ประชาชนเดนมาร์กหลายหมื่นชุมนุมปกป้องเสรีภาพสื่อ หลังเหตุบุกยิงที่ 'โคเปนเฮเกน'

ชาวเดนมาร์กราว 40,000 คน ร่วมชุมนุมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุบุกยิงในงานเสวนาเรื่องเสรีภาพและศาสนสถาน และแสดงการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ด้านนักกฎหมายชาวมุสลิมสายสิทธิมนุษยชนเตือนนักการเมืองอย่าตกหลุมพรางโดยโบ้ยว่าต้นเหตุมาจากการยั่วยุหรือหมิ่นศาสนา แต่ขอให้ปกป้องเสรีภาพสื่ออย่างเต็มที่

17 ก.พ. 2558 จากกรณีที่มีคนร้ายบุกยิงคน 2 สถานที่ติดต่อกันในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 14-15 ก.พ. ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 2 ราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 5 นาย ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมในกรุงโคเปนเฮเกนเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและแสดงการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เหตุการณ์บุกยิงก่อนหน้านี้เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมครุดต์ตอนเดนซึ่งเป็นสถานจัดงานเสวนา "ศิลปะ การหมิ่น และเสรีภาพในการแสดงออก" โดยมีศิลปินชาวสวีเดนชื่อลาร์ส วิลค์ ผู้เคยเขียนภาพล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดเข้าร่วมด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ส่วนลาร์ส วิลค์ ไม่ได้รับอันตรายใดๆ เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นในวันรุ่นขึ้นหลังจากเหตุการณ์แรกโดยคนร้ายบุกยิงผู้คนซึ่งร่วมพิธีกรรมในสุเหร่าใหญ่ที่ถนนคริสตัลเกดทำให้มีชาวยิวเสียชีวิต 1 ราย

มีผู้ชุมนุมที่ย่านใจกลางกรุงโคเปนเฮเกนราว 40,000 คน ในพิธีการมีนักร้องชื่อเพนนิล โรเซนดาห์ล ร้องเพลง 'Imagine' ของจอห์น เลนนอน ฝูงชนจำนวนมากเช่นนี้คล้ายกับการชุมนุมในฝรั่งเศสหลังเกิดเหตุรุนแรงในกรุงปารีสเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

แพทริก เปลล็อกซ์ ผู้เขียนคอลัมน์ให้นิตยสารแนวล้อเลียนเสียดสี 'ชาร์ลี เอบโด' ซึ่งเคยมีคนร้ายบุกยิงช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาเข้าร่วมการชุมนุมที่กรุงโคเปนเฮเกนด้วย เปลล็อกซ์กล่าวว่าพวกเขาต้องมีความกล้าหาญอยู่ตลอดเวลา ต้องลดความกลัวและต่อสู้กับการเซ็นเซอร์ตัวเอง

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าทราบตัวคนร้ายผู้ต้องสงสัย 2 ราย มีรายหนึ่งอายุ 22 ปีเป็นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุด้วยอาวุธปืนถูกวิสามัญฆาตกรรมแล้วหลังมีเหตุยิงต่อสู้กับตำรวจเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

เว็บไซต์วอลล์สตรีทเจอนัลระบุว่าเดนมาร์กเริ่มเฝ้าระวังการก่อการร้ายมากขึ้นหลังจากที่มีการเผยแพร่การ์ตูนล้อเลียนศาสดาของศาสนาอิสลามจนทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกประท้วงด้วยความไม่พอใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจเดนมาร์กอ้างว่าสามารถสกัดกั้นความพยายามก่อการร้ายได้หลายครั้ง เช่นกรณีพยายามวางระเบิดในปี 2550 ขณะที่ในปี 2551 ก็มีเหตุระเบิดพลีชีพโจมตีสถานทูตเดนมาร์กในประเทศปากีสถาน

วอลล์สตรีทเจอนัลรายงานอีกว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาฝ่ายขวาจัดของเดนมาร์กพยายามชูเรื่องการต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านสังคมแบบหลากหลายเชื้อชาติ โดยเรียกร้องให้มีการจำกัดการอพยพและส่งเสริมการหลอมรวมทางวัฒนธรรม  ซึ่งได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากชาวเดนมาร์ก

ทางด้านคาร์สเตน เจนเซน นักเขียนและคอลัมนิสต์ทางการเมืองชาวเดนมาร์กกล่าวว่า เดนมาร์กกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ คือการต่อสู้กับเฮชสปีช (คำพูดดูถูกเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ หรือคำพูดขู่ฆ่า) ไปพร้อมๆ กับการรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแบบดั้งเดิม เจนเซนกล่าวว่า ถ้าต้องการให้ชาวเดนมาร์กและชนกลุ่มน้อยอยู่ร่วมกันได้ต้องมีการตรวจสอบตัวเองว่าการแสดงความคิดเห็นของตนมีความสร้างสรรค์หรือไม่

"อย่าตกหลุมพรางโดยบอกว่าความรุนแรงมาจากการยั่วยุหรือหมิ่นศาสนา"

อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานระบุชัดเจนผุ้ก่อเหตุในโคเปนเฮเกนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอซิส หรืออัลกออิดะฮ์แต่อย่างใด บทความในเดอะการ์เดียนประเมินว่าผู้ก่อเหตุน่าจะกระทำการด้วยตนเอง

ไซมอน ทิสดัลล์ ผู้เขียนบทความลงในเดอะการ์เดียน เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับกรณีบุกยิงสำนักงานชาร์ลี เอบโด ว่าถึงแม้ว่าจะไม่มีกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มใดอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ แต่แรงจูงใจของคนร้ายอาจจะคล้ายๆ กัน จากการทำสงครามปราบปรามกลุ่มติดอาวุธกับหลายประเทศในโลกมุสลิม การเติบโตของความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลในยุโรปตะวันตก และความขัดแย้งที่แบ่งขั้วรุนแรงขึ้นระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

ทิสดัลล์ยังได้วิจารณ์ผู้นำอังกฤษและสหรัฐฯ ที่ออกมากล่าวปกป้องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการนับถือศาสนาว่า สิ่งที่พวกเขาควรทำมากกว่าคือการยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มติดอาวุธคอยยั่วยุคนหนุ่มสาวที่อ่อนไหวง่ายเป็นเพราะหลังจบสงครามอิรักในปี 2550 ประเทศอิรักก็ขาดเสถียรภาพ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการที่ชาติตะวันตกเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ในยามที่มีการใช้อำนาจปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วง 'อาหรับสปริง'

ทางด้านนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าเดนมาร์กเป็นประเทศในยุโรปตะวันตกที่มีระดับขั้นของกลุ่มศาสนาต่างกัน ชาวคริสต์ในเดนมาร์กในประวัติศาสตร์จะมีอภิสิทธิ์พิเศษแต่ก็มีผู้นับถืออยู่จำนวนน้อยมาก ศาสนาอิสลามในเดนมาร์กมีอยู่จำนวนน้อยแต่ผู้นับถือจะมีความจริงจังกว่า ขณะที่ก็มีความขัดแย้งกันเองในเรื่องการตีความศรัทธา ส่วนศาสนายูดาห์มีผู้นับถือน้อยกว่าและกำลังรู้สึกตกเป็นเป้ามากขึ้นเรื่อยๆ

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าเป็นการยากจะประเมินสถานการณ์ในเดนมาร์กช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้ เพราะนักการเมืองขวากลางชื่อนาเซอร์ คาเดอร์ ผู้ที่เป็นปากเสียงให้กับชาวมุสลิมในเดนมาร์กก็กล่าววิจารณ์ผู้ที่ประท้วงต่อต้านการ์ตูนล้อเลียนว่าเป็นคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของศาสนา ขณะที่คนที่เคยรณรงค์ต่อต้านการ์ตูนล้อเลียนศาสนามาตลอดอย่างอาห์เม็ด อัคคารี ก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีหันมาเป็นผู้สนับสนุนเสรีภาพสื่อ ส่วนองค์กรเพื่อความร่วมมือศาสนาอิสลาม (OIC) ซึ่งก่อนหน้านี้พยายามเรียกร้องให้สหประชาชาติบรรจุว่าการหมิ่นศาสนาเป็นอาชญากรรมก็ถูกกดดันจนเริ่มอ่อนข้อลง

ยาคอบ มจันกามา นักกฎหมายผู้ก่อตั้งองค์กรวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนชื่อ จัสติเทีย (Justitia) กล่าวว่าเขาไม่อยากให้นักการเมืองแสดงความหวาดกลัวหรือมีน้ำเสียงอ่อนลงในการพูดแสดงการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะตกหลุมพรางในการบอกว่าเหตุรุนแรงเป็นความผิดของผู้ที่กล่าวยั่วยุหรือหมิ่นศาสนา

"จะไม่มีการสยบยอมในการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยที่แยกรัฐออกจากศาสนากับพวกกลุ่มหัวรุนแรง" มจันกามากล่าว เขาเป็นผู้มีพื้นเพเป็นชาวมุสลิม แต่ก็เป็นผู้ที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Danes Weigh Costs of Free Speech as Fear Takes Grip, The Wall Street Journal, 16-02-2015
http://www.wsj.com/articles/danes-weigh-costs-of-free-speech-as-fear-takes-grip-1424131870

Copenhagen killings: bewildered Europe struggles to defend freedom of speech and religion, The Guardian, 15-02-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/feb/15/copenhagen-attack-islamist-extremism-europe-freedom-speech-religion

Shooting at cartoonists, again, The Economist, 15-02-2015
http://www.economist.com/blogs/erasmus/2015/02/religion-europe-and-denmark

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/2015_Copenhagen_shootings

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท