คุยกับนิมิตร์ เทียนอุดม เปิดปมปัญหาและความเห็น 'ศึกชิงงบ-โยนงานบัตรทอง'

กรรมการ สปสช. เห็นแย้งการจัดสรรงบบัตรทอง แนะ สธ. ต้องเอาผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง อย่าลืมหน้าที่ของการเป็นโรงพยาบาล และหลักประกันสุขภาพไม่ใช่คณิตศาสตร์ อย่าอ้างเงินไม่พอต้องร่วมจ่าย แต่...

ยืดเยื้อกันมาเป็นเวลานานสำหรับความขัดแย้งระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กรณีกระทรวงสาธารณสุขต้องการเข้ามาบริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) จากการที่มีปัญหาโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดทุนจากงบบัตรทอง จนลามไปสู่อีกหลายปัญหาที่ตามมา ทั้งการเสนอให้มีหน่วยงานกลางเข้าตรวจสอบการบริหารงานของ สปสช. และล่าสุดที่ทางกระทวงสาธารณสุขได้ออกจดหมายยกเลิกการขึ้นทะเบียนบัตรทองที่โรงพยาบาล จนอาจสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้มาใช้บริการในอนาคต ทั้งนี้มีหลายฝ่ายได้พยายามออกมาเรียกร้องให้หาข้อยุติต่างๆ และข้อให้ทั้งสองหน่วยงานจับมือกันเพื่อแก้ปัญหา โดยไม่นำประชาชนผู้ป่วยเป็นตัวประกัน จนถูกสังคมมองเป็นเรื่องแย่งการบริหารงบประมาณด้านสุขภาพปีละมากกว่าแสนล้านบาท

นิมิตร์ เทียนอุดม ภาพจาก Hfocus

สปสช. แย้ง สธ. จัดสรรงบคำนึง ปชช. ไม่ใช่ขนาด รพ. แนะ สธ. ต้องรู้ บทบาท หน้าที่

นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ต้องการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ว่า ไม่สามารถใช้ขนาดโรงพยาบาลในการแบ่งงบประมาณได้ แต่ต้องบริหารเงินโดยยึดจำนวนประชาชน กลุ่มอายุของประชาชนที่เข้ารับบริการเป็นหลัก ไม่ใช่ใช้ขนาดโรงพยาบาลอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะทำให้เกิด เมื่อพิจารณารูปแบบตามขนาดของโรงพยาบาล จะส่งผลให้งบประมาณถูกทุ่มหนักไปที่โรงพยาบาลในเมือง เพราะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่หมายรวมถึงขนาดจำนวนบุคลากรที่มาก เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าเอางบประมาณสาธารณสุขไปทุ่มไปดูแลเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากกว่าดูแลประชาชน จากการที่งบประมาณส่วนใหญ่เป็นค่าเงินเดือน

นิมิตร์ กล่าวเสริมว่า เมื่อจัดสรรงบประมาณดูแลรักษาประชาชนจำเป็นต้องไปยึดโยงจากจำนวนประชากรในพื้นที่ตามหลักการ และต้องดูลักษณะของประชากร ผู้สูงอายุและเด็กอ่อนกับประชากรที่เป็นคนหนุ่มสาว แต่ละกลุ่มประชากรมีการใช้เงินในการรักษาพยาบาลไม่เท่ากัน คนในวัยทำงานโอกาสที่จะเจ็บป่วยน้อยกว่าผู้สูงอายุและเด็กอ่อน การกำหนดงบประมาณจำเป็นต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน แต่ว่าปัจจัยหลักต้องดูที่ตัวประชากร และมีปัจจัยอื่นๆที่มีความสำคัญเพิ่มเติมขึ้นมาอีกว่า เมื่อรู้จำนวนประชากรอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเพราะบางพื้นที่จำนวนประชากรน้อย เช่น พื้นที่ชนบท การกระจายตัวของประชากรจำนวนมาก เพราะฉะนั้นจะทำให้แต่ละพื้นที่ในโรงพยาบาลมีคนน้อย และกลับมาคิดว่าโรงพยาบาลหนึ่งแห่งมีค่าใช้จ่ายที่สำคัญจำเป็นจริงๆเท่าไหร่ แล้วต้องจัดสรรงบประมาณลงไปให้พอก่อน เพื่อจะทำให้เขาสามารถดูแลประชากรที่อยู่ในบริเวณนั้นได้ ถึงแม้ประชากรจะน้อยแต่จำเป็นต้องคิดตรงนี้ว่าโดยหลักการหากมีการจัดตั้งโรงพยาบาล รัฐดูเรื่องกำไร - ขาดทุนอย่างเดียวไม่ได้ รัฐต้องดูเรื่องหน้าที่ของรัฐ รัฐมีหน้าที่ต้องดูแลจัดการให้การดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย ถึงจะไปยึดถึงเรื่องกำไร - ขาดทุน สมมติว่าพื้นที่นี้จำนวนน้อยไม่คุ้มที่จะมาลงทุนตั้งโรงพยาบาล แต่หากรัฐมาคิดวิธีแบบนี้ไม่ได้ ทำให้มีองค์ประกอบสามสี่อย่างที่เราต้องคุยกันเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องดูเรื่องการจัดสรรงบประมาณ แต่ว่าจะไปยึดที่ขนาดของโรงพยาบาลแล้วอนุมัติให้เงินเยอะกว่า ส่วนโรงพยาบาลขนาดเล็กให้เงินน้อยแบบนี้ไม่ได้

ประเด็นเรื่องกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้แยกเงินเดือนของข้าราชการออกจากงบประมาณบัตรทอง และเปลี่ยนไปใช้รวมงบประมาณพ.ร.บ.เงินเดือน จากกระทรวงการคลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านเสนอให้ตัดเงินเดือนระดับเขตเพื่อสามารถ เกลี่ยเงินภายในเขตได้ กรรมการ สปสช. กล่าว่า เงินเดือนควรอยู่ในงบบัตรทองเพราะทำให้ได้สะท้อนต้นทุนของการรักษาพยาบาลตามจริงและทำให้ผู้รักษารับผิดชอบต่อระบบด้วยว่ารายรับเงินเดือนที่ได้จากการที่ตัวผู้ให้การรักษาผู้ป่วยมีส่วนที่มีเงินเดือน คุณต้องรับผิดชอบต่อการดูแลรักษาประชาชน ทาง สปสช. หลายคนไม่เห็นด้วยกับการให้แยกเงินเดือนกับงบประมาณบัตรทอง เห็นควรว่าการคิดเงินเดือนอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัวหรือระบบอาจจะช่วยทำให้จำนวนหรือการกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์ดีกว่าที่เป็นอยู่เป็นไปในตามจำนวนสัดส่วนกับประชากรที่ควรเป็น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีงบประมาณบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) ถูกแช่แข็งงบประมาณไว้ ควรเน้นที่คุณภาพมากกว่าการควบคุมงบประมาณ นิมิตร์ ชี้แจงว่า การรักษาพยาบาลบัตรทองถูกจำกัดด้วยคุณภาพอยู่แล้ว ถูกกำกับว่าแต่ละโรคมีทุนที่จะต้องจ่ายเท่าไหร่ และมีการจำกัดว่าต้องครอบคลุมอะไรบ้างในการรักษาโรค มีไกด์ไลน์ มีมาตรฐานในการรักษา เพราะฉะนั้นการที่มีการกำกับและดูแลงบบัตรทองเพราะว่างบมันน้อยกว่าทุกกองทุนที่มีอยู่ในประเทศนี้เมื่อเทียบกับประชากรที่ต้องดูแล เพราะฉะนั้นการบริหารงบประมาณจำเป็นต้องเข้มงวดเพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การพัฒนาคุณภาพต้องเป็นความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายที่ต้องช่วยกัน ทั้งกระทรวงสาธารณสุขต้องมีบทบาทเข้ามาดูแลว่าจะพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลแบบไหน พัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรอย่างไร หรือจะสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม ซื้อเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่ม สิ่งเหล่านี้คือกรอบหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องตั้งงบประมาณดูแลเรื่องเหล่านั้น แยกกับงบค่าเหมาจ่ายรายหัว งบที่ใช้ในงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ งบค่าเหมาจ่ายรายหัว และแยกออกมามีงบสำหรับการพัฒนาหรือซ่อมแซมซื้อเครื่องมือ แต่จำนวนไม่มากมีเพื่อซ่อมแซม ซื้อเสริมหรือเพิ่มบางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถที่จะใช้เงินตรงนี้เยอะในงบเหมาหัว จำเป็นต้องตั้งงบประมาณเสริมโดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเองและต้องคุยกับรัฐบาล

โรงพยาบาลขาดทุนจากโครงการบัตรทอง เป็นเพราะงบไม่บัตรทองไม่พอ?

