Skip to main content
sharethis

หนึ่งใน บ.ก.เว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศแสดงความกังวลต่อร่างมติที่อนุญาตให้ใช้กองกำลังทหารต่อกลุ่มก่อการร้ายไอซิส แม้ว่าไอซิสจะเป็นภัยคุกคาม แต่ร่างมติของโอบามาก็มีปัญหาในบางจุดที่อาจจะนำไปใช้ในทางสร้างความเสียหายมากขึ้นและไม่ได้ทำให้ไอซิสถูกกำจัด

15 ก.พ. 2558 หลังจากเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ส่งร่างมติให้กับรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการใช้กองทัพสหรัฐฯ แทรกแซงต่อกลุ่มติดอาวุธ 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีปฏิบัติการทิ้งระเบิดใส่ประเทศอิรักและซีเรียมาแล้ว รวมถึงมีการวางกองกำลังสหรัฐฯ ในอิรักมากกว่า 3,000 นาย

ร่างมติดังกล่าวระบุให้มีการอนุญาตประธานาธิบดีสั่งวางกำลังทหารต่อต้านกลุ่มไอซิสรวมถึง "กลุ่มคนหรือกองกำลังที่มีส่วนเกี่ยวข้อง" เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นจะต้องมีการขออนุญาตอีกครั้ง อย่างไรก็ตามอาจจะมีการพิจารณาห้ามไม่ให้มีการใช้ทหารสหรัฐฯ ใน "ปฏิบัติการเชิงรุกภาคพื้นดินอย่างยืดเยื้อ" เพราะกลัวว่าจะมีการทำสงครามเต็มรูปแบบในตะวันออกกลางแบบที่เคยเกิดขึ้นในสมัยสงครามอิรักปี 2545 ช่วงที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นประธานาธิบดี

นิวยอร์กไทม์ระบุว่า ร่างมติฉบับนี้พยายามประนีประนอมทั้งกับผู้ไม่สนับสนุนการแทรกแซง ผู้ที่สนับสนุนการแทรกแซงแต่ไม่อยากให้ใช้กำลังทหารภาคพื้นดิน รวมถึงผู้ที่ไม่อยากขัดแข้งขัดขาผู้บัญชาการทหารสูงสุดเลิกกังวล

แต่ปีเตอร์ เซอร์โต บรรณาธิการของเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus เขียนบทความระบุว่าในฐานะที่เขาเป็นผู้ชื่นชอบการ "ขัดแข้งขัดขาผู้บัญชาการทหารสูงสุด" ร่างมติฉบับนี้ยังไม่ทำให้เขาเลิกกังวลได้ เพราะเหตุผล 5 ข้อดังนี้


1) ร่างมติมีการใช้คำกำกวมซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
เซอร์โตชี้ว่าข้อความในร่างมติเกี่ยวกับการจำกัดการใช้กำลังทหารภาคพื้นดินของสหรัฐฯ ยังมีภาษาที่กำกวม เช่นคำว่า "อย่างยืดเยื้อ" (enduring) ไม่มีการนิยามชัดเจนว่าระยะเวลานานแค่ไหนถึงจะถือว่ายืดเยื้อ

นอกจากนี้เซอร์โตยังมองว่า คำว่า "ปฏิบัติการเชิงรุก" (offensive) ก็สื่อถึงอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการรุกรานประเทศอื่น ซึ่งในบทนำของร่างมติดังกล่าวก็มีการให้ความชอบธรรมต่อการโจมตีกลุ่มไอซิสว่าเป็น "สิทธิในการป้องกันตนเองที่มีอยู่แต่เดิมทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับกลุ่ม" เซอร์โตชี้ว่าการระบุถึงการป้องกันตัว (defensive) ในที่นี้ฟังดูขัดกับคำว่าปฏิบัติการเชิงรุก

ก่อนหน้านี้โอบามายังอ้างว่า "ภารกิจสงครามในอัฟกานิสถานของพวกเราจบลงแล้ว" แต่เมื่อราว 2 เดือนที่ผ่านมาเขาก็แอบขยายเวลาภารกิจอีก 1 ปีอย่างเงียบๆ โดยการส่งทหารราว 10,000 นาย ไปที่อัฟกานิสถาน ทำให้ชวนตั้งคำถามว่าคำว่า "สงคราม" ที่พวกเขาระบุถึงมีความหมายอย่างไรกันแน่

ตรงจุดนี้ทำให้เซอร์โตคิดว่ารัฐบาลโอบามาไม่ได้ต้องการจำกัดการใช้กำลังทหารแต่อย่างใด แต่ระบุไว้อย่างกำกวมเพื่อให้ตีความได้กว้างๆ ในแทบทุกบริบท ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงการโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มไอซิสแต่อย่างเดียวก็ได้


2) มันอาจจะเป็นการอนุญาตให้ทำสงครามที่ใดก็ได้ในโลก
เซอร์โตกังวลว่าร่างมติดังกล่าวจะไม่ได้จำกัดการปฏิบัติการอยู่แค่ในอิรักและซีเรีย และในร่างมติก็ไม่มีการจำกัดขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เลย

ด้วยความที่กลุ่มไอซิสกระจายตัวไปหลายที่ไม่จำกัดอยู่แต่ในเขตพรมแดนใดพรมแดนหนึ่ง ทำให้การใช้กำลังโจมตีกลุ่มไอซิสอาจจะต้องขยายการโจมตีในประเทศอิรักและซีเรียไปยังพื้นที่ตะวันออกกลางอื่นๆ เช่น จอร์แดน หรือเลบานอน และอาจจะรวมถึงกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่มีกองกำลังติดอาวุธพยายามเลียนแบบไอซิส เช่น ลิเบียหรือเยเมนด้วย

ที่เซอร์โตประเมินไปในทางนี้เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลโอบามาก็เคยอ้างใช้มติที่อนุญาตให้โจมตีเป้าหมายที่เป็นผู้บงการหรือผู้สนับสนุนการก่อการร้ายเหตุ 9/11 เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการขยายผลไปยัง "กลุ่มกองกำลังที่เกี่ยวข้อง" ในที่อื่นๆ ของโลกอย่างโซมาเลีย รวมถึงฟิลิปปินส์ด้วย


3) มันจะเป็นการให้อนุญาตการทำ "สงครามไม่รู้จบ" หลังยุค 9/11
เซอร์โตระบุว่าแม้รัฐสภาสหรัฐฯ จะปฏิเสธร่างมตินี้แต่รัฐบาลโอบามาก็จะยังใช้อำนาจในการทิ้งระเบิดอิรักและซีเรีย (หรืออาจจะรวมถึงประเทศอื่นๆ) ได้จากกฎหมายเก่า ถ้าหากรัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างมตินี้แล้วไม่ต่ออายุหลัง 3 ปีผ่านไป ประธานาธิบดีคนใหม่ก็จะอ้างมตินี้นำมาใช้ได้อีก

โอบามายังได้แนบจดหมายไปพร้อมกับร่างมติที่ส่งให้กับรัฐสภาระบุว่าตัวเขามีอำนาจตามรัฐบัญญัติในปัจจุบันที่สามารถออกคำสั่งอนุญาตปฏิบัติการต่อต้านไอซิสได้

เรื่องนี้ทำให้มีคำถามว่าถ้าหากโอบามามีอำนาจในการสั่งการเช่นที่เขากล่าวอ้างอยู่แล้ว เขายังจะส่งร่างมติเพื่อขออนุญาตรัฐสภาอีกทำไม


4) มันเป็นแค่ 'การแสดงบอกใบ้'
โอบามากล่าวว่ามติอนุญาตทำสงครามนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าสหรัฐฯ มีความสามัคคีในการร่วมแก้ไขปัญหาด้วยการต่อต้านภัยจากกลุ่มไอซิส จอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวเสริมในแถลงการณ์ว่า มตินี้จะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนและทรงพลังไปสู่ชาวอเมริกัน พันธมิตรของพวกเขา และศัตรูของพวกเขา

แต่เซอร์โตระบุว่า ในแง่สิทธิพลเมืองเบื้องต้นที่เด็กๆ ก็รู้คือการมีมติทำสงครามไม่ใช่การแสดงให้โลกเห็นหรือการส่งสัญญาณให้ใคร แต่ควรจะมีการสนับสนุนให้ถกเถียงอภิปรายอย่างเปิดเผยว่าสหรัฐฯ ควรทำตัวอย่างไร และมีความรุนแรงอะไรบ้างที่พวกเขากระทำโดยอ้างในนามของชาวอเมริกัน ที่สำคัญกว่านั้นคือควรจะให้ประชาชนมีตัวแทนของตัวเองในการบอกปฏิเสธการทำสงคราม มิเช่นนั้นแล้วมันก็เป็นแค่ละครปาหี่ของจักรวรรดินิยม


5) การทำสงครามจะไม่ทำให้ไอซิสหยุดเพิ่มจำนวน
เซอร์โตชี้ว่า การที่ไอซิสเติบโตเกิดขึ้นจากปัญหาความล้มเหลวทางการเมืองของทั้งอิรักและซีเรีย โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องความขัดแย้งระหว่างนิกายในประเทศ สงครามกลางเมืองในซีเรียที่มีกองกำลังฝ่ายกบฏหลายกลุ่มได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ หรือประเทศพันธมิตร และอีกปัจจัยหนึ่งคือการบุกรุกอิรักของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้

"การแทรกแซงด้วยกองทัพจะไม่ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้เลย ซ้ำร้ายมันจะยิ่งเป็นการทำเรื่องเดิมที่เคยผิดพลาดซ้ำๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาตั้งแต่แรก" เซอร์โตระบุในบทความ

เซอร์โตเสนอว่าวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีกว่าคือการเน้นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การให้ความช่วยเหลือภายใต้เงื่อนไขเข้มงวด และความพยายามใช้วิธีทางการทูตเพื่อทำให้เกิดการหยุดยิงรวมถึงการทำข้อตกลงในการปกครองร่วมกันกรณีประเทศซีเรีย ให้สิทธิความเท่าเทียมกับประชากรชนกลุ่มน้อยในกรณีประเทศอิรัก และการคว่ำบาตรการค้าอาวุธในกลุ่มอำนาจจากนอกประเทศซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความขัดแย้งจากทุกฝ่าย

แต่การจะทำให้มีการแก้ปัญหาแบบไม่ต้องใช้สงครามได้จะต้องยับยั้งการผ่านร่างมติล่าสุดนี้เสียก่อน และแม้ว่าจะยับยั้งร่างมติใหม่นี้ได้แล้วแต่กฎหมายในปี 2544 ก็ยังคงให้ความชอบธรรมในการทำสงครามอยู่ เซอร์โตจึงเสนอให้ประชาชนช่วยเรียกร้องด้วยการเขียนจดหมายถึง ส.ส.สหรัฐฯ เพื่อให้มีการยับยั้งมติการทำสงครามโดยทันที


เรียบเรียงจาก

5 Reasons Congress Should Reject Obama’s ISIS War, FPIF, 11-02-2015
http://fpif.org/5-reasons-congress-reject-obamas-isis-war/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net