Skip to main content
sharethis

สังคม "บ้าการสอบ" ในเกาหลีใต้ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงมีการเปิดสอบรับคนเข้าทำงานทีละเป็นจำนวนมากซึ่งในแง่ดีคือมันเปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวโดยไม่จำกัดเรื่องชื่อเสียงของสถานศึกษา แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็ทำให้ผู้คนถูกจำกัดและกดดันว่าคุณต้องเข้าทำงานในบริษัทนี้เท่านั้นถึงจะถือว่ามี "ชีวิตที่ดี"


Some rights reserved by samsungtomorrow

31 ม.ค. 2558 เว็บไซต์โกลบอลโพสต์ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของเหล่าเยาวชนชาวเกาหลีใต้กับโอกาสที่จะได้เข้าทำงานในบริษัทผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้และจากระบบการคัดเลือกเข้าทำงานและการให้สัญญาเรื่อง "ชีวิตที่ดี" กับผู้ที่ร่วมงานของพวกเขาทำให้มีคนตั้งฉายาว่า "สาธารณรัฐซัมซุง"

บริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้อย่างซัมซุงมีระบบการจ้างงานที่รับพนักงานชาวเกาหลีใต้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีระบบการแข่งขันที่เข้มข้นและมีคนหนุ่มสาวเกาหลีใต้มุ่งหวังจะเข้าทำงานในซัมซุงนับแสนคน ทำให้ดูเหมือนการเข้าทำงานในซัมซุงแทบจะเป็นเป้าหมายสำคัญในชีวิตของคนหนุ่มสาวในเกาหลี

โดยทุก 6 เดือน จะมีชาวเกาหลีใต้ราว 100,000 คน เข้าสอบเพื่อให้ได้ทำงานในซัมซุง ข้อสอบมีทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การใช้เหตุผล และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีการสอบตัวอักษรภาษาจีนที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเข้าไปด้วย มีราว 7,000 คนเท่านั้นที่ผ่านการทดสอบ และมีราว 4,000 คนเท่านั้นที่ได้งาน หมายความว่าในทุกๆ 20 ผู้สมัครจะมี 1 คนเท่านั้นที่ได้งาน

มีการเปรียบเทียบกับบรรษัทไอทีต่างประเทศอย่าง 'แอปเปิล' และ 'กูเกิล' ที่ใช้วิธีการคัดกรองจากเอกสารสมัครงานและการสัมภาษณ์ แต่ในสังคมแบบเกาหลีใต้ ข้อสอบเป็นตัวชี้วัดหลักๆ ที่สำคัญ มันสำคัญถึงขนาดถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ชี้วัดทุกอย่างในชีวิต

ในสังคมเกาหลีใต้ เยาวชนมีความตึงเครียดสูงมากจากการถูกกดดันให้เรียนพิเศษช่วงค่ำเพื่อให้ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นสูงเพื่อให้มีโอกาสได้งานสบายๆ และมีเส้นสายทางการเมือง แต่ในกระบวนการเข้าถึงระบบการศึกษาที่เปิดโอกาสให้แต่ชนชั้นนำเหล่าคนหนุ่มสาวยุค "Gen Y" ในเกาหลีใต้ ก็ต้องผ่านด่านหลายด่านทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การสมัครเข้าทำงานในบริษัทเอกชนหรือของรัฐ ซึ่งถ้าผิดพลาดก็จะถูกครอบครัวมองว่าเป็นผู้ล้มเหลวในชีวิต ทัศนคติจากคนรอบข้างและสภาพชีวิตของคนหนุ่มสาวเช่นนี้เองที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของเยาวชนเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้น

การแข่งขันอย่างรุนแรงของชาวเกาหลียุคใหม่ทำให้มีคนไม่พอใจจำนวนมากเมื่อซัมซุงประกาศจะยกเลิกการสอบเข้าทำงานและใช้วิธีการให้มหาวิทยาลัยแนะนำตัวนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเข้าทำงานแทน พวกเขาประกาศเรื่องนี้เมื่อเดือน ม.ค. 2557 แต่ก็ล้มเลิกไปเมื่อโดนทักท้วง นักศึกษาหลายคนกลัวว่าการเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกเข้าทำงานของซัมซุงจะทำให้พวกเขาเสียโอกาสเพราะไม่ได้เรียนในสถานศึกษาที่พวกเขาเล็งไว้ พวกเขากลับมองว่าการเปิดให้สอบโดยไม่สนใจเรื่องคุณสมบัติในใบสมัครถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีความพยายามอย่างหนัก

แต่ความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวเกาหลีใต้ที่อยากเข้าไปทำงานกับซัมซุงนั้นส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกอยากเป็น 'คนพิเศษ' ในแบบที่ชาวเกาหลีเรียกว่า "มนุษย์ซัมซุง" (Samsung Man) ที่เอาไปโอ้อวดกับคนอื่นได้และมีความรู้สึกได้รับการยอมรับเชิดชูจากสังคม

อีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้หนุ่มสาวเกาหลีใต้ตะเกียกตะกายดิ้นรนเข้าไปทำงานในบริษัทไอทีแห่งนี้คือความรู้สึกมั่นคงในชีวิต ซึ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียปี 2540 มีคนทำงานจำนวนมากได้รับความสูญเสีย แต่ดูเหมือนบริษัทซัมซุงจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่าความมั่นคงอย่างหนึ่งมาจากวัฒนธรรมการปฏิบัติต่อลูกจ้างในองค์กรที่แตกต่างกันระหว่างชาติตะวันตกกับเกาหลีใต้ ขณะที่ในบรรษัทของชาติตะวันตกปฏิบัติกับคนงานเหมือนเป็นสิ่งที่ใช้แล้วทิ้งได้โดยประเมินจากผลงานของคนงานเมื่อไม่นานมานี้ แต่ในเกาหลีใต้พวกเขาตัดสายใยกับลูกจ้างในบริษัทไม่ค่อยขาดเพราะมองพวกเขาเป็นเหมือนครอบครัวแม้แต่ในยามยากที่กำไรของบริษัทถดถอยลง ซึ่งมีบางคนเรียกทัศนคติต่อคนงานในแบบของเกาหลีใต้ว่า "การจัดการแบบขงจื้อ" (Confucian arrangement) บางครั้งก็มีการช่วยเหลือคนในครอบครัวของลูกจ้างถ้าหากลูกจ้างประสบปัญหาทางการเงินหรือเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรด้วย

ทั้งหมดนี้จึงเป็นบทสะท้อนถึงความฝันและความมุ่งหวังของชาวเกาหลีใต้ยุคใหม่ที่ยอมทนทุกข์ฝ่าฟันการแข่งขันทำข้อสอบอย่างบ้าคลั่งเพียงเพื่อจะได้เป็นชนชั้นนำใหม่ที่มีชีวิตมั่นคงกว่าคนอื่น


เรียบเรียงจาก

In the Republic of Samsung, here’s the ticket to the good life, Globalpost, 26-01-2015
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/asia-pacific/south-korea/150122/the-republic-samsung-SAT

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net