Skip to main content
sharethis

เมื่อเร็วๆ นี้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ 3 คน เป็นชาย 2 หญิง 1

ในคราวที่พวกเขาโดนจับ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์แทบทุกแห่งลงข่าวการจับกุม หลายแห่งลงภาพของหญิงซึ่งเป็นผู้ต้องหาหลักด้วย นั่นคือ ‘จารุวรรณ’ เมื่อถูกฝากขังครบ 7 ผลัด หรือ 84 วัน พวกเขาทั้งหมดถูกปล่อยตัวเงียบๆ ที่เรือนจำและกลับบ้านนอกไปท่ามกลางความปีติของญาติพี่น้องที่ทั้งหวาดกลัวและทนทุกข์อยู่นาน

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้น เมื่อมีบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งใช้ชื่อและนามสกุลจริงของจารุวรรณรวมทั้งภาพโปรไฟล์ด้วย โพสต์ข้อความที่มีถ้อยคำรุนแรงเกี่ยวกับสถาบัน เรื่องราวเกิดขึ้นคืนวันที่ 15 พ.ย.2557

บ่ายวันรุ่งขึ้น พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ สังกัดกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2) เดินทางเข้าแจ้งความที่กองปราบฯ พร้อมๆ กับที่ทหารและตำรวจบุกไปที่บ้านบิดาของจารุวรรณสร้างความตระหนกกับทั้งครอบครัว จากนั้นวันรุ่งขึ้นบิดาได้นัดแนะกับเจ้าหน้าที่ปกครองและตำรวจในพื้นที่เพื่อนำตัวบุตรสาวเข้ามอบตัวเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ เธอระบุว่าเจ้าหน้าที่ทหารให้พาไปยังบ้านของแฟนชื่อ “บอล” ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยอีกรายในคืนนั้นและทำการจับกุมตัวมาด้วยกัน อยู่ในความควบคุมของทหาร 1 คืน ระหว่างเดินทางเธอถูกกดให้นั่งก้มมองแต่พื้นรถไปตลอดทาง

ทั้งสองถูกนำตัวมาสอบสวนและฝากขังยังศาลทหาร

คดีนี้สับสนอลหม่าน ไม่รู้ใครคือผู้โพสต์เฟซบุ๊ก เจ้าตัวยืนกรานปฏิเสธ ใครเล่าจะใช้ชื่อนามสกุลรวมทั้งภาพจริงทำเช่นนั้น เธอเล่าให้ตำรวจฟังว่า มือถือถูกแฟนยึดไปและเพื่อนแฟนอาจจะกลั่นแกล้งเธอเพราะแอบชอบเธอและมีปัญหากันอยู่ ตำรวจและทหารจึงไปตามจับตัวเพื่อนแฟนอีกคนคือ “ชาติ”

ไม่ว่าจะอย่างไร ศาลทหารฝากขังเขาทั้ง 3 คน ซึ่งไม่มีความสามารถในการประกันตัวจนครบ 7 ผลัด ท้ายที่สุดตำรวจทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง จนพวกเขาทั้ง 3 คนได้รับอิสรภาพในที่สุดเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่วนคำสั่งของอัยการทหารนั้นยังไม่มีใครทราบแน่ชัดเนื่องจากทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังไม่เห็นเอกสารยืนยันแต่อย่างใด

จารุวรรณ อายุ 26 ปี เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี ครอบครัวมีฐานะยากจน เธอจบแค่ ป.4 มีลูก 2 คน คนโตอายุราว 9 ขวบอยู่กับแฟนที่เลิกรากันไปแล้ว เหลือแต่คนเล็ก “ต่อ” อายุ 6 ขวบที่ให้พ่อของเธอรับดูแลแทนอยู่ที่เพชรบูรณ์ โดยพ่อของเธอมีอาชีพรับจ้างในไร่อ้อย ไร่หอมกระเทียม ตัวจารุวรรณเองเดินทางมาทำงานที่โรงงานยาย้อมผมแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี มีรายได้วันละ 335 บาท ซึ่งเป็นราคาค่าแรงที่เพิ่งปรับขึ้นไม่นานก่อนถูกคุมขัง

เธอว่าพ่อของเธอไม่อยากให้กลับไปทำงานที่โรงงานแห่งเดิม แม้ทางโรงงานจะยอมรับกลับเข้าทำงานก็ตาม พ่อกลัวจะมีใครกลั่นแกล้งอีก และตอนนี้เธอก็ยังไม่รู้ว่าจะไปหางานที่ไหน น่าจะเป็นจะโรงงานสักแห่ง

“ตำรวจที่วิเชียรฯ เขาบอกว่าทหารที่จับไปเขาฝากมาขอโทษ โอ้โห ชื่อเสียงหนูป่นปี้หมด ขอโทษแค่นี้อะนะ แต่ก็ช่างเถอะ ถือว่าฟาดเคราะห์” เจ้าตัวว่า 

เป็นคำตอบง่ายๆ ของคนชนชั้นล่างที่คาดเดาได้ไม่ยาก

วันที่ตำรวจนำตัวเธอไปฝากขังยังศาลทหารหลังจากนักข่าวทำข่าวเธอที่กองปราบฯ เรียบร้อยแล้ว เธอนั่งเพียงลำพังต่อหน้าเจ้าหน้าที่ศาล ไม่มีญาติ ไม่มีทนาย (ก่อนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะเข้ามาดูแล) มีเงินติดตัวเพียงเล็กน้อย ไม่เข้าใจกระบวนการทางกฎหมายใดๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลทหารสอบถามว่าต้องการจะคัดค้านการฝากขังไหม เธอพยักหน้างงๆ แล้วเข้าให้ปากคำกับศาลเพียงลำพังแต่ไม่ประสบผล

ในวันยื่นคำร้องฝากขังครั้งถัดๆ ไป พนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการประกันตัว แต่เธอก็ไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์ใดจะนำมายื่นประกันตัวเนื่องจากทั้งครอบครัวล้วนมีอาชีพหาเช้ากินค่ำ อย่างไรก็ตาม คดีลักษณะนี้กว่า 90% แม้มีหลักทรัพย์ประกันตัวก็ไม่ได้รับอนุญาตจากศาล พ่อของเธอพาหลานชาย “ต่อ” ลาโรงเรียนแล้วเดินทางจากเพชรบูรณ์สู่ศาลทหารกรุงเทพฯ ต่อใส่ชุดไปเที่ยวแต่รองเท้ายังคงเป็นรองเท้านักเรียนสีดำเขลอะ เขาได้เจอแม่ในชุดนักโทษที่นั่น

ในส่วนของบอล ไม่แน่ใจว่าบอลจบการศึกษาชั้นไหน แต่บอลอ่านหนังสือไม่คล่อง เขียนหนังสือไม่ถูก เขาอายุ 22 ปีและทำงานเป็นช่างเชื่อมอยู่กับพ่อซึ่งรับเหมาเล็กๆ น้อยๆ อยู่ในจังหวัดราชบุรี วันที่มีโอกาสเจอเขาที่ศาลทหาร ถามอะไรเขาก็จะตอบไม่ค่อยถูก และเมื่ออธิบายอะไรพร้อมถามเขาว่าเข้าใจไหม เขาก็มักตอบช้าๆ ว่า “ไม่เข้าใจครับพี่” พร้อมยิ้มละไม

ส่วนชาติ เป็นเด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับบอล แต่ชาติดูคล่องแคล่วกว่ามาก ชาติเล่าในฟังว่า เขามีภรรยาเป็นคนจังหวัดประจวบฯ เพิ่งมีลูกเล็กอายุไม่กี่เดือนด้วยกัน ระหว่างที่เขาถูกจับกุมนั้น เขาทำอาชีพประมงออกเรือหาปลาอยู่ที่ประจวบฯ บ้านพ่อของภรรยา

ยังไม่ชัดเจนว่าคดีสิ้นสุดโดยที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องแล้วหรือไม่ แต่ต่อให้มีการฟ้องในที่สุด การพิจารณาคดีก็จะเกิดขึ้นในศาลทหาร พิจารณาคดีลับ และสาธารณชนไม่สามารถเข้าร่วมตรวจสอบได้ว่าอัยการทหารใช้หลักฐานใดในการฟ้องร้อง หนักกว่านั้น คือ คดี 112 ที่ขึ้นศาลทหารมักจะลงเอยด้วยการรับสารภาพของจำเลย เนื่องจากโทษจำคุกจะหนักกว่าศาลอาญาปกติเกือ 2 เท่า

กรณีนี้เป็นตัวอย่างของผู้ต้องหาฐานะยากจนในคดีความมั่นคงอันดับหนึ่งที่ไม่อาจประกันตัวมาต่อสู้คดีได้ และหากเขาบริสุทธิ์ อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง ความสูญเสียเวลา 3 เดือนก็ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยเบื้องต้นได้ เพราะตามกฎหมายผู้ที่จะได้ชดเชยวันละ 200 บาทที่ถูกจำคุกนั้น ต้องเป็น ‘จำเลย’ ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีแล้วมีการถอนฟ้องภายหลัง หรือมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง

พูดกันอย่าง ‘ไทยๆ’ สิ่งที่ผ่านมาคงนับได้ว่า เป็น “เคราะห์กรรม” สำหรับ 1) คนจน 2) ที่เล่นเฟซบุ๊ก 3) ในช่วงหลังรัฐประหาร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net