Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ในปีที่ผ่านมา ความก้าวร้าวของรัสเซียได้ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเพิ่มเสริมอิทธิพลทางทหารในยุโรป ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันที่ลดลงและการฉ้อราษฎรบังหลวงกับความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐในระดับร้ายแรงได้เป็นตัวชะลอความทะเยอทะยานของกรุงมอสโคว์  ความเป็นปรปักษ์ก็จะดำรงอยู่ยาวนานตราบใดที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินยังดำรงตำแหน่งอยู่ ดังนั้นการเสริมสร้างความมั่นคงของยุโรปยังคงเป็นองค์ประกอบหลักของกลยุทธ์ระดับโลกของอเมริกา

แต่จะเกิดอะไรขึ้นในยุคหลังปูติน ในขณะที่ไม่มีการท้าทายอย่างจริงจังต่อเก้าอี้ของเขาในบัดนี้ เขานั้นไม่ได้เป็นอมตะ ไม่วันใดวันหนึ่ง เขาก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไป  ในทางประวัติศาสตร์แล้ว การอำลาทางการเมืองของเผด็จการผู้แข็งแกร่งมักเป็นสิ่งยากเย็น แม้ว่าจะเป็นเวลาที่อันตรายสำหรับรัสเซีย ดังบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับข่าวกรองชื่อสแทรตฟอร์ได้กล่าวไว้ "คำถามบัดนี้คือปูตินสามารถสร้างระบบซึ่งตอบรับกับการก้าวลงจากความเป็นผู้นำของรัสเซีย (ไม่ว่าจะเวลาใดก็ตาม) โดยปราศจากการทำลายระบบทั้งหมดได้หรือไม่" การออกจากตำแหน่งของปูตินอาจจะยังไม่เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปีหรือแม้แต่หลายทศวรรษแต่ถ้าหากมันเกิดขึ้น ผลกระทบจะใหญ่หลวงมาก

เหตุการณ์ในยุคหลังปูติน อาจเกิดขึ้นได้ 3 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรกอาจเรียกว่าทางเลือกแบบ "สตาลิน" ซึ่งปูตินได้ทำให้นโยบายของเขาซึ่งมีลักษณะเป็นรูปแบบตายตัวและเป็นสิ่งสำคัญสุดได้กลายเป็นอุดมการณ์ที่มั่นคง ดังที่ได้เกิดกับผู้นำของสหภาพโซเวียตซึ่งดำรงตำแหน่งต่อจากโจเซฟ สตาลิน คือมีการต่อเนื่องอย่างมากของรูปแบบการปกครอง การเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไปหรือหยุดนิ่งไปเลย  อุดมการณ์แห่ง "ลัทธิปูติน" จะเหมือนกับลัทธิคอมมิวนิสต์ของโซเวียตที่ปราศจากโฉมหน้าของลัทธิมาร์กซ์ หรืออีกคำหนึ่งคือการสะท้อนจารีตการปกครองของรัสเซียคือเศรษฐกิจซึ่งเน้นการฉ้อราษฎรบังหลวงและการกอบโกยซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการตบรางวัลแก่บรรดาลิ่วล้อของผู้นำสูงสุด ในขณะเดียวกัน ระบบการรักษาความมั่นคงภายในที่เข้มแข็งก็จะปรามปราบฝ่ายปรปักษ์เสียสิ้น  ลัทธิปูตินจะสามารถธำรงไว้ซึ่งความเชื่อที่ว่ารัสเซียนั้นมีสิทธิหรือแม้แต่พันธสัญญาในการครอบงำประเทศเพื่อนบ้าน และมันก็ยังคงความรู้สึกหวาดระแวงต่อตะวันตกซึ่งจะทำให้การขยายกำลังทางทหารของรัสเซียภายนอกประเทศนั้นมีความถูกต้องชอบธรรม เช่นเดียวกับการเป็นพันธมิตรกับเผด็จการตัวฉกาจหรือประเทศเผด็จการซึ่งบังเอิญก็ต่อต้านตะวันตกเช่นกัน

ถ้าลัทธิปูตินถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นอุดมการณ์ บทบาทนำของสหรัฐฯ ในยุโรปและการเสริมสร้างอำนาจขององค์การนาโตจะยังคงดำเนินต่อไป  การรวมสวีเดนและฟินแลนด์ให้เข้าอยู่ในกลุ่มพันธมิตรจะช่วยได้ แต่คำถามข้อใหญ่ก็ยังมีอีกว่าประเทศในยุโรปอื่นๆ จะกลับลำงบประมาณสำหรับป้องกันประเทศที่ลดฮวบลงได้หรือไม่  ถ้าไม่แล้วเหตุการณ์ที่ซ้ำรอยยุคสตาลินเช่นนี้อาจนำไปสู่ความไม่ลงรอยภายในตัวขององค์กรเอง ดังที่กรุงวอชิงตันพบว่าเป็นการยากที่จะสร้างความชอบธรรมต่อบทบาททางทหารของตนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ในขณะเดียวกัน หลายประเทศในยุโรปกลับหั่นงบประมาณทางทหารของตนลง

เหตุการณ์ในยุคหลังปูติน เหตุการณ์ที่ 2 ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ คือทางเลือกแบบ "สเปน" นั้นคือการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยของสเปนภายหลังจากที่จอมเผด็จการซึ่งดำรงตำแหน่งมายาวนานดังเช่นนายพล ฟรานซิสโก ฟรังโกได้ถึงแก่อสัญกรรม  เมื่อสาธารณรัฐที่ 2 ของสเปนล่มสลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองเมื่อปลายทศวรรษที่ 30  ฟรังโกยึดอำนาจและปกครองจนเมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1975  แทนที่จะสานต่อการปกครองแบบเผด็จการ ทายาทที่ฟรังโกได้วางไว้คือพระเจ้าฮวน คาร์ลอสได้ทรงสร้างเงื่อนไขทางการเมืองในการนำประเทศเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

ในทางทฤษฎี ปูตินสามารถเลียนแบบตัวอย่างเช่นนี้และสร้างรากฐานสำหรับการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจเสียใหม่เช่นเดียวกับการสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตยภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตหรือวางมือไป เป็นที่ชัดเจนว่านี้จะเป็นฉากยุคหลังปูตินที่สหรัฐฯและยุโรปชอบมากโดยไม่ต้องกล่าวถึงคนรัสเซียโดยส่วนใหญ่  รัสเซียสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกและยังทำให้เศรษฐกิจของตนนั้นเปิดกว้าง โปร่งใสและเน้นการผลิตที่หลากหลายยิ่งขึ้น  นี่จะนำไปสู่การจบลงโดยดีระหว่างรัสเซียและยุโรปในภาพกว้าง  ฉาก "แบบสเปน" จะทำให้กรุงวอชิงตันลดอิทธิพลทางทหารลงในยุโรปและมุ่งความสนใจไปที่เอเชียหรือยังคงลดขนาดกองกำลังของตนลงเรื่อยๆ   แต่มันเป็นฉากที่สามารถเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด ฟรังโกได้นำประเทศตนไปสู่ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับยุโรปในช่วงท้ายๆ ของตน  แต่ปูตินไม่ได้กระทำเยี่ยงนั้นเลย

เหตุการณ์ที่ 3 ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้คือการล่มสลายหรือการแตกเป็นเสี่ยงๆ ของรัสเซียในยุคหลังปูติน ดังที่สแทรตฟอร์ได้ว่าไว้ 

"หากไม่มีผู้นำที่แข็งแกร่งแล้ว รัสเซียจะพบความยากลำบากในการรักษาเสถียรภาพ ความไร้เสถียรภาพนั้นเป็นสิ่งที่คงอยู่กับรัสเซียมานานด้วยเพราะพื้นที่ซึ่งกว้างใหญ่และยากเย็นในการอยู่อาศัย ชายแดนซึ่งยากต่อการรักษา อิทธิพลของเพื่อนบ้านซึ่งไม่เป็นมิตรและประชากรที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย เพียงแค่รัสเซียมีผู้นำเผด็จการซึ่งสร้างระบบซึ่งกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กันถูกนำมาถ่วงดุลอำนาจซึ่งกัน รัสเซียจึงจะมีความมั่งคั่งและเสถียรภาพ”

