ถก “ชนบท”:ประวัติศาสตร์ความคิดและวิธีวิทยาที่พึงพิจารณา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                                                                                                            

 

ผู้เขียนได้อ่านบทความ “ชนบทเพิ่งเปลี่ยนไป?: ว่าด้วยปัญหา “ชนบทศึกษาไทย”หลังปี 2540”ของอาจารย์เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และบทความถกเถียงโดย อาจารย์จักรกริช สังขมณี และอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร แล้ว ชวนให้คิดต่อในหลายประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา “หมู่บ้าน” อันเป็นหัวข้อฮอตฮิตในทางมานุษยวิทยาและอุษาคเนย์ศึกษาเมื่อสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ การที่ประเด็นเก่าเก็บอย่าง “หมู่บ้านในชนบท” ได้ถูกนำกลับมาถกกันอีกครั้งหนึ่งในทศวรรษปัจจุบัน ดูจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า สิ่งประกอบสร้างทางมโนทัศน์ และสิ่งประกอบสร้างทางสังคมดังกล่าว น่าจะยังคงมีอิทธิพลทางความคิดต่อวงวิชาการไทยอยู่ไม่มากก็น้อย  และควรค่าแก่การ “อ่านใหม่” ที่รัดกุมและรอบด้าน

นอกเหนือจากข้อโต้แย้งโดยอาจารย์ยุกติและอาจารย์จักรกริชที่มีต่อบทความที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆเป็นอย่างดีแล้ว ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่การสร้างข้อถกเถียงต่อหัวข้อการศึกษาที่ค่อนข้างใหญ่ ซับซ้อน และมีอายุไม่น้อยกว่าสองทศวรรษ ดังเช่น ชนบทศึกษานั้น พึงกระทำอย่างเข้าใจในประวัติศาสตร์ความคิด และพัฒนาการของข้อถกเถียง ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างกับนักวิชาการกับ “หมู่บ้านชนบท” ที่มีมาตลอดสองทศวรรษ ในที่นี้ ผู้เขียนเอง ไม่ใช่นัก”ชนบทศึกษา” และไม่อาจเรียกได้ว่าเคยผลิตงานวิจัยที่ร่วมถกเถียงกับงานในสายนี้อย่างจริงจัง แต่กระนั้นก็ตาม ในฐานะที่เป็นนักมานุษยวิทยา ที่เคยอ่านงานจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการทำความเข้าใจข้อถกเถียงในเรื่องดังกล่าว เห็นว่า การตั้งปุจฉาต่อการดำรงอยู่ของชนบทและชนบทศึกษาของอาจารย์เก่งกิจ แม้จะนับเป็นความพยายามในการสร้างดีเบตทางวิชาการที่น่าท้าทายและน่าสนับสนุนก็ตามที แต่ข้อสรุปจำนวนไม่น้อยจากบทความดังกล่าว น่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และตัดตอนรวบยอดประวัติศาสตร์ของการศึกษาเรื่องชนบทในไทยอยู่ไม่น้อย บทถกชิ้นนี้ของผู้เขียนขอร่วมนำเสนอการมองการศึกษาชนบทไทยในมิติทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างออกไป เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนและถกเถียงทางวิชาการ โดยสังเขปดังนี้

 

สิ่งประกอบสร้างที่เรียกว่า ชนบท

อันที่จริง “หมู่บ้าน” และ “ชนบท” เป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากในกระแสแห่งการรื้อถอนในวงการวิชาการไทยและเทศ (Deconstructionism) มานับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาในฐานะที่เป็นมโนทัศน์อันเป็นมรดกของเจ้าอาณานิคมที่ตกทอดมาจนถึงรัฐในยุคทันสมัย  ทั้งนี้ หากย้อนไปในฝั่งยุโรป ประเด็นว่าด้วย “ชนบท” (Country, countryside, rural) และการสร้างการแยกขั้วระหว่างชนบทและเมือง (Country-city divide) เป็นวิธีคิดที่ถูกตั้งคำถามโดยนักวัฒนธรรมวิพากษ์ Raymond Williams มานับตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1970 [1] ชนบทในฐานะชุมชนประเพณีที่เรียบง่าย ปราศจากความขัดแย้ง ถูกจัดวางให้อยู่ตรงข้ามกับเมืองในฐานะพื้นที่แห่งการผลิต การกดขี่แรงงาน และสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยภายใต้ระบบทุนนิยม ในขณะที่ชนบทมักถูกสร้างภาพให้เป็นสังคมที่สุขสงบในอดีตที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เมืองกลับเป็นพื้นที่ที่ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ คู่ตรงข้ามระหว่างชนบทและเมือง จึงไม่ใช่การประกอบสร้างทางพื้นที่อย่างเดียว หากแต่วางอยู่บนจินตนาการของเวลาที่เคลื่อนไปข้างหน้าแบบเส้นตรงอีกด้วย ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่วงการวรรณกรรมอังกฤษที่มีอิทธิพลต่อการสร้างเส้นแบ่งด้านพื้นที่และเวลาระหว่างสิ่งที่เรียกว่าชนบทและเมือง แต่การพัฒนาทฤษฎีในการอธิบายระบบทุนนิยมโดยนักคิดคลาสสิกเช่น มาร์กซ์ เดอร์กไคม์ และเวเบอร์ ก็ได้มีส่วนสำคัญในการผลิตซ้ำเส้นแบ่งดังกล่าว เพราะในขณะที่นักคิดเหล่านี้ มุ่งให้ความสำคัญกับการพยายามอธิบายการเติบโตของสังคมทุนนิยม อุตสาหกรรม ความทันสมัย ที่มีศูนย์กลางในเมือง ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ชนบทกลับถูกมองว่าเป็นพื้นที่ในอดีตที่ผูกติดกับประเพณีที่ต้องสูญสลายไปในที่สุด  สำหรับนักคิดคลาสสิกเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาร์กซ์ ชนบท เป็นพื้นที่นอกหรือก่อนทุนนิยมที่ไม่ได้รับความสนใจในทางทฤษฎี  ชีวิตชนบทถูกมองว่าไม่อินังขังขอบและแยกตัวออกจากชนชั้นอื่นๆ (the idiocy/isolation of rural life) จึงไม่มีฐานะเป็นผู้กระทำการใดๆ   กว่าที่นักมาร์กซิสต์ จะนำเอาสังคมชนบทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์การเติบโตของทุนนิยม ก็ใช้เวลานานพอสมควร และพึงกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า งานของนักมานุษยวิทยามาร์กซิสต์ไทยนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการชี้ให้เห็นถึงพลวัตของชนบทไทย ในฐานะที่เป็นทั้งผู้กระทำการ และเป็นสนามแห่งความขัดแย้งทางชนชั้นและแรงงานที่ดุเดือดไม่น้อยไปกว่าสังคมอุตสาหกรรมในเมือง [2]

นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทย ตระหนักเป็นอย่างดีถึงการเมืองเรื่องการประกอบสร้างความเป็นหมู่บ้านชนบท และตั้งคำถามกับวิธีวิทยาในการศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “หมู่บ้านชนบท” มาน่าจะนับตั้งแต่ทศวรรษที่1990 เป็นต้นมา งาน The Village in Perspective: Community and Locality in Rural Thailand (1993, Hirsch, ed.) ซึ่งตีพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของงานที่นำชนบทมาพิจารณาใหม่ พร้อมทั้งจุดประเด็นคำถามต่อวิธีวิทยาในการศึกษาชนบทไทย ตลอดจนการสร้างภาพลักษณ์ชนบทในลักษณะที่เป็นหน่วยปิดในเชิงพื้นที่ การเป็นสังคมประเพณีที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลงหรือขัดแย้งภายใน บทความโดย ชยันต์ วรรธนะภูติ ในหนังสือดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงวิธีวิทยาอย่างน้อยสี่แนวทางด้วยกันที่ถกเถียงโต้แย้งซึ่งกันและกัน และมีอิทธิพลที่แตกต่างกันต่อการศึกษาหมู่บ้านชนบทไทยมานับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 [3] ในขณะที่อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย ได้ชวนให้หันมามอง “หมู่บ้าน” จากมุมมองของชาวบ้านเอง ซึ่งจะพบว่าแม้ว่าสำนึกความเป็นหมู่บ้านจะดำรงอยู่ แต่สังคมหมู่บ้านกลับไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ทั้งจากความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันและประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐาน [4]  หมู่บ้านในฐานะสังคมปิดภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีขอบเขตที่แน่นอนทางพื้นที่ ยึดมั่นในวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะ และดำรงอยู่ในอดีตที่ไม่เปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามกับเมืองที่ก้าวหน้า ดำรงอยู่ในเวลาสมัยใหม่ปัจจุบัน สอดรับเป็นอย่างดีกับจินตนาการของรัฐอาณานิคม [5] และรัฐชาติสมัยใหม่ [6] ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และแม้แต่บทบรรยายทวนแย้ง (counter-narrative)ว่าด้วย “วัฒนธรรมชุมชน” หรือ “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ที่ผลิตสร้างโดยนักพัฒนาเอกชนและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองเพื่อคัดง้างบทบรรยายแม่บทว่าด้วย “ชนบทอันล้าหลัง” ที่สร้างโดยรัฐ  ที่กลับได้ผลิตซ้ำความเป็น “หมู่บ้าน” และ “ชุมชน” ที่ถูกกักขังไว้ด้วยเวลา และพื้นที่ ไม่ต่างไปจากวาทกรรมของรัฐ ประเด็นดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นโจทย์แห่งการรื้อถอนทางวิชาการมาไม่น้อยกว่าสองทศวรรษแล้ว [7]

หากชนบทจะมีฐานะ “เป็นเนื้อนาบุญอันอุดม” (เก่งกิจ น.1) ของสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยจริง ก็น่าจะเป็นเนื้อนาบุญที่เต็มไปด้วย ความไม่ลงรอย ไม่ลงตัว และปมคำถามทางแนวคิด  ทั้งนี้งานศึกษานับแต่ปลายทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างตระหนักเป็นอย่างดีถึงการประกอบสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างชนบทและเมือง และพยายามแสวงหาแนวทางต่างๆอันหลากหลายในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างชนบทและเมืองที่ไปพ้นจากกับดักของการประกอบสร้างดังกล่าว นักมานุษยวิทยาบางท่าน เห็นว่าการศึกษาความสัมพันธ์ทางการผลิต เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนของสังคมชนบท (อาทิ อานันท์ กาญจนพันธุ์) ในขณะที่บางท่านเห็นว่าสังคมสลัมในเมืองเป็นสนามแห่งการศึกษาที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองและชนบทได้เป็นอย่างดี  [8] นอกจากนี้ นักสังคมวิทยามานุษยวิทยาบางท่านก็หันไปทำความเข้าใจมิติทางการเมืองของชนบท ด้วยการใช้แนวคิดเครือข่ายในการศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองและการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวนา [9]  หรือตั้งคำถามกับการเมืองเรื่องเพศในหมู่บ้านซึ่งเชื่อมโยงกับกระบวนการค้าทางเพศ [10]  ฯลฯ พึงต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า เช่นเดียวกับงานมานุษยวิทยาในซีกโลกตะวันตก มานุษยวิทยาไทยนับตั้งแต่ขึ้นสหสวรรษใหม่เป็นต้นมา ได้ให้ความสำคัญกับชาติพันธุ์นิพนธ์แบบหลากหลายแหล่งที่ (multi-sited ethnography) และหันมาสนใจมิติของ “การเคลื่อนย้าย” (mobility) และ “ไหลเวียน” (flow) ของผู้คน ความคิด ทุน และสินค้า มากยิ่งขึ้น แทนที่จะยึดติดกับหน่วยการศึกษาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น “เมือง” หรือ “ชนบท”ก็ตาม หรือพยายามพัฒนาแนวคิดที่ช่วยให้เข้าใจสังคมชาวนาที่ไปพ้นจากความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ผูกติดกับที่ดินและบริบทของหมู่บ้าน [11] เฉพาะงานศึกษาของคณาจารย์ในภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง ก็มีความหลากหลายในเชิงแนวคิดและทฤษฎีเป็นอย่างยิ่ง [12] ทั้งให้ความสำคัญกับผู้กระทำการใหม่ๆ (คนพลัดถิ่น คนข้ามแดน ผู้หญิง ชนชาติพันธุ์ในเมือง) ตลอดจนชุดความสัมพันธ์ใหม่ๆ (ชาติ-ชาติพันธุ์-เพศภาวะ ชาติพันธุ์กับสินค้า แรงงาน-ชาติพันธุ์-ชนชั้น) ที่เปิดมิติให้เห็นถึงความซับซ้อนของสังคมไทยที่ขยายออกจากกรอบคิดอันจำกัดว่าด้วยชนบทและเมือง ในแง่นี้ การสรุปรวบยอดที่ว่า งานศึกษาของมานุษยวิทยาไทยปัจจุบัน ยังคงยึดอยู่กับหน่วยการศึกษาว่าด้วยชนบท ที่ “ค่อนข้างเป็นก้อนเดียวโดยไม่มีพลวัตรของความขัดแย้งและการต่อรองอำนาจภายใน...มองว่า “ภายนอก” เช่นเมืองอุตสาหกรรม รัฐ ทุน และชนชั้นกลางคือผู้รุกล้ำ/ศัตรู และความเปลี่ยนแปลงของชนบทเป็นสิ่งที่มาจากภายนอก...และชนบทในฐานะ “ภายใน”ที่แตกแยกจากภายนอก จึงเป็นหน่วยที่อยู่ “นอก” และ “ต่อต้าน” การเมืองแบบรัฐสภา” (เก่งกิจ หน้า 4) จึงไม่น่าจะเป็นข้อสรุปที่สะท้อนพัฒนาการทางวิชาการของมานุษยวิทยาหลังทศวรรษที่ 1990 ที่เป็นจริงนัก ไม่ว่าจะสำนักเชียงใหม่หรือสำนักใดก็ตามที

 

วิภาษวิธีของความเปลี่ยนแปลง

หากแนวคิดในสำนักกมาร์กซิสม์ มีบทบาทสำคัญในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทไทยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าแนวคิดดังกล่าวจะมีข้อจำกัดในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมเกษตรกรรมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  ใน “Tranforming Agrarian Transformation in Globalizing Thailand” Anan Ganjanapan และ Philip Hirsch (2010) ได้ชี้ให้เห็นว่าในสภาวะที่ชนบทมีบทบาทที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่การผลิตข้าว ในขณะที่เกษตรกรมีอาชีพนอกภาคเกษตร ตลอดจนเคลื่อนย้ายออกนอกภาคเกษตรกันมากขึ้น ได้ทำให้การวิเคราะห์สังคมชนบท การแยกช่วงชั้นของสังคมชนบท ด้วยการใช้กรอบคิดที่เน้นความสัมพันธ์ทางการผลิต การควบคุมที่ดินและแรงงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปัจจัยการผลิต ดังงานในยุคก่อนหน้านี้ ไม่อาจช่วยให้เข้าใจปรากฎการณ์ใหม่ๆที่เปลี่ยนความหมายของชนบทที่ต่างออกไปได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปริมณฑลของการบริโภคที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนปรากฎการณ์การช่วงชิงพื้นที่ความรู้ใหม่ๆในความสัมพันธ์กับโลกและเทคโนโลยีที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ในแง่หนึ่งกระบวนการเปลี่ยนทรัพยากรชุมชนให้กลายเป็นทรัพย์สินเอกชนผ่านโครงการพัฒนาต่างๆได้เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ภายใต้กระบวนการขูดรีดที่ซับซ้อนขึ้นดังกล่าว ชาวชนบทก็ได้พัฒนาช่องทางใหม่ๆในการเรียนรู้ที่จะสร้างประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมอย่างแข็งขัน ซึ่งในที่นี้ไม่ได้ประกอบด้วยช่องทางทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากแต่หมายรวมถึงช่องทางทางการเมืองในระบบรัฐสภาด้วย [13]

ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อสังเกตของอานันท์ กาญจนพันธุ์และฟิลิป เฮิร์ช ที่มีต่อทิศทางการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชนบท และความจำเป็นในการพัฒนามุมมองใหม่ๆในการทำความเข้าใจสังคมชนบทไทยร่วมสมัย ทั้งนี้มิใช่เพราะว่าชนบทเพิ่งจะเปลี่ยนไปหรือเพราะว่านักวิชาการไทยเพิ่งจะเล็งเห็นว่าชนบทนั้นเปลี่ยนไปแล้ว หากแต่คำถามที่น่าจะมีประโยชน์มากกว่านั้น น่าจะอยู่ที่ว่า จะใช้วิธีคิดอะไรในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์ของบริบททางสังคมเฉพาะในแต่ละช่วงสมัยได้อย่างพิถีพิถัน รัดกุม และสอดคล้องกับภาวะวิสัย ตลอดจนการรับรู้ของเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆเอง  ทั้งนี้ เพราะชนบทไม่ได้เป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างทางการเมือง สังคม หรือวิชาการเท่านั้น หากแต่ยังเป็นทั้งวาทกรรมและอัตลักษณ์ประกอบสร้างโดย “ชาวชนบท” เองที่เป็นผู้กระทำการที่ผลิตสร้างความหมายให้กับชนบทและอัตลักษณ์ชาวชนบทอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ในท่ามกลางแนวคิดว่าด้วยกระบวนการออกจากสังคมเกษตรกรรม (de-agrarianization) ของนักวิชาการผู้เล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมในไทยที่ผ่านมา ตลอดจนข้อถกเถียงว่าด้วยการประกอบสร้างของชนบทไทยที่ดำเนินมากว่าสองทศวรรษ  อัตลักษณ์ชาวชนบท/ชาวนา ยังคงถูกผลิตสร้างอย่างแข็งขัน ไม่สูญสลายตายดับไปอย่างง่ายๆ แม้ในบริบทที่ชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจของคนเหล่านี้จะไม่ได้ยึดโยงอยู่กับ “ชนบท” แล้วก็ตามที สำหรับผู้เขียนแล้วประเด็นดังกล่าว เป็นโจทย์ที่ควรใส่ใจนำมาศึกษาและวิเคราะห์ อย่างน้อยอาจช่วยทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใด “ชนบท” จึงยังคงเป็นสนามของการศึกษาที่ชวนให้ถกเถียงกันอยู่มาจนปัจจุบัน [14]

งานศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย โดยอภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์ ซึ่งมีโครงการวิจัยย่อยต่างๆโดยอนุสรณ์ อุณโณ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จักรกริช สังขมณี ประภาส ปิ่นตบแต่ง และผู้เขียนรวมอยู่ด้วย แม้จะไม่ได้มีเป้าหมายในการศึกษาแต่เพียงพื้นที่ในชนบทโดยตรง แต่ถือเป็นหนึ่งในความพยายามในการวิเคราะห์วิภาษวิธีของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยร่วมสมัยจากพื้นที่ศูนย์กลางของประเทศไปสู่ระดับหมู่บ้าน เพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองไทยอย่างมีพลวัตโครงการหนึ่งในทศวรรษที่ผ่านมา น่าเสียดายที่ข้อค้นพบจากงานวิจัยในแต่ละโครงการย่อยยังมิได้ถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ จึงอาจทำให้มองไม่เห็นภาพรวมและความซับซ้อนของข้อค้นพบต่างๆจากโครงการวิจัย อย่างไรก็ตาม ทั้งอาจารย์ยุกติและอาจารย์จักรกริช ต่างก็ได้อรรถาธิบายและถกเถียงในประเด็นต่างๆที่ถูกนำเสนอจากโครงการไว้อย่างพอสังเขปไปบ้างแล้ว ในอนาคตอันใกล้เมื่องานทั้งหมดได้รับการตีพิมพ์ น่าจะช่วยให้การถกเถียงต่อข้อค้นพบจากงานวิจัยมีความคลาดเคลื่อนน้อยลงและตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น

สำหรับงานวิจัยที่ต่อมาตีพิมพ์ภายใต้ชื่อเรื่อง Becoming Red: พัฒนาการของเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้เขียนศึกษาร่วมกับอ.อรัญญา ศิริผล  สืบสกุล กิจนุกร และนพพล อาชามาส นั้น ผู้เขียนเห็นว่ามีข้อเสนอที่น่าจะซับซ้อนกว่าข้อสรุปรวบรัดของอาจารย์เก่งกิจที่ว่า ศึกษาในพื้นที่ชนบท และค้นพบว่า “ชนบทเพิ่งเปลี่ยนไป” เพราะหากอ่านบทความทั้งแปดชิ้นจากงานวิจัยอย่างละเอียดแล้ว ย่อมพบว่าพื้นที่อันหลากหลายในจังหวัดเชียงใหม่อันเป็นแหล่งกำเนิดของขบวนการเสื้อแดง นับจากตัวเมืองเชียงใหม่ ตลาดสันกำแพง ดอยสะเก็ด ไปจนถึงหมู่บ้านในอำเภอฝางและสถานีวิทยุชุมชนต่างๆแล้ว ผู้อ่านย่อมจะมองเห็นผู้กระทำการใหม่ๆ (แม่ค้า พ่อค้า กลุ่มครู ผู้ประกอบการ ฯลฯ) บริบททางการเมืองใหม่ๆ (การสร้างเครือข่ายทางการเมืองหลายประเภทที่ตัดข้ามเส้นแบ่งตามประเพณีต่างๆ การใช้สื่อและเครื่องมือในการสื่อสารทางการเมืองอันหลากหลาย) ตลอดจนการเขียนประวัติทางการเมืองและประกอบสร้างความรู้ทางการเมืองใหม่ระหว่างกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่าเสื้อแดงกับศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯ เหล่านี้ถือเป็นภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ใช่เพราะว่าชาวบ้านเหล่านี้ไม่เคยได้ทำการต่อสู้หรือต่อรองกับรัฐในอดีต หรือเพิ่งจะถูกค้นพบว่ามีจิตสำนึกประชาธิปไตย [15] หากแต่เพราะนี่อาจเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเข้าร่วมทั้งในการเมืองแบบทางตรงและการเมืองบนท้องถนนในการปกป้อง “ประชาธิปไตย” และ “รัฐ”ที่พวกเขาได้เลือกมาและถูกโค่นล้มอย่างอยุติธรรม อัตลักษณ์ “ไพร่” ที่พวกเขานิยามตนเองด้วย จึงมีชั้นอันหลากหลายของการถูกกดทับอย่างไม่เป็นธรรมในความสัมพันธ์ทางอำนาจกับพวก “อำมาตย์” ที่รวมเอาทั้งมิติทางเศรษฐกิจ การเมืองเชิงวัฒนธรรมและการเมืองเชิงพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน การใช้กรอบคิดที่แยกระหว่างรัฐ-ชาวบ้าน การเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายใน-ภายนอก จึงไม่น่าจะเป็นวิธีอ่านงานศึกษาชิ้นนี้ของผู้เขียนและคณะที่ถูกต้องนัก

พัฒนา กิติอาษา นักมานุษยวิทยาและกัลยาณมิตรผู้ล่วงลับ ได้เคยกรุณาอ่านงานวิจัยชิ้นนี้เมื่อครั้งที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี และสังเคราะห์ข้อเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผู้เขียนขอนำมาสรุปอย่างสังเขปไว้ ณ ที่นี้เพื่อเป็นการนำเสนอการตีความงานชิ้นนี้ในอีกมุมมองหนึ่งเพื่อประโยชน์ต่อการถกเถียงแลกเปลี่ยนต่อไป [16]  พัฒนาเห็นว่างานวิจัยชิ้นนี้ของผู้เขียนและคณะ พยายามนำเสนออย่างน้อยในสี่เรื่องด้วยกันคือ 1) การเสนอว่าคนต่างจังหวัด (provincial people) สร้างประชาธิปไตยและต่อสู้เพื่อให้ตนถูกนับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในระดับชาติ 2) ผู้กระทำการ (human agencies) และประสบการณ์ มีความสำคัญในการศึกษาการเมืองไทย โดยบอกผ่านเรื่องเล่าในบริบทต่างๆของผู้คนไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน แม่ค้า ผู้นำท้องถิ่น ฯลฯ 3) งานวิจัยพยายามที่จะ “provincialize Thai democracy” หรือการย้ายศูนย์กลางของการรับรู้ เข้าใจ ตีความ และสร้างความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” จากเมืองหลวงมาสู่พื้นที่นอกศูนย์กลางหรือต่างจังหวัด ด้วยการศึกษาความเข้าใจ รับรู้ และนิยามความหมายทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมของผู้คนในต่างจังหวัด  [17] และ 4) งานวิจัยพยายามอธิบายการเปลี่ยนแปลงของโลกชนบทและผู้คนที่อาศัยอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวนอกจินตนาการโรแมนติกของชนชั้นนำในท่ามกลางการกลายเป็นเมือง (rural urbanization) อย่างรวดเร็ว ที่ซึ่งไม่เพียงผู้คนจะมีชีวิตอยู่ในการเดินทางที่กว้างไปกว่าสังคมเศรษฐกิจหมู่บ้านเท่านั้น หากแต่ประชาธิปไตยแบบชี้นำ (guided democracy) ของชนชั้นนำ ไม่สามารถูกนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป พัฒนานั้นเห็นว่า ขบวนการเสื้อแดงเป็นขบวนการที่มีฐานมาจากการเติบโตในจิตสำนึกทางการเมืองที่ยึดโยงกับชนชั้นและอัตลักษณ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีความหลากหลายในแง่ของการก่อรูปเชิงขบวนการในท้องถิ่นแต่ละที่ และทั้งในแง่ชาติพันธุ์และเพศภาวะของขบวนการเสื้อแดง และการเชื่อมโยงกับเครือข่ายในระดับต่างๆที่มีความแตกต่างและมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป  ข้อสังเกตดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอของชาร์ลส์ คายส์ ที่เห็นความจำเป็นในการศึกษาเปรียบเทียบเชิงภูมิภาค เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของขบวนการเสื้อแดงในแต่ละพื้นที่ อันจะช่วยให้สามารถเห็นถึงพัฒนาการที่แตกต่างกันของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในแต่ละภูมิภาคที่มีผลต่อการก่อตัวและเปลี่ยนแปลงของขบวนการเสื้อแดงและ “โลกชนบท”ที่มีลักษณะของความเป็น Cosmopolitan ที่แตกต่างกันออกไป

 

บทส่งท้าย: ว่าด้วยเส้นแบ่งระหว่างความรู้ไทย vs ความรู้เทศ

ใน บทนำของ Knowing Southeast Asian Subjects, Bonura และ Sears [18] เสนอว่าการผลิตสร้างความรู้เกี่ยวกับอุษาคเนย์ในฐานะที่เป็นอาณาบริเวณศึกษานั้น เป็นโครงการที่มีลักษณะที่เป็น Cosmopolitan มาตั้งแต่เริ่มแรก กล่าวคือเป็นความรู้ที่เกิดจากการเดินทางและเคลื่อนย้ายของผู้คน ความคิด ทรัพยากร และการประทะประสานของผู้คนต่างวัฒนธรรม เช่นเดียวกับการประกอบสร้างความเป็นชนบท ความเป็นอาณาบริเวณที่ประกอบสร้างขึ้นจากประสบการณ์ของการเดินทางและประทะประสานระหว่างวัฒนธรรมและอารยธรรมของนักวิชาการตะวันตก ได้สร้างข้อถกเถียงและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อภูมิภาคแถบนี้มาหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ผ่านมา ความรู้ที่เกิดจากการเดินทางและประทะประสานในโลกกว้างกลับมิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะนักอุษาคเนย์ตะวันตกอีกต่อไป  หากแต่วิชาการว่าด้วยอุษาคเนย์ในปัจจุบัน มีลักษณะที่ผนวกผสาน ร่วมมือ แลกเปลี่ยน หยิบยืม และถกเถียงกันระหว่างกัน ระหว่างนักวิชาการพื้นถิ่น (Home scholars) และนักวิชาการเทศ การร่วมมือในโครงการวิจัยข้ามชาติ และข้ามอาณาบริเวณ ได้สร้างความรู้ในลักษณะ Cosmopolitan ที่แตกต่างไปจากยุคก่อนหน้า ขณะเดียวกัน การพยายามสร้างเครือข่ายของความรู้ในหมู่นักวิชาการในอุษาคเนย์ด้วยกันเองก็เกิดและขยายตัวมากยิ่งขึ้น

การแยกคู่ตรงข้ามระหว่างความรู้ “ไทย” และความรู้ “เทศ” ในการผลิตสร้างความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยในทศวรรษปัจจุบัน ในบริบทที่วงการวิชาการไทยศึกษามีลักษณะที่เป็นสากล/นานาชาติ ที่การแลกเปลี่ยนระหว่างกันไม่ว่าจะในที่ประชุม ในงานเขียน ตลอดจนการร่วมกันผลิตสร้างงานวิจัยของนักวิชาการไทย-เทศ เกิดขึ้นจนเป็นปกติวิสัย และยากที่จะจัดวางอยู่ภายในเส้นแบ่งของความเป็นไทยและเทศ จึงไม่น่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาแง่คิดในทางวิชาการเท่าใดนัก ทั้งนี้ เพราะเส้นแบ่งดังกล่าวไม่เพียงแต่จะถูกสร้างขึ้นจากและส่งผลให้เกิดสารัตถะนิยมในทางความรู้ ที่ปิดกั้นความเข้าใจพลวัตของการสร้างความรู้ที่เกิดขึ้นในของวงการวิชาการปัจจุบันเท่านั้น หากแต่ตรรกะที่ขาดความระมัดระวังและรอบคอบนี้ ยังสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างภาวะบูรพนิยมทางวิชาการได้โดยไม่จำเป็นอีกด้วย 

 

 

เชิงอรรถ

1) Williams, Raymond (1973) The Country and the City, New York: Oxford University Press.

2)  หนึ่งในตัวอย่างงานมานุษยวิทยารุ่นบุกเบิกที่ศึกษาความขัดแย้งด้านแรงงานในชนบทได้แก่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2533) “ความขัดแย้งในการใช้แรงงานในชนบทภาคเหนือของไทย” ใน อนัญญา ภุชงคกุล (บรรณาธิการ) รัฐกับหมู่บ้านในไทยศึกษา. กรุงเทพฯ: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับงานชิ้นอื่นๆโปรดดู  จามะรี เชียงทอง และคณะ (2554) ชนบทไทย :เกษตรกรระดับกลางและแรงงานไร้ที่ดิน, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3) Chayan Vaddhanaphuti (1993) “Traditions of Village Study in Thailand,” In The Village in Perspective: Community and Locality in Rural Thailand, Philip Hirsch, ed., Chiang Mai: Social Research Institute, Chiang Mai University.

4) Utong Prasasvinitchai (1993) “The Thai Village from the Villagers’ Perspective,” In The Village in Perspective: Community and Locality in Rural Thailand, Philip Hirsch, ed., Chiang Mai: Social Research Institute, Chiang Mai University.

5) ดู Breman, Jan (1996) “The Village on Java and the Early Colonial State,” In The Village Concept in the Transformation of Rural Southeast Asia, M.C. Hoadely and C.Gunnarsson, eds.

Curzon Press. และ The Shattered Image: Construction and Deconstruction of the Village in Colonial Asia (1987), Dordrecht: Foris.

6) ดู Peter Vandergeest (1996) “Real Villages: National Narratives of Rural Development,” In Creating the Countryside: The Politics of Rural and Environmental Discourse, E.M.DuPuis and P. Vandergeest, eds, Philadelphia: Temple University Press.

7) ดู ยุกติ มุกดาวิจิตร (2537) การก่อตัวของกระแสวัฒนธรรมชุมชนในสังคมไทย : พ.ศ 2520-2537 วิทยานิพนธ์ปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พัฒนา กิติอาษา (2544) ท้องถิ่นนิยม กรุงเทพฯ: กองทุนอินทรสมเพื่อการวิจัยทางมานุษยวิทยา

8) ดู อคิน รพีพัฒน์ (2537) ชีวิตและจุดจบของสลัมกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง กรุงเทพฯ: มูลนิธิภูมิปัญญา

9) ดู ชาติชาย ณ เชียงใหม่ (2533) การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกับพฤติกรรมทางการเมืองของชาวนา

ภาคเหนือ ใน อนัญญา ภุชงคกุล (บรรณาธิการ) รัฐกับหมู่บ้านในไทยศึกษา กรุงเทพฯ:

สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

10) ดู ยศ สันตสมบัติ (2535) แม่หญิงสิขายตัว : ชุมชน และการค้าประเวณีในสังคมไทย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

11) อาทิ ยศ สันตสมบัติ (2546) พลวัตและความยืดหยุ่นของสังคมชาวนา : เศรษฐกิจชุมชนภาคเหนือ และการปรับกระบวนทัศน์ว่าด้วยชุมชนในประเทศโลกที่สาม ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยลัยเชียงใหม่, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (2556) มโนทัศน์การดำรงชีพ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

12) อาทิ ยศ สันตสมบัติ (2555)ชุมชนชายแดนกับการก้าวข้ามพรมแดน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ขวัญชีวัน บัวแดงและคณะ (2546) วิถีชาติพันธุ์ในเมือง สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์ (2555)  “อาข่าเร่ขายในฐานะพื้นที่ที่สาม” วารสารศิลปศาสตร์ 12(1),  วสันต์ ปัญญาแก้ว (2555) ลื้อข้ามแดน : การเดินทางของคนหนุ่มสาวชาวลื้อเมืองยอง รัฐฉาน ประเทศพม่า, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อรัญญา ศิริผล (2549) คนพลัดถิ่นกับการกลายเป็นสินค้า” : ประสบการณ์ชีวิตของชุมชนไทใหญ่กับการค้าแรงงานในมิติทางสังคมวัฒนธรรมบริเวณชายแดนไทย-พม่า, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  และ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (2548) “ร่างกายอันแปลกแยก ชาติอันรุนแรง และการเคลื่อนไหวข้ามชาติของผู้หญิงไทใหญ่” ใน วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นต้น

13) โปรดดู Keyes, Charles F. (2010) Opening Reflections: Northeastern Thai Ethnoregionalism Updated ใน Tracks and Traces: Thailand and the Work of Andrew Turton, P. Hirsch and N. Tapp, eds., Amsterdam University Press, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, บก. (2556) Becoming Red: กำเนิดและพัฒนาการเสื้อแดงในเชียงใหม่, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[14] ข้อเสนอว่าด้วยกระบวนการออกจากสังคมเกษตรกรรม (de-agrarianization) นั้นยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรม หนึ่งในงานที่โต้แย้งแนวคิดดังกล่าวได้แก่ James Eder (1999) A Generation Later: Household Strategies and Economic Change in the Rural Philippines, University of Hawaii Press. งานของเอเดอร์ศึกษาข้ามยุคสมัยของเกษตรกรในหมู่บ้านเพื่อชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจของหมู่บ้านจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและเข้มข้นในช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษ ทั้งในแง่อาชีพและสถานะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้สมาชิกของหมู่บ้านจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ทำการเกษตรหรืออาศัยอยู่ในชุมชนอีกต่อไป แต่การนิยามตนเองด้วยอัตลักษณ์หมู่บ้าน และชนบท ยังคงมีนัยยะสำคัญสำหรับชาวบ้าน เอเดอร์เห็นว่า มีปัจจัยที่ซับซ้อนมากไปกว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในการทำความเข้าใจสังคมเกษตรกรรมจากมุมมองของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้นเอง และหนึ่งในปัจจัยที่ควรพิจารณา ได้แก่ การรับรู้/รู้สึก/ให้ความหมายต่อพื้นที่/สถานที่ (sense of place) ที่มีบทบาทสำคัญต่อการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของผู้คน  ผู้เขียนเห็นว่า การเมืองเรื่องความรู้สึกต่อความต่างของอัตลักษณ์ที่ถูกเชื่อมโยงกับความหมายของพื้นที่ มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการทำความเข้าใจต่อจิตสำนึกของขบวนการเสื้อแดง (โปรดดู นิติ ภวัครพันธุ์ http://www.prachatai.com/journal/2013/12/50430)

15) งานศึกษาของสืบสกุล กิจนุกร ในบทที่ 5 และ 6 แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีถึงประวัติศาสตร์การมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวของแกนนำเสื้อแดงในอ.ฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ ทั้งที่เคยเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในทศวรรษ 1970 ตลอดจนการต่อสู้คัดค้านสวนส้มในทศวรรษที่ 1990 ทั้งแกนนำและชาวบ้านให้เหตุผลในการต่อสู้ในทางการเมืองในแต่ละครั้งไว้อย่างสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับรู้และการให้ความหมายต่อสิ่งที่เรียกว่า ความยุติธรรมและกติกาที่เป็นธรรมในสังคมไทย

16) เป็นบทวิจารณ์เมื่อครั้งผู้เขียนและคณะวิจัยนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 11 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล  ผู้สนใจสามารถอ่านบทวิจารณ์ฉบับตีพิมพ์ได้ที่ Pattana Kitiarsa (2011) “Becoming “Red”:The New Brand of Thai Democracy with a Provincial Base,” Journal of the Siam Society, Vol. 99, 226-230.

17) โปรดดูงานในสกุลหลังอาณานิคมนิยมที่มีอิทธิพลต่อการรื้อถอนศูนย์กลางของความคิดสมัยใหม่และอารยธรรมทุนนิยมที่ตั้งมั่นในโลกตะวันตกและถูกยึดถือว่าเป็นสากล ใน Chakrabarty, Dipesh (2007) Provincializing Europe: Postcolonial Thought and Historical Difference, Princeton University Press.

18) Bonura, Carlo and Laurie J. Sears (2007) “Introduction: Knowledges That Travel in Southeast Asian Area Studies,” In Knowing Southeast Asian Subjects,  L.J. Sears, ed., University of Washington Press. 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท