Skip to main content
sharethis

กองทุนไทย จัดเวทีสัมมนาวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม 4 วิทยากรชี้ ต้องรวมต้วกัน ไม่เข้ากับขั้วทางการเมือง พร้อมต้องหันกลับมาวิจารณ์ระบบอุปถัมภ์ในองค์กรตัวเอง

<--break- />

 

เมื่อวันที่ 8 – 10 ม.ค. 2558 มูลนิธิกองทุนไทย ได้จัดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคม เพื่อสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดเวทีให้เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมทั้งเชิงประเด็น และเชิงพื้นที่ ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยภายในโครงการนี้ได้มีการจัดเวทีสัมมนาในหัวข้อ “วิเคราะห์สถานการณ์ภายใต้บริบทการเมืองในปัจจุบัน และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ซึ่งมีวิทยากรประกอบด้วย สมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฏหมาย ผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จอน อึ๊งภากรณ์ นักพัฒนาเอกชนอาวุโส และจะเด็ด เชาว์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

ประชาไท ถอดความ และเรียบเรียงมานำเสนอ

00000

 

สมชาย หอมลออ : ความสั่นคลอนของสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน

“สังคมที่เกิดภาวะแบบนี้เป็นสังคมที่ไม่มั่นคง เป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน แต่ปัญหาคือจะเปลี่ยนผ่านกันอย่างไร จะมีความรุนแรงหรือไม่ สันติวัฒนธรรมจะเอาอยู่หรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องจับตาดู”

ผมคิดว่าทุกคนในที่นี้ก็คงอยากจะรู้ว่า ในอีกสิบปีข้างหน้า อนาคตบ้านเมือง สถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ผมเองคิดไปก็ไม่ค่อยมีความสุขมากนัก เพราะเห็นสถานการณ์ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่รู้พวกเรารู้สึอย่างนั้นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตามผมมีอยู่ 3 ประเด็นที่อยากเสนอเป็นกรอบสำหรับพูดคุยกันต่อ

ประเด็นแรกคือ ลักษณะของสถานการณ์เป็นอย่างไร  ประเด็นที่สองคือ จะมีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่จะมาเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ ทั้งเหตุปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน และประเด็นสุดท้ายคือ ภาคประชาสังคมจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร

สถานการณ์บ้านเมืองของเราเป็นอย่างไร ก็คงตอบได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่กำลังต้องการความสงบ ความสามัคคี ความมั่นคง ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้นเสมอหลังจากมีการยึดอำนาจ รัฐประหาร หรือแม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็มักจะพูดถึงคำนี้ แต่ว่าสถานการณ์ช่วงนี้เราอยู่ในประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีการประกาศใช้กฏอัยการศึกทั่วประเทศ สิทธิเสรีภาพทางการเมืองทุกระงับ การออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ถูกควบคุมด้วยอำนาจกฏอัยการศึก การมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติหยุดชะงัก

สรุปได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศเราตกอยู่ภายใต้การยึดกุมของกลุ่มอำนาจเก่า หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจมาอย่างยาวนาน เพราะเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น กลุ่มนี้ได้กลับมาควบคุมอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง ในขณะที่กลุ่มอำนาจเก่าที่มาจากนอกประเทศก็คงยังเป็นกลุ่มเดิมซึ่งยังมีอิทธิพลอยู่ในประเทศไทยในตอนนี้คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศญี่ปุ่น เห็นได้ชัดว่าไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ พวกนี้เป็นกลุ่มเก่าที่ยังครองอำนาจอยู่ในปัจจุบัน

ถ้าจะมองว่าสถานการณ์ของประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ต้องมองไปที่เหตุปัจจัยขั้นพื้นฐาน สังคมไทยมีเหตุปัจจัยพื้นที่ค่อนข้างอมโรค กึ่งสุขกึ่งดืบคือ เป็นสังคมสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีมาก สภาพสังคมในชนบทเปลี่ยนแปลงไปมาก เป็นสังคมที่การค้าและธุรกิจสมัยใหม่ มีแรงงานข้ามชาติจำนาวนมาก แต่วิธีคิดของคนไทย และสายใยสายสัมพันธ์ของคนในสังคมยังเป็นแบบเดิม เรายังอยู่ภายใต้โครงครอบทางวัฒนธรรมของระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมีรากฐานมาจากความคิดของระบบศักดินา ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของสังคมไทย ขณะเดียวกันประเทศเราเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่กว้างมาก ซึ่งเรื่องนี้คนไทยหลายคนยังไม่เข้าว่าสังคมเราเป็นโรคอะไรอยู่

ในทางการเมืองเราเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยรวมแล้วเป็นสังคมที่กำลังเจ็บป่วย แต่เราก็ยังมีภูมิต้านทานอยู่บ้าง แม้เราจะทะเลาะกันมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้มีการออกมาฆ่ากันอย่างมหาศาลกลางบ้านเมือง ภูมิต้านทานที่ว่าคือ สันติวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เราไม่ออกมากระทำความรุนแรงต่อกันอย่างมหาศาล แต่ปัญหาสำคัญคือ ภายใต้ภาวะอมโรคแบบนี้ สันติวัฒนธรรมของประเทศเราจะอยู่ได้อีกมากน้อยเพียงใด

ขณะที่ด้านปัจจัยภายนอกนั้น เราตกอยู่ภายใต้การครอบงำของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน จะเห็นได้ว่าประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะมีแต่กลุ่มประเทศเหล่านี้ แต่ขณะนี้ประเทศจีนกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งกำลังแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา และพยายามขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจออกไป โดยการแผ่อิทธิพลเข้ามาในประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด และประเทศไทยมีนโยบายที่เป็นมิตรกับประเทศจีน ต่างกับหลายประเทศในภูมิภาคที่เป็นไม้เบื่อ ไม้เมากับจีนมานานหลายปี ฉะนั้นการแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศจีนจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน อาจจะเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างสองค่าย ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับ จีน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะดุเดือดเหมือนตอนสงครามเย็นหรือไม่ จะเป็นเพียงการช่วงชิงกันทางเศรษฐกิจเท่านั้น หรือเป็นการช่วงชิงกันทางการเมืองด้วย ประเด็นนี้เราไม่อาจละเลย เพราะสิ่งที่พวกเรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่ทั้งเรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดินที่ทำกิน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสองขั้วอำนาจที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ย้อนกลับมาที่ปัจจัยภายใน ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เป็นช่วงที่ทุกสถาบันในสังคมไทยที่ดำรงอยู่ และมีบทบาทในสังคมกำลังถูกสั่นคลอน ประชาชนกำลังขาดความเชื่อมั่น และถึงขั้นออกมาวิพากษ์ วิจารณ์อย่างมาก สถาบันศาสนา สถาบันยุติธรรม สถาบันทหาร สถาบันราชการ สถาบันพรรคการเมือง หรือแม้แต่สถาบันสูงสุด พูดกันด้วยความจริงไม่มีสถาบันไหนเลยที่ไม่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ ซึ่งการวิพากษ์ วิจารณ์นั้นบางคนอย่างจะเห็นว่าเป็นการพูดโดยหวังผลทางการเมือง แต่จริงๆ แล้วยังปัจจัยอื่นคือ ประชาชนเองเริ่มขาดความเชื่อมั่น ศรัทธา เริ่มตั้งข้อสงสัย สังคมที่เกิดภาวะแบบนี้เป็นสังคมที่ไม่มั่นคง เป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน แต่ปัญหาคือจะเปลี่ยนผ่านกันอย่างไร จะมีความรุนแรงหรือไม่ สันติวัฒนธรรมจะเอาอยู่หรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องจับตาดู

ประเด็นต่อมาคือ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กับกลุ่มอำนาจใหม่ที่ขอแบ่งปันอำนาจบ้าง ซึ่งไม่ใช่เพียงความขัดแย้งระหว่าง เพื่อไทยกับกลุ่มอำนาจเก่าเท่านั้น แต่พรรคประขาธิปัตย์ แม้มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมก็ตาม ก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มอำนาจใหม่ ฉะนั้นเห็นได้จากการที่พรรคประชาธิปัตย์สงวนท่าทีไม่เข้าไปร่วมกับการปฏิรูปครั้งนี้ กับคสช.โดยตรง

ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนกับกลุ่มชนชั้นนำ แม้ว่าตอนนี้ประชาชนจะแตกแยกออกไปอยู่คนละฝั่ง แต่ว่าโดยภาครวมแล้วประชาชนไม่ว่าจะกลุ่ม โดยโครงสร้างของอำนาจก็แล้วแต่เป็นที่มีผลประโยชน์ที่แตกต่าง และขัดแย้งกับชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนชั้นนำเก่า หรือกลุ่มชนชั้นใหม่ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันการเมืองแบ่งขั้วในลักษณะนี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของภาคประชาชนสังคมอย่างมาก ยิ่งทำให้เราอ่อนแอคือ หาทางตัวเองไม่เจอ รู้เพียงแค่ต้องการที่ดินทำกิน อยากให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรราคาสูง ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่มาเอาเปรียบ แต่กลับมองไม่เห็นการเคลื่อนไหวในระยะยาว เรากำลังมีความสับสน อ่อนแอที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน

10 ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ตอบยาก แต่คิดว่า กลุ่มอำนาจเก่าจะกระชับอำนาจมากยิ่งขึ้น โดยการปฏิรูปที่กำลังทำกันอยู่นี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มอำนาจเก่า ลดพื้นที่จำกัดบทบาทของกลุ่มอำนาจใหม่คือ จะจำกัดบทบาทของนักการเมือง พรรคการเมือง แต่กลับเพิ่มบทบาทของกองทัพ และศาล ประเด็นคือจะจำกัดได้จริงหรือ ปัจจุบันกลุ่มอำนาจเก่าได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางในเมือง การแย่งชิงทรัพยากรระหว่างประชาชนจะวุ่นวายมากขึ้น  แต่การกระชับอำนาจจะไม่ยั้งยืน เพราะประชาชนเริ่มตื่นรู้และมีเทคโนโลยีที่จะสื่อสารกันมากขึ้น และจะทำให้กลุ่มอำนาจใหม่กลับมามีอิทธิพลกับประชาชนมากยิ่งขึ้น และชนชั้นกลางบางกลุ่มที่เคยสนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่าก็จะหันกลับมาสนับสนุนกลุ่มอำนาจใหม่ และถ้าเป็นอย่างนั้นต้องดูว่าประเทศมหาอำนาจจะถือหางใคร เชื่อว่าภูมิต้านทานอาจจะต้านไม่อยู่ อาจจะเกิดภาวะความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างยาวนานและต่อเนื่อง

สิ่งที่เสนออาจจะดูเป็นภาพลบมาก แต่คิดว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ อยากให้พวกเรารู้และเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ไม่มั่นคงอย่างนี้ไว้ด้วย

จอน อึ้งภากรณ์ : ประชาสังคมต้องรวมตัว และลงแรงสู้ร่วมกัน

“นี่เป็นความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจที่อยู่ข้างบน คำถามคือเรา ซึ่งเป็นชาวบ้าน เป็นประชาชนทั่วไปจะจัดวางตัวเองอย่างไร ผมคิดว่าเราควรหลีกเลี่ยงที่จะถูกดึงเข้าไปต่อสู้กันเอง”

ผมพยายามคิดอยู่ว่ามีจุดไหนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณสมชายบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วเห็นด้วยหลายจุด แต่ก็นับได้ไม่มาก สิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือ ระดับความเข้มข้นบางประการ เช่น เรื่องพื้นฐานวัฒนธรรมคนไทยเป็นคนรักสงบ ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่เพราะคนไทยใช้ความรุนแรงมาตลอด การเมืองไทยมีความรุนแรงมาตลอด มีการกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยความรุนแรง รวมทั้งอิทธิพลของมหาอำนาจในปัจจุบันไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนั้น ผมคิดว่าน้อยลงไปจากสมัยก่อนเยอะ แต่คิดว่าจีนมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ

ทีนี้มาที่สถานการณ์ในปัจจุบัน ผมเห็นว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยล้มลุกคลุกคลานตลอด นั้นเป็นเหตุที่เรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ มีการทำรัฐประหารหลายครั้ง ประวัติศาสตร์ของไทยมีความพยายามที่จะเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ต้องดิ่งลงไป เพราะมีการทำรัฐประหารตลอดทุกยุค ถ้าดูในต่างประเทศซึ่งอยู่ภูมิภาคเดียวกับเรา ไม่มีประเทศใดที่เป็นประชาธิปไตยมาโดยกำเนิด ต่างก็มีการพัฒนาประชาธิปไตยมาตลอดเหมือนกันกับประเทศไทย แต่อินโดนีเซีย กลับมีการพัฒนาที่รุดหน้าประเทศไทยไปมาก คำถามที่น่าสนใจคืออะไรเป็นตัวถ่วงไม่ให้ประชาธิปไตยพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดเสียที ผมคิดว่าเป็นเพราะกลุ่มอำนาจเก่า ที่พยายามจะฉุดดึงประชาธิปไตยเอาไว้ ก็ดังที่เรารู้กันดีว่า ทหารเข้ามามีบทบาทตรงนี้ แต่ว่าไม่ใช่เพียงแต่กองทัพเพียงสถาบันเดียว

หลังจาก การรัฐหารครั้งที่แล้ว 49 ผมไม่คิดว่าจะมีรัฐประหารครั้งนี้อีก ไม่คิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้อีก เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่ผมยังทำงานอยู่ ตอนนั้นชาวบ้านยังไม่ได้พัฒนามาถึงทุกวันนี้ ไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองมากนัก แต่ถึงตอนนี้สังคมไทยไม่เหมือนเมื่อ 30 ปีก่อนแล้ว สมัยแรกๆมีคนออกมาพูดว่าปัญหาของชาวบ้านคือ “โง่ เจ็บ จน”  แต่ตอนนี้ประชาชนเริ่มที่จะรู้จักที่จะสู้กับอำนาจที่เข้ามากระทำกับตนอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ช่องทางที่เป็นทางการ เช่น ผ่านทางรัฐสภาเพื่อเรียกร้องประเด็นที่ตนต้องการ หรือออกมาเคลื่อนไหว ชาวบ้านสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าววสาร เข้าถึงอินเตอร์เน็ต ฉะนั้นหากภาครัฐต้องการยึดที่ดิน หรือนายทุนจะเข้ามาทำเหมืองที่จะทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา เขารู้จักสู้กับรัฐ และทุนแล้ว

แต่ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้ ก็ยังเกิดการทำรัฐประหารจนได้ ผมคิดว่าเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มอำนาจ เมื่อวิเคราะห์ลงไป กลุ่มอำนาจทั้งสองไม่ได้แตกต่างกันในแง่อุดมการณ์มากนัก ถ้าจะแตกต่างกันก็เพียงแค่องค์ประกอบของกลุ่มอำนาจ ฉะนั้นนี่ไม่ได้เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ แต่เป็นการขัดแย้งทางอำนาจ และผลประโยชน์ แต่ปัญหาคือ เขาดึงประชานเขาในเกมส์ช่วงชิงอำนาจด้วย และสร้างอุดมการณ์ขึ้นมาเพื่อดึงฐานมวลชน ซึ่งจริงๆ แล้วอุดมการณ์ของชนชั้นนำทั้งสองกลุ่มไม่ได้แตกต่างกันเลย ขณะที่ภาพสังคมที่ประชาขนที่อยู่คนละฝั่งกันสองต้องการจะเห็นก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย แต่เรากลับแยกกันออกเป็นสองฝ่าย เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะ มีกลไกที่สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชน เช่นมีสื่อมวลชน ที่พยายามสร้างมายาคติ ที่ทำให้เห็นโลกเป็นสี ขาว-ดำ คือมีฝ่ายที่ดี และฝ่ายที่เลว แต่ว่าในความเป็นจริงมันไม่ได้มีใครดีทั้งหมดเลวทั้งหมด แต่สื่อพยายามโฆษณาชวนเชื่อเพื่อผลประโยนช์ทางการเมืองของชนชั้นนำ

นี่เป็นความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจที่อยู่ข้างบน คำถามคือเรา ซึ่งเป็นชาวบ้าน เป็นประชาชนทั่วไปจะจัดวางตัวเองอย่างไร ผมคิดว่าเราควรหลีกเลี่ยงที่จะถูกดึงเข้าไปต่อสู้กันเอง หรือถูกดึงเข้าอยู่ในความขัดแย้ง และควรหลีกเลี่ยงที่จะมองชาวบ้านที่อยู่อีกฝ่ายเป็นศัตรู ทั้งสองกลุ่มอำนาจเก่งที่จะดึงเราเขาไปอยู่คนละฝ่าย แต่ผลประโยชน์ที่ภาคประชาชนจะได้จริงๆ เราต้องร่วมกันเพื่อต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ สู้กับความอยุติธรรมในสังคมมากกว่า

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน เราอยู่ในสถานการณ์ของกฏอัยการศึก สิทธิเสรีภาพที่เราเคยมีถูกลิดลอนไปหมด เราอยู่กับการห้ามชุมนุม ห้ามวิพากษ์ วิจารณ์ กระทั่งห้ามจัดงานสัมนาต่างๆ ไปจนถึงห้ามการเลือกท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้หมายความว่าอย่างไร ทั้งหมดที่ทำนี้ ทำอยู่ภายใต้กฏอัยการศึก ไม่ว่าทหารเขาจะทำอะไร เราไม่สามารถฟ้องร้องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นได้ และมากไปกว่านั้นเรามีสนช. ซึ่งมีทหารอยู่ครึ่งหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นข้าราชการ และนักธุรกิจอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะออกกฏหมายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา โดยที่เราไม่มีส่วนที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็น เช่น กฏหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ ต่อจากนี้เราต้องไปขออนุญาติก่อน หรือกฏหมายอีกหลายฉบับที่กำลังมีการผลักดันกันอยู่ ซึ่งอาจจะกระทบกับชีวิตของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สิ่งที่เราเผชิญตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่ภาคประชาชนมีข้อจำกัดเยอะมากในการต่อสู้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย เราก็ต้องต่อสู้เท่าที่เราจะทำได้  และต้องประเมินสถานการณ์ดูว่า ประเด็นที่เราต้องสู้อยู่ จะมีการพลิกแพลงวิธีการต่อสู้อย่างไร การที่จะต้องสู้ได้ง่ายขึ้นต้องมีการยกเลิกกฏอัยการศึก รัฐธรรมนูญก็ต้องให้มีโดยเร็ว แต่ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

ระยะยาวเราจะต่อสู้อย่างไร ผมคิดว่าถ้าเราดูจากประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนนั้นน เกิดจากการมีองค์กรภาคประชาชนเข้มแข็ง แต่ว่าของประเทศเรายังอ่อนแอเกินไป ในต่างประเทศเมื่อนายทุนรวมตัวกัน แรงงานเขาก็รวมกัน และมีพรรคการเมืองเกิดขึ้น แต่ในประเทศเรายังไม่มีพรรคการเมืองของประชาชน มีเพียงพรรคการเมืองของกลุ่มอำนาจ หรือกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ ในอนาคตถ้าเป็นไปได้เราอาจจะมีการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองเพื่อเข้าไปต่อรองอำนาจ และพลักดันประเด็นของพวกเรา แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ที่พูดไม่ได้จะเป็นการพูดให้ท้อถอย แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราควรรู้ และเข้าใจ เพื่อที่จะวางแนวทางของตัวเองต่อไป ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของเราคือ กำลังคนของประชาชนกลุ่มต่างที่ต้องการเห็นชีวิตที่ดีขึ้น เรามีประชาชนที่ยังเป็นผู้ด้อยโอกาสทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ในแง่นี้เรายังมีพลังของประชาชนที่จะต่อสู้ ขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นอุปสรรคของเราคือ สถาบันที่อยู่ในความมืดคือ ไม่สามารถที่จะวิพากษ์ วิจารณ์ หรือไม่สามารถตรวจสอบได้เลย เช่นการคอร์รัปชั่นในสถาบันกองทัพ ความมืดในสถาบันยุติธรรม สถาบันตำรวจ เร็วนี้เราก็เพิ่งเห็นการกวาดล้างนายตำรวจครั้งใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดบอดของสังคมไทยที่เราม่สามารถตรวจสอบได้  เราต้องร่วมกันสร้างสังคมที่ตรวจสอบได้ทุกส่วน เมื่อตรวจสอบได้ก็ต้องวิพากษ์ วิจารณ์ได้ ประชาชนต้องมีโอกาสที่จะทราบเรื่องราวข้อมูลต่างๆ ของรัฐ ราชการ หรือสถาบันต่างๆของสังคม 

นฤมล ทับจุมพล : กรอบวิเคราะห์สถานการณ์ และความท้าทายของประชาสังคมหลังเปิดอาเซียน

“เรื่องของเราจะไม่ใช่เพียงเรื่องของประเทศไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงเราในฐานะอาเซียนทั้งหมด...”

ปกติเวลาเรามองประชาธิปไตย หรือกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย มันมีอยู่ 3 แบบ แบบแรกคือ เรามองว่าอย่างไรก็ตามกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นเส้นตรงไม่ว่าจะช้าจะเร็ว สังคมก็จะเป็นประชาธิปไตยแน่นอน ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยจะต้องเป็นประชาธิปไตยเข้าสักวัน ขณะที่แบบที่สอง เชื่อว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไม่ใช่เส้นตรงแต่เป็นเส้นซิกแซก บางประเทศกว่าจะเป็นประชาธิปไตยก็ใช่เวลาเป็นร้อยปี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่บอกยากว่าสังคมจะมีการพัฒนาประชาธิปไตยแบบเส้นตรง หรือแบบซิกแซก ตัวอย่างเช่นประเทศไทยเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วเราเชื่อว่าการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยจะเส้นตรง แต่สุดท้ายก็มีรัฐประหารเกิดขึ้น  อย่างไรก็ตามแม้การพัฒนาประชาธิปไตยแบบนี้จะซิกแซก ขึ้นๆ ลงๆ แต่สุดท้ายปลายทางก็ต้องไปถึงประชาธิปไตยอยู่ดี ขณะที่แบบที่สาม อาจจะดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายคือ อย่างไรก็ไม่มีวันไปถึงประชาธิปไตย ได้เป็นเพียงแค่ระบบผสม เช่นอย่างในประเทศ พม่า ที่แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ก็มีการแบ่งที่นั่งไว้สำหรับทหารในรัฐสภาอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยจะมีการพัฒนาประชาธิปไตยแบบใด

สำหรับการมองอนาคตของประเทศไทยตอนนี้ เราอาจจะต้องทำใจไว้บางส่วนหรือไม่ว่าจะต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบผสม เป็นประชาธิปไตยครึ่งหนึ่ง เป็นเผด็จการครึ่งหนึ่ง หรือจะหวังว่าพลังทางสังคมจะมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ขณะที่มีหลายคนเห็นว่าประเทศไทยอาจจะเหมาะกับระบบผสมแบบนี้ โดยได้เสนอว่า เราควรจะเน้นไปที่เรื่องของศีลธรรมมากกว่าที่จะมองเรื่องระบบการเมืองที่ดี ซึ่งเป็นการมองว่าหากไม่มีศีลธรรมก็ไม่สมควรที่จะเป็นผู้ปกครอง อันนี้ไม่ได้เป็นโจทย์เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นโจทย์ทั่วโลก ขณะเดียวกันก็มีการถกเถียงกันว่า ในสังคมที่เป็นสีเทาซึ่งมีทั้งคนดี และคนไม่ดี การจะผู้นำทางศีลธรรมมาเป็นผู้ปกครองนั้นอาจจะไม่สามารถบริหารงานได้ เพราะไม่รู้จักโลกที่เป็นจริง และเรื่องสำคัญอีกประการคือ เราไม่มีเครื่องมือที่จะสามารถชี้วัดระดับความดีของคนได้ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดและวางแผนว่าจะทำอะไรต่อไปในอนาคต ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจจะเป็นเส้นตรง ซิกแซก หรืออาจจะหยุดอยู่ที่ระบบผสมก็ได้

ขณะที่เราวางแผนเราต้องดูอะไรบ้าง สิ่งแรกคือปัจจัยเชิงโครงสร้าง หรือพลังทางสังคม เช่น การพัฒนาของทุนนิยม กระแสโลกาภิวัตน์ โครงสร้างของระบบโลก ระดับการศึกษา สัดส่วนของชนชั้นกลาง ภาคประชาสังคม วัฒนธรรมทางการเมือง นักคิดแนวสังคมนิยมก็จะมีแนวคิดที่อธิบายว่า จะมีพลวัตทางการเมืองทางชนชั้นคือ คนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงจากลักษณะปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ฉะนั้นพอไปถึงระยะหนึ่งคนเราย่อมทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้สังคมปกครองด้วยระบอบเผด็จการคือ มีแค่เสรีภาพืทางเศรษฐกิจ แต่ปราศจากเสรีภาพทางการเมือง ดังนั้นปัจจัยในเชิงโครงสร้างจะกำหนดให้ประเทศไทยไม่ช้าก็เร็ว อย่างไรก็จะกลับไปสู่ประชาธิปไตย

ในขณะที่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว ในแง่นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ดีที่สุด แต่กลับไม่พัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าได้สักที การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอาจะส่งผลบังคับให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เราจะประกาศกฏอัยการศึกต่อไปได้อย่างไร เพราะมันส่งผลต่อการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เกินไปกว่าอำนาจของ คสช. ที่จะควบคุมได้ เพราะเป็นปัจจัยที่ต้องจำยอมไม่เช่นนั้น เราก็อาจจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

หรือกรอบมุมมองแบบที่สองคือไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่เกี่ยวข้องกับตัวเรา ในฐานะผู้กระทำคือ ในแต่ละช่วงเวลาเราจะตัดสินใจอย่างไร ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดชาตะกรรมของตนเอง ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจะมีการตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไร จะวางแผนอย่างไร หรือจะทำงานในประเด็นที่เราต่อสู้ต่อไปอย่างไร

กรอบมุมมองอีกกรอบคือ การวิเคราะห์ในเชิงสถาบัน เช่นมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร ถ้าทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอจะส่งอย่างไรต่อประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่จะส่งผลอย่างไร  โดยมองย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เปิดโอกาสให้เกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง หรือมีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง จนถึงที่สุดทำให้เกิดปัญหา และทำให้เกิดดึงอำนาจคืนของกลุ่มอำนาจเก่า ฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องทำให้พรรคการเมืองอ่อนอำนาจลง เรื่องเหล่าเกี่ยวข้องกับพวกเราในแง่ที่ว่า ถ้าต่อจากนี้ไม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วทุกอย่างกลับไปอยู่ที่มหาดไทย โครงสร้างเชิงสถาบันแบบนี้เราต้องการหรือไม่ และถ้าไม่ต้องการเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

ขณะที่การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยอย่างมากมาย เรื่องของเราจะไม่ใช่เพียงเรื่องของประเทศไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงเราในฐานะอาเซียนทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่เราจะได้เห็นคือการมีแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น และขณะเดียวคนไทยก็จะออกไปทำงานที่ประเทศอื่นๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน สิ่งที่น่าสนใจคือในภาคธุรกิจ เขาสนใจสิทธิเสรีภาพ สวัสดิการทางสังคมหรือไม่ คำตอบที่ได้คือ อาจจะไม่ สมมุติว่าเราออกไปทำงานในต่างประเทศ สวัสดิการทางสังคมที่เราเคยได้รับอย่างเช่น สิทธิรักษาพยาบาลกองทุนหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ก็ยังไม่สามารถใช้ได้ในประเทศเพื่อนบ้านในตอนนี้ ซึ่งต้องดูว่าจะมีการตกลงร่วมกันอย่างไรต่อไประหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่ท้าทายภาคประชาสังคมอยู่พอสมควร และไม่เพียงแต่กรณีนี้อย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่ท้าทายพวกเรา เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำจะมีการตกลงร่วมกันอย่างไร และจะมีการออกกฏหมายในเรื่องของการรวมตัวด้านสิทธิแรงงาน หรือไม่อย่างไร

ปัจจัยทางด้านการเมืองก็มีส่วนสำคัญ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศกำลังมีการพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ประเทศเรายังมีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ถัดมาคือปัจจัยทางเศรษฐกิจคือ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ล่าสุดนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมาประกาศว่าจะมีการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง โดยโจทย์ของภาครัฐบาลไทยคือ หวังว่าแรงงานต่างชาติจะได้ทำงานในเขตพิเศษนั้น และหวังว่าจะดึงเศรษฐกิจในพื้นที่ตรงนั้นให้ดีขึ้นมา แล้วโจทย์ของภาคประชาสังคมคืออะไร นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทายพวกเรา พูดให้ง่ายคือปัญหา หรือประด็นที่เราต้องสู้อยู่อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่จะมีความหลากหลาย และซับซ้อนมากขึ้น

โจทย์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้คือ รัฐบาลทั้งของประเทศเราและประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้คิดอะไรมาก เขามองพียงแค่จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้ สิ่งที่เราจะเจอก็คือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยรวมเรียกได้ว่าเราจะเจอทั้งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม

จะเด็ด เชาว์วิไล : ประชาสังคมกำลังอ่อนแอจากระบบอุปถัมภ์ และความไม่เป็นประชาธิปไตยในองค์กรเอง

“เพราะปัญญาชนเหล่านี้เข้าไปรับใช้อำนาจ เอามวลชนเข้าไปเป็นฐานอำนาจทางการเมือง และไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ภาคประชาสังคมได้ ผมก็เลยเข้าใจว่าทำไมทักษิณเข้ามา ชาวบ้านจึงไปเลือกทักษิณ ก็เป็นเพราะขบวนของพวกคุณไม่เข้มแข็ง เป็นองค์กรที่นำเดี่ยว ผู้นำหวังชื่อเสียงเกียรติยศ”

ก่อนอื่นคงต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า นโยบายสำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงที่เรามีรัฐบาลประชาธิปไตย เป็นผลจากช่วงที่ประชาคมสังคมมีความเข้มแข้งมาก เช่น การได้มาซึ่งกฎหมายประกันสังคม หรือการลาคลอด 90 วัน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลชวน หลีกภัย แม้นายกชวนเองอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำให้เห็นว่าภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย เราสามารถพลักดันประเด็นของเราได้มากว่า

ผมลองมองย้อนกลับไปสมัยที่ทำงาน NGOs ใหม่ๆ รู้สึกว่าเมื่อก่อนภาคประชาสังคมยังอยู่กับ NGOs ซะเป็นส่วนมาก แต่พอมาในสมัยนี้ประมาณ 10 ปีที่ผ่านพบว่า ภาคประชาสังคมไปอยู่กับชาวบ้านเป็นจำนวนมาก และมีการเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ทีนี้ประเด็นคำถามสัมคัญคือ เราอยู่ในสังคมอุปถัมภ์  เราวิพากษ์ วิจารณ์ระบบอุปภัมถ์ ซึ่งเมื่อมาย้อนมองตัวเอง แม้แต่วงการ NGOs เองก็มีระบบอุปถัมภ์ และส่วนหนึ่งของพวกเราที่เป็นประชาชนรากหญ้า ยังอยู่กับปัญญาชนกลุ่มนี้ ถึงที่สุดก็ล้มเหลว เพราะปัญญาชนเหล่านี้เข้าไปรับใช้อำนาจ เอามวลชนเข้าไปเป็นฐานอำนาจทางการเมือง และไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ภาคประชาสังคมได้ ผมก็เลยเข้าใจว่าทำไมทักษิณเข้ามา ชาวบ้านจึงไปเลือกทักษิณ ก็เป็นเพราะขบวนของพวกคุณไม่เข้มแข็ง เป็นองค์กรที่นำเดี่ยว ผู้นำหวังชื่อเสียงเกียรติยศ พูดอย่างตรงไปตรงมาเราอย่าไปมองแต่เพียงปัจจัยภายนอกองค์กร เราต้องวิจารณ์พวกเรากันเองว่า เราอยู่กับระบบอุปถัมภ์พึงพาคนอยู่ไม่กี่คน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ขบวนการของภาคประชนพ่ายแพ้ไปด้วย

ฉะนั้นเราต้องวิเคราะห์ให้ชัดว่าขบวนการของเราเติบโตแบบไหน ถ้าเป็นการเติบโตแบบนำเดียว ขบวนเหล่านั้นเริ่มจะมีปัญหา วันหนึ่งก็จะไปไม่รอด ไม่สามารถที่จะไปต่อรองกับใครได้เพราะมันขึ้นอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม ผมดูจากตัวอย่างที่ชัดเจนที่อยู่กับภาคประชาสังคม ซึ่งอยู่กับขบวนการสหภาพแรงงาน ตอนนี้ขบวนการสหภาพแรงงานกลายเป็นระบบราชการ เพราะเป็นระบบโครงสร้างที่ขึ้นอยู่กับประธาน เลขาธิการ ซึ่งหลายคนก็ถูกดึงไปเข้าร่วมกับกลุ่มการเมือง สหภาพแรงงานไม่เคยรับใช้แรงงานจริงๆ นี่คือความอ่อนแอองค์กรที่เกิดขึ้นจริง ช่วงหลัง 10 ปีที่ผ่านมาสหภาพแรงงานไม่สามารถผลักดันกฏหมายสำคัญๆ ที่ส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ได้เลย ฉะนั้นเราก็ต้องวิเคราะห์ตัวเองว่า ในเครือข่ายของเรา เรากำลังเติบแบบนี้หรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้เราต้องเปลี่ยน ถ้าเราไม่มีประชาธิปไตยในองค์กรเราก็จะต้องเจอกับปัญหาแบบนี้

การที่จะแก้โจทย์นี้ได้ หลายท่านก็บอกว่ามันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และปัญหาในสังคมไทยมีความหลากหลายมาก ฉะนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายคนในอค์กรว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง เราต้องวิเคราะห์ตัวเองด้วย ไม่ใช่โทษแต่รัฐว่า มาทำลายเรา แต่ดูตัวเองด้วยว่ากำลังทำลายตัวเองอยู่หรือไม่

ตอนนี้เชื่อว่าขบวนการชาวบ้านเองในหลายที่มีความเติบโตก้าวหน้าไปค่อนข้างเยอะ แต่ปัญหาที่ผ่านก็คือปัญญาชนส่วนหนึ่งของขบวนหลุดไปจากภาคประชาสังคมเยอะมาก ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ผมอยากให้ภาคประชาสังคมคิดใหม่ พึ่งตัวเองกันให้มากขึ้น ภาคNGOs อย่างผมเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปหนุนเสริมให้คุณเข้มแข็ง ไม่ได้เป็นผู้ตัดสินอีกแล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา NGOs อาจจะมีส่วนสำคัญที่เข้าไปทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง แต่ว่าถึงตอนนี้ประชาสังคมเริ่มมีความเข้มแข็งพอที่จะเติบโตด้วยตัวเอง ฉะนั้นNGOs จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับเราไม่ใช่เข้ามาเป็นผู้จัดการทุกอย่างให้เรา

ขณะที่การทำงานขององค์กรต้องมีโครงสร้างองค์กรแนวระนาบคือ ทุกคนในองค์กรต้องมีความเสมอภาคกัน ถ้าองค์กรเราเป็นองค์กรยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ยังมีการนำเดียวอยู่ ก็ต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไร ต่อมาคือเราต้องเข้าใจว่าตอนนี้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปรดเร็วมาก ฉะนั้นการจะสร้างคนที่เข้ามาต่อเติมความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ตอนนี้มีบางองค์กรที่เริ่มมีผู้นำแถวสอง หรือผู้นำรุ่นใหม่ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นเรื่องที่เราต้องคิดด้วย เพราะว่าสิ่งที่เราฝันไว้ว่าอยากจะให้มันเกิดขึ้นในชุมชนอาจจะไม่ยั่งยืน อีกเรื่องหนึ่งคือ ที่ผ่านมาถ้าเราวิเคราะห์ทางการเมือง ซึ่งเราถูกลากไปร่วม ชนชั้นนำทุกฝ่ายไม่ได้แตกต่างกันเลยด้วยซ้ำ ทุกฝ่ายต่างก็ไม่ได่คิดทำเพื่อประชาชนอย่างจริงจัง และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าขณะที่ชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายกำลังประนีประนอมกัน แต่พวกเรากลับมาทะเลาะกันอยู่ ฉะนั้นผมคิดว่าเราควรจะทำงานด้วยตัวเราเอง ไม่ควรจะไปอิงอยู่กับฝ่ายไหน ตอนนี้หลายคนก็เริ่มรู้สึกว่า ไปออกไปเป่านกหวีดฟรีหรือไม่ เพราะถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้อะไรอย่างที่คิด ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็ใช้มวลชนออกมาเคลื่อนไหว ถึงที่สุดแล้วการเคลื่อนไหวของทั้งสองกลุ่มมันเป็นการเคลื่อนไหวแบบ Top-Down ทั้งคู่ มีเพียงคนไม่กี่คน ที่มากำหนดว่าจะขับเคลื่อนประเด็นอะไรบ้าง

และเรื่องสุดท้ายคือ เรื่องนายทุน ผมคิดว่านายทุนต่างๆ ที่กำลังเติบโตไม่ว่าจะเป็นทุนข้ามชาติ หรือทุนไทยเราไว้ใจพวกเขาไม่ได้ จะเห็นว่ากลุ่มทุนเหล่านี้ไม่ว่าใครเข้ามามีอำนาจทางการเมืองเขาก็จะเดินประกบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หรือไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ปัญหาสำหรับพวกเขา แล้วทุนพวกนี้ก็เข้าไปส่งอิทธิพลกับการออกนโยบายต่างๆของรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ชัดเจนว่าถ้าเราจะยังสู้กันต่อไป เราก็ต้องเชื่อมั่นในพลังของตัวเราเอง จะไปหวังพึ่งหลายๆ คนเป็นเรื่องยาก เราต้องชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ เพราะการเมืองจริงๆแล้วไม่ได้มีเพียงสองขั้วเท่านั้น แต่ยังมีนายทุนที่สามารถอยู่ได้กับทุกฝ่าย

เสียงจากเครือข่าย : รู้ปัญหา เห็นร่วม และรวมแก้

ด้านเครือข่ายต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมในวงเสวนาได้ให้ความเห็นว่า ประเด็นต่างๆ ที่วิทยากรทั้ง 4 ท่านได้ชวนให้คิดนั้น ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้น ต่างก็เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมรนับมือกับทุกสถานการณ์ เพราะย่อมส่งผลต่อประเด็นที่แต่ละกลุ่มกำลังขับเคลื่อน และมากไปกว่านั้นย่อมส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมตามมาด้วย

หลายเครือข่ายเห็นร่วมกันว่า ต่อจากนี้จะต้องมีการพูดคุยและวางแผนทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ และเป้าหมายที่แต่ละกลุ่มขับเคลื่อนอยู่ นอกจากนี้ยังเห็นช่องทางที่จะเสริมพลังให้องค์กรของตัวเองโดยการหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์ที่ทำงานด้านประเด็น หรือองค์กรที่ทำงานในเชิงพื้นที่ ต่างกันสามารถที่จะช่วยเสริมแรงซึ่งกันและกันได้ ซึ่งจะเป็นการรวมพลังขับเคลื่อนประเด็นต่างๆรวมกัน เพราะที่สุดแล้วทุกประเด็นที่แต่ละองค์กรทำนั้น ต่างก็เชื่อมโยงกันทั้งสิ้น

กลุ่มเครือช่ายที่เข้าร่วมโครงการ

1.เครือข่ายมูลนิธิครอบครัว

2.เครือข่าย องค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน

3.เครือข่ายรณรงค์ลดเหล้า ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

4.เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร/นักวิจัยท้องถิ่นปัตตานี

5.เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ป่าชุมชนรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

6.เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง

7.เครือข่าย แรงงานนอกระบบ

8.เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net