มอนิเตอร์ รธน. ประจำสัปดาห์ที่ 2-6 ก.พ. 2558

หมวด 7 ร่างเสร็จแล้ว ประเด็นการกระจายอำนาจ เปลี่ยนชื่อ ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’-‘องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น’, ให้มีคณะกรรมการแต่งตั้ง ขรก. ส่วนท้องถิ่น โดยระบบคุณธรรม และส่งเสริมให้มีสภาพลเมืองตรวจสอบการทำงาน

 

กลับมาอีกครั้งสำหรับการติดตามการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยสัปดาห์นี้มีการประชุมยกร่างกันเพียง 2 วัน เท่านั้น เนื่องจากมีการงดประชุม 3 วันติด ตั้งแต่วันที่ 2-4 ก.พ. 2558 โดยที่เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านได้มีการประชุมแม้น้ำ 5 สาย ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามการทำงานของแต่ละภาคส่วน ภายใต้การดูแลรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดทั้งภายใน และภายนอกตัวอาคาร ที่สโมรสทหารบก 

ภายหลังจากการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรกต้องเสร็จภายในเดือนเมษายน นี้อย่างแน่นอน และอาจเร็วกว่ากำหนดด้วย เนื่องจากกรรมาธิการยกร่างฯ ต้องการทำให้เสร็จก่อนกำหนด เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนให้รอบคอบ และหากทุกอย่างเป็นไปตามที่วางไว้ การทำงานทุกส่วนจะจบตามโรดแมป แต่จะฝากความหวังที่ตนเพียงตนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่าง ที่ต้องยอมรับกระบวนการยุติธรรม การใช้กฎหมายต่าง ๆ ไม่ได้ไล่ล่าใคร สำหรับการเลือกตั้ง จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า ซึ่งต้องดูเรื่องกฏหมายลูกและกลไกลเตรียมพร้อมการเลือกตั้งด้วย

ขณะเดียวกัน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงข่าวหลังการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ว่า ในส่วนของการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้ซักถามความคืบหน้าการทำงานอย่างละเอียด ทั้งนี้ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการทำประชามติ แต่โดยส่วนตัวยังยืนยันเช่นเดิมว่าควรมีการทำประชามติ และตอนนี้ยังมีการเปิดรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายจนถึงวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งเรื่องที่ผ่านการพิจารณาแล้วสามารถนำมาพิจารณาได้อีก

สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (5-6 ก.พ.) ได้มีการร่างกันในประเด็น เรื่องการกระจายอำนาจ และการบริหารส่วนท้องถิ่น ประชาไทรวบรวมประเด็นสำคัญมานำเสนอ

5 ก.พ. 2558

เปลี่ยนชื่อเป็น ‘องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น’ เพื่อสอดค้องกับรูปแบบการบริหารที่หลากหลาย และกันผู้บริหารใช้อำนาจปกครองประชาชน

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิกายกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในการประชุมกรรมาธิการวันนี้  ที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 7 การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น โดยได้มีเปลี่ยนถ้อยคำ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เดิมในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 มาใช้คำว่า “องค์กรบริหารท้องถิ่น” ให้สอดคล้องกับการบริหารงานตามความเป็นจริงที่ต้องมีรูปแบบการบริหารที่หลาก หลายเหมาะสมตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ เพราะในความเป็นจริงการดูแลส่วนท้องถิ่นไม่ใช่การปกครองแต่เป็นการบริหาร ไม่มีนัยสำคัญเป็นพิเศษ เพียงแค่ต้องการจะสื่อความหมายให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ผู้ทำหน้าที่ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าใจผิดและใช้อำนาจในทางปกครองประชาชน

ขณะเดียวกันก็จะทำให้การดำเนินการของผู้บริหารท้องถิ่นในอนาคตมีความใกล้ ชิด กับประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น ดังนั้น ในมาตรา 1 ของหมวดนี้จึงมีการกำหนดให้รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรบริหารท้องถิ่น ตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยให้มีรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่นที่หลากหลาย เหมาะสมกับการบริหารจัดการตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ รวมทั้งต้องกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ และต้องส่งเสริมให้องค์กรบริหารท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการ สาธารณะตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

นอกจากนี้ยังการมีกำหนดให้การจัดทำบริการสาธารณะใดที่ชุมชน หรือบุคคล สามารถดำเนินการได้โดยมีมาตรฐาน คุณภาพ และประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า องค์กรบริหารท้องถิ่น รัฐ หรือองค์กรบริหารท้องถิ่น ต้องกระจายภารกิจดังกล่าวให้ชุมชน หรือบุคคลดังกล่าว ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสมทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งบทบัญญัตินี้จะทำให้ภาคเอกชน ชุมชน สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ หรือองค์กรบริหารท้องถิ่นได้ในภารกิจบางอย่างเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่นนั้นๆ

6 ก.พ. 2558

ให้มีการจัดสรรภาษี และรายได้ที่เหมาะสมกับ ’องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น’ แต่ละประเภท

วุฒิสาร ตันไชย โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาหมวด 7 การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่นเสร็จสิ้นแล้ว โดยบัญญัติให้องค์กรบริหารท้องถิ่น มีการจัดสรรภาษีและรายได้ระหว่างรัฐกับองค์กรบริหารท้องถิ่นที่เหมาะสมกับ อำนาจหน้าที่ขององค์กรบริหารท้องถิ่นแต่ละประเภท

ส่งเสริมให้มีสภาพลเมือง มีส่วนร่วมในการทำงานส่วนท้องถิ่น และตรวจสอบการทำงาน

มีระบบตรวจสอบและประเมินผลการกระจายอำนาจ ซึ่งการกำกับดูแลองค์กรบริหารท้องถิ่นต้องกระทำตามกฎหมายเท่าที่จำเป็น และเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม ขณะเดียวกัน กำหนดให้องค์กรบริหารท้องถิ่นมีหน้าที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอย่างน้อยต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายงานผลการดำเนินงาน และรายงานงบการเงิน รวมถึงสถานการณ์คลังท้องถิ่นให้ประชาชนทราบ ตลอดจนส่งเสริมให้มีสมัชชาพลเมือง

ให้มีกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยระบบคุณธรรมในแต่ละจังหวัด

การบริหารงานบุคคลขององค์กรบริหารท้องถิ่น ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและจำเป็น โดยให้มีกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยระบบคุณธรรมในแต่ละจังหวัด เพื่อคุ้มครองข้าราชการส่วนท้องถิ่นจากการแทรกแซงของผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น

2 สัปดาห์หน้า ถกยาวเรื่องการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า จะเป็นการพิจารณาในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1 - 2 สัปดาห์

 

เรียบเรียงจาก : ประชาไท , ASTV ผู้จัดการออนไลน์ , สำนักข่าวไทย , เว็บข่าวรัฐสภา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท