ประยุทธ์กล่าวต่อนักธุรกิจญี่ปุ่นว่ายึดอำนาจไม่ทำให้ธุรกิจใครเดือดร้อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันกับนักธุรกิจญี่ปุ่นว่า แม้ตัวมาจากรัฐประหาร แต่บริหารประเทศแบบประชาธิปไตย จะปฏิรูปประเทศให้ได้ใน 1 ปี เสียใจที่ยังมีคนไม่เข้าใจ ทั้งที่รัฐประหารไม่ทำให้ภาคธุรกิจเดือดร้อน พร้อมขอนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เร่งเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ขณะที่มีคนไทยรวมตัวประท้วงประยุทธ์ เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวสุนทรพจน์ที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

ผู้ประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างเยือนญี่ปุ่น พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก (ที่มา: เพจเสรีไทยปราบกฎ 2014)

9 ก.พ. 2558 - ในการเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตามคำเชิญของนายชินโซะ อาเบะ นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.พ. เพจ "เสรีไทย ปราบกบฎ 2014" ได้เผยแพร่รูปผู้ประท้วงการเยือนของ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมชูป้ายข้อความต่อต้าน คสช. และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก

 

ประยุทธ์ยืนยันแม้มาจากรัฐประหาร แต่บริหารประเทศแบบประชาธิปไตย จะปฏิรูปให้ได้ใน 1 ปี

ในส่วนของการเยือน พล.อ.ประยุทธ์ ได้พบปะหารือกับภาคธุรกิจญี่ปุ่น โดยหารือร่วมกับนายซาดายูกิ ซาคากิบาระ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น และร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน โดยสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ ว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาช้านาน และการเดินทางเยือนครั้งนี้ สิ่งที่คาดหวังมี 2 ประการ คือ การแสวงหาความร่วมมือเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่นให้มากขึ้น รวมถึงแก้ปัญหาที่ติดขัดให้หมดไปโดยเร็ว

ส่วนการเป็นประชาธิปไตยของไทย ยืนยันว่า ได้เดินหน้าตามแผนโรดแม็ปที่วางไว้ให้ได้โดยรวดเร็วที่ที่สุด และต้องไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไปในวันข้างหน้า โดยรัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องการอยู่ในอำนาจยาวนาน ซึ่งการเข้ามาบริหารประเทศครั้งนี้เพราะความจำเป็นที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งการจะเกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืนถาวรได้ ต้องเกิดจากปัจจัย 3 ประการ คือ รัฐบาล ประชาชนในประเทศ และการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้าน ยืนยันว่าตลอดเวลา 8 เดือนที่เข้ามาบริหารประเทศ ได้บริหารตามระบอบประชาธิปไตย คือ มีรัฐบาลชั่วคราว รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่มีกฎหมายพิเศษเพิ่มเข้ามาเท่านั้น ซึ่งการมีกฎหมายพิเศษเป็นไปเพื่อความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชนและภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ยืนยันว่า จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศในระยะเวลา 1 ปีให้ได้

สำหรับเรื่องการค้าและการลงทุน หากมีปัญหาติดขัด หรือ อุปสรรคในข้อกฎหมาย รัฐบาล พร้อมที่จะแก้ไขเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ส่วนที่มีบางประเทศมองว่า รัฐบาลมาจากการควบคุมอำนาจ ตนเองรู้สึกเสียใจ ที่มีความไม่เข้าใจเกิดขึ้น ซึ่งตนเองเข้ามาบริหารประเทศ ไม่เคยทำให้ใคร หรือ ภาคธุรกิจของทุกประเทศได้รับความเดือดร้อน และในการหารือทวิภาคีกับนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็จะหารือในประเด็นการขจัดปัญหาและอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน เพื่อร่วมกันแก้ไขให้หมดไปโดยเร็ว รวมทั้งจะหารือถึงเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก ตะวันออก โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ทำให้ญี่ปุ่นสามารถขยายการค้าการลงทุนไปยังประเทศอาเซียนได้ อย่างไรก็ตาม ยังขอให้ญี่ปุ่นเร่งการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA ของอาเซียน- ญี่ปุ่น และอยากให้ร่วมกันสานต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์

ทั้งนี้ เห็นว่าไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นมองด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ดูอาเซียนและประชาคมโลกด้วย ขณะที่ไทยกำหนดวิสัยทัศน์ "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" เริ่มในปี 2015 นี้ โดยวางรากฐานทั้งหมดไว้แล้ว ทั้งนี้ ขอให้ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการร่วมมือภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะสินค้าข้าว และยางพารา ที่ต้องการให้ร่วมกันพัฒนาและวิจัย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยไทยสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งอยากให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย ทั้งระบบรางของไทย และเขตเศรษฐกิจทวาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทยและญี่ปุ่น

 

หารือนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมขอให้เร่งเจรจาเขตการค้าเสรี อาเซียน-ญี่ปุ่น

ขณะที่ ในการพบกับ ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือในประเด็นการขจัดปัญหาและอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน รวมถึงการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก ตะวันออก โดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถขยายการค้าการลงทุนไปยังประเทศอาเซียนได้ ทั้งจะขอให้ญี่ปุ่นเร่งการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA อาเซียน - ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังหวังให้ญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญกับการร่วมมือภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะสินค้าข้าว และ ยางพารา รวมถึงการพัฒนาระบบรางของไทย และเขตเศรษฐกิจทวายด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือ 2 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความจำนงความร่วมมือระบบรางไทย - ญี่ปุ่น และบันทึกความเข้าใจส่งเสริมการทำธุรกิจและการลงทุนของไทยในญี่ปุ่น จากนั้นในช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา อย่างไรก็ตามในการเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและภริยา ยังได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชาย นารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารญี่ปุ่น ที่พระราชวังอะคะซะกะด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท