Skip to main content
sharethis

ระบุเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ชี้ยึดอำนาจของไทยต่างจากประเทศอื่นๆ ยันพยายามอย่างเต็มที่ตาม Road map มุ่งไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ ปัจจุบันมิไม่ได้ใช้วิธีคุมขัง-กักขัง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ ผู้วิจารณ์ทางออนไลน์ ม.112 มีมาก่อน คสช.

11 ก.พ.2558 ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ท.ศุภกร สงวนชาติสรไกร รองเสนาธิการทหารทัพบก พร้อมด้วย พล.ท.ประณต แสงเทียน เจ้ากรมข่าวทหารบก เชิญผู้ช่วยทูตทหารประจำประเทศไทย 21 ประเทศ และตัวแทนด้านทหารจากสถานทูตอีก 4 ประเทศ เข้าชี้แจงรับฟังการสรุปสถานการณ์และแผนงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

พล.ท.ศุภกร กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้พบผู้ช่วยทูตทหารเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นที่นานาชาติมีข้อสงสัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งนี้ผู้ช่วยทูตต่างประเทศบางส่วนมองว่า การคงกฎอัยการศึกไม่น่าจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นการรักษาความมั่นคงในประเทศ ส่วนข้อกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมืองของไทย คือ คดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังที่ถูกสภานิติบัญญัติฯ ถอดถอน และขณะนี้อัยการสูงสุดเตรียมฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หลังจากนั้น พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช.กล่าวว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ กรมข่าวทหารบก และทีมโฆษก ทบ.เชิญผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศเข้ารับฟังการชี้แจงการดำเนินงานของ คสช. เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงตามบริบทของการบริหารจัดการประเทศที่รัฐบาล และ คสช.กำลังขับเคลื่อนอยู่ มีสาระสำคัญ 8 ประเด็นหลัก คือ 1. ได้ย้ำถึงเหตุผลความจำเป็นในการเข้าควบคุมอำนาจและการบริหารประเทศ และขอให้ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศมั่นใจว่าการเข้าดำเนินการดังกล่าวของ คสช.มีเหตุผลและความจำเป็น ทั้งนี้การยึดอำนาจของไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ จึงไม่ควรพิจารณาเพียงอาศัยมุมมองแบบดั้งเดิมในอดีตได้ 2. รัฐบาลและ คสช.พยายามอย่างเต็มที่ที่จะดำเนินงานต่างๆ ตาม Road map หรือขั้นตอนการดำเนินการบริหารประเทศที่มุ่งไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า 3. มีการสรุปผลงานของ คสช.และรัฐบาล ที่ได้ดำเนินการมาแล้วในห้วงที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความพยายามของ คสช.ในการแก้ปัญหาของประเทศและประชาชน 4. กรณีความห่วงใยของบางประเทศต่อสถานการณ์ในไทยในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินการด้านกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา ว่าเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และฝ่ายนิติบัญญัติ มีเริ่มต้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาดำเนินการในช่วงของ คสช. เป็นเหมือนมาตรการถ่วงดุลตรวจสอบผู้บริหารปกติ ที่มีอยู่ในทุกๆองค์กร และเป็นสากล ยืนยันว่าไม่ใช่ผลพวงในทางการเมือง โดยที่ผ่านมา คสช.เน้นทางบริหารแก้ปัญหาประเทศ ดูแลความสงบเรียบร้อย ไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม 5. กรณีที่มีบางประเทศเรียกร้องให้ยุติการเรียกตัวและคุมขังกลุ่มการเมือง นักวิชาการ ผู้วิจารณ์ทางออนไลน์ โดย คสช.ได้ชี้แจงว่าปัจจุบันมิไม่ได้ใช้วิธีคุมขัง หรือกักขังตามที่มีบางส่วนตั้งข้อห่วงใย ที่ผ่านมาพบว่าการแสดงความคิดเห็นนอกช่องทางที่กำหนดให้ส่วนใหญ่เป้าหมายและเนื้อหาจุดประกายความขัดแย้ง ส่วนกลุ่มเป้าหมายก็ไม่มีความชัดเจนว่าเพื่อส่วนรวม หรือเพื่อกลุ่มพวกพ้องและส่วนบุคคล

“ยืนยัน คสช.เคารพและรับฟังการแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ โดยกำหนดให้มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นไว้ให้มากมาย ส่วนการเชิญตัว หรือการขอเข้าไปพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมมองภายใต้สถานการณ์ของประเทศที่ยังคงอ่อนไหวอยู่ ที่บางส่วนอาจยังไม่เป็นแนวทางเดียวกัน จุดมุ่งหมายหลักคือไม่ต้องการให้ไปนำเสนอเรื่องใดๆ ที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ในลักษณะการให้ข้อมูลเชิงชี้นำสังคมภายใต้มุมมองส่วนบุคคลจนนำไปสู่ความรู้สึกที่ขัดแย้งขึ้นของคนในสังคม นำไปสู่การแสดงออกเชิงต่อต้านที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย โดย คสช.ตระหนักดีว่าผู้เห็นต่างนั้นไม่ใช่ผู้ที่ทำความผิด จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปขังหรือไปทำไรในฐานะผู้ที่ทำความผิด นอกจากบางส่วนเท่านั้นที่พบว่าเป็นผู้ที่ทำความผิดกฎหมายบ้านเมืองจริงๆ แต่พยายามไปบิดเบือนให้สังคมภายนอกโดยเฉพาะในต่างประเทศมองว่าถูกกระทำจากเรื่องของทางการเมืองซึ่งที่จริงไม่ใช่ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาสำหรับผู้เห็นต่างส่วนใหญ่ จึงเป็นการขอความร่วมมือและทำความเข้าใจกันเท่านั้น และการดำเนินการทุกอย่างยังอยู่ภายใต้ หลักสิทธิมนุษยชน” พ.อ.วินธัย กล่าว

พ.อ.วินธัยกล่าวอีกว่า 6. กรณีผู้กระทำทำผิดคดีอาญา มาตรา 112 ถือเป็นฐานความผิดทางอาญาเดิมไม่ใช่เฉพาะช่วง คสช. เป็นคดีที่ละเอียดอ่อนมีผลกระทบต่อจิตใจคนไทยจำนวนมาก จึงมีคนส่วนใหญ่ติดตามให้ความสำคัญ ยิ่งมีหลายคนรู้สึกว่าเรื่องลักษณะนี้เป็นเรื่องที่พวกเขาได้ถูกคนไม่ดีบางคนพยายามละเมิดสิทธิทางความรักความรู้สึก ทำลายอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม ปัจจุบันจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างที่กล่าวอ้าง มีผู้ต้องหาส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศพยายามบิดเบือนข่าวสารให้เป็นการถูกกลั่นแกล้งจากประเด็นทางการเมือง 7. กรณีความจำเป็นของการใช้กฎอัยการศึก เนื่องจากยังต้องให้ทหารร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยดูแลความปลอดภัย และบังคับใช้กฎหมายร่วมกับตำรวจ กับฝ่ายปกครอง เพราะสถานการณ์ยังคงละเอียดอ่อน แต่ยืนยันว่าการใช้ก็เท่าที่จำเป็น หลักๆ มีเพียง 2 เรื่องหลัก คือ ไม่ให้มีการชุมนุมในทางการเมือง และการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงตัวผู้ต้องสงสัยกระทำความผิด หรือต้องสงสัยการกระทำที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ส่วนขั้นการสอบสวนเพื่อฟ้องร้องลงโทษเอาผิดยังคงอาศัยแนวทางตามกฎหมายปกติ ในขั้นนี้ยังคงต้องอาศัยหลักฐานเพื่อผูกมัดในทางคดี จึงจะสามารถดำเนินการเอาผิดตามขั้นตอนต่อไปได้ ไม่ต่างจากการดำเนินการในช่วงสถานการณ์ปกติทั่วไป ทั้งนี้ในส่วนของผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศ มองว่า การดำรงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกของไทยเพื่อดูแลความเรียบร้อยไม่สงผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และ 8. คสช.ไม่อยากให้ใช้คำว่าเผด็จการ เพราะที่ผ่านมาการดำเนินการทุกอย่างเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านช่องทางที่กำหนดให้อย่างกว้างขวาง ไม่ได้คิดเองทำเอง หรือไม่ฟังใครในรูปแบบของเผด็จการ อย่างที่บางคนพยายามบิดเบือน คสช.มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกัน การขับเคลื่อนประเทศเหมือนระบอบประชาธิปไตยทั่วไปที่เป็นสากลผ่าน 3 อำนาจ ได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ในส่วนอำนาจนิติบัญญัติ ยังคงใช้ระบบการลงมติเพื่อออกเสียงโวตจากเสียงส่วนมากในสภา แต่ด้วยสภาวะที่ไม่ปกติ จึงมีข้อแตกต่างบ้าง เช่น กรณีที่มาของสมาชิกในสภาต่างๆ ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามบัญญัติรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยจะมีการพิจารณาคัดเลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ และบางส่วนก็มาจากภูมิลำเนาที่หลากหลายจากทั่วประเทศ อีกทั้งส่วนใหญ่มีขีดความสามารถเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในสังคม

ในส่วนอำนาจบริหารขณะนี้มีรัฐบาลที่ยังคงบริหารในทุกเรื่องโดยยึดโยงที่ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ในลักษณะประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมรับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชน และไม่ได้เน้นบริหารเพื่อประโยชน์ของพรรค หรือของพวกพ้อง หรือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในส่วนอำนาจตุลาการก็ไม่ได้มีการไปก้าวล่วงกัน ยังคงปฏิบัติกันไปตามบทบาทอำนาจหน้าที่อย่างมีเอกภาพ

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า ทางผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศไม่ได้มีการสอบถามถึงคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ คสช.ได้ชี้แจงว่าของกระบวนการยุติธรรม และฝ่ายนิติบัญญัติ มีมาก่อนหน้าที่จะมี คสช. เป็นเหมือนมาตรการถ่วงดุลตรวจสอบผู้บริหารปกติ ที่มีอยู่ในทุกๆ องค์กร และเป็นสากล ยืนยันไม่ใช่ผลพวงในทางการเมือง ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอลี้ภัยทางการเมืองนั้น ไม่ได้มีการพูดถึง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net