Skip to main content
sharethis

3 ก.พ.2558 ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เผยเอกสารของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขนำร่าง พ.ร.บ.ยา กลับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงาน เอฟทีเอ ว็อทช์ เปิดเผยว่า เอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขที่ 0507 3177 ลงวันที่ 30 ม.ค.2558 มีสาระสำคัญคือนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขนำร่าง พ.ร.บ.ยา กลับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี

โดยก่อนหน้านี้ มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมที่ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของล็อบบี้ยิสต์อุตสาหกรรมยาข้ามชาติในการขัดขวางร่าง พ.ร.บ.ยาไม่ให้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 30 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าว ผ่านกระบวนการหารือของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสภาวิชาชีพต่างๆ ในการแก้ไขข้อบกพร่องจากที่สำนักงานกฤษฎีกาได้ร่างเอาไว้

กรรณิการ์กล่าวว่า เป้าหมายของอุตสาหกรรมยาข้ามชาติคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในร่างกฎหมาย โดยตัดข้อกำหนดการยื่นเอกสารโครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตรในการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา และยอมให้ตัวแทนบริษัทยาเป็นกรรมการในคณะกรรมการยา ซึ่งที่เป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

“ประเด็นอยู่ที่สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ยาในส่วนการยื่นโครงสร้างราคายาและข้อมูลสิทธิบัตรในการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการควบคุมราคายา มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชน และประเด็นการไม่อนุญาตให้ตัวแทนบริษัทยาเป็นกรรมการในคณะกรรมการยานั้น ก็เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง” ผู้ประสานงาน เอฟทีเอ ว็อทช์กล่าว

ผู้ประสานงาน เอฟทีเอ ว็อทช์กล่าวด้วยว่า นายยงยุทธคงต้องชี้แจงต่อสาธารณะว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการขวางร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้เข้าสู่ ครม.หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ห้ามเฉพาะนักการเมือง แต่เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับบรรดาผู้มีอำนาจจากการแต่งตั้งรัฐประหารด้วยเช่นกัน

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การท้วงติงของกระทรวงพาณิชย์มีลักษณะเป็นการคัดลอกสาระจากหนังสือของบริษัทยาสหรัฐฯที่ ได้ทำหนังสือถึง นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ, ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกาลิยะ รมว.พาณิชย์, พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมต.การต่างประเทศ และนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ซึ่งอ้างว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาที่กำลังแก้ไขอยู่ในขณะนี้มีข้อกำหนดให้รายงานโครงสร้างราคายา ถือเป็นการกีดขวางการวิจัยและพัฒนายาในอนาคต โดยที่กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่ท้วงติงนั้น ไม่เคยรับฟังข้อมูลจากนักวิชาการด้านสาธารณสุขหรือภาคประชาสังคมเลย แต่นำข้อเสนอของบริษัทยาข้ามชาติมาผลักดันต่อ

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ยังเรียกร้องให้นักวิชาการและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐในการพิจารณาก่อนเสนอเข้า ครม. และขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาล รักษาหลักธรรมาภิบาล และความไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

“สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ยา เป็นไปเพื่อแสดงความโปร่งใสและส่งเสริมการเข้าถึงยาที่จำเป็น ทำให้มาตรการควบคุมราคายาเป็นจริงได้ เพื่อประโยชน์และสร้างความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อให้การตั้งราคาขายได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม แต่การที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนให้ปกปิดโครงสร้างราคายานี้ คำถามคือ เพื่อประโยชน์ใคร” ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าว

ด้าน ผศ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดงานแผนการพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ยาเป็นเรื่องสำคัญในการคุ้มครองสุขภาพคนไทย ทางแผนการพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยาสนับสนุนร่างของกระทรวงสาธารณสุข แม้ว่าจะเห็นว่า บางประเด็นจะสามารถแก้ไขให้เข้มข้นด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการจัดการกับการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมได้อีกตามร่างกฎหมายฉบับประชาชน ซึ่งทาง กพย.พร้อมที่จะเสนอในการพิจารณาในขั้น สนช. จึงขอให้รัฐบาลอย่างถ่วงรั้งการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชน ขอให้รวดเร็วเช่นที่ออกกฎหมายผลักดันเศรษฐกิจ


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net