Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วอลเดน เบลโล เปิดเผยในเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มผู้อพยพในยุโรปโดยเฉพาะในฝรั่งเศสเข้าร่วมกลุ่มหัวรุนแรง เป็นเพราะผู้อพยพมีความรู้สึกถูกกระทำจากฝ่ายขวา ขณะที่ฝ่ายซ้ายเองก็ไม่เข้าถึงและสร้างทางเลือกอื่นในการต่อสู้กับความรู้สึกถูกกดขี่ที่พวกเขาได้รับ

16 ก.พ. 2558 วอลเดน เบลโล ประธานคณะกรรมการกิจการแรงงานข้ามชาติในสภาผู้แทนฯ ฟิลิปปินส์และนักเขียนประเด็นแรงงานผู้อพยพ เขียนบทความเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยผู้อพยพในยุโรปกับประเด็นเรื่องการก่ออาชญากรรมหรือการก่อการร้ายหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เช่น กรณีคนร้ายบุกสังหารคนในสำนักงานชาร์ลี เอ็บโด การจับชาวฝรั่งเศสในร้านค้าของชาวยิวเป็นตัวประกัน

เบลโลระบุว่าในขณะที่เหล่าผู้นำยุโรปพยายามปฏิบัติการตามล่าตัวผู้ก่อการร้าย ตัวเขาเองมองว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความคิดแบบสุดโต่งคือการที่ยุโรปปฏิบัติต่อกลุ่มผู้อพยพโดยมีการเหยียดแบบเหมารวมทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และทางศาสนา รวมถึงการที่ผู้อพยพรุ่นหนุ่มสาวไม่มีอนาคตในด้านการงาน มีการศึกษาไม่สูง อยู่ในชุมชนเสื่อมโทรม ไม่ได้รับความนับถือ และยังถูกจับเข้าคุกซ้ำๆ ทำให้พวกเขาหันไปเข้าร่วมกับพวกกลุ่มหัวรุนแรง ดังนั้นการใช้เจ้าหน้าที่ปราบปรามย่านชุมชนของพวกเขาจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย

เบลโลมีความคิดว่าเหล่าผู้นำยุโรปควรเน้นแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเน้นนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพภายในประเทศตน ซึ่งเขาเชื่อว่ายุโรปจะทำได้ดีในการคัดค้านการเคลื่อนไหวต่อต้านผู้อพยพและส่งเสริมให้มีฝ่ายซ้ายที่ไม่เพียงดูแลประเด็นเรื่องแรงงานทั่วๆ ไป แต่รวมถึงประเด็นผู้อพยพด้วย


สุมไฟแห่งความกลัว

อย่างไรก็ตามเบลโลชี้ว่าสื่อตะวันตกยังพยายามสร้างความหวาดกลัวผู้อพยพด้วยการเน้นรายงานว่าผู้ก่อการร้ายได้รับการฝึกฝนจากกลุ่มติดอาวุธอย่างอัลกอดิดะฮ์หรือไอซิสในประเทศอย่างเยเมน อิรัก และซีเรีย และเข้าไปแฝงตัวอยู่ตามประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมถึงกลุ่มผู้มีชื่อเสียงหลายคนเช่น หัวหน้าองค์กรตำรวจสากล อดีตหัวหน้าซีไอเอ รวมถึงวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จอห์น แมคเคน ซึ่งร่วมกันบอกว่าการก่อการร้ายเป็นภัยมากขึ้น โดยแมคเคนพูดถึงขนาดว่าพวกนี้เป็นภัยในระดับที่จะกำจัดได้ด้วยการให้สหรัฐฯ ส่งกองกำลังไปในอิรักและซีเรียเพื่อปราบปรามเท่านั้น

ยังบอกได้ไม่ชัดเจนว่าเรื่องที่เหล่าคนมีชื่อเสียงของตะวันตกพูดถึงเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งมากน้อยเพียงใด แต่เบลโลเองมองว่าภัยที่แท้จริงคือการปฏิบัติต่อชุมชนผู้อพยพในยุโรปมากกว่า โดยถึงแม้ว่าหลังเกิดเหตุรุนแรงในปารีสเมื่อช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลในยุโรปตะวันออกจะเน้นพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมและความเป็นหนึ่งเดียวกับภาคส่วนอื่นของผู้อพยพรวมถึงชุมชนชาวมุสลิมในประเทศ แต่ชาวยุโรปบางส่วนก็หล่อเลี้ยงความหวาดกลัวผู้อพยพให้ดำเนินต่อไป เช่นนายกรัฐมนตรีของฮังการีกล่าวตรงไปตรงมาว่ากลุ่มผู้อพยพเป็นปัญหาและเป็นภัยต่อชาวยุโรปและคิดว่าควรหยุดยั้งผู้อพยพ ทั้งๆ ที่เขาไปเข้าร่วมการเดินขบวนเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของเหล่าผู้นำในปารีสด้วย


สาเหตุที่ฝรั่งเศสล้มเหลวในการหลอมรวมผู้อพยพเป็นคนในชาติ

ในฝรั่งเศสมีประชากรผู้อพยพชาวมุสลิมมากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศอื่นของยุโรป แต่ในฝรั่งเศสเองก็มีกลุ่มต่อต้านผู้อพยพและมีโฆษกของกลุ่มที่มีชื่อเสียงอย่างมารีน เลอ แปน หัวหน้าพรรคขวาจัดซึ่งมีเสียงสนับสนุนพรรคของเธอราว 4.1 ล้านโหวตในการเลือกตั้งสภายุโรปปี 2557 และผลโพลล์เมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่าผู้คนจะยังสนับสนุนเลอ แปน

เบลโลยังได้ชี้ให้เห็นถึงความต่างชั้นระหว่างชาวฝรั่งเศสในเมืองกับในย่านชานเมืองซึ่งมีการสร้างกำแพงคอนกรีตแบ่งแยกอย่างชัดเจน โดยระบุถึงเหตุการณ์จลาจลในปี 2548 ที่ประชาชนในย่านชานเมืองหรือที่เรียกว่า 'บังลิเออ' (banlieue) พากันก่อเหตุติดต่อกันเป็นเวลา 20 คืน จนมียานพาหนะถูกเผาราว 9,000 คัน มีโรงเรียนและสถานธุรกิจถูกทำลายราว 80 แห่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสิ้นหวังของชุมชนผู้อพยพที่อยู่ในย่านใจกลางเมือง และใน 'บังลิเออ' นี้เองที่มือปืนผู้ก่อเหตุชาร์ลี เอ็บโด อย่างสองพี่น้องคูอาจี ได้กำเนิด เติบโต และทำงานอยู่ที่นี่น

เบลโลระบุว่าเหตุการร้ายแรงในช่วงเดือน ม.ค. อาจจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากหลังจากการจลาจลครั้งนั้นทางการฝรั่งเศสจะถือโอกาสปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ชุมชนขาดโอกาสเหล่านั้นมีส่วนร่วม แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการมีส่วนร่วมมากเท่าใดนัก

ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้อพยพในฝรั่งเศสระบุว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่มีการปฏิรูปในเรื่องนี้เป็นเหตุผลที่ชวนให้รู้สึกย้อนแย้ง มันคืออุดมการณ์ที่เกิดจากการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งเชื่อว่าทุกคนเท่าเทียมกัน การมีอยู่ของชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติจึงทำให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมจึงพยายามทำเหมือนคนกลุ่มนี้ไม่มีอยู่จริง

อีกสาเหตุหนึ่งในความคิดของเบลโลคือแนวคิดฆราวาสนิยม (secularism) หรือการปกครองที่เป็นอิสระจากการควบคุมของศาสนา เรื่องการแยกระหว่างรัฐกับศาสนาเป็นเรื่องที่ฝรั่งเศสเคร่งครัดมาโดยตลอด แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเรื่องมีลักษณะขาดความอดทนอดกลั้นต่อศาสนามากขึ้นจนทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสังคมชาวมุสลิมและสังคมที่มีอำนาจนำอยู่

เบลโลระบุว่าการใช้แนวคิดแยกรัฐกับศาสนาทำให้ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาร่วมสนับสนุนการผ่านร่างกฎหมายสั่งแบนฮิญาบในโรงเรียนช่วงปี 2547 และในปี 2554 ก็มีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ถือว่าการปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะเป็นอาชญากรรมซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้มีแนวคิดการเมืองทุกสายแต่ก็เป็นปัญหาสำหรับการแต่งกายของหญิงชาวมุสลิม

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเพราะแนวคิดแยกรัฐจากศาสนา แต่ปัญหาน่าจะมาจากพวกยึดติดอุดมการณ์เคร่งครัดกับนักการเมืองที่สนใจแต่ผลประโยชน์ของตัวเองจนทำให้เรื่องนี้บานปลาย ทั้งๆ ที่ผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้ควรจะใช้สามัญสำนึกและความอดกลั้นต่อความต่างเพื่ออนุญาตให้ชุดของหญิงชาวมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของความต่างทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับในอังกฤษหรือสหรัฐฯ

เบลโลชี้ว่าสาเหตุที่ 3 ที่ทำให้ไม่มีการปฏิรูปสร้างการมีส้วนร่วมจริงจังเพราะกลุ่มชนชั้นนำพากันหลอกตัวเองว่า "การหลอมรวมแบบฝรั่งเศส" ได้ผลดีจริงและเหตุจลาจลปี 2548 เป็นแค่อุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ

นักวิเคราะห์ชื่อฟรองชัวส์ ดูเบต ระบุว่า "การหลอมรวมแบบฝรั่งเศส" คือกระบวนการทำให้ผู้อพยพต้องทำตามขั้นตอน 3 ขั้นเพื่อที่จะเป็น "ชาวฝรั่งเศสที่ดี" ได้ ขั้นตอนแรกคือการหลอมรวมในแง่เศรษฐกิจให้ผู้อพยพทำงานที่จัดไว้ให้ซึ่งเต็มไปด้วยการกดขี่ ขั้นตอนที่สองคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านกลุ่มสหภาพแรงงานและพรรคการเมือง ขั้นตอนที่สามคือการหลอมรวมทางวัฒนธรรมและผนวกรวมกับความเป็นชาติของฝรั่งเศสโดนอนุญาตให้แสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้อพยพได้เพียงแค่ในพื้นที่ส่วนตัวเท่านั้น

เบลโลระบุว่าปัญหาทั้งหมดมาจากการปิดหูปิดตาตัวเองเรื่องความไม่เท่าเทียม นโยบายผิดๆ ต่อการแต่งกายของชาวมุสลิม การที่ชนชั้นนำไม่ใส่ใจว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นตัวขัดขวางการหลอมรวมทางเศรษฐกิจ รวมถึงวิธีการปราบปรามผู้อพยพของทางการที่มีความเข้มงวดกับกลุ่มชนย่านชานเมืองและมีการส่งตัวออกนอกประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสมัยของประธานาธิบดีนิโกลา ซาโคซี ซึ่งเข้าสู่ตำแหน่งในปี 2550 มีจำนวนผู้อพยพถูกส่งตัวออกนอกประเทศ 32,912 คนในปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปีก่อนหน้านี้ โดยมีการอ้างว่าผู้อพยพชาวมุสลิมทำให้เกิดอาชญากรรมและยาเสพติด รวมถึงการแสดงทางศาสนาบนท้องถนนก็ทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งการอ้างเหล่านี้เป็นวาทศิลป์ที่ใช้ต่อต้านผู้อพยพเท่านั้น

เบลโลวิเคราะห์ว่าพรรคการเมืองในฝรั่งเศสใช้มาตรการจัดการกับผู้อพยพเพื่อเจาะฐานคะแนนเสียงของกลุ่มฝ่ายขวา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ


ถ้าผู้อพยพร่วมขบวนการฝ่ายซ้าย แทนที่จะเป็นกลุ่มก่อการร้าย?

อย่างไรก็ตามเบลโลชี้ว่าฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสยังไม่มีบทบาทในการเสนอนโยบายเกี่ยวกับกลุ่มผู้อพยพ เพราะฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสลดความสำคัญของตัวเอง กลุ่มสังคมนิยมส่วนใหญ่ถูกหลอมรวมเข้ากับระบบของชนชั้นนำ ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ของฝรั่งเศสก็เปลี่ยนจุดยืนไปมาระหว่างการต่อต้านผู้อพยพและการยอมรับผู้อพยพแบบไม่เต็มใจ พวกเขาไม่เข้าใจว่าทุนนิยมทำให้เกิดชนชั้นแรงงานชายขอบ พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสมักจะให้ความสำคัญกับฐานชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมมากกว่า ทำให้ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์และชุมชนผู้อพยพต่างมีความรู้สึกคลางแคลงใจกัน

เบลโลระบุว่าฝ่ายซ้ายสายติดอาวุธในฝรั่งเศสก็ไม่มีความพยายามจัดตั้งกลุ่มผู้อพยพ มีกลุ่มสายเหมาอิสต์อ้างว่าพยายามจัดตั้งเคลื่อนไหวกลุ่มผู้อพยพในช่วงคริสตทศวรรษที่ 1970-1980 แต่หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายนักกิจกรรมสายก้าวหน้าก็พากันแยกตัวออกจากการทำงานร่วมกับกลุ่มชนชั้นแรงงานที่ไม่ได้รับการจัดตั้งโดยหาว่าเป็นกลุ่มที่ล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันอดีตนักกิจกรรมหลายคนก็กลายพันธุ์เป็นพวกอำมาตย์สหภาพ มีสายติดอาวุธส่วนหนึ่งกลายเป็นกลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่มีฐานของชนชั้นกลาง นักวิชาการหัวก้าวหน้าอีกส่วนหนึงก็กลายไปเป็นสายปรัชญา

สำหรับฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสเคยมีการถกเถียงกันเรื่องฮิญาบจนทำให้มีความคิดเห็นต่างกันโดยบางส่วนมองว่าการสวมฮิญาบในที่สาธารณะถือเป็นการละเมิดหลักการแยกรัฐออกจากศาสนา ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งกล่าวปกป้องสิทธิในการที่ผู้หญิงควรจะสวมฮิญาบได้ เบลโลวิจารณ์ว่าในขณะที่ฝ่ายซ้ายถกเถียงกันเรื่องนี้ภาคส่วนอื่นๆ ก็รวมตัวกันต่อต้านการเหยียดชาติพันธุ์และความกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลได้

ดูเบท ระบุถึงการที่ฝ่ายซ้ายไม่สามารถสร้างการสนับสนุนจากกลุ่มผู้อพยพในย่านชานเมืองได้เปิดโอกาสให้สายศาสนาเข้าไปมอบทางเลือกในชีวิตให้กับพวกเขา เสนอชีวิตที่ดูมีศักดิ์ศรีและความถูกต้องทางจริยธรรมซึ่งหลุดออกจากโลกความเป็นจริง ในขณะเดียวกันก็ทำเหมือนปกป้องชุมชนของพวกเขาจากสังคมภายนอกที่ถูกสร้างภาพให้ดูไม่บริสุทธิ์

เบลโลระบุว่าเมื่อพิจารณาเรื่องเหล่านี้แล้วมันชวนให้เขาจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไรถ้าสองพี่น้องคูอาจีเข้าร่วมกับขบวนการฝ่ายก้าวหน้าแทนที่จะไปเข้ากับกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง แต่เรื่องเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเพราะไม่มีผู้นำฝ่ายซ้ายฆราวาสนิยมที่จะคอยนำทางพวกเขาเพื่อกลบช่องว่างในจิตใจด้วยการชี้ให้เขาเข้าใจถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นและมองเห็นอุดมคติในตัวพวกเขา

แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เชอรีฟ คูอาจี หนึ่งในผู้ก่อเหตุบุกยิงสำนักงานชาร์ เอ็บโด กลับไปพบเจอกับฟาริด เบนเยตโต ชาวมุสลิมเชื้อสายอัลจีเรียผู้เคร่งในศรัทธา เขาเป็นคนที่คอยสนับสนุนให้คนหนุ่มชาวมุสลิมเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธในเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ ทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายตามมา


การขึ้นมามีอำนาจของนักสร้างวาทกรรมฝ่ายขวา

เบลโลไม่เชื่อในสิ่งที่เหล่าผู้นำยุโรปบอกว่ามีพวกกลุ่มติดอาวุธสายศาสนาแฝงตัวอยู่และพร้อมจะทำลายสังคมยุโรปถือเป็นภัยที่แท้จริง แต่ภัยที่แท้จริงสำหรับเบลโลคือการกดขี่ชุมชนผู้อพยพโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชากรฝ่ายขวา

เบลโลระบุว่าฝ่ายขวาในฝรั่งเศสมีความพยายามสร้างแรงสนับสนุนจากมวลชนด้วยลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่นมารีน เลอ แปน อ้างคำกล่าวของอัลแบร์ กามูส์ นักเขียนสายเสรีนิยมเพื่อรับใช้วาทกรรมของฝ่ายตนเอง ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าเป็นการพยายามเคลื่อนไหวเข้าสู่กระแสหลักของฝ่ายขวา แต่เบลโลกลับมองว่ามันเป็นการที่ฝ่ายสุดโต่งพยายามซ่อนตัวภายใต้วาทกรรมของสายฆราวาสนิยม และดูเหมือนผู้นำฝ่ายขวาจัดอย่างเลอ แปน กำลังรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจอยู่

เบลโลสรุปว่าสำหรับในยุโรปมันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจนำทางสังคมกับชุมชนผู้อพยพ ที่กลุ่มฝ่ายซ้ายซึ่งเคนมีอำนาจนำล้มเหลวในการหลอมรวมและช่วยเหลือเยียวยาผู้อพยพที่ถูกกดขี่ พอผู้อพยพเหล่านี้ถูกทอดทิ้งพวกเขาก็ถูกกดโดยกลุ่มเหยียดเชื้อชาติและถูกครอบงำโดยสายสุดโต่งทางศาสนาแทน

เบลโลเสนอว่าฝ่ายซ้ายฆราวาสนิยมควรเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชุมชนที่มีความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม โดยหาจุดร่วมในแง่ที่ผู้คนต่างถูกกดขี่จากการใช้แรงงานในทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ทำให้พวกเขาได้เคลื่อนไหวเรียกร้อง "ปลดแอก" ร่วมกันจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาซึ่งกำลังส่อเค้าลางความวุ่นวายในอนาคต

เรียบเรียงจาก

How the Left Failed France’s Muslims, FPIF, 05-02-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net