เป็นที่ชัดเจนว่าการเสื่อมสลายทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของรัสเซียดูเหมือนพุ่งมายังทิศทางนี้ ดังที่กองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มอสโคว์ไทมส์ได้เขียนไว้

" สถาบันของรัฐเกือบทั้งหมดของรัสเซียนั้นตายซากหรือกำลังแตกสลายอย่างรวดเร็ว  ระบบทางการเมืองนั้นกลายเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับชื่อของมันไปแล้ว.....รัฐสภาเต็มไปด้วยผู้ภักดีต่อปูติน  พรรคฝ่ายค้านที่ "ไม่เป็นระบบ" (เช่นเป็นจริง) ถูกกีดกันจากการเลือกตั้งและถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงการได้เขียนบล็อกในอินเทอร์เน็ต รัฐนั้นก็ถูกปกครองโดยนักกอบโกยที่ไม่มีวิสัยทัศน์อันเป็นระบบ .... บรรยากาศการลงทุนนั้นเฉื่อยชาและธุรกิจของเอกชนนั้นได้รับการปฏิบัติโดยรัฐเยี่ยงแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่ถูกเก็บภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายมากกว่าจะเป็นการกอบโกย”

เหตุการณ์น่าเศร้าเช่นนี้เมื่อบวกกันเข้ากับการที่ปูตินไม่ยอมวางแผนให้ผู้อื่นสืบต่อตำแหน่งตนอย่างเป็นระเบียบก็ไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้ที่ดีสำหรับอนาคต อย่างเลวร้ายที่สุด การแตกสลายของรัสเซียสามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกับการพังทลายของรัฐบาลของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในปี 1917  สงครามกลางเมืองได้ทำให้เกิดความหายนะทางมนุษยธรรมและสามารถบั่นทอนเพื่อนบ้านที่เปราะบางหลายประเทศของรัสเซียได้อย่างมหาศาล ในบรรดาความเป็นไปได้ทั้งหมด เหตุการณ์นี้ต้องการพันธสัญญาที่มั่นคงกว่าเดิมอย่างมากของสหรัฐฯ ต่อยุโรป

นักวางนโยบายของสหรัฐฯ ทั้งหลายถูกวิจารณ์ว่าได้วางกลยุทธ์ของประเทศที่อิงอยู่กับตัวผู้นำของต่างชาติมากเกินไป อันนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์หรือการเป็นมิตรกับตัวบุคคลมากกว่ากับระดับชาติ  แต่ในกรณีของรัสเซีย ตัวบุคคลนั้นมีความสำคัญ ปูตินเป็นผู้นำระดับโลกผู้หนึ่งซึ่งการตัดสินของเขานั้นเป็นตัวกำหนดอนาคตของชาติและภูมิภาคของเขา เขาได้แสดงท่าทีในทุกประการว่าเขาไม่ได้ใคร่ครวญนักต่อสิ่งที่จะตามมาจากการกระทำของตน ความล้มเหลวในการสร้างระบบทางการเมืองอันมั่นคงมากกว่าลัทธิเชิดชูุบุคคลได้นำอันตรายมาสู่รัสเซียและส่วนอื่น ๆของโลก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญของสหรัฐฯและพันธมิตรในการวางแผนเพื่อตอบรับต่อการพ้นจากตำแหน่งที่จะเกิดขึ้นจริงของปูติน

 

หมายเหตุ: แปลจากบทความชื่อ "สหรัฐอเมริกาต้องเตรียมตัวสำหรับยุคหลังปูติน ถึงแม้ว่ารัสเซียจะไม่พร้อมก็ตาม"  (U.S. Must Be Prepared for Life After Putin, Even if Russia Isn’t)  เขียนโดยสตีเวน เม็ตซ์ จาก  www.worldpoliticsreview.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net