เมื่อผู้สื่อข่าวได้ถามคำถามต่อว่า โรงพยาบาลขาดทุนจากโครงการบัตรทองเกี่ยวข้องกับงบประมาณไม่พอต่อการให้บริการประชาชน นิมิตร์ ให้เหตุผลต่อเรื่องนี้ว่า งบประมาณไม่พอมีผลต่อการให้บริการในเชิงจำนวน สมมติถ้าหากเกิดภาวะวิกฤตคนมาใช้บริการในปริมาณมากกว่าที่เป็นอยู่วิกฤตนี้จะเห็นชัดขึ้น ในขณะที่ผ่านมามีการบริหารงานแบบเฉลี่ย เมื่อมีงบประมาณน้อย มองสภาพความเป็นจริงจำนวนคนที่ป่วยมารักษามีจำนวนไม่มากและความจริงที่ว่าประชาชนไม่ได้ป่วยทุกคน การบริหารงบประมาณสามารถนำเงินงบประมาณที่มีอยู่น้อยมาเฉลี่ยจ่ายได้ หมายความว่าต้องไปทำให้ราคาจ่ายต่อหน่วยต่ำคือราคาจ่ายสมมติว่าความจริงสมควรจ่ายอยู่ที่หมื่นห้าต่อค่ารักษาโรค แต่พอจำนวนเงินมีน้อยคนที่บริหารเงินต้องมาคิดว่าเงินงบประมาณมีน้อย รวมถึงมันมีหลายโรคที่ต้องรักษา มีจำนวนโรคเท่านี้ที่ต้องรักษาเท่าไร จำนวนคนที่มารักษา เอาไปบวกลบคูณหาร โรคนี้จ่ายได้แค่เจ็ดพันห้า คนของสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลรัฐ ก็ต้องรับเจ็ดพันห้าเพราะงบประมาณมีอยู่เท่านี้ จำนวนเงินที่มีน้อยถึงส่งมีผลแน่นอนต่อสภาพคล่องของการจ่ายเงิน แต่ว่าเรามีหน้าที่ที่ต้องบริหารเงินที่น้อยแบบนี้ให้ไปต่อได้

ความเหลือมล้ำบริการด้านสุขภาพ

นิมิตยังกล่าวอีกว่า งบประมาณบัตรทองน้อยกว่าทุกกองทุนรักษาสุขภาพทั้งสามกองทุนรูปแบบต่างกัน กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) กองทุนหลักประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เกิดความเลื่อมล้ำแน่นอนคือข้อเท็จจริง แต่ว่าปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนจากโครงการบัตรทองมาจากหลายปัจจัยและเบื้องต้น หนึ่งต้องวิเคราะห์ แจกแจงข้อมูลก่อนว่า มีโรงพยาบาลที่อยู่ในขั้นวิกฤตขาดทุนอยู่จำนวนเท่าไหร่ ทาง สปสช. ไม่เคยได้รับข้อมูลจำนวนที่แท้จริง สองต้องหาสาเหตุของการขาดทุนให้ได้ว่าคืออะไร เช่น โรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลและมีจำนวนประชากรน้อย ส่งผลให้ได้งบประมาณที่มาจากส่วนต่างๆน้อย ทำให้รายรับน้อย จึงไม่พอกับงบประมาณที่ต้องใช้ สิ่งนี้คือสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องระบุและต้องแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ลำทำการตั้งงบประมาณเสริมพิเศษสำหรับโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล มีจำนวนประชากรน้อย หากไม่เช่นนั้นสาธารณสุขจำเป็นต้องเน้นปัญหาด้านนี้ขึ้นมาให้ชัดเจน  และต้องดูว่าโรงพยาบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารทำให้เกิดสภาวะขาดทุนมีหรือไม่ ข้อสุดท้ายคือขาดทุนเพราะว่าแบกต้นทุนจำนวนบุคลากรที่มากเกินจริง ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลใหญ่ที่อยู่ใกล้เมืองหรืออยู่ในเขตเมือง สถานการณ์ที่ผ่านมาต้องบอกว่าบุคลากรจากสาธารณสุขไม่อยากอยู่ตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาลชนบทมีความทุรกันดาร ทำให้หาทางย้ายตัวเองเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ กลายเป็นว่ามีกระจุกตัวอยู่ตามในโรงพยาบาลใหญ่ เกินความจำเป็นต่อจำนวนบุคลากรที่ต้องมีในโรงพยาบาล แต่ว่าด้วยความเป็นระบบข้าราชการทำให้สามารถบุคคลากรอยู่แบบนี้ หากเปลี่ยนระบบเป็นการให้งบประมาณตามขาดโรงพยาบาล โรงพยาบาลใหญ่ได้เงินมากเท่าไรก็ไม่พอกับจำนวนคนที่เกินความจำเป็นเพราะสาเหตุของการขาดทุน ขาดสภาพคล่อง งบประมาณไม่พอ สาธารณสุขต้องแจกแจงให้ได้ว่าแต่ละแห่งที่มีสภาพการขาดทุนเกิดจากสาเหตุอะไร ถึงแก้ปัญหาได้

หลักประกันสุขภาพไม่ใช่คณิตศาสตร์ เงินไม่พอแล้วร่วมจ่าย แต่คือสวัสดิการของประชาชน

จากกระแสให้ประชาชนร่วมกันจ่ายเงินบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) นิมิตร์แสดงความคิดเห็นว่า เมื่อมองแบบคณิตศาสตร์อาจดูเหมือนใช่ เงินไม่พอประชาชนก็ร่วมกันจ่ายเงินจะได้พอ แต่ระบบสุขภาพไม่สามารถใช้คณิตศาสตร์ง่ายๆแบบนี้ เพราะว่า หนึ่งสิ่งที่ประชาชนได้รับบริการในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าประชาชนได้จ่ายแล้ว เงินทั้งหมดที่เอามาจ่ายนั่นคือเงินของประชาชน นำมาเป็นเงินภาษี ภาษีที่ได้มาจากประชาชน แล้วรัฐนำเงินมาเข้ากอง เท่ากับว่าประชาชนได้จ่ายมาแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่ในระบบสุขภาพเชื่อว่าต้องไปพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีหรือคิดคำนวณภาษีเพื่อมาใช้ในระบบสุขภาพเพิ่มเติม ซึ่งอาจหมายถึงเงินค่าหัวซึ่งรัฐบาลเอาภาษีมา รัฐบาลจ่ายค่าสุขภาพอยู่ที่ประมาณสี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมดเมื่อเทียบสัดส่วนร้อยเปอร์เซ็นต์ รัฐบาลใช้เรื่องนี้แค่สี่เปอร์เซ็นต์ หากมีการบอกว่ามันไม่พอให้ประชาชนออกเงินเพิ่ม เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมต่อประชาชนเพราะเงินทั้งหมดคือเงินของประชาชน

“ย้อนกลับไปต้องดูว่าเงินก้อนที่รัฐใช้เรื่องสุขภาพมันมีกี่ก้อน และรัฐใช้มันอย่างเท่าเทียมไหม เช่น ก้อนที่รัฐจ่ายกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ รัฐจ่ายให้แปดล้านคนแจงเป็นข้าราชการและครอบครัว รัฐให้งบประมาณถึงหกหมื่นล้านบาท แต่ในส่วนของกองทุนสุขภาพถ้วนหน้าใช้เงินภาษีประชาชนเช่นกัน แต่ทำไมรัฐจ่ายสำหรับประชาชนสี่สิบเก้าล้านคน รัฐจ่ายหนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท ตกต่อหัวจำนวนคนมันไม่เท่ากันเลย ก็ต้องกลับไปดูว่ารัฐหรือหมอที่คุยเรื่องนี้เข้าใจภาพแบบนี้ไหมว่าเงินทั้งหมดเป็นเงินของรัฐและรัฐเอาจ่ายให้ ประชาชนในแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำ มันจึงเป็นปัญหาอยู่ เพราะแบบนั้นเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องแบบนี้ มันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา” นิมิตร์กล่าว

โดยทางบอร์ด สปสช. จะนัดประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 9 ก.พ. 2558 นี้ คงต้องลุ้นแล้วว่า ทั้งสองหน่วยงานสุขภาพจะสามารถจบความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานนี้ได้หรือไม่

ภาพประกอบจากข่าวเจาะเยาวชน เรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ กับโอกาสรอดของผู้ป่วย '30 บาท' บนความน่าจะเป็น(2)

เหลื่อมล้ำทางการแพทย์ แจงงบประมาณ 3 กองทุนสุขภาพ

จากภาพด้านบนรัฐให้งบประมาณสัดส่วนกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตกเหมาจ่ายรายหัวที่ 14,056 บาทต่อคน ด้านกองทุนหลักประกันสังคมเฉลี่ยอยู่ที่ 2,562 บาทต่อคน ทั้งนี้เงินประกันตนในส่วนของประกันสังคมมาจากเงินของผู้ประกันตนและจากนายจ้าง จ่ายร่วมกันคนละ5% ส่วนรัฐบาลมีส่วนช่วยออกเงินผู้ประกันเพียง2.75% เท่านั้น โดยปกติตามหลักการต้องออกเท่ากัน โดยเฉพาะเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายสมทบ2.75%ยังคงค้างจ่ายให้กับผู้ประตนอีกด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)และเมื่อเทียบกับกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) เฉลี่ยอยู่ที่ 2,091 บาทต่อคน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แม้รัฐธรรมนูญที่เพิ่งถูกฉีกทิ้ง จะเคยบอกว่า ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท