Skip to main content
sharethis

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชี้ความพยายามแปลงกฎหมายพิเศษให้กลายเป็นกฎหมายปกติทุกครั้งหลังรัฐประหาร ชี้รอบนี้ชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ทดแทนประกาศคณะรัฐประหารได้ครบ แซวใครอยากเลิกอัยการศึก ให้หนุนชุดกฎหมายใหม่นี้ เพราะใช้แทนกันได้


24 พ.ค. 2557 สนามเป้า กรุงเทพฯ
แฟ้มภาพ: ประชาไท

29 ม.ค. 2558 ตอนหนึ่งในงานเสวนา “ทิศทางการปฏิรูปสื่อและสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสารภายใต้ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล” ของเวทีเสวนา NBTC Public Forum ซึ่งพูดถึงร่างกฎหมายสิบฉบับเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่ ครม.อนุมติเห็นชอบในหลักการเมื่อเร็วๆ นี้

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงกรณีมีผู้แย้งว่าชุดกฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องความมั่นคงทางระบบสารสนเทศ ไม่ใช่เรื่องของความมั่นคงของกองทัพว่า คิดว่าไม่ได้คิดไปเอง เพราะถ้าไปดูกฎหมายทั้งสิบฉบับ ภาษาในทุกฉบับ ไม่ว่าการเอาคลื่นคืนไปให้รัฐจัดสรร การใช้คลื่นเพื่อความมั่นคง การมีคลื่นเพื่อการนั้นอย่างเพียงพอหรือว่าคณะกรรมการ โครงสร้างต่างๆ ต่างสะท้อนความคิดของคณะรัฐประหารที่ยังมีอำนาจอยู่ในขณะนี้

อาทิตย์ชี้ว่า หากย้อนไปดูเมื่อปี 2549 อย่างที่เข้าใจกันว่า ทุกๆ ครั้งที่มีการรัฐประหาร จะมีการควบคุมสื่อในบางระดับ หนักบ้างเบาบ้าง ตามแต่ละครั้ง โดยจะมีการส่งทหารไปตามสถานีวิทยุ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นในปี 2549 นั่นก็คือมีสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนออกมาชุมนุมกันเยอะมากในขณะนั้น เมื่อยังไม่มีกฎหมายเชิงควบคุม ก็มีการออกคำสั่ง คปค. 5 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ ใช้ในการควบคุมเว็บ ต่อมาเมื่อมี สนช. ร่างแรกเลยที่ สนช.หยิบขึ้นมา คือ ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งในมาตรา 20 ว่าด้วยการปิดเว็บ น่าสนใจว่ามันเป็นกระบวนการหนึ่งหรือเปล่าที่แปลงกฎหมายพิเศษให้เป็นกฎหมายปกติ

อาทิตย์กล่าวต่อว่า ส่วนรอบนี้ วันที่ 20 พ.ค. ก่อนรัฐประหาร กอ.รส. ใช้อำนาจกฎอัยการศึกตัว ออกประกาศให้ควบคุมสื่อออนไลน์ ต่อมามีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งประกาศฉบับแรกๆ ในคืนวันนั้น มีอาทิ ฉบับที่ 12 ว่าด้วยการขอความร่วมมือสื่อสังคมออนไลน์ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช. ประกาศฉบับที่ 14 ห้ามสื่อสัมภาษณ์นักวิชาการ ข้าราชการ ศาล ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ คสช. เช่นกัน ฉบับที่ 17 เรียกไอเอสพีไปรายงานตัว และให้ไอเอสพียับยั้งเนื้อหาต่างๆ ที่จะขัดขวางการทำงานของ คสช. ฉบับที่ 18 ให้สื่องดเว้นข้อมูลข่าวสาร 7 ลักษณะ ฉบับที่ 22 เป็นการจัดตั้งโครงสร้างการทำงานของสำนักงานเลขาธิการของ คสช. สิ่งที่น่าสนใจคือมีหลายฝ่ายในสำนักเลขาธิการนี้ อันหนึ่งคือฝ่ายความมั่นคงซึ่งดูแล 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงไอซีที คือในมุมมองของ คสช. กระทรวงไอซีทีอยู่ฝ่ายความมั่นคง ฉบับที่ 26 มีการตั้งคณะกรรมการติดตามตัวสื่อออนไลน์ ตรวจสอบโซเชียลมีเดีย

ฉบับที่ 80 ที่พูดถึงเรื่องเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจะต้องนำส่งเข้าคลัง และเงินกองทุนนี้ คลังสามารถยืมไปใช้ได้ตามความเหมาะสม และมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารกองทุน ตัดสัดส่วนของคณะผู้ทรงคุณวุฒิออกไปและเพิ่มกรรมการโดยตำแหน่งขึ้นมา 1 คนก็คือปลัดกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ 94 เป็นการเลื่อนการประมูล 4G ออกไป คลื่น 900 และ 1800 ถูกเลื่อนออกไป 1 ปี โดยบอกว่าให้ไปปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ฉบับที่ 97 ห้ามการเผยแพร่เนื้อหาต่างๆ ในสื่อมวลชน ซึ่งในฉบับนี้ขยายรวมบุคคลทั่วไปด้วย

อาทิตย์กล่าวว่า รวมๆ แล้ว สิ่งที่จะชี้ให้เห็นก็คือว่า ประกาศต่างๆ เหล่านี้ถ้าดูเรื่องเนื้อหา ไม่ว่าจะการเรียกไอเอสพีเข้ามาเพื่อสั่งให้ไอเอสพีทำหรือไม่กระทำการใดๆ ได้ มันก็ไปปรากฏอยู่ในอำนาจตามมาตรา 34 ของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติ คือ อำนาจของคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติ เรื่องกองทุนก็ไปอยู่ใน พ.ร.บ.กองทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดสรรคลื่น ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับตัวอำนาจหน้าที่ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิทัลกับการปรับอำนาจของตัว กสทช. การตรวจสอบอินเทอร์เน็ตต่างๆ ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ โครงสร้างคณะกรรมการต่างๆ ตามคำสั่งฉบับที่ 22 ที่กระทรวงไอซีทีอยู่ในฝ่ายความมั่นคง จะเห็นโครงสร้างจากสัดส่วนคณะกรรมการเกือบทุกชุดในกฎหมายสิบฉบับนี้ว่าความมั่นคงอยู่ตรงไหนบ้าง

"รวมๆ ผมกำลังจะบอกว่า ชุดกฎหมายสิบฉบับนี้ไม่ได้เกินเลยไปเลยที่เราจะบอกว่ามันคือการแปลงกฎหมายพิเศษ ณ ขณะนี้ให้กลายไปเป็นกฎหมายปกติ" อาทิตย์กล่าวและว่า และถ้าไปดูโครงสร้างก็จะพบว่า ต่อให้มีการเลือกตั้ง กระทรวงดิจิทัลซึ่งรัฐมนตรีอาจจะมาจาก ส.ส. หรือไม่ก็ตาม ตัวกระทรวงไม่ได้มีอำนาจมากนักเพราะอำนาจการบริหารงานต่างๆ ได้ถูกนำมาใส่ในคณะกรรมการต่างๆ หมดแล้ว ซึ่งถ้าพูดถึงการยึดโยง เรื่องการเลือกตั้งที่มาของ ส.ส. และผู้แทนต่างๆ คณะกรรมการแบบนี้ซึ่งดำเนินงานเป็นจำนวนมากในกระทรวงใหม่ก็อาจจะไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนมากนัก กลายเป็นว่ากระทรวงและรัฐมนตรีมีความหมายน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวคณะกรรมการต่างๆ

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชี้ว่า คำถามต่อไปก็คือว่าพอสิ่งเหล่านี้มันกลายเป็นกฎหมายปกติ คณะกรรมการเหล่านี้ทำงานไป แปลว่า ฝ่ายความมั่นคงยังอยู่ ต่อให้มีการเลือกตั้งหรือรัฐบาลพลเรือนแล้วแต่นโยบายเหล่านี้ที่เป็นเรื่องความมั่นคง คณะกรรมการที่มาจากฝ่ายความมั่นคงก็จะยังคงอยู่ต่อไป

"ผมคิดว่าถ้าใครอยากให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเร็วๆ ก็ควรจะต้องสนับสนุนกฎหมายสิบฉบับนี้ เพราะว่าก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปที่จะต้องใช้กฎอัยการศึก เพราะใช้กฎหมายสิบฉบับนี้ได้แล้ว" อาทิตย์กล่าวและว่า ดังนั้น ต้องตีให้เห็นว่า เป็นความพยายามแปลงกฎหมายพิเศษให้เป็นกฎหมายปกติซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงมองว่ามันเป็นชุดกฎหมายความมั่นคง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net