Skip to main content
sharethis

รายงานของสมัชชารัฐสภาแห่งคณะมนตรียุโรประบุ การสอดแนมประชาชนเป็นวงกว้าง เช่นการสอดแนมอินเทอร์เน็ต ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายด้าน อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองเปล่าประโยชน์เพราะไม่สามารถป้องกันเหตุก่อการร้ายได้จริง


ภาพประกอบโดย Funky64 (www.lucarossato.com)
Some rights reserved

27 ม.ค. 2558 สมัชชารัฐสภาแห่งคณะมนตรียุโรป (Parliamentary Assembly of the Council of Europe หรือ PACE) เปิดเผยรายงานระบุว่า การสอดแนมประชาชนในวงกว้าง (Mass Surveillance) ถือเป็นภัยต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ควรจะนำมาใช้ป้องกันการก่อการร้ายจริงๆ

คณะกรรมการด้านกิจการกฎหมายของสมัชชารัฐสภาแห่งคณะมนตรียุโรปเปิดเผยรายงานดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาระบุว่าโครงการสอดแนมในวงกว้างและในเชิงรุกล้ำแบบที่กระทำโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ถือว่า "เป็นภัยต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" ซึ่งเรื่องนี้เคยถูกเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานหน่วยข่าวกรองที่หลบหนีออกจากสหรัฐฯ มาได้หลายปีแล้ว

การสอดแนมละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามที่รับรองในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งรับรองสิทธิในด้านต่างๆ เช่นสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และเสรีภาพในการนับถือศาสนา

สมัชชา PACE ระบุว่าสิทธิดังกล่าวเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย การละเมิดสิทธิเหล่านี้โดยไม่มีการตรวจสอบควบคุมอย่างเหมาะสมตามระบบยุติธรรมถือเป็นภัยต่อหลักนิติธรรม

รายงานขององค์กรยุโรประบุอีกว่าโครงการสอดแนมยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีค่าไปในทางที่สิ้นเปลืองและไม่ทำให้เกิดผลดีต่อความมั่นคงมากนัก

"การสอดแนมในวงกว้างไม่แสดงให้เห็นว่าจะส่งผลต่อการป้องกันการก่อการร้ายได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านข่าวกรองยืนกรานไว้ในตอนนั้น การสอดแนมกลับเป็นการนำทรัพยากรที่ควรจะนำไปใช้ในการป้องกันการก่อเหตุไปใช้ในการสอดแนมวงกว้างแทน ทำให้บุคคลที่เป็นอันตรายกระทำการได้อย่างอิสระ" PACE ระบุในรายงาน

นอกจากนี้หน่วยงานสอดแนมยังกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ตโดยการเจาะ "ประตูหลัง" ซึ่งหมายถึงการพยายามเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ผ่านระบบรับรอง การกระทำเช่นนี้สร้างความอ่อนแอให้กับระบบออนไลน์และอาจจะถูกกลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสนำไปใช้

"ถ้าหากเครื่องมือเช่นนี้ซึ่งถูกพัฒนาโดยสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรตกไปอยู่ในกำมือของรัฐบาลเผด็จการอาจจะส่งผลให้เกิดหายนะได้" สมัชชา PACE ระบุในรายงาน

คณะกรรมการด้านกิจการกฎหมายของ PACE เรียกร้องให้มีการเก็บข้อมูลบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอมในกรณีที่ "ศาลอนุญาตให้หมายค้นถ้าหากมีเหตุผลให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัย" เรียกร้องให้มีการคุ้มครองผู้เปิดโปงการสอดแนมอย่างผิดกฎหมาย ให้มีศาลและรัฐสภามีอำนาจควบคุมหน่วยข่าวกรองมากกว่านี้ ให้ "ประมวลกฎหมายการข่าวกรอง" มีการนิยามลักษณะของพันธกิจร่วมกันซึ่งทำให้หน่วยสืบราชการลับเลือกจะเข้าร่วมด้วยได้ อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนผู้ใช้ระบบปฏิบัติการสอดแนมในวงกว้างภายใต้อำนาจของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

สมัชชา PACE แสดงความกังวลอีกว่าการสอดแนมในวงกว้างอาจจะส่งผลให้เกิด "กฎหมายลับ ศาลลับ และการตีความกฎหมายลับแบบลับๆ" ตามมา

สโนว์เดนเคยกล่าวในการประชุมผ่านวิดีโอกับสมาชิกสมัชชา PACE เมื่อช่วงเดือน เม.ย. ปีที่แล้วว่า องค์กร NSA ตั้งเป้าหมายสอดแนมองค์กรเอ็นจีโอและกลุ่มประชาสังคมทั้งในและนอกสหรัฐฯ

"ก่อนที่ 'ระบบการสอดแนมในระดับอุตสาหกรรม' จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ จนควบคุมไม่ได้ พวกเราจะต้องปฏิบัติการเพื่อทำให้การสอดแนมอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม" PACE ระบุในรายงาน

"ไม่มีใครที่ปลอดภัยและไม่มีอะไรที่ปลอดภัยจากการถูกถ้ำมองโดยประเทศของตัวเอง แม้กระทั่งตัวหน่วยข่าวกรองจากต่างชาติเองก็ไม่ปลอดภัย" PACE ระบุในรายงาน


เรียบเรียงจาก

Mass Surveillance Endangers 'Fundamental Human Rights': Report, Common Dreams, 26-01-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/01/26/mass-surveillance-endangers-fundamental-human-rights-report

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net