Skip to main content
sharethis

20 ก.พ. 2558 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ รับฟ้องคคีที่เว็บไซต์ประชาไทเป็นโจกท์ฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายกระทรวงไอซีทีและกระทรวงการคลัง 350,000 บาท กรณีที่มีการปิดเว็บไซต์ประชาไทในช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปี 2553 หลังจากก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง ทั้งนี้ประชาไทยื่นฟ้องไปตั้งแต่เดือน เม.ย.2553

ศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน 23 มี.ค.นี้ เวลา 9.00 น. ที่ศาลแพ่ง

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า คำตัดสินวันนี้อย่างน้อยเป็นบรรทัดฐานว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องมีภาระรับผิดทางกฎหมาย

อนึ่ง มาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
 

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 เม.ย.53 ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อ้างอำนาจตามมาตรา 9 ข้อ 2 แห่งพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ปิดเว็บไซต์ www.prachatai.com พร้อมกับเว็บไซต์อื่นอีกรวม 36 แห่ง ด้วยเหตุผลว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง ทำให้ www.prachatai.com ไม่สามารถเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.53 เป็นต้นมา ประชาไทได้แก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนโดเมนเนมเป็นชื่ออื่น เช่น www.prachatai.info, www.prachatai1.info, www.prachatai2.info, www.prchatai3.info รวมถึงใช้ช่องทางสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ก็พบว่ามีการถูกปิดกั้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยไม่ได้รับทราบถึงเอกสารคำสั่งหรือเหตุผลในการปิดกั้นแต่อย่างใด

ช่วงเวลาดังกล่าวมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง รัฐบาลที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันที่ 7 เม.ย.53 จากนั้นเว็บไซต์ประชาไท ในนามมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นจำเลยที่ 1 ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (สุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นจำเลยที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (จุติ ไกรฤกษ์) เป็นจำเลยที่ 3, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นจำเลยที่ 4, กระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 5 ฐานละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 350,000 บาท เมื่อวันที่ 23 เม.ย.53 รวมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉินแต่ศาลไม่อนุญาต และได้มีคำพิพากษายกฟ้องในวันเดียวกันนั้นเอง

ต่อมา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2556 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่อไปตามกฎหมาย แต่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เจ้าหน้าที่ของรัฐให้รับผิดในมูลละเมิดที่กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 บัญญัติว่า หน่วยงานรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานรัฐดังกล่าวได้โดยตรงแต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net