เป็นยิ่งกว่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย เขาเป็นยิ่งกว่ามุสลิมธรรมดา ทั้งในการมีชีวิตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตาย เขาเป็นแม่พิมพ์สำหรับชาวมุสลิมฝรั่งเศสส่วนใหญ่

เมราบัตเป็นพลเรือนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย เขาสอดประสานอัตลักษณ์ทางศาสนาของเขาให้เข้ากับหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง เขาเป็นทั้งชาวฝรั่งเศสและมุสลิม เป็นความผสมกลมกลืนที่มีอยู่จริง ซึ่งถูกชำแหละโดยคำพูดทำนองเกลียดกลัวอิสลามที่มีมายาวนานในฝรั่งเศส และถูกเมินเฉยโดยพายุเพลิงของสื่อภายหลังเหตุการณ์โจมตีนั้น

ถึงแม้จะเป็นเหยื่อรายแรกของเหตุการณ์นั้น แต่เรื่องของอะห์เมด เมราบัตก็ถูกยิงตกจากพาดหัวข่าวไป และชื่อกับใบหน้าของเขาหายไปจากกระแสข่าวที่ดำเนินอยู่และเรื่องราวที่แพร่กระจายจากปารีสเมื่อวันพุธ การสอดแทรกเขาเข้าไปในเรื่องนั้น และต่อต้านการโจมตีตัวแทนของมุสลิมที่ชั่วร้ายด้วยข้อโต้แย้งในการเป็นเหยื่อและความกล้าหาญของเขา น่าจะช่วยรักษาหลายชีวิตในฝรั่งเศส

ที่สำคัญที่สุด การบอกเล่าเรื่องราวจากแง่มุมของอะห์เมด เมราบัต จะไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมและชาวฝรั่งเศสสามารถผสานกันได้เท่านั้น แต่ยังยืดหยุ่นได้อีกด้วย

 

แปล/เรียบเรียงจาก

http://www.aljazeera.com
by Khaled A Beydoun
About the Author : Khaled A Beydoun is an Assistant Professor of Law at the Barry University Dwayne O Andreas School of Law. He is a native of Detroit.

ที่มา: เดอะพับลิกโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท