Skip to main content
sharethis

หลังสหรัฐฯ วิจารณ์ผู้นำจากการรัฐประหารของไทยและบอกจะลดระดับการฝึกพิเศษร่วมกันด้านการทหารที่เรียกว่า 'คอบร้าโกลด์' รอง บ.ก.เว็บไซต์วิเคราะห์เอเชียแปซิฟิกมองว่า การฝึกในครั้งนี้ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะเป็นไปอย่าง 'ไม่สบายใจ' นัก เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารของไทยขาดความชอบธรรมทั้งจากสหรัฐฯ และชาวโลก


5 ก.พ. 2558 สื่อเดอะดิโพลแมทวิเคราะห์เรื่องการฝึก 'คอบร้าโกลด์' ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ก.พ. นี้กับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางการสหรัฐฯ ประกาศลดระดับการฝึกคอบร้าโกลด์ของไทยลงจากการที่ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ทำรัฐประหาร

การฝึกคอบร้าโกลด์เป็นการฝึกทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกหน่วยงานทหารมากกว่า 13,000 นาย จากสหรัฐฯ, ไทย, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ เข้าร่วม ในขณะที่จีนจะเข้าร่วมในการฝึกด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นๆ อย่างพม่าจะเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยร่วมฝึกกับสหรัฐฯ ในฐานะประเทศพันธมิตรเก่าแก่ แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทางการสหรัฐฯ ก็ประกาศงดให้ความช่วยเหลือและยกเลิกการฝึกซ้อมและการแลกเปลี่ยนบางส่วนในการฝึก จนกระทั่งในเดือน ต.ค. 2557 ทางการสหรัฐฯ ก็ประกาศลดระดับการฝึกคอบร้าโกลด์ในปี 2558 แต่ก็ยังคงมีการฝึกอยู่

ประจันธ์ ปรเมศวรัน รองบรรณาธิการเดอะดิโพลแมทผู้เชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคงของเอเชียวิเคราะห์ท่าทีของสหรัฐฯ ว่า รัฐบาลโอบามาพยายามส่งสัญญาณว่าพวกเขาไม่ยอมรับการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในไทย แต่ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาสัญญาที่มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับไทย ไม่เพียงแค่รัฐบาลไทยหรือประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่มีความสำคัญในด้านการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกองทัพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและแสดงออกว่าสหรัฐฯ มีพันธกิจร่วมกับภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตามดูเหมือนช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะถดถอยลงหลังจากที่แดเนียล รัสเซล ตัวแทนจากสหรัฐฯ ในกิจการเอเชียตะวันออกกล่าวปาฐกถาวิจารณ์รัฐบาลเผด็จการทหารในไทยทำให้เกิดการกล่าวโต้ตอบ และไม่นานนักรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็เรียกตัวแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตรักษาการแทนเข้าพบ แต่การพบปะระหว่างตัวแทนไทยและสหรัฐฯ ท่ามกลางสื่อก็มีการยกเลิกกะทันหัน จากที่ฝ่ายผู้นำทหารไทยกลัวว่าสื่อจะชวนตั้งคำถามในเรื่องการเมือง

นอกจากนี้เดอะดิโพลแมทยังดูเหมือนว่าการฝึกคอบร้าโกลด์ในปีนี้คงเป็นไปอย่างไม่สบายใจนักสำหรับฝ่ายเผด็จการทหารที่ดูขาดความชอบธรรมทั้งในสายตาของทั้งสหรัฐฯ และชาวโลก

แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งที่สหรัฐฯ ระบุให้มีการลดระดับและพิจารณาการฝึกใหม่จะทำให้การฝึกเปลี่ยนไปอย่างไรแต่ดูเหมือนรัสเซลจะเคยเปิดเผยว่าการฝึกจะเน้นให้เป็น "กิจกรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรง" เช่นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย

ในการฝึกคอบร้าโกลด์ปกติแล้วจะมีอยู่ 3 ช่วง คือการซ้อมภาคสนาม, การซ้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการซ้อมวางแผนของฝ่ายเสนาธิการ ซึ่งแม้ว่าการซ้อมภาคสนามมีโอกาสถูกปรับให้เป็นการปฏิบัติการแบบไม่สู้รบแทนการซ้อมโดยใช้กระสุนจริง แต่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ บอกว่าจะยังมีการฝึกซ้อมกระสุนจริงบางส่วนอยู่เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน

อย่างไรก็ตามปรเมศวรันมองว่าเผด็จการทหารไทยไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเพราะไม่อยากยอมรับว่ามีการลดระดับการฝึกซ้อมลงจริงรวมถึงการแสดงท่าทีจากสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ลดระดับลงเช่นกัน แม้ผู้นำทหารในไทยจะอ้างว่าเหตุที่สหรัฐฯ ลดจำนวนทหารที่จะร่วมฝึกซ้อมลงจาก 5,000 นาย เป็น 4,000 นาย เนื่องจากต้องไปประจำการทางเรือรบญี่ปุ่นแต่บทความในเดอะดิโพลแมทก็ตั้งคำถามว่าเป็นเพราะเรื่องนี้อย่างเดียวจริงหรือ

นอกจากนี้เดอะดิโพลแมทยังตั้งข้อสังเกตอีกว่ารัฐมนตรีกลาโหมและตัวแทนฝ่ายการทหารอื่นของจีนมีแผนการพบปะกับผู้นำไทยช่วงสุดสัปดาห์นี้ก่อนหน้าการฝึกคอบร้าโกลด์จะมีขึ้นและน่าจะมีการหารือเรื่องความร่วมมือทางการทหารของ 2 ประเทศซึ่งเป็นเรื่องน่าจับตามองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ จีน และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจีนเข้าร่วมฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้เป็นปีที่ 2 ในปีที่แล้วทหารจีนถูกจำกัดให้ฝึกซ้อมแค่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้นและดูเหมือนในปีนี้จีนก็จะยังได้รับการฝึกในบทบาทเดิม

ปรเมศวรันมองว่าสหรัฐฯ และไทยต้องฝ่าฝันอุปสรรคด้านความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกันและฝึกคอบร้าโกลด์ต่อไปเพราะไม่เพียงมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศ แต่ยังมีความสำคัญต่อความมั่นคงในระดับภูมิภาคด้วย ในแง่หนึ่งการฝึกคอบร้าโกลด์เป็นเหมือนพิธีกรรมสร้างข้อผูกพันระหว่างประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิกในการช่วยเหลือเวลาเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น สึนามิ, พายุไต้ฝุ่น หรือเครื่องบินตก

อย่างไรก็ตามปรเมศวรันชวนจับตามองต่อไปว่าสหรัฐฯ จะแสดงท่าทีอย่างไรต่อการฝึกในปี 2559 ถ้าหากเผด็จการทหารยังอยู่ในอำนาจเนื่องจากประเทศไทยดูท่าจะยังไม่น่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2558 และมีความคืบหน้าในฟื้นฟูประชาธิปไตยน้อยมาก

 

เรียบเรียงจาก

US-Thailand Relations and Cobra Gold 2015: What’s Really Going On?, The Diplomat, 05-02-2015
http://thediplomat.com/2015/02/u-s-thailand-relations-and-cobra-gold-2015-whats-really-going-on/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net