10 ปีประชาไท : ‘นิธิ’ ถอดรหัสอุดมการณ์สื่อเก่ากับความหวังสื่อใหม่อิสระจาก ‘รัฐ-ทุน’

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิพากษ์วัฒนธรรมสื่อในฐานเครื่องมือของ ‘รัฐ-ทุน’ สู่อำนาจทางวัฒนธรรมของอุดมการณ์ผ่านการเซ็นเซอร์ตัวเอง ชี้โฆษณามาพร้อมกับการควบคุมสาร ความบันเทิงถูกใส่รหัสทางอุดมการณ์ และความหวังในสื่อใหม่ที่อิสระจาก ‘รัฐ-ทุน’

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมาในงานครบรอบ 10 ปี ประชาไท นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวปาฐกถาทศวรรษประชาไทในงานดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนสุขุมวิท โดยมีรายละเอียดคำปาฐกถา ดังนี้

0000

วัฒนธรรมสื่อ

เราทุกคนมีชีวิตอยู่ในสิ่งซึ่งฝรั่งเรียกว่า “วัฒนธรรมสื่อ” หมายความว่าครอบครัว โรงเรียน วัด หรือแม้แต่รัฐบาลเองมีความสำคัญน้อยมากเลย สิ่งมันทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ เข้าไปอยู่ในสังคมได้ มีสถานะตนเอง บอกได้ว่าเราคือใคร คือสร้างอัตลักษณ์ตัวเรา ทั้งหมดเหล่านี้ผ่านสื่อทั้งนั้นเลย ถ้าเด็กอ่านหนังสือออก เด็กดูทีวีเป็น เล่นอินเตอร์เน็ตเป็น โรงเรียนเกือบจะไม่มีความหมายแล้ว คุณสามารถให้ทุกอย่างผ่านสื่อทั้งหมด แน่นอนรวมทั้งความบันเทิงด้วย สรุปก็คือเราเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมสื่อ

เครื่องมือกล่อมเกลาให้ยอมรับอุดมการณ์ของรัฐและทุน

แต่ในวัฒนธรรมสื่อนี้ เมื่อเราใช้ได้ รัฐและทุนก็ใช้ได้เหมือนกัน และก็ใช้ได้อย่างค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าประชาชนแต่ละคนที่อยู่ใต้รัฐและทุนด้วยซ้ำ

ถามว่ารัฐใช้อย่างไร ขอสรุปสั้นๆ ได้ว่า รัฐใช้สื่อทุกรูปแบบเพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนยอมรับอุดมการณ์ของรัฐและทุน อุดมการณ์ในที่นี้ขอแปลตามมาร์กซ์ที่ว่ามันหมายถึงชุดความคิดชุดหนึ่งที่ทำให้คนยอมรับอำนาจและการตัดสินใจนโยบายทั้งหมดที่รัฐและทุนวางไว้ให้

ในท่ามกลางวัฒธรรมสื่อ มันเกิดสื่อชนิดใหม่คือพวกสื่อออนไลน์ทั้งหลายที่พึ่งเกิดมาช่วง 20-25 ปี ที่ผ่านมา ที่มันทำให้สื่อออนไลน์เป็นสื่อชนิดใหม่ที่เข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นตลอดเวลา

สื่อในฐานะกลุ่มทุนขนาดใหญ่

ความเสื่อมโทรมของสื่อ ในวัฒนธรรมสื่อ พวกสื่อเก่าทั้งหลาย สื่อกระดาษ สื่อภาพยนตร์ สื่อเพลง นี่ จริงๆแล้วมันมีความเสื่อมโทรมของสื่อเก่าค่อนข้างมากทีเดียว และคนที่พูดถึงสื่อเก่าหรือวิเคราะห์สื่อไปได้อย่างค่อนข้างจะครบถ้วนมากๆ คือ นอม ชอมสกี จึงอยากนำความคิดของ นอม ชอมสกี เพื่อจะมาพูดถึงความเสื่อมโทรมของสื่อในประเทศไทยอย่างเดียวกัน

สิ่งแรกคือ ชอมสกี พูดถึงสื่อมันกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ประเทศไทยครั้งหนึ่งมันเป็นเรื่องชนชั้นกลางตัวเล็กๆ ไม่กี่คนที่มีความคิดแบบเดียวกัน คิดว่าตัวเองควรมีบทบาทอย่างไรในฐานะของผู้ที่จะเป็นสื่อให้กับสังคม และสร้างสื่อขึ้นมาแล้วทะเลาะกับนายทุน แล้วออกหรือย้ายโรงพิมพ์อะไรร้อยแปด แต่ปัจจุบันนี้ครั้งสุดท้ายที่พวกท่านได้ยินว่า บก.ยกทีมลาออก มันตั้งแต่เมื่อไหร่ก็จำไม่ได้

สื่อมันกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ยิ่งสื่อทีวีที่ต้องลงทุนสูงมาก ยิ่งต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เจ้าสื่อขนาดใหญ่ขนาดนี้ มันสัมพันธ์กับทุนและรัฐอย่างแยกกันไม่ได้ เพราะเหตุผลที่ว่าสื่อขนาดใหญ่นั้นจำเป็นที่จะต้องได้กำไรจากการโฆษณา ไม่สามารถจะฟื้นคืนทุนได้ถ้าคุณไม่ได้รับเงินรายได้จากการโฆษณา

ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่าระหว่างการเลือกการเป็นสื่อที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อสังคมกับการเลือกเป็นสื่อที่รับใช้อุดมการณ์ของรัฐและทุน คิดว่าสื่อเก่าทั้งหลายมันไม่มีทางเลือกมากนัก คุณต้องรับใช้อุดมการณ์ของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีเรื่องหนึ่งที่ ชอมสกี เล่าไว้อย่างน่าสนใจ กรณีวอเตอร์เกท แล้วบอกว่าสื่ออเมริกันมันเก่งมากต่างๆนานาที่สามารถล้วงเข้าไปในคอแล้วเอาข้อมูลลึกลับต่างๆออกมาแฉจนกระทั่งประธานาธิบดีต้องลาออก แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยสืบราชการลับหรือ FBI อะไรก็ตามแต่ เข้าไปสืบค้นตรวจสอบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ไม่ได้ทำกับพรรคเดโมแครตพรรคเดียว แต่เป็นครั้งแรกที่คุณกล้าทำกับพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคที่ทั้งทุนขนาดใหญ่ทั้งหลายในอเมริกาลงทุนไปกับพรรคนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองนโยบายแข่งกันกับพรรครีพับลิกัน จริงๆแล้วประธานาธิบดีอเมริกาทั้งจากเดโมแครตและรีพับลิกันได้ส่งทั้ง FBI และหน่วยสืบราชการลับเข้าไปค้นพรรคการเมืองชื่อ The Socialist Worker Party ซึ่งเป็นพรรคที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาก่อนหน้าที่จะเข้าไปในวอเตอร์เกท 10 ปีแล้ว จะกระทั่งกลายเป็นคดีในศาลด้วยซ้ำไป

ฉะนั้นการที่สื่อสหรัฐเข้าไปขุดคุ้ยเรื่องนี้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย หรือเพื่อปกป้องเครื่องมือสำคัญของทุนกลุ่มหนึ่งที่ใช้พรรคเดโมแครตเป็นเครื่องมือในการต่อรองนโยบาย ซึ่งก็ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งสื่อของสหรัฐไม่เคยลงเรื่องของชาวกัมพูชาจำนวนประมาณ 2 แสนคนที่ถูกระเบิดของสหรัฐเองในสงครามอินโดจีนแล้วหนีเข้าไปในพนมเปญ มีผู้สื่อข่าวสหรัฐที่อยู่ในพนมเปญไม่เคยสัมภาษณ์คนที่อพยพมา 2 แสนคนนี้ แต่ไปสัมภาษณ์คนในพนมเปญว่ารู้สึกเดือดร้อนไหมที่มีคน 2 แสนคนอพยพมา ซึ่งก็แน่นอนที่จะตอบว่าเดือดร้อน เป็นต้น

ทั้งหมดเหล่านี้ ชอมสกี้ิชี้ให้เห็นว่าเพื่อทำให้ตัวอุดมการณ์หลักของสหรัฐในฐานะผู้ปกป้องสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย สิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพ มันไม่ถูกตั้งคำถามจากประชาชนชาวอเมริกัน เพราะฉะนั้นสื่อก็ทำหน้าที่อย่างนี้ตลอดมา

ซึ่งทำให้เรามาย้อนคิดให้เห็นว่าแล้วสื่อไทยเสนออะไร ในกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ตอนล่างของประเทศเป็นระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างชัดที่สื่อไทยไม่เคยเข้าไปถึงเหยื่อที่แท้จริง สื่อกระแสหลักไม่ได้พูดถึงเหยื่อเหล่านี้ เหยื่อทั้งหลายไม่ว่าจะถูกอุ้มถูกจับไป ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงตัวเลขในสื่อกระแสหลัก แต่มันไปไม่ถึงตัวเหยื่อและครอบครัวของเขาจริงๆ เพราะฉะนั้นภาพของชาวมุสลิมมลายูภาคใต้จึงกลายเป็นคนลี้ลับ อยู่ในที่มืด อยู่ในที่ซึ่งเป็นศตรูกับสิ่งที่เราเชื่ออยู่ว่าเป็นอุดมการณ์ของเราเท่าที่รัฐได้สอนเรามาค่อนข้างมาก อย่างกรณีกรือเซะนั้นมีสื่อกระแสหลักบางฉบับถึงขนาดเขียนภาพมีดลงไปในมือเหยื่อที่ถูกฆ่าตายด้วยซ้ำ เพื่อทำให้ภาพของคนที่ถูกยิงตายในกรือเซะนั้นสอดคล้องกับตัวเนื้อข่าวที่อยู่ข้างๆว่า คนเหล่านี้คือผู้ก่อการเริ่มต้น คือผู้ริเริ่มให้เกิดความรุนแรงขึ้น ความรุนแรงไม่ได้มาจากรัฐแต่มาจากคนกลุ่มนี้ เหตุดังนั้นจึงคิดว่าสื่อไทยกับสื่ออเมริกันก็ไม่ต่างกัน มีหน้าที่รับใช้อุดมการณ์ของรัฐและทุน

สื่อต้องทำอย่างนั้น ถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่าสื่อต้องพึ่งกับโฆษณาเป็นอย่างมาก พบว่าสื่อเวลาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ฝ่ายโฆษณาเป็นฝ่ายที่ให้การตัดสินใจของเขา เพราะฉะนั้นโฆษณาคือตัวที่บังคับกระแสของสื่อค่อนข้างมาก ซึ่งคนทำโฆษณาเป็นคนที่ใกล้ชิดกับทุนที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหมด บางที่่นั่งอยู่ในกอง บก. ด้วยซ้ำ เท่ากับสื่อกระแสหลักมันมีรัฐและทุนนั่งอยู่ในกองบก.อยู่ตลอดเวลา

การเซ็นเซอร์ตัวเอง

อีกอันที่ชอมสกี พูดไว้และคิดว่าตรงกับไทยก็คืออำนาจทางวัฒนธรรมของอุดมการณ์ คืออุดมการณ์ไม่ได้มากับอำนาจเรียกไปปรับทัศนคติ มันไม่ใช่แค่นั้น ที่ใหญ่กว่าอำนาจดิบแบบนี้ คืออำนาจในทางวัฒนธรรม อำนาจที่ทำให้เราเห็นว่าชีวิตมันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทางที่อุดมการณ์รัฐและทุนได้วางไว้ และคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่่นำให้คนที่ทำสื่อจำเป็นต้องเซนเซอร์ตัวเอง ไม่ใช่เซนเซอร์ด้วยความกลัว แต่เซนเซอร์ตัวเองด้วยความรู้สึกว่าทำให้เราขาดเพื่อน ทำให้เราไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้เราไม่สามารถที่จะไปสมัครงานที่สำนักพิมพ์อื่นได้หากถูกไล่ออก เช่น ถ้ามีประวัติว่าเคยสนใจเจาะลึกกรณีผู้ต้องหาตามมาตรา 112 อย่างจริงจัง ซึ่งจะพบว่าสื่อกระแสหลักของไทยแทบจะไม่รายงานตรงนี้เลย หากคุณจะมารายงานเรื่องนี้ ทำให้เขาไม่เป็นแต่เพียงคนบ้า เป็นคนที่ไร้สติหรือคนที่แหกคอกจนเกินไป แต่ทำให้เขาเป็นมนุษย์ขึ้นมาคนหนึ่งที่มีครอบครัว มีความคิดถูกบ้างผิดบ้างเหมือนอย่างเราท่านทั้งหลาย หากรายงานสิ่งนั้นอาจหางานที่สำนักพิมพ์อื่นทำยาก ไม่ใช่เพราะกลัวที่จะรับ แต่เพราะคนอื่นกลัวที่จะเอาคนต่างดาวมาทำงานด้วย คืออุดมการณ์มันครอบงำจนกระทั่งทำให้คนที่ไม่อยู่ในอุดมการณ์นั้นมันเป็นคนที่ไม่รู้จะดีลกับมันอย่างไร เป็นมนุษย์ต่างดาวไป

เพราะฉะนั้นมันจะมีการเซ็นเซอร์ตัวเองที่น่ากลัวกว่าเซนเซอร์ด้วยความกลัว เพราะเซนเซอร์ด้วยความกลัวมันยังมีการหลบๆหลีกๆได้ แต่เซนเซอร์ด้วยอุดมการณ์ที่เราไม่กล้าที่จะแตกต่างทางอุดมการณ์ ซึ่งอันนี้น่ากลัวกว่า

สื่ออยู่รอดได้ด้วยเงินโฆษณาไม่ใช่ด้วยจำนวนยอดขาย

ในขณะที่สถานะผู้อ่านหรือผู้ชมทีวีเป็นรองอย่างยิ่ง คือจริงๆแล้วหนังสือพิมพ์หรือสื่อที่มีผู้อ่านผู้ชมจำนวนมาก ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่รอด สื่อทั้งหลายอยู่รอดได้ด้วยเงินโฆษณาหรือด้วยธุรกิจโฆษณาไม่ใช่ด้วยจำนวนยอดขาย

มันมีกรณีอันหนึ่งที่น่าสนใจมากที่ชอมสกียกขึ้นมา และคิดว่าน่าตื่นเต้นดี คือเขาพูดถึงหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งชื่อเดลี่เฮเรล เมื่อสมัยที่ขายดีมันขายดีกว่าหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ เดอะไฟแนนเชียลไทมส์และเดอะการ์เดียน รวมกัน 3 ฉบับ และในท้ายสุดมันก็ปิดตัวเองเพราะมันขายให้กับกรรมกร ทำให้โฆษณาไม่มาลงกับหนังสือพิมพ์นี้ แสดงให้เห็นว่ายอดขายไม่มีความหมาย

ทำให้นึกถึงกรณี ไอทีวี เมื่อครั้งที่ยังมีอยู่นั้น ตลาดทั้งหลายแม่ค้าพ่อค้าจะเปิดไอทีวีคาไว้ ไม่ได้ดูเพลงลูกทุ่งหรือละครช่อง 3 แต่เขาดูไอทีวี ดูข่าว ที่ตรงกันกับการสำรวจทั้งในยุโรปและอเมริกาส่วนใหญ่อยากจะมีรายการข่าวและสาระกว่าที่ทีวีอเมริกันเป็นอยู่ แต่เอเจนซี่โฆษณาไม่เห็นด้วย เหตุดังนั้นไอทีวีก็ถูกเรตติ้งว่าเป็นช่องที่ไม่มีคนดู จึงสงสัยว่าวิธีเรตติ้งในประเทศไทยมันต้องเอียงข้างเข้าชนชั้นที่มีกำลังซื้อเท่านั้นที่ถูกเรต ชนชั้นที่ไม่มีกำลังซื้อถึงจะมีจำนวนมากก็ไม่ถูกเรต จึงไม่ค่อยแน่ใจว่าวิธีการวัดปริมาณผู้ชมทีวีในประเทศไทยยังเที่ยงตรงหรือไม่

ความบันเทิงเป็นวัฒนธรรมที่มีการใส่รหัสทางอุดมการณ์

นักโฆษณาจะเชื่อว่าคนชอบความบันเทิงมากกว่า และฟังดูเหมือนความบันเทิงเป็นสิ่งที่มันไม่ได้แทรกอุดมการณ์อยู่ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ความบันเทิงมันเป็นวัฒนธรรม อยู่ๆเกิดมาคุณไม่ได้หัวเราะเอง คุณถูกสอนให้หัวเราะต่างหาก คุณถูกสอนให้รู้ว่าสิ่งนี้คือความสนุก สิ่งนี้ไม่สนุก เพราะฉะนั้นความบันเทิงจึงไม่ใช่ธรรมชาติ และความที่เราถูกสอนให้สนุกกับอะไร ไม่สนุกกับอะไร มันเป็นวัฒนธรรม และในวัฒนธรรมนั้นมันสามารถแทรกสิ่งที่เป็นอุดมการณ์อยู่ เข้ามาว่าอะไรคือความบันเทิงได้ด้วย

และในทุกรัฐในโลกนี้ที่มีสื่อ ความบันเทิงถูกใช้ในการใส่รหัสบางอย่างที่เกี่ยวกับอุดมการณ์ลงไปแยะมากๆเลย อย่างเช่นที่หลายๆคนวิจารณ์ละครทีวีในประเทศไทยมันใส่รหัสการกดขี่ผู้หญิงใส่รหัสชนชั้น การเหยียดชนชั้น การรังเกียจคนอีสาน แยะมากมายในละครทีวี ที่เรารู้สึกตลก สนุกหรืออินอยู่กับละครเหล่านั้น

สื่อใหม่เป็นความหวัง

เหตุดังนั้นจึงคิดว่าสื่อใหม่หรือสื่อที่อยู่ในโลกไซเบอร์เป็นความหวังค่อนข้างมากเลย แต่ถึงอย่างไรหากไม่หวัง สื่อเก่าก็ต้องตายอยู่แล้ว เวลานี้คนก็ดูทีวีน้อยลงเพราะไปดูทีวีที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตมากกว่า คนอ่านหนังสือพิมพ์ยอดขายก็ตกลงทุกฉบับเพราะเราไปอ่านสื่อที่อยู่ในโลกไซเบอร์มากกว่า เป็นต้น ฉะนั้นถ้าเราเรียนรู้จากสื่อเก่า จากความเสื่อมและความใกล้ล่มสลายของสื่อเก่าจึงคิดว่าเราเรียนรู้อะไรได้แยะ

โฆษณากับการควบคุมสารแยกจากกันไม่ได้

ประการแรกคือ เรื่องการโฆษณา หลายคนคิดถึงเวลาทำสื่อออนไลน์ว่าจะทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดได้ในทางธุรกิจ และคิดถึงการโฆษณา ยังมองไม่เห็นว่ามันจะมีหนทางอย่างไรถ้าเรารับโฆษณาและเรายังจะสามารถเป็นอิสระได้อยู่ โฆษณากับการควบคุมสารแยกจากกันไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องหาทางอยู่ให้ได้โดยไม่มีโฆษณา

ผู้อ่านคือหลักสำคัญที่จะต้องตอบสนอง ไม่ใช่ผู้วางโฆษณา

สื่อออนไลน์ที่ไม่มีโฆษณา มีสื่ออันหนึ่งในฝรังเศสที่น่าสนใจ คือ ‘mediapart’ ที่ทำโดยคนที่ลาออกมาจากเลอม็อง ทำสื่อออนไลน์ วันหนึ่งออก 3 กรอบ ที่สามารถอ่านได้แต่เช้ายันกลางคืน สื่อนี้สามารถขุดคุ้ยการเมืองฝรั่งเศส วิธีจะบอกรับสื่อนี้ เขาให้รับได้ 15 วันในราคา 1 ยูโร แต่ครบ 15 วันหากติดใจ ต้องเป็นสมาชิก โดยค่าสมาชิกอยู่ที่ 9 ยูโร ต่อเดือน ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 1 แสนราย นอกจากนั้นมีรายได้ 2.5 ล้านยูโรต่อเดือน ประมาณ 90% ของรายได้ ได้มาจากค่าสมาชิก มีคนทำงาน 30 คน ได้รับเงินเดือนอย่างเดียวกับที่สื่อกระแสหลักได้รับ ดังนั้นมันเป็นไปได้ แม้จะบอกว่าฝรังเศสกับไทยต่างกัน ซึ่งก็เห็นด้วยที่ยังต่างกันอยู่มาก แต่ว่าไม่ใช่ว่ามันไม่มีอนาคตเลย และถ้าเป็นเช่นนั้นมันจะทำให้ผู้อ่านคือหลักสำคัญที่จะต้องตอบสนอง ไม่ใช่ผู้วางโฆษณา

อย่าดูถูกการบริจาค

เวลานี้สื่อออนไลน์ ถ้าไม่นับมติชน ไทยรัฐ ที่เข้ามาในสื่อออนไลน์ สื่อออนไลน์ทั้งหมดได้จากการบริจาค แทนที่จะเป็นเรื่องของการรับสมาชิก เป็นเริ่มจากการรับบริจาคให้มากขึ้น ให้มาให้ความสนใจกับการบริจาคมากขึ้นได้ไหม อย่าดูถูกการบริจาค การบริจาคเป็นการบังคับให้เราต้องทำคุณภาพให้ดีและมีคุณค่ากับผู้อ่านพอที่เขาจะควักเงินจ่ายให้เรา

การบริจาคมีทั้งบริจาคเงิน บริจาคสมองบ้างในการช่วยกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ หากให้ความสนใจด้านนี้จะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญและไม่ขัดกับหลักการของเรื่องเสรีภาพของสื่อด้วย

สื่อออนไลน์เปิดโอกาสให้ทดลองในสิ่งที่สื่อเก่าไม่กล้า

ในโลกของสื่อออนไลน์มันเปิดโอกาสให้คุณทดลองได้แยะมาก ในสิ่งที่สื่อเก่าไม่กล้าทดลอง เช่น ถ้ามีทีวีออนไลน์ที่ได้รับการบริจาคเพียงพอ มันมีคนอยากทำละครดี ที่ท้าทายต่ออุดมการณ์เก่า ตัวอย่างเช่น เสนอละครที่แสดงให้เห็นว่าความดีหรือความชั่วมันมีเงื่อนไข ไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์ แต่มันมีเงื่อนไขของมัน

พื้นที่การปฎิสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของ-ร่วมจ่าย

ลักษณะที่ปฎิสัมพันธ์ของสื่อออนไลน์มันจะช่วยได้มาก การเป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาถกเถียงต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้ได้ปรับตัว ที่สำคัญมันทำให้สื่อไม่ได้เป็นของคนทำสื่อ แต่มันเป็นของทุกคน เวลาจะคิดถึงการบริจาค คิดถึงค่าสมาชิกก็ต่อเมื่อเขาเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นอย